กลยุทธ์การเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง พร้อมทั้งหาจุดเด่นในการทำงานด้วย DISC

             “การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด” ทุกๆคนคงจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี บางคนยึดเอาคำนี้เป็นคติประจำใจ คนที่สำเร็จหลายคนพูดเสมอว่า ต่อให้คุณจะอยู่บนจุดสูงสุด คุณก็ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป จึงกลายเป็นเรื่องปกติของคนที่รักการพัฒนา ที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่สม่ำเสมอ

             แต่ “การเรียนรู้” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น การเข้าใจตัวเอง หรือปัจจัยภายในของแต่ละคน มีผลกับการพัฒนาในด้านต่างๆในชีวิตมากกว่าที่คุณคิด และไม่ใช่แค่เข้าใจตัวเอง แต่การเข้าใจคนรอบข้างของคุณ จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ราบรื่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เพราะทุกๆคน “เป็นคนเหมือนกัน แต่เป็นคนไม่เหมือนกัน” ความแตกต่างกันนี้อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหองระแหงได้ง่ายๆ แต่ถ้าคุณเข้าใจความแตกต่างนี้อย่างแท้จริง จากความระหองระแหงที่เกิดขึ้นจะพลิกกลายเป็นความลงตัวกันอย่างไม่น่าเชื่อ จากความแตกต่างที่ขัดแย้ง จะกลายเป็นความแตกต่างที่เกื้อหนุนกัน สนับสนุนกัน และที่สำคัญก็คือ เติบโตและพัฒนาไปด้วยกัน

             เมื่อพูดถึงศาสตร์การเรียนรู้ตัวเอง แน่นอนว่าการเรียนรู้ตัวเองมีอยุ่หลายมิติ ทั้งอารมณ์ ความคิด การแสดงออก ความเชื่อ มุมมอง ฯลฯ ศาสตร์ที่เราจะพูดถึงในวันนี้คือ DISC

             DISC คือ เครื่องมือจำแนกหมวกหมู่คนตามพฤติกรรมที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีของนักจิตวิทยา William Moulton Marston ที่มีการจำแนกออกมาเป็น 4 หมวดหมู่ด้วยกัน Dominance (D) , Inducement (I) , Submission (S) , Compliance (C) ต่อมาทฤษฎีนี้ถูกพัฒนาต่อจนกลายเป็นแบบเครื่องมือในรูปแบบของแบบทดสอบ เพื่อจำแนกพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนโดย Walter Vernon Clarke

             DISC จะบ่งบอกถึงพฤติกรรมเฉพาะอย่างของคนแต่ละประเภท แรงขับเคลื่อนในการตัดสินใจอะไรบางอย่าง ซึ่งระบบนี้นิยมนำมาใช้ประโยชน์หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ใช้ในการเลือกบุคลากรในองค์กรให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท ครูผู้สอนนำมาใช้จำแนกประเภทนักเรียน และเลือกวิธีที่จะถ่ายทอดให้ตรงจุดต่อนักเรียนแต่ละกลุ่มมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าคุณจะถูกจัดอยู่ในประเภทไหน คุณจะมีจุดเด่นในแบบของคุณ ดังนั้นระบบ DISC ไม่ใช่การจัดลำดับว่าประเภทใดดีที่สุด แต่ละพูดถึงจุดเด่นของคนแต่ละประเภท และการนำจุดดเด่นเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและคนรอบข้าง รวมไปถึงจุดด้อยที่สามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อไป

             อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ทุกๆคนย่อมมีความแตกต่างกันออกไป โดยปกติแล้วหลังจากการทำแบบทดสอบจะสังเกตได้ว่า แต่ละคนไม่ได้มีแนวโน้มที่จะอยู่ในหมวดหมู่เดียวเท่านั้น ทุกคนๆจะมีส่วนผสมของพฤติกรรมในแต่ละรุปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผลของแบบทดสอบ DISC ส่วนใหญ่จะถูกแสดงออกมาในรูปแบบของคะแนนในแต่ละหัวข้อ และโดยปกติแล้วทุกคนจะมีคะแนนกระจายกันออกไปทั้ง 4 หัวข้อ แน่นอนว่าอาจจะมีบางคนที่คะแนนกองอยู่ในหมวดหมู่เดียวได้ แต่นั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณจะพบเห็นได้ง่ายๆ ดังนั้นแบบทดสอบของ DISC ที่ถูกพัฒนามาจึงแยกย่อยออกมาจากหัวข้อหลัก หัวข้อละ 2 รูปแบบ รวมทั้งหมดกลายเป็น 12 รูปแบบ แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเพียง 4 รูปแบบหลักๆเท่านั้น

 

Dominance type

            The winner (D) คนประเภทนี้มีแรงกระตุ้นมาจากการอยากเอาชนะ , การแข่งขัน และความสำเร็จ พวกเขาให้ความสำคัญกับการลงมือทำ ชอบความท้าทาย และรักในการสร้างผลลัพธ์ มีความเป็นผู้นำสูง มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าตัดสินใจ เป็นคนมองภาพใหญ่ มองหาโอกาสรอบตัวอยู่เสมอเพื่อความสำเร็จ มีอุดมการณ์ในตัวเองที่แน่วแน่และไม่โอนอ่อนด้วยปัจจัยรอบตัวได้ง่ายๆ เป็นคนเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆถ้าหากว่ามีเป้าหมายขัดเจน กล้าพูดกล้าสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

“What’s the point of playing if winning isn’t the goal?” J.D. Robb นักเขียนชาวอเมริกัน

– บทบาทในทีม

             ด้วยความกล้าที่จะตัดสินใจ มีเป้าหมายชัดเจน และมีความเป็นผู้นำสูง คนกลุ่มนี้จะเหมาะกับการเป็นผู้จัดการในทีม เพราะพวกเขาไม่เกรงกลัวต่อปัญหา และมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยความที่กล้าตัดสินใจและความชัดเจนในเป้าหมาย พวกเขาจะมีแนวทางในการทำงานของทีมอย่างชัดเจน และจะคอยกระตุ้นให้คนในทีมสร้างผลลัพธ์ให้ได้ตามเป้าหมาย พูดง่ายๆคือถ้าคนกลุ่มนี้เป็นหัวหน้าทีม จะไม่มีคำว่า “ทำไปทำไม?” เกิดขึ้นในหัวของสมาชิกในทีมแน่นอน เพราะทุกๆก้าวที่พวกเขาพาทีมเดินไป เป็นก้าวที่จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วที่สุดอย่างแน่นอน

– จุดที่สามารถพัฒนาได้

             ด้วยความที่อยากเอาชนะตลอดเวลา อาจจะทำให้คนประเภทนี้มองทุกอย่างเป็นขาวกับดำ แพ้กับชนะอยู่บ่อยครั้งจนอาจจะทำให้คนรอบข้างอึดอีด และด้วยความที่มีอุดมการณ์แน่วแน่อาจจะทำให้คนกลุ่มนี้ปัดคำแนะนำหรือความเห็นจากคนรอบข้าง นอกจากนี้การมองทุกอย่างเป็นการแพ้ชนะอาจจะทำให้พวกเขาโต้เถียงอย่างไม่ลดละในบางครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่ยอมรับในความคิดของอีกฝ่าย แต่พวกเขาไม่ชอบความรู้สึกของการ “แพ้” เท่านั้นเอง

             ดังนั้นการบ้านของคนกลุ่มนี้คือการควบคุมพลังภายในให้คงที่ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่สิ่งรอบตัวจะคอยแต่ “เอาชนะ” คุณเสมอ ทุกๆเรื่องล้วนมีประโยชน์ในตัวของมันเอง ดังนั้นถ้าคุณปรับตัวให้ช้าลงมาสักนิด คุณอาจจะมองเห็นข้อความบางอย่างที่คนในทีมของคุณกำลังพยายามจะสื่อสารอยู่ก็ได้

– เมื่อคุณต้องทำงานกับคน Type D

            เมื่อคุณต้องสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ คุณจะต้องตรงประเด็น สั้น กระชับ และได้ใจความ คุณไม่จำเป็นจะต้องคิดหน้าคิดหลังมากมายนัก หากคุณมีปัญหา ขอแค่คุณเข้าหาเขาด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน พกวเขาก็พร้อมจะช่วยคุณจัดการปัญหาเหล่านั้นทันที พยายามขอคำปรึกษาด้วยการเสนอความคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะสร้างผลลัพธ์ได้ แทนที่จะเข้าไปบ่นให้พวกเขาฟังว่าทำไมคุณถึงทำไม่ได้

             ข้อควรระวังคือ อย่าพูดถึงปัญหายิบย่อยที่คุณเองก็สามารถแก้ได้ แน่นอนว่าบางครั้งคุณอาจจะอยากให้ใครสักคนรับฟังคุณ แต่ขอเตือนเลยว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่คุณควรจะเลือกเป็นอันดับแรกๆ เพราะถ้าคุณมีปัญหาและอยากจะปรึกษาพวกเขา คุณควรจะต้องตัดความคิดที่จะบ่น ตัดพ้อ หรือท้อแท้เวลาอยู่ต่อหน้าพวกเขา เพราะพวกเขาจะมองว่าคุณเป็นคนที่มีทัศนคติทางลบทันที สำหรับใครที่มีหัวหน้าเป็น Type นี้และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอธิบายไม่เก่ง คุณอาจจะต้องลองเขียนบทที่ตัวเองจะคุยกับหัวหน้าก่อน วางแผนให้ชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร ต้องการให้เขาช่วยอะไร พูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ที่สำคัญคือตรงประเด็น แล้วการสนทนาเหล่านั้นจะออกมาดีเอง

 

Influence

            The enthusiast (I) คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่า เป็นที่รักของทุกคน เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่น บรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน การรักษาความสัมพันธ์ คนรอบตัวพวกเขาจะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่อบอุ่น ดูแลเอาใจใส่ เชื่อใจได้ เป็นคนมองโลกในแง่ดี พวกเขาจะมองเห็นประโยชน์ของสิ่งรอบตัวทุกอย่าง ปล่อยวางความรู้สึกด้านลบได้ง่าย ให้กำลังใจและชมคนอื่นเก่ง เรียกได้ว่าใครอยู่ด้วยก็มีความสุขไปหมด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้มีแรงขับมาจากความต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง พวกเขามีแนวคิดที่ว่า “ก็ถ้าคุณอยากจะถูกยอมรับจากสังคม อย่างน้อยที่สุดคุณก็ต้องดีกับพวกเขาก่อน จริงไหม?”

The more you praise and celebrate your life, the more there is in life to celebrate

Oprah Winfrey พิธีกรชื่อดังชาวอเมริกัน

– บทบาทในทีม

             พวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างดีเยี่ยมและชาญฉลาด พวกเขาคิดนอกกรอบเก่งเพราะพวกเขามองหาข้อดีของทุกๆสิ่งรอบตัวได้ดี พวกเขาเป็นคนที่คอยให้กำลังใจคนในทีม และคอยทำให้บรรยากาศการทำงานดูมีความสุขเสมอไม่ว่าสถานการณ์จะตึงเครียดแค่ไหน ถ้าคุณมีคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนกลุ่มนี้สูงมาก คุณไม่ต้องห่วงเลยเวลาที่สถานการณ์การทำงานตึงเครียดขึ้นมา เพราะพวกเขาจะหาวิธีทางทำให้รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของทุกคนให้ได้ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากนี้พวกเขายังเป็นที่ปรึกษาที่ดี พวกเขาพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจคนอื่นอยู่เสมอ และด้วยความข้าอกเข้าใจผู้คน ทำให้พวกเขาสามารถกระจายและเลือกงานที่เหมาะสมกับคนในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

– จุดที่สามารถพัฒนาได้

             พวกเขามีแรงชับมาจากการยอมรับของผู้คนรอบข้าง ทำให้พวกเขาพยายาม “เอาอกเอาใจ” คนรอบข้างอยู่เสมอ เพราะความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนกลุ่มนี้คือ การถูกเมินจากคนรอบข้าง หรือการดูกีดกันออกจากกลุ่ม ทำให้หลายๆครั้งพวกเขาจะจดจ่ออยู่กับการเข้าถึงผู้อื่น มากกว่าการทำงานเสียอีก และนั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะอธิบายไม่ค่อยดีนัก เพราะพวกเขาไม่เก่งในเรื่องการลงรายละเอียด และบางครั้งการพยายามจะเข้าใจคนอื่นมากเกินไป ทำให้พวกเขาเป็นผู้ฟังที่ไม่ค่อยดีนัก ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเลือกที่จะไม่ฟัง แต่พวกคิดไปเองมากเกินไปว่าคนอื่นน่าจะรู้สึกแบบนั้น หรืออาจจะรู้สึกแบบนี้

– เมื่อคุณต้องทำงานกับคน Type I

            เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการการยอมรับและบรรยากาศที่ดี คุณแค่ต้องเข้าหาพวกเขาด้วยใยหน้ายิ้มแย้ม เข้าหาด้วยการทำความรู้จัก สร้างสัมพันธ์ที่ดี หลังจากนั้นค่อยว่ากันถึงเรื่องอื่นๆ ในการคุยหรือปรึกษากันเรื่องงาน คุณอาจจะต้องให้เวลาพวกเขาสักนิดในการอธิบายความคิดของพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นคนคิดนอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้พวกเขามักจะมีคำตอบของปัญหาหลายๆอย่างมากกว่า 1 ข้อเสมอ ด้วยความที่พวกเขามีไอเดียมากมายแต่ไม่เก่งในการลงรายละเอียด คุณจะต้องเป็นคนที่ถามเกี่ยวกับรายละเอียดที่จำเป็น และถ้าคุณมอบหมายงานบางอย่างให้พวกเขา ให้เวลาพวกเขาสักนิดในการเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นความจริงออกมาได้ และคุณอาจจะต้องเข้าไปติดตามผลบ่อยๆว่าไอเดียของพวกเขาสามารถเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน

             ข้อควรระวังสำหรับคนกลุ่มนี้คือ อย่าจำกัดการเข้าสังคมของพวกเขา ถ้าพวกเขาส่งงานช้าหรือสร้างผลลัพธ์ได้น้อย คุณอาจจะต้องหาวิธีอื่นในการกระตุ้นพวกเขา เพราะถ้าคุณเห็นว่าพวกเขาเอาแต่เข้าหาคนจนไม่ทำงาน แล้ววิธีของคุณคือการปิดกั้นการเข้าสังคม นั่นจะทำให้พวกเขายิ่งสร้างผลลัพธ์ได้น้อยลงไปอีก ที่สำคัญคือ อย่าแสดงท่าทางรำคาญหรือแสดงออกในเชิงไม่ยอมรับ การแสดงออกแบบนี้มีผลทำให้พวกเขารู้สึกกังวลและไม่ปลอดภัย ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ เพราะนั่นคือความกลัวอันดับหนึ่งของพวกเขา

Steadiness

            The peacekeeper (S) คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม เรียกได้ว่าเป็น Team player ที่แท้จริง พวกเขาเป็นคนที่พึ่งพาได้ทั้งในด้านหน้าที่การงาน และเรื่องส่วนตัว พวกเขาเป็นคนสุขุม ไม่บุ่มบ่าม และคาดเดาได้ง่าย ดังนั้นพวกเขาจะสามารถทำงานให้เป็นผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน คนกลุ่มนี้คือคนที่คุณจะวางใจมากที่สุดเวลาที่คุณส่งงานให้พวกเขา เพราะพวกเขาจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย  จนถึงขั้นที่ว่าเมื่อกระจายงานให้คนกลุ่มนี้ทำแล้วอาจจะไม่ต้องติดตามเลยก็ได้ เพราะไม่ว่ายังไงถึงเวลาส่งงานพวกเขาจะส่งงานตรงเวลาและผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจเสมอ นอกจากจะทำงานของตัวเองได้ดีแล้ว พวกเขายังเต็มใจที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยงานของผู้อื่นในยามจำเป็น และด้วยความที่เป็น Team player ทำให้พวกเขาเป็นผู้ฟังที่ดีมาก ทำให้พวกเขาสามารถจัดการกับปัญหาภายในระหว่างสมาชิกในทีมที่ละเอียดอ่อนในด้านความรู้สึกได้ดี เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม และพวกเขาจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้การทำงานและการสร้างผลลัพธ์ของทีมให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย

I like people who are loyal to me , and I like to be loyal , too.

George strait ศิลปินชาวอเมริกัน

– บทบาทในทีม

             พวกเขาเป็นเหมือนที่พึ่งของทีม เพราะพวกเขาเข้ากับคนอื่นได้ดีและสามารถเข้าใจคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง ประกอบกับความแน่นอนในการสร้างผลงาน ทำให้พวกเขาทั้งสร้างผลลัพธ์ได้ดี และทำให้ผลงานโดยรวมของทีมดีตามไปด้วย พวกเขาจะถนัดการทำงาน Routine และจะทำได้ดีมากๆเอาเสียด้วย นอกจากในด้านการทำงานแล้ว ด้านความรู้สึกโดยรวมของคนในทีมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาจะพยายามหาข้อสรุปที่เรียกว่า win-win กับทั้งสองฝ่ายได้ดี

– จุดที่สามารถพัฒนาได้

             ถึงแม้ว่าความแน่นอนในการทำงานของพวกเขาจะเป็นข้อดีข้อใหญ่อย่างหนึ่ง แต่นั่นมาจากการติดอยู่กับกรอบทำงานแบบเดิมๆของพวกเขา หรือระบบการทำงานที่พวกเขารู้สึกสบายใจ ดังนั้นพวกเขาอาจจะต้องใช้เวลมากกว่าคนอื่นสักหน่อยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คุณอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายมากกว่าปกติและให้เวลาในการปรับตัวกับพวกเขา

             อีกอย่างหนึ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องพัฒนาคือ คนกลุ่ม S ควรที่จะกล้าในการปฏิเสธมากขึ้น เพราะพวกเขาใส่ใจกับความสัมพันธ์กับคนในทีม อาจจะทำให้บ่อยๆครั้งพวกเขาไม่กล้าเห็นต่างกับคนอื่นทั้งๆที่ตัวเองมีความเห็นอีกแบบ สุดท้ายก็จบด้วยการไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากจะไม่กล้าเห็นต่างแล้ว พวกเขาจะไม่กล้าแสดงความไม่พอใจต่อผู้คนตรงๆอีกด้วย เพราะฉะนั้นการไม่กล้าแสดงออกในด้านเหล่านี้อาจจะทำให้พวกเขาถูกเอาเปรียบได้ง่าย

– เมื่อคุณต้องทำงานกับคน Type S

             คล้ายๆกับคนกลุ่ม I คือคุณควรจะเข้าไปตีสนิทกับเขาก่อน ค่อยๆสานสัมพันธ์กับพวกเขา และถ้าพวกเขาเริ่มเปิดรับคุณเมื่อไหร่ พวกเขาจะกลายเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้มากๆคนหนึ่งทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัว ในด้านการทำงานคุณจะต้องอธิบายให้ชัดเจนในรายละเอียดและขั้นตอนการทำงาน และถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คุณจะต้องเตรียมตอบคำถามชุด “ทำไม” กับพวกเขาไว้เยอะๆ ให้เวลาในการพูดคุยและปรับตัวของพวกเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงจะทำให้พวกเขาไม่สบายใจในช่วงแรกๆ

 

Compliant

            The analyst (C) คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ เป็นคนที่ไตร่ตรองและมีสายตาที่มักจะเป็นบางอย่างที่คนกลุ่มอื่นไม่เห็น พวกเขามักจะวิเคราะห์สิ่งต่างๆอยู่เสมอ ทำให้พวกเขาเป็นคนที่ชอบอะไรก็ตามที่เป็นเหตุเป็นผล และพวกเขาจะไม่ชอบแนวคิดที่ไร้ข้ออ้างอิง พวกเขาจะหาข้อมูลเยอะมากก่อนที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่ง พวกเขาสามารถวางระบบแบบแผนและทำตามแผนต่างๆได้ดี ความละเอียดรอบคอบของพวกเขา ยังทำให้พวกเขาเป็นนักแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะมีมาตรฐานสูงมาก ดังนั้นเนื้องานที่พวกเขาทำออกมาจะอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า premium สุดๆ

– บทบาทในทีม

             คนกลุ่มนี้จะคอยเป็นคนที่ดึงทุกคนกลับมาสู่ความเป็นจริง เพราะในการทำงานมักจะมีบ่อยครั้งที่สมาชิกในทีมมีไอเดียหรือความคิดเห็นบางอย่างที่อาจจะดูดีแต่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล เรียกว่าตอนพูดดูดีแต่พอคิดแล้วเหมือนจะไปไม่รอด คนกลุ่มนี้จะคอยตบความฟุ้งเฟ้อของคนอื่นๆให้กลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆที่พูดมานั้นจะสามารถทำอย่างไรได้ มีวิธีแบบไหน เงื่อนไชจะต้องมีอะไรบ้าง เรามีอะไร เราขาดอะไร เราจะเติมสิ่งที่ขาดได้อย่างไร ฯลฯ คนกลุ่มนี้จะมองเห็นปัญหาตั้งแต่มันยังไม่เกิด เรียกได้ว่าการแก้ปัญหาของคนกลุ่มนี้ คือการป้องกันปัญหาไม่ไห้เกิดขึ้น

– จุดที่สามารถพัฒนาได้

             แน่นอนว่าการลงรายละเอียดเป็นจุดเด่นของคนกลุ่มนี้ แต่จุดเด่นนี้ก็ทำให้เกิดจุดด้อยที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถมองภาพใหญ่ได้ ทำให้พวกเขาไม่ถนัดที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พวกเขาติดการทำงานอยู่ในกรอบอยู่ในระบบ และด้วยความที่เป็นคนที่คอยดึงทีมเข้ามาสู่ความเป็นจริง ในบางครั้งชุดคำถามที่ใช้อาจจะดูเหมือนไม่สนับสนุนความคิดเหล่านี้ ทั้งๆที่เจตนาจริงๆคือการหาเหตุและผลจากแนวความคิดเหล่านั้นนั่นเอง อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังคือการตัดสินคนอื่น หลายๆครั้งคนกลุ่มนี้จะมีมาตรฐานในการทำงานสูงกว่าคนอื่น ในบางครั้งพวกเขาอาจจะเผลอตัดสินความไม่รอบคอบของคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัว และอาจจะใช้ภาษาที่ไม่ได้สละสลวยนัก

– เมื่อคุณต้องทำงานกับคน Type C

             ถ้าคุณต้องทำงานกับคนกลุ่มนี้ หาข้อมูลให้เยอะเข้าไว้ ถ้าคุณอยากจะเสนออะไรสักอย่างกับคนกลุ่มนี้ หรือมีหัวหน้าเป็นคนกลุ่มนี้ คุณจะต้องเตรียมรับมือกับคำถามที่จะถูกโยนใส่คุณเป็นห่าฝน เพราะฉฉะนั้นทำการบ้านของคุณให้ดี อย่าเอาแนวคิดที่ไม่มีข้ออ้างอิงไปเสนอพวกเขา เหล่าหัวหน้าที่จะต้องทำงานกับคนกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องคอยดึงพวกเขาออกมาให้เห็นภาพใหญ่มากขึ้น ด้วยการอธิบายว่าองค์ประกอบต่าง ๆ จะส่งผลกับเป้าหมายใหญ่ของทีมหรือของบริษัทอย่างไรบ้าง คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการพูดคุยและตอบข้อสงสัยกับพวกเขาสักหน่อย พยายามอย่าใช้คำตอบแบบกว้างๆ หรือตอบแบบไม่ชัดเจน แต่เชื่อเถอะว่าเวลาทุกวินาทีของคุณนั้นจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า