
คุณกำลังใช้กลยุทธ์แบบไหน ในการบริหารเวลาของตัวเอง
ในบทความก่อนหน้านี้ เคยกล่าวถึงผลกระทบของ “ความเชื่อ” ที่มีต่อทรัพยากร “เวลา” และเชื่อว่าทุกๆท่านที่อ่านบทความ “จริงไหม? ที่คุณบอกว่า ไม่มีเวลา“ มาเรียบร้อยแล้วจะเข้าใจว่า คำว่า “ไม่มีเวลา ไม่เป็นความจริง” สรุปสั้นๆก็คือ เมื่อคุณบอกกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “ฉันไม่มีเวลาหรอก” นั่นคือคุณกำลังสร้างความเชื่อบางอย่างให้ตัวเองอยู่ และเมื่อความเชื่อนั้นฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของคุณ คุณจะสร้าง “ความจริง” ออกมาจากความเชื่อนั้นๆ ซึ่งถ้าหากว่าคุณมีความเชื่อว่า “คุณไม่มีเวลา” จิตใต้สำนึกคุณจะสั่งให้คุณสร้างผลลัพธ์ที่ตรงกับความเชื่อของคุณ และทำให้ “ความจริง” ของคุณกลายเป็นคนที่ “ไม่มีเวลา” จริงๆ เพราะคุณจะพยายามหากิจกรรมที่ไม่สร้างผลลัพธ์อย่างที่คุณอยากได้เข้ามาเติมช่องว่างเวลาเพื่อสร้าง “ความจริง” ที่ดูเหมือนเป็นข้ออ้างสำหรับตัวคุณเองโดยที่คุณไม่รู้ตัว และสุดท้ายคุณก็จะมาจบที่คำว่า “คุณทำไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่มีเวลา”
แล้วถ้า “ความเชื่อ” ของคุณเปลี่ยนไปล่ะ ถ้าคุณ ”เชื่อ” ว่าคุณเป็นคนที่มีเวลาไม่จำกัด หากคุณสามารถจัดการและวางแผนเวลาของตัวเองได้ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณสามารถทำทุกอย่างที่คุณอยากจะทำได้ ถ้าคุณเชื่อว่าไม่มีกิจกรรมไหนกินเวลาของคุณมากเกินไป คุณคิดว่าชีวิตของคุณจะก้าวกระโดดไปมากแค่ไหน คุณคิดว่าศักยภาพของคุณพัฒนาขึ้นมาแค่ไหน และผลลัพธ์ที่เกิดจากศักยภาพเหล่านั้นจะพุ่งทะยานแค่ไหน สำหรับวิธีการเปลี่ยนความเชื่อนั้น ถ้าจะให้เขียนในบทความอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายนานมากๆ เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน ดังนั้นจึงจะไม่ได้พูดถึง แต่ ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนความเชื่อตัวเอง เพื่อผลลัพธ์ในชีวิตที่ดีมากขึ้นอย่างจริงจัง ลองมองหาโค้ชมืออาชีพ ที่สามารถช่วยปลดล๊อกความเชื่อที่เป็นปมชีวิตเหนี่ยวรั้งคุณและศักยภาพคุณเอาไว้ และสามารถการันตีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ 100% เพื่อที่คุณจะสามารถใช้ทรัพยากร “เวลา” ได้ดีขึ้น อย่างที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน
เมื่อคุณเข้าใจระบบความเชื่อที่มีผลต่อการจัดการกับเวลาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กลยุทธ์ที่คุณใช้ในการจัดการเวลาในแต่ละวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่น่าแปลกใจที่หลายๆคนกลับแยกไม่ออก และตอบคำถามว่า “ในตอนนี้ฉันกำลังจัดการกับเวลาแบบไหนอยู่?” กับตัวเองไม่ได้ ทั้งๆที่ถ้าลองคิดดูดีๆ ทุกๆคนมักจะมีตารางเวลาชีวิตคร่าวๆอยู่ในหัวของตัวเองอยู่แล้ว “ตอนเช้าฉันตื่นประมาณกี่โมง” “อาหารมื้อแรกกินตอนไหน” “เริ่มและเลิกงานกี่โมง” “กลับบ้านมาช่วงเย็นฉันทำอะไรบ้าง” ซึ่งความแตกต่างของการรู้เวลา และการบริหารเวลา ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การรู้เวลา เป็นเพียงการประเมินคร่าวๆได้ว่า ในช่วงเวลา 1 วันของชีวิตฉัน ฉันทำอะไรได้บ้าง บางคนทำตรงเวลาได้ บางคนก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุและเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป แต่แค่”รู้”เวลาอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เรา “จัดการ” กับเวลาของตัวเองได้จริงๆ เพราะแค่ “รู้” เวลา คุณไม่ได้ลงมือจัดการอะไรกับมัน คุณแค่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าในอีก 5 นาทีข้างหน้า ใน 2 ชั่วโมงข้างหน้า หรือในอีก 1 วันข้างหน้า คุณจะเจออะไรบ้าง และคุณก็ปล่อยให้ชีวิตคุณพาคูณไปเจอเหตุการณ์ต่างๆโดยที่คุณไมได้ทำอะไรกับมัน คุณเจออะไรทำได้คุณก็ทำ คุณทำอะไรไม่ได้หรือทำไม่ทันคุณก็แค่พูดว่า “ไม่มีเวลา”
แล้วการจัดการเวลา สามารถทำให้คุณทำ ทุกอย่าง ได้อย่างที่คุณหวังหรือไม่ คำตอบคือได้ และไม่ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งหลายๆคนเจอกับปัญหานี้อยู่ เพราะเมื่อสักครู่นี้หลังจากที่อธิบายอาการของคนรู้เวลาไปแล้ว หลายๆคนอาจจะบอกว่า ฉันพยายามจัดการเวลาแล้วนะ ฉันชัดเจนกับเป้าหมายและผลลัพธ์ที่อยากได้ และฉันพยายามใส่กิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งหมดของฉันเข้าไปในตารางเวลาแต่ละวัน แต่มันไม่มีทางเลยที่ 1 วันฉันจะทำได้ทุกอย่างตามที่ฉันหวังไว้ และคำตอบคือ ถูกต้องแล้วครับ “คุณไม่มีทางทำทุกอย่างที่อยู่ในหัวของคุณให้สำเร็จได้ทั้งหมด ภายในหนึ่งวัน” ซึ่งคำสำคัญในประโยคเมื่อสักครู่ คือคำว่า “ภายในหนึ่งวัน” เพราะในหนึ่งวัน สุดท้ายคุณก็มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เก่งหลุดโลกแค่ไหน คุณก็ยังอยู่ในกรอบ 24 ชั่วโมงต่อ 1 วันเหมือนๆกันคนอื่นอยู่ดี แต่สิ่งที่จะทำให้คุณสามารถ “ทำทุกอย่างได้” ไม่ใช่การวางแผนเพียงแค่วันเดียว แต่เป็นการวางแผนใน Timeline ที่กว้างกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องท้าทายมากจนเกินไป
“คุณไม่มีทางทำทุกอย่างที่อยู่ในหัวของคุณให้สำเร็จได้ทั้งหมด ภายในหนึ่งวัน”

ซึ่งเทคนิคสำคัญในการจัดการกับเวลาและวางแผนใน Timeline ที่กว้างขึ้นมาคือการ “จัดลำดับความสำคัญ” ซึ่งดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายๆคนรู้อยู่แล้ว แต่การลำดับความสำคัญที่เป็นการวางแผนการทำงานหรือกิจกรรมในกรอบเวลาที่กว้างขึ้น เป็นเรื่องท้าทายมากกว่าที่คุณคิด ยิ่งกรอบเวลากว้าง ยิ่งท้าทาย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าภายในเวลา 1 ชั่วโมง คุณมีตัวเลือกสองอย่างคือ งานจะต้องส่งแล้วแต่คุณยังทำไม่เสร็จ กับการเดินออกไปซื้อกาแฟ การจัดลำดับความสำคัญของคุณ คุณจะเลือกอะไร แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าสำหรับใครหลายๆคนก็น่าจะเป็นงานที่กำลังจะส่งแต่ยังทำไม่เสร็จอยู่แล้ว ดังนั้นคุณจะเลือกการทำงานก่อน และถ้าเสร็จ คุณก็จะเดินไปซื้กาแฟทีหลัง นี่คือตัวอย่างของการเรียงลำดับความสำคัญขั้นพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกๆคนที่มีความรับผิดชอบ มีคุณสมบัตินี้อยู่ในตัว
แต่ถ้าลองเปลี่ยนเงื่อนไขของเหตุการณ์เมื่อสักครู่ล่ะ ถ้าเปลี่ยนจากเวลา 1 ชั่วโมง กลายเป็นคุณมีเวลา 1 วันคุณมีตัวเลือกสองอย่าง อย่างแรกเป็นงานที่คุณยังทำไม่เสร็จเหมือนเดิม ส่วนอย่างที่สองคือเพื่อนคุณชวนไปสังสรรค์ดูฟุตบอล คุณจะเลือกอะไรก่อน? มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเลือกทำงานเหมือนเดิม แต่เชื่อว่าหลายคนเริ่มเอนเอียงไปทางสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนแน่นอนอยู่แล้ว เพราะคุณ “มีเวลา” มากขึ้นกว่าเดิม เพราะคุณเหลือเวลาอีกตั้ง 24 ชั่วโมงก่อนจะส่งงาน ดูฟุตบอลกับเพื่อนสักแมทช์ อย่างเก่งก็ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงแน่ๆ สังสรรค์ก่อนก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเท่าไหร่หรอก จริงหรือ?
ซึ่งเมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างตัวอย่างสองข้อนี้แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนมากๆว่าเมื่อคุณเห็นว่ากิจกรรมที่ “สำคัญ” และคุณรู้ว่าสำคัญ ยังมีเวลาเหลือเพื่อจัดการกับมันอยู่ คุณมีโอกาสที่จะเลือกกิจกรรมอื่นๆที่อยู่ในความสนใจของคุณเข้ามาขั้นก่อนที่คุณจะทำเรื่อง “สำคัญ” ก่อนเสมอ จากตัวอย่างเมื่อสักครู่ที่ให้เลือกระหว่าง ดูบอลกับทำงาน ถ้ากรอบเวลาที่คุณมีเปลี่ยนไปจาก 1 วัน กลายเป็นเหลือเพียง 1 ชั่วโมงเหมือนตัวอย่างแรก เชื่อว่าเกือบทุกคน หรืออาจจะทุกคนจะต้องรีบกลับมาทำงานและปฏิเสธการดูบอลแบบไม่ต้องคิดกันเลย
แล้วถ้าเวลาที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแค่จาก 1 ชั่วโมง กลายมาเป็น 1 วัน ยังทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ถ้าลองมองไปว่าเป็น 1 อาทิตย์ เป็น 1 เดือน เป็น 1 ปี หรือ 5 ปี 10 ปี การตัดสินใจของคุณจะเปลี่ยนไปแค่ไหน และแน่นอนว่าถ้ากรอบเวลาเพิ่มขึ้น ความท้าทายยของกิจกรรมแต่ละอย่าง ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการจัดการกิจกรรมแต่ละอย่างก็จะไม่ใช่แค่การปั่นงานเล็กน้อยที่เสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงแน่นอน และนี่คือความแตกต่างชองคนที่ “บริหาร” เวลาของตัวเองได้ กับคนที่ รู้เวลา จริงๆเพราะคนที่บริหารเวลาได้ จะสามารถไล่รายการที่ตัวเองจำเป็นจะต้องทำในช่วงเวลาที่กำหนดได้ และเรียงลำดับความสำคัญ พร้อมทั้งเลือกกิจกรรมก่อน-หลัง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเมื่อเรารู้เทคนิคการจัดการกับเวลาแล้ว เราจะสามารถแบ่ง กลยุทธ์กับการจัดการเวลาของคนได้อยู่ 3 ประเภท คร่าวๆ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าตัวเองยืนอยู่ในจุดไหน คุณสามารถสังเกตตัวเองไปพร้อมๆกับการอธิบาต่อจากนี้ได้ว่า ตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน และควรจะพัฒนาด้านใดบ้าง

1. กลุ่มคนที่ลำดับความสำคัญไม่ชัดเจน และไม่จัดลำดับความสำคัญในชีวิต
หลายๆคนคิดว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ เพราะว่ากลุ่มนี้มีความหมายตามชื่อเลย คุณไม่รู้ว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ คุณปล่อยให้ตัวเองทำเรื่องที่อยากทำโดยที่ไม่สนใจลำดับความสำคัญจนทำให้คุณ และคนรอบตัวคุณเดือดร้อน งานไม่ส่งตามเวลา ไม่ได้ดูแลครอบครัวเท่าที่ควร สุขภาพย่ำแย่ ชีวิตไม่พัฒนา ฯลฯ
แต่หลายๆคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แต่ไม่ใช่เพราะว่าคุณไร้ความรับผิดชอบ แต่เพราะว่า คุณไม่รู้ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญของตัวเอง ซึ่งข้อนี้หลายๆคนกำลังเจอมากกว่าที่ตัวเองคิด เพราะเมื่อคุณไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกับตัวคุณเอง สิ่งที่คุณทำจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญของ “คนอื่น” แทน เหมือนกับที่ผู้ใหญ่หลายๆท่านเคยบอกเอาไว้ว่า “ถ้าคุณไม่มีแผนเป็นของตัวเอง คุณจะกลายเป็นแผนของคนอื่น” ซึ่งสิ่งสำคัญของคุณ อาจจะไม่ใช่เรื่องงานก็ได้ คุณอาจจะให้ความสำคัญกับครอบครัวที่สุด คุณเลยเลือกกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัวมาเป็นอันดับแรก แต่บางครั้งคุณก็อาจจะต้องเลือกงานก่อน เพราะงานก็เป้นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณมีปัจจัยต่างๆมาดูแลครอบครัวที่คุณรัก
ซึ่งสำหรับกรณีนี้ คุณอาจจะต้องลองมาถามตัวเองดูว่า อะไรที่สำคัญในชีวิตคุณ อะไรที่คุณอยากจะทุ่มเทแรงกายแรงใจทำ อะไรที่คุณอยากจะรักษาเอาไว้ ซึ่งถ้าคุณยังไม่มี “สิ่งที่สำคัญ” คุณก็คงจะจัดการกับลำดับความสำคัญไม่ได้หรอก จริงไหม?
2. กลุ่มที่จัดลำดับความสำคัญของตัวเองได้ และมีวินัยทำตามแผนของตัวเอง
กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมาแล้ว จะเป็นกลุ่มที่สามารถบอกความสำคัญของตัวเองได้อย่างชัดเจน และจัดการวางแผนชีวิตของตัวเองในทุกๆมิติอย่างลงตัว คุณจัดการหน้าที่ของตัวเองที่มีตัวตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถจัดการได้มีประสิทธิภาพระดับนี้ได้ก็คือ การวางแผนอย่างชัดเจน และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เพราะการวางแผนอย่างชัดเจน จะทำให้คุณเห็นกรอบเวลาของกิจกรรมแต่ละอย่างในชีวิตคุณ ซึ่งเมื่อวางแผนได้อย่างเหมาะสม คุณจะวางแผนจากภาพกว้างมากๆ บางคนหลักเดือน บางคนวางแผนกันได้เป็นปี หรือหลายสิบปี ซึ่งจากภาพกว้างๆจะค่อยๆขยับลงมาเป็นกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาของวันอย่างชัดเจนมากขึ้น และเมื่อเวลาชัดเจน คุณจะสามารถวางแผนกับกิจกรรมแต่ละอย่างได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในเวลาที่คุณกำหนด เพราะคุณรู้กรอบเวลาที่ชัดเจน ดังนั้นคุณจะประเมินได้คร่าวๆว่า กิจกรรมนี้ ภายในเวลาเท่านี้ คุณควรจะคาดหวังผลลัพธ์อะไร ไม่อย่างนั้นคุณจะตกอยู่ในกับดักอันแรกคือ คุณคาดหวังผลลัพธ์เกินเวลาที่คุณมี ทำให้คุณใช้เวลากับกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป ทำให้เวลาของกิจกรรมอื่นๆที่คุณวางแผนเอาไว้ถูกเบียดออกไปด้วย
และ กับดักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หลายๆคนตกลงไปก็คือ คุณวางแผนแล้วคุณไม่ทำตามแผน พูดตรงๆว่า คุณจะวางแผนไปทำไม.. ในเมื่อถ้าคุณไม่ทำตามแผน ต่อให้คุณจะวางแผนมาดีแค่ไหน คุณจะใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากคนกลุ่มแรกเลย และอาจจะดูแย่กว่าด้วยซ้ำ คุณจะเข้าข่ายที่ว่า “ไม่รู้แล้วไม่ทำ ไม่ผิด แต่ถ้ารู้แล้วไม่ทำ อันนี้ไม่โอเค” จุดนี้คุณรู้ว่าอะไรสำคัญ แต่คุณเลือกที่จะไม่ทำ คุณเลือกที่จะหันไปหาอย่างอื่นที่มันดึงดูดใจคุณมากกว่า ซึ่งถ้าคุณอยู่ในกับดักนี้ คุณอาจจะต้องกลับมาพิจารณาตัวเองใหม่ว่า สิ่งที่คุณคิดว่ามันสำคัญ มันสำคัญกับคุณจริงๆหรือไม่
3. กลุ่มคนที่สามารถ ใช้เวลาของคนอื่นได้
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “คุณไม่สามารถทำทุกอย่างที่อยู่ในหัวคุณได้สำเร็จ ภายในหนึ่งวัน” เพราะว่าคุณมีเวลาจำกัดอยู่ที่ 24 ชั่วโมงต่อวัน แล้วถ้าคุณอยากจะได้เวลาเพิ่มล่ะ? คำตอบก็คือ คุณต้องใช้เวลาของคนอื่นให้เป็น
และ การใช้เวลาของคนอื่นในที่นี้ก็คือ การทำสัญญาว่าจ้างนั่นเอง ลองคิดดูว่า คุณมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน ลองคำนวณตามค่าเฉลี่ยว่าคนหนึ่งคนทำงาน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ลำพังคุณคนเดียว อาจจะทำงานได้ 15 ชั่วโมงต่อวันก็ได้ถ้าคุณไหว แต่ถ้าคุณมี “ทีม” 1 คน คุณจะมีเวลาเพิ่มขึ้น 7 ชั่วโมงต่อวันทันทีสำหรับการจัดกานงาน แล้วลองคิดไปเรื่อยๆว่า ถ้าคุณมีทีม 10 คน คุณจะได้เวลาสำหรับงานคุณมากขึ้น 70 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าคุณมีทีม 100 คน คุณจะมีเวลาสำหรับงานของคุณมากขึ้นเป็น 700 ชั่วโมงต่อวัน แล้วคุณลองคิดดูว่า ธุรกิจที่มีเวลาสำหรับงานเพียง 7 ชั่วโมง หรือแค่ 15 ชั่วโมงต่อวัน จะสามารถเติบโตสู้กับธุรกิจที่มีเวลา 700 ชั่วโมงต่อวันได้ไหม
ซึ่งจุดนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างของมิติการทำงาน ซึ่งเป็นเพียงมิติหนึ่งในชีวิตของคุณเท่านั้น ถ้าคุณอยากจะดูแลความสะอาดเรียบร้อยของบ้าน แล้วคุณลงมือทำเอง คุณอาจจะต้องเสียเวลาทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าคุณจ้างแม่บ้านมืออาชีพ คุณจะได้บ้านที่สะอาดกว่าคุณทำเอง และคุณจะมีเวลา 2-3 ชั่วโมงเพื่อทำอย่างอื่นอีกด้วย หรือถ้าคุณอยากจะเป็นโค้ช คุณอาจจะเริ่มศึกษาหาข้อมูลเอง ทดลองทำ A/B testing เอง หา Feedback เอง หาเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นเอง คุณอาจจะใช้เวลาหลายสิบปี แต่ถ้าคุณเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในสัมนาคลาสเรียนที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีหลักสูตรที่รวบรวมประสบการณ์ในการเรียนรู้และการทำงานมาหลายปี คุณจะ “ซื้อ” เวลาให้ตัวเองได้มากแค่ไหน
ถ้าคุณมองออกว่า การ “ซื้อ” ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ถ้าการซื้อนั้นเป็นเรื่องที่คุณให้ความสำคัญ นั่นคือคุณกำลังซื้อเวลาชีวิตของตัวเองอยู่ ซึ่งหลายๆคนมองไม่เห็นตรงนี้ หลายคนยังมองว่า “ซื้อทำไม เรื่องนี้ทำเองก็ได้” ถูกต้องครับ เรื่องบางเรื่องเราทำเองได้ แต่ สิ่งที่จะกู้คืนกลับมาไม่ได้ก็คือ “เวลา” ที่คุณจะต้องแลกไปกับการทำอะไรแต่ละอย่าง ในขณะที่บางคนได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน แต่ไม่เสียเวลาเพราะคนกลุ่มนั้นสามารถเลือกใช้ “เวลา” ชองคนอื่นเพื่อผลลัพธ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายได้

เมื่อเห็นความแตกต่างของคนทั้งสามกลุ่มแล้ว จะเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความชัดเจน และวินัย ซึ่งถ้าคุณไม่มีความชัดเจน คุณจะไม่รู้ว่าคุณต้องทำอะไร และเช่นกันกับการไม่มีวินัย เพราะหากคุณไม่มีวินัย คุณจะไม่สามารถสร้างผลลัพธ์มาให้ตัวเองได้
สุดท้ายนี้อยากจะฝากไว้อย่างหนึ่งว่า ในบางครั้งสิ่งที่สำคัญของคุณ อาจจะดูไม่สำคัญสำหรับคนอื่น อาจจะดูไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของใครหลายๆคน หรืออาจจะดูไม่ใช่ความสำเร็จที่ถูกยอมรับจากคนรอบข้าง แต่ถ้าคุณเห็นคุณค่าของมัน คุณตัดสินใจว่าสิ่งนี้สำคัญแล้ว จากการถามความรู้สึกข้างในของตัวเองและการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ขอให้คุณพอใจแบบที่พอใจจริงๆ พอใจที่คุณได้สิ่งที่คุณต้องการ ในขนาดหรือปริมาณที่คุณพอใจจริงๆ หลายๆคนคิดได้ว่าต้องการเงิน เงินสำคัญกับเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่บางครั้งเขาวิ่งไล่ตามเงินมากเกินไปจนทำให้เขาละเลยสิ่งอื่นๆที่อาจจจะสำคัญกับเขาจริงๆ แล้วเขาก็เพิ่งจะมาคิดได้ทีหลังว่าจริงๆแล้วเขาก็ไม่ได้ต้องการเงินมากมายขนาดนั้น แต่สิ่งที่เขาเสียไปแล้วบางอย่าง เขาไม่สามารถเรียกคืนมาได้
ดังนั้นการพอใจที่พอใจจริงๆ ไม่ใช่แค่พอใจเพราะคุณกำลังบอกตัวเองว่าให้หยุดทำ หรือคุณใช้คำว่าพอใจเพราะคุณขี้เกียจแล้ว คือการพอใจที่จะทำให้คุณมีความสุข และสามารถใช้ “เวลา” ทุกๆนาทีในชีวิตของคุณ สร้างคุณค่าและความสุขให้กับตัวคุณเองและคนรอบข้างของคุณได้อย่างเต็มความสามารถแน่นอน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599