Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

การเปลี่ยนแปลง

...คำถามกับ การเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ ...

            เคยมีใครนั่งคิดกันบ้างไหมว่า กว่าเราจะมาเป็นเราในทุกวันนี้เรามี การเปลี่ยนแปลง อะไรบ้าง กว่าเราจะมายืนอยู่ในจุดที่เราอยู่ในปัจจุบัน เราผ่านอะไรมาบ้าง อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ลองหาตัวอย่างมาพิจารณากับตัวเองสักเล็กสักน้อยดู บางคนอยู่ในหน้าที่การงานปัจจุบัน มีตำแหน่งที่เติบโตขึ้นกว่าเดิมสมัยเป็นพนักงานใหม่เมื่อ 5 ปี ก่อน บางคนมีสุขภาพดีมีรูปร่างที่ตัวเองพอใจผิดกับเมื่อปีก่อนที่เคยไม่มั่นใจเอามาก ๆ บางคนอยู่ในช่วงชีวิตที่กำลังจะเริ่มต้นเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย สามารถเรียนในคณะในสาขาที่ตัวเองต้องการได้ บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

             ความสำเร็จที่ยกตัวอย่างขึ้นมาเหล่านี้ ไม่มีข้อไหนเลยที่เป็นความสำเร็จที่ถูกเสกขึ้นมาโดยที่คนหนึ่งคนไม่ลงมือทำอะไรเลย คนที่เติบโตในหน้าที่การงานได้ เพราะพวกเขาพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง สร้างผลลัพธ์และความเชื่อใจให้กับองค์กรที่เขาอยู่จนได้รับเลือกให้ไปลุยต่อในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ท้าทายมากขึ้น และให้ผลตอบแทนดีมากขึ้น คนที่สุขภาพดีรูปร่างดีที่คุณเห็นก็ต้องผ่านการออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างจริงจัง คนที่สามารถเข้าเรียนในคณะที่ตัวเองหวังเอาไว้ได้สำเร็จก็ต้องผ่านช่วงที่อ่านหนังสือหาความรู้เตรียมตัวที่จะไปสอบแข่งขันกับคนอื่นอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่าคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจตัวเองก็คงจะไม่ได้แค่เริ่มธุรกิจตัวแรกขึ้นมาแล้วก็ดังปังเป็นพลุแตกแน่นอน พวกเขาก็คงจะผ่านความล้มเหลวและผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะมียืนอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันนี้ได้ หรือต่อให้เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมา บางคนอาจจะบอกว่า “ แล้วถ้าถูกหวยรางวัลใหญ่ ถือเป็นความสำเร็จไหม “ คำตอบก็คือ “ ใช่ “ เพราะคุณจะไม่มีวันถูกหวยแน่นอน ถ้าคุณไม่เลือกที่จะเดินเข้าไปซื้อตั้งแต่แรก

             มาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าบทความนี้เป็นบทความที่เขียนขึ้นมาให้ทุกคนไปสนับสนุนสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ใจความที่ต้องการจะสื่อก็คือ ต่อให้เป็นเรื่องที่มีโชคชะตามีดวงมาเกี่ยวข้องมากแค่ไหน ทุกเรื่อง ๆ จะต้องมีการ “ ลงมือ “ ทำเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ คุณอาจจะเป็นคนที่โชคดีที่สุดในโลก แต่ไม่เคยถูกหวยเลยก็ได้ เพราะคุณไม่เคยซื้อหวยเลย คุณอาจจะเป็นคนที่มีความคิดของนักธุรกิจระดับสูง แต่ไม่เคยทำธุรกิจสำเร็จเลยเพราะคุณไม่เคยสร้างธุรกิจ เพราะฉะนั้นทุกคนคงจะปฎิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้คุณจะถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นคนที่มีพรสวรรค์ที่สุดในโลก ดวงดีที่สุดในโลก คุณจะไม่มีวันประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ถ้าคุณไม่ลงมือทำ

             แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คงจะไม่ได้มีแต่ผลลัพธ์เชิงบวกอย่างเดียว ผลลัพธ์เชิงลบก็คงจะไม่ได้น้อยไปกว่าผลลัพธ์เชิงบวกเท่าไหร่เลย บางคนเคยผิดหวังกับการไม่ได้งานที่ยื่นใบสมัครเอาไว้ บางคนเคยผิดหวังกับธุรกิจที่ล้มเหลว บางคนเคยผิดหวังกับการเจรจาที่ไม่เกิดผลตามต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์เชิงลบที่ไม่พึงประสงค์นี้ ก็ย่อมเกิดจาก “ การกระทำ “ บางอย่างของเราเช่นเดียวกัน

             คำถามต่อมาก็คือแล้วเจ้า “ การกระทำ “ เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรทำให้เราเลือกที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างลงไป ? เพราะเราถูกสอนให้มีความคิดแบบนี้ ? เพราะเราเลือกตามคนอื่น ? เปล่าเลย คำตอบก็คือ เพราะเรา “ เห็นและเข้าใจ “ บางอย่างทำให้เรา “ ตัดสินใจ “ ลงมือทำต่างหาก เพราะทุกคนคงจะไม่เลือกทำอะไรโดยที่ไม่มีเหตุปัจจัยเลย ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเหตุผลรองรับทุกการกระทำของตัวเองอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าบางครั้งเหตุผลเหล่านั้นจะดูฟังไม่ขึ้นกับคนรอบข้าง แต่เหตุผลเหล่านั้นมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เจ้าตัวเลือกทีจะทำสิ่งนั้นลงไป

             สิ่งที่เราอาจจะสังเกตได้รอบตัวเราอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราและคนอื่นรอบตัวเรามักจะมี “ ความเห็น “ ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกันอยู่ก็ตาม ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันนี้ย่อมจะทำให้เราสงสัยขึ้นมาว่าเพราะอะไรทำให้มุมมองของเราต่างกันขนาดนี้ และบางครั้งมุมมองที่ว่าก็ดันต่างกันสุด ๆ ในระดับที่ทำให้เราสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในหัวสมองของพวกเขา

             คำตอบสำหรับความแตกต่างของมุมมองที่มีต่อโลกนี้ก็คือ “ ความเชื่อ “ ที่แตกต่างกันนั่นเอง เพราะความเชื่อเป็นสิ่งที่กำหนด “ ความจริง “ ของพวกเขา ความเชื่อที่กำหนดความจริงเป็นอย่างไร ลองทำ Workshop ง่าย ๆ ที่คุณทำเองเลยก็ได้ คุณลองกวาดสายตามองไปรอบ ๆ ห้องโดยที่พยายามโฟกัสไปที่สีแดงดู หลังจากนั้นให้คุณหลับตาลง คุณจะสามารถพูดได้เป็นฉาก ๆ ว่าสีแดงในห้องของคุณมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นให้คุณหลับตาลงอีกครั้งโดยที่ไม่ได้มองห้องของคุณ คราวนี้ให้ลองพูดถึงสีน้ำเงินดู คุณจะพบว่าตัวเองเจออุปสรรคในการพูดถึงสีน้ำเงินมากกว่าสีแดงเมื่อครู่พอสมควร นั่นเป็นเพราะว่า คุณโฟกัสไปที่ของสีแดงที่อยู่ในห้อง จนทำให้คุณไม่สามารถ “ มองเห็น “ ของสีน้ำเงินที่อยู่ในห้องของคุณได้ ถึงแม้ว่ามันจะมีอยู่ก็ตาม คุณจะสังเกตตัวเองได้ว่า ทันทีที่คุณลืมตาขึ้นมาหลังจากที่คุณพยายามจะนึกถึงของสำน้ำเงินคุณจะเห็นว่าในห้องของคุณมีของสีน้ำเงินอยู่เต็มไปหมด นั่นแหละคือสิ่งที่ “ ความเชื่อ “ ส่งผลกระทบกับคุณอยู่ เพราะความจริงของคุณในตอนที่คุณมองหาสีแดง คุณก็จะเห็นแต่สีแดง คุณจะนึกถึงสีน้ำเงินได้น้อยมาก คราวนี้ของเปรียบเทียบกลับกันดู ถ้าเกิดว่ามีอีกคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในห้องของคุณ ห้องเดียวกันกับที่คุณอยู่เลยแต่พวกเขาจะเอาแต่มองหา “ สีเหลือง “ ห้องเดียวกันนั้นก็จะเต็มไปด้วยของสีเหลืองที่พวกเขาพยายามจะมองหาอยู่และแน่นอนว่าเมื่อคุณพยายามจะพูดถึงของสีแดง พวกเขาก็จะงงไปกับความแตกต่างของมุมมองนี้ ว่าไอ้ห้องเดียวกันนี้ที่เขามองเห็นแต่สีเหลือง มันจะไปมีสีแดงได้อย่างไรกัน เหมือนกับตอนที่คุณพยายามจะนึกถึงสีน้ำเงินเลยไม่มีผิด

              เพราะความเชื่อกำลังกำหนด “ ความจริง “ ของเราอยู่ ซึ่งในชีวิตจริง ความเชื่อของเราไม่ได้มีผลแค่การกำหนดการโฟกัสสีของสิ่งของรอบตัวเราอยู่แล้ว แต่ความเชื่อจะกำหนดทุก ๆ มิติในชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ชีวิตรักหรือการสร้างครอบครัว สุขภาพ ฯลฯ เพราะความเชื่อจะกำหนดมุมมองของเราที่มีต่อสิ่งรอบตัว ถ้าหากว่าเราเชื่อว่า “ เงินทองเป็นของหาง่าย “ เราก็จะมองเห็นแต่ช่องทางในการทำเงิน เราก็จะเห็นแต่โอกาสในการสร้างรายได้ กลับกันกับคนที่มองเห็นว่า “ เงินทองเป็นของหายาก “ เราก็จะมองเห็นวิธีการทำเงินเป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้ใจ เพราะเรา “ เชื่อ “ ว่าเงินจะต้องหายาก เพราะฉะนั้นช่องทางในการหาเงินง่ายมันจะต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยุ่แน่ ๆ

             ดังนั้นความเชื่อจะเป็นตัวที่กำหนดภาพที่เราเห็น และภาพที่เราเห็นจะกลายเป็นสิ่งที่เราเข้าใจ ทำให้เราตัดสินใจอะไรบางอย่างลงไป จนทำให้เราเป็นตัวเราในทุกวันนี้

             ซึ่งก็น่าจะสรุปได้ว่า ผลลัพธ์บางอย่างที่เราได้รับในปัจจุบันเกิดจากความเชื่อบางอย่างในตัวเรา ที่ทำให้เรามองเห็นเรื่องบางเรื่อง ทำให้เราเข้าใจและตีความบางสิ่งบางอย่าง จนสุดท้ายทำให้เรา “ ลงมือทำ “ บางอย่างลงไปและทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างขึ้น และคำถามต่อมาที่หลาย ๆ คนมีในใจแล้วก็คือ แล้วถ้าหากว่าความเชื่อเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนได้ใช่ไหม ? คำตอบก็คือ ใช่ ถ้าความเชื่อของคุณเปลี่ยน ผลลัพธ์ที่จะเกิดกับคุณก็จะเปลี่ยนเช่นกัน ถ้าคุณเปลี่ยนความเชื่อที่กำลังบอกตัวคุณเองอยู่ว่า “ เงินทองเป็นของหายาก “ ให้กลายเป็น “ เงินทองเป็นของหาง่าย “ แน่นอนว่าภาพที่คุณมองเห็นรอบ ๆ ตัวคุณก็จะเปลี่ยนไป ความคิดความเข้าใจของคุณก็จะเปลี่ยนไป การตัดสินใจและลงมือทำของคุณก็จะแตกต่างไปจากเดิม และผลลัพธ์ที่คุณได้ก็จะเปลี่ยนไปนั่นเอง

             คำถามต่อมาของหลาย ๆ คนในตอนนี้ก็คือ แล้วเราจะจัดการกับความเชื่ออย่างไร เราจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่ผลลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ คำตอบก็คือการใช้ “ คำถาม “ นั่นเอง

 “ คำถาม “ กับ การเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ

             ก่อนที่เราจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เราจะต้องย้อนกลับมาดูที่ต้นเหตุว่า “ ความเชื่อ “ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนกับการแก้ปัญหาที่ควรจะแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าการแก้ปลายเหตุ

             เพราะทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความเชื่อบางอย่าง ไม่มีใครที่ออกมาจากท้องแม่แล้วก็เชื่อทันทีว่าเงินทองเป็นของหายาก ไม่มีใครเชื่อทันทีว่าฉันจะต้องหุ่นดีแน่ ๆ เด็กแรกเกิดทุกคนไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีสิ่งที่เรียกว่าเงินทองในชีวิต และเด็กแรกเกิดทุกคนก็ไม่มีใครรุ้ด้วยว่าหุ่นดีเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ร่างกายของเราเรียกว่าอะไร

             ดังนั้นความเชื่อจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตที่สร้างความทรงจำให้กับจิตใต้สำนึกของเรา และสาเหตุประสบการณ์เหล่านั้นฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราได้ เพราะว่าเราเคยเจอเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลกับตัวคุณมากกว่าที่คุณคิด ทำให้โดยส่วนมากแล้วคุณจะไม่รู้ตัวว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมีผลกับคุณมากน้อยแค่ไหน ลองคิดง่าย ๆ ว่าถ้าคุณบอกว่าคุณมีความเชื่อว่าเงินเป็นของหายาก เพียงเพราะผู้ใหญ่ในบ้านคุณพูดว่า “ เงินทองเป็นของหายาก “ ถ้าแค่คำพูดอย่างเดียวทำให้คุณเชื่อวลีนี้ได้ การพูดทับใส่ความทรงจำนั้นก็คงจะเปลี่ยนความเชื่อได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริง ความเชื่อของคนเรามันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายขนาดนั้น เพราะเหตุการณ์ในอดีตนั้นไม่ได้มีแค่คำพูดอย่างเดียว เหตุการณ์นั้นมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เหตุการณ์นั้นฝังอยู่ในความทรงจำจนทำให้เกิดเป็นความเชื่อบางอย่างขึ้นมา

             แต่ก่อนที่จะไปเปลี่ยนความเชื่อของตัวเอง บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ ความเชื่อ “ อันไหนที่ทำให้ผลลัพธ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งวิธีเช็คคความเชื่อของตัวเองแบบง่าย ๆ ก็คือ คุณลองสังเกตตัวเองในตอนที่คุณจะต้องเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างคุณมีความคิดอะไรผุดขึ้นมาอยู่ในหัว

ยกตัวอย่าง คุณกำลังจะต้องขึ้นพูดในที่สาธารณะต่อหน้าคน 1,000 คน ความคิดแรกของคุณคืออะไร ?

  • สบายมาก
  • พันคนหรอ ? ไม่เคยทำมาก่อนแต่ก็ไม่น่าจะต่างจาก 500 คนเท่าไหร่หรอก
  • หนึ่งพันคน.. ฉันจะทำได้ไหมนะ
  • ทำไมฉันจะต้องมาทำเรื่องนี้ด้วยนะ

ซึ่งไม่ว่าคุณจะคิดแบบไหนก็ตาม พยายามจับความคิดแรกของตัวเองให้ได้ นั่นคือเบาะแสแรกที่คุณจะสาวกลับไปหาความเชื่อของตัวเองได้

           เมื่อรับรู้แล้วเราถึงจะสามารถเอามาตั้งคำถามให้ตัวเองได้ ซึ่งคำถามที่จะเปลี่ยนความเชื่อที่มีผลกระทบกับชีวิตเราทุกมิติก็คงจะไม่ใช่คำถามธรรมดาง่าย ๆ ทั่วไป แต่จะต้องเป็นคำถามที่ทรงพลังและท้าทายความเชื่อของเราจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสามารถใช้คำถามลักษณะนี้ได้ สาเหตุง่าย ๆ เลยก็คือ “ สติ “ ไม่มากพอ เพราะชีวิตเราเดินทางอยู่บนความเชื่อของตัวเอง อยู่กับความเชื่อของตัวเอง และความเชื่อนี้พุ่งขึ้นมากำหนดชีวิตตลอดวเลาอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากว่าเราไม่มีสติมากพอ เราจะไม่มีทางจับความเชื่อเหล่านั้นได้ทันเลย เราจะไม่สามารถจับได้ว่า เรารู้สึกอะไร เพราะอะไร แต่สิ่งที่มันจะถูกมัดรวมเข้ามาในความคิดของเรารวดเดียวเลยก็คือ “ ฉันไม่อยากทำมันเลย “ หรือว่า “ ฉันไม่รู้สึกดีกับมันเลย “

การเปลี่ยนแปลง

                ดังนั้นคำถามต่อไปนี้ จะช่วยกระตุ้นให้คุณมีสติมากขึ้น จนสามารถแยกตัวเองออกมาจากความเชื่อเหล่านั้น และเปิดโอกาสให้คุณพิจารณาหาคำตอบในการจัดการกับมัน ข้อหนึ่งที่คุณจะต้องจำให้ขึ้นในเลยก็คือไม่ว่าผลลัพธ์อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต ผลลลัพธ์เหล่านั้นล้วนมาเหตุมาจากการกระทำบางอย่างทั้งสิ้น

คำถาม เพื่อ การเปลี่ยนแปลง คือ …       

1. การกระทำอะไรในอดีตของเรา ที่ทำให้ผลลัพธ์นี้เกิดขึ้น ?

             ตัวอย่าง : ถ้าหากว่าเราไม่พอใจกับรูปร่างของตัวเอง เราลองย้อนกลับไปดูว่าเพราะอะไรเราถึงได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้ตัวเราเองกลายเป็นแบบนี้ได้ เพราะเราทำงานเยอะ ? หรือว่าเพราะเรากินของหวานมากเกินไป ?

2. การกระทำนี้ เกิดขึ้นมาจากอารมณ์อะไร ?

             ตัวอย่าง : แล้วการกระทำเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ไหนหรอ ? บางคนอาจจะบอกว่าต้องทำงานเยอะเพราะเขารู้สึกกลัว หรือที่พวกเขากินขนมเยอะเพราะพวกเขาเครียด

3. คุณคิดอะไรอยู่ ถึงเกิดอารมณ์แบบนี้ ?

             ตัวอย่าง : ความกลัวนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าธุรกิจของเราได้รับผลกระทบเยอะมากจากวิกฤตปัจจุบัน ถ้าไม่ผลักดันตัวเองให้ทำงานหนักขึ้น ความเสี่ยงที่จะล้มมีสูงมาก แล้วถ้าเราล้ม ทีมงานของเราจะทำอย่างไร ? หรือความเครียดที่ทำให้กินขนมเยอะเกิดจากแรงกดดันในปัจจุบันที่เรายังไมได้วัคซีนสักที เรารู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อไม่มีการป้องกันตัว

4. แล้วความคิดเมื่อครู่ มันเกิดจากความเชื่อไหน ?

             ตัวอย่าง : เราเชื่อว่าเมื่อเรามีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ มีความรับผิดชอบมากขึ้น เรายิ่งต้องผลักดันตัวเองมากขึ้น ยิ่งดันเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งรับผิดชอบได้ดีขึ้นเท่านั้น ทั้งชีวิตตัวเองและชีวิตของทีมงานและคนใกล้ตัวของเรา หรือ เราควรจะต้องหาวิธีทางในการป้องกันตัวในทุก ๆ สถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของชีวิต

5. ความเชื่อนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ในชีวิต ?

             ตัวอย่าง : เรามองเห็นคุณพ่อที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แลกตัวเองแลกสุขภาพของตัวเองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในครอบครัว ทำให้เราคิดว่าเราอยากจะดูแลคนอื่นได้แบบที่พ่อทำ เราอยากจะดูแลทีมงาน ดูแลครอบครัวของเรา และการที่จะทำแบบนั้นได้ สุขภาพและร่างกายก็อาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องยอมเสียไป หรือ เราเคยเห็นว่าคุณแม่ของเราจะพยายามหาวิธีการแก้ปัญหาทันทีที่พอจะมองเห็นความเสี่ยงของปัญหา เพราะแม่ทำให้เราผ่านวิกฤตน้ำท่วมในอดีตมาได้ แม่หาเสบียงหาวิธีทางในการจัดหาปัจจัยในการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตและทำให้เราไม่ลำบาก เราเลยรู้สึกว่าเมื่อวิกฤตคืบคลานเข้ามาการหาทางป้องกันคือสำคัญ

            ซึ่งไม่ว่าคุณจะได้คำตอบแบบไหนจากคำถามตามลำดับนี้ก็ได้ คุณจะมองเห็นว่าความเชื่ออะไรของคุณ เกิดมาจากเหตุการณ์อะไร และมีผลกับคุณอย่างไร นี่คือคำถามที่ทำให้คุณแยกตัวเองออกมาจากความเชื่อเหล่านั้นได้ ทำให้คุณมองเห็นมันอย่างชัดเจน และเมื่อคุณมองเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่า คุณจะเลือกถือในความเชื่อนั้นต่อไป หรือคุณอาจจะเลือกที่จะวางความเชื่อนั้นเอาไว้ และเดินหน้าต่อไปหาหนทางแล้วความเชื่อใหม่ ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปในชีวิตของคุณเอง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า