
คนรอบตัวคุณ Toxic หรือคุณกำลังบั่นทอนตัวเองอยู่?
ความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ ถือว่าเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราเป็นเผ่าพันธ์ที่วิวัฒนาการได้มากที่สุดในโลกปัจจุบัน เพราะการอยู่ร่วมกันทำให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และข้อมูลดังกล่าวนั้นก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ นำไปพัฒนา และเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนส่งต่อกันอีกครั้ง จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จากเพื่อนสู่เพื่อน จากครูสู่ลูกศิษย์ และในที่สุดจากรุ่นสู่รุ่น วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาจนสังคมของมนุษย์เติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวันๆ
ประโยชน์อื่นของการอยู่ร่วมกันอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือ การสนับสนุนเกื้อกูลกัน ในหลายๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยต่างๆในการดำรงชีวิต เช่น พ่อแม่ดูแลลูก และเมื่อเวลาผ่านไปลูกก็ดูแลพ่อแม่ , เจ้านายดูแลความเป็นอยู่ของลูกน้อง และในขณะเดียวกันลูกน้องก็ดูแลหน้าที่บางอย่างให้เจ้านาย หรือจะเป็นเพื่อนสองคนหรือกลุ่มหนึ่งดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งนอกจากปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตแล้ว การดูแลอีกอย่างหนึ่งที่เราช่วยเหลือกันก็คือ การดูแลสภาวะอารมณ์นั่นเอง
สำหรับผู้ที่รักการพัฒนาตัวเองย่อมเข้าใจดีว่า สภาวะอารมณ์คือตัวแปรที่มีผลมากหนึ่งตัวแปร ในการสร้างผลลัพธ์บางอย่างในชีวิต เราพูดถึงการควบคุมและจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมสภาวะอารมณ์ในทางหนึ่งเหมือนกัน หลายๆคนคงจะเคยได้ยินประโยคในทำนองที่ว่า “ครอบครัวดี เด็กก็มีความสุข และมีพัฒนาการที่ดี” หรือ “เพื่อนร่วมงานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง และถ้าหัวหน้าดีด้วย ชีวิตก็หยุดไม่อยู่” หรือว่าจะเป็น “ชีวิตคู่จะไปรอดก็ต่อเมื่อ ทั้งสองคนช่วยประคองความรู้สึกกัน ปรับตัวเข้าหาและเข้าใจกัน” ประโยคทั้งหมดนี้คือเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า ผู้คนรอบตัวมีผลกับสภาวะอารมณ์และชีวิตเรามากแค่ไหน
แต่เรื่องทุกเรื่องย่อมมีสองด้านเสมอ การอยู่ร่วมกันในสังคมถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์กับเรามากมาย แต่ก็พ่วงมาด้วยปัญหาหลายๆข้อ หลายๆคนอาจจะเคยพูดออกมาจากปากตัวเองว่า “คนเยอะเรื่องก็เยอะ” หรือ “ถ้าทีมไม่ดี ไม่มีน่าจะดีกว่า” เป็นต้น แต่ปัญหาที่อยากจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือปัญหา “การบั่นทอนอารมณ์”
คุณคือคนที่บั่นทอนอารมณ์ตัวเอง
อ่านกันไม่ผิดแน่นอน “คุณคือคนที่บั่นทอนอารมณ์ของตัวเอง” แต่ก่อนจะอธิบายเยอะมากกว่านี้ขออนุญาตสื่อสารไว้ ณ จุดนี้เลยว่า ยกเว้นกรณีที่คุณถูกวินิจฉัยว่ามีอาการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะอาการนี้เคมีในสมองทำงานไม่ปกติ เพราะฉะนั้นเทคนิคต่างๆในบทความนี้อาจจะไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ที่มีอาการดังกล่าวได้ 100% แต่ถึงแม้ว่าจะนำเทคนิคไปใช้ไม่ได้เต็มที่ หลังจากที่อ่านแล้วอาจจะมองเห็นอะไรบางอย่าง หรือมุมมองใหม่ๆที่มองข้ามมาตลอดก็เป็นได้
กลับมาในหัวข้อเดิมคือ “คุณคือคนที่บั่นทอนอารมณ์ของตัวเอง” เพราะคุณคือคนที่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ 100% เต็ม และยืนยันได้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีใครมีอำนาจควบคุมชีวิตคุณได้ 100% เหมือนที่คุณมีแน่นอน ซึ่ง อำนาจการควบคุมนี้ก็หมายรวมไปถึงอารมณ์ของคุณเองด้วย คุณอาจจะมีคำถามขึ้นมาว่า “แต่ฉันต้องมาเจอกับคนแบบนี้ นี่คือซึ่งที่ฉันควบคุมได้หรือ?” คำตอบก็คือ “ใช่ คุณควบคุมจุดนี้ได้” เพราะคุณ “เลือก” ที่จะไปเจอคนแบบนี้เอง และคุณ “เลือก” ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนกลุ่มนี้เอง ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆคนคงจะมีเหตุผลอีกมากมาย “ก็นี่มันที่ทำงาน จะให้ลาออกไปเลยหรือ? และถ้าลาออกจะเอาอะไรกิน? ฯลฯ”
แต่ถึงอย่างนั้น คำตอบก็ยังคงยืนยันคำตอบว่า “คุณเลือกได้” เหมือนเดิม เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นได้จากสองปัจจัยคือ “คุณ” และ “ปัจจัยภายนอก” เพียงแค่สองอย่างนี้เท่านั้น และถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกทุกอย่างได้ 100% ก็ตาม แต่ส่วนที่เป็นตัวคุณเอง คุณเลือกได้แน่นอน ซึ่ง แนวคิดนี้จะคล้ายกันกับหัวข้อ Cause & Effect ของ NLP ซึ่งความหมายของ Cause และ Effect โดยคร่าวคือ
Cause : คือการรับตัวเองเป็นต้นเหตุว่า เรามีส่วนในการตัดสินใจ หรือกระทำบางอย่างอันเป็นผลให้เกิดเหคุการณ์นั้นๆขึ้นมาไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เรามีพลังในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเหตุการณ์ตรงหน้าได้ เพราะเรามีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ
Effect : คือการรับตัวเองเป็นคนที่ถูกกระทบ หรือก็คือ เราไม่มีส่วนในการตัดสินใจใดๆเลยกับเหตุการณืที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะมีเราเป็นส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ว่าเราไม่มีผลกับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่กิดขึ้นใดๆทั้งนั้น มันเกิดขึ้นของมันเองและมากระทบเราในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
ตัวอย่าง : เราใส่รองเท้าสีขาวคู่ใหม่เอี่ยม แต่เพื่อนสะดุดมาเหยียบรองเท้าเรา
Cause : เราพลาดเองที่ไม่ได้ฉีดสเปรย์กับเลอะเอาไว้ คราวหน้าจะต้องไม่ลืม
Effect : ทำไมเพื่อนไม่ระวังตัวนะ เรายืนอยู่เฉยๆแท้ๆ สงสัยวันนี้จะดวงซวยซะแล้ว แย่จริงๆ
จะเห็นได้ว่า การเป็น Cause คือการเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น และเมื่อเราเป็นต้นเหตุ หมายความว่าเรามีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น ต่างกับการเป็น Effect เพราะเราไม่รับตัวเองว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดเหตุการณ์นั้นเลย แต่เราถูกกกระทบจากเหตุการณ์นั้น และเราทำอะไรไม่ได้ ซึ่งถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอยางที่เกิดขึ้นกับคุณ ขั้นตอนแรกคือการรับตัวเองเป็น Cause และนั่นจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้คุณเริ่มคิดถึงวิธีการจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตคุณ รวมถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย
เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่า การรับตัวเองเป็น Cause คือก้าวแรกของการมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆรอบตัวคุณ แสดงว่าคุณพร้อมสำหรับเทคนิคเหล่านี้แล้ว

1.โฟกัสชีวิตตัวเอง
ในบางครั้งเราต้องอยู่ในสังคมที่มีผู้คนมากมาย แน่นอนว่าการมีมารยาทและการเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สนตัวเองเลย ถ้าคุณมีเวลาให้คนอื่น แสดงว่าคุณมีเวลาให้ตัวเองได้เช่นกัน ลองหาเวลาสักเล็กน้อย นั่งอยู่เงียบๆ แล้วคุยกับตัวเองข้างในดูบ้าง “วันนี้ฉันเจออะไรมาบ้าง” “อะไรมีผลกระทบกับฉันบ้าง” “ฉันคิดอะไรอยู่” เป็นต้น
ดูจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับใครหลายๆคน แต่การตั้งใจตั้งคำถามให้ตัวเอง มีผลให้เรา “คิด” มากขึ้นว่าคำตอบของแต่ละเรื่องคืออะไร ถ้าย้อนกลับไปตัวอย่างข้างต้นที่เพื่อนสะดุดมาเหยียบรองเท้า ในเหตุการณ์ ณ ตอนนั้นเราอาจจะคิดเป็น Effect ก็ได้ แต่ถ้าได้มานั่งอยู่กับตัวเอง แล้วถามตัวเองว่ามีเหตุการณ์ไหนมีผลกับเราบ้าง ถ้าเหตุการณ์นี้โผล่ขึ้นมา เราอาจจะเห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับเหตุการณ์นั้นได้บ้าง และเปลี่ยนมุมมองของตัวเองจาก Effect มาเป็น Cause ก็ได้
2.สร้างจุดยืนให้ตัวเอง
การมีจุดยืนของตัวเอง คือ การเคารพตัวเองและมั่นคงในความคิดของตัวเอง เพราะหลายๆครั้ง เราอยู่กับสังคมหลายๆรูปแบบ และในแต่ละกลุ่มสังคมของเรา ค่านิยมก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว และถ้าคุณไม่มั่นคงในความคิดและจุดยืนของตัวเอง คุณจะกลายเป็นคนที่ไหลตามค่านิยมของคุณรอบตัวคุณตลอดเวลา ไปอยู่กลุ่มนั้นเป็นแบบนั้น ไปอยู่กลุ่มนี้เป็นแบบนี้
แต่อย่างไรก็ตาม การมีมารยาทและกาละเทศะที่เหมาะสมกับการเข้าสังคมหลายรูปแบบก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ไม่ใช่ว่าคุณสร้างจุดยืนชัดเจนว่าฉันจะเป็นของฉันอย่างนี้ แล้วฉันก็จะเป็นของฉันแบบนี้ในทุกๆกลุ่มสังคม เช่นว่า ฉันเป็นคนห่ามๆ พูดจาไม่เพราะ ลักษณะนี้อาจจะเหมาะกับการอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่คล้ายคลึงกัน เพราะถ้ามีแนวคิดคล้ายๆกัน แนวโน้มที่จะเข้าใจกันดีก็มีสูงมากขึ้น แต่ถ้าฉันยังจะอยากเป็นคนห่ามๆ พูดจาห้วนๆในสถานการณ์ที่ต้องการความเป็นมืออาชีพ หรือในที่ทางการ ก็คงจะไม่เหมาะเท่าไหร่
แต่จุดยืนในที่นี้คือ จุดยืนทางความคิด ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณชอบสีแดง คุณก็ควรจะสามารถบอกคนรอบตัวคุณได้อย่างมั่นใจว่า “ฉันชอบสีแดง” ไม่ใช่ว่าในใจคุณชอบสีแดง แต่เมื่อคุณไปอยู่กับกลุ่มคนที่ชอบสีฟ้าแต่ไม่ชอบสีแดง คุณก็บอกว่าคุณชอบสีฟ้าแต่ไม่ชอบสีแดงเหมือนกัน
ข้อควรระวังสำหรับการมีจุดยืนที่มั่นคงคือ อย่าเผลอเอาจุดยืนของตัวเองไปป้ายให้คนอื่นมามีจุดยืนเดียวกันกับเรา ถ้าเราชอบสีแดงก็ขอให้มั่นใจว่าสีแดงที่เราชอบ มันมีความสวยงามตามแบบของมัน คุณสามารถอธิบายความงามในสายตาคุณให้คนอื่นฟังได้ แต่คุณไม่มีสิทธิไปบังคับคนอินให้มาชอบสีแดงเหมือนคุณได้ ดังนั้นถ้าคุณอยากจะมีจุดยืนที่มั่นคงและหวังว่าอยากจะให้คนอื่นยอมรับในจุดยืนของคุณ คุณเองก็ควรจะยอมรับความแตกต่างระหว่างคุณและคนรอบข้างได้เช่นเดียวกัน
3.หยุดพฤติกรรมแย่ๆ
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า “คุณคือคนที่บั่นทอนอารมณ์ตัวเอง” นั่นหมายความว่าคุณอาจจะกำลังทำอะไรบางอย่างที่ส่งผลทำให้คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนที่เป็นพิษกับคุณอยู่รอบตัวโดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่ง “พฤติกรรมแย่ๆ” เหล่านี้คุณอาจจะมองข้ามไป หรือบางครั้งคุณอาจจะกำลังเข้าใจหมายความของพฤติกรรมเหล่านี้ผิดว่ากำลัง “ช่วย” คนอื่นอยู่ก็เป็นได้
คุณบอกว่าคุณโอเค ทั้งๆที่จริงๆแล้วคุณไม่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงความเห็นก็ดี หรือการให้ความยินยอมกับอะไรบางอย่างก็ดี ถ้าคุณรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณควรจะพูดและแสดงความเห็นของคุณออกไปตรงๆได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆเช่น ถ้ากลุ่มเพื่อนของคุณอยากจะมาปาร์ตี้สังสรรค์ที่บ้านคุณ แต่คุณไม่สบายใจที่จะให้เพื่อนกลุ่มนี้มา คุณก็ควรจะออกความเห็น หรือพูดออกไปได้เต็มที่ว่ายังไม่สะดวกให้มา ไม่ใช่ว่าคุณก้มหน้าแล้วก็มองว่าในเมื่อทุกคนอยากมา คุณก็จำเป็นจะต้องอยากให้เพื่อนคุณมาด้วย
ดังนั้นสิ่งที่คุณควรจะต้องทำ คือการพูดความต้องการของตัวเองออกไป แน่นอนว่าความต้องการของคุณอาจจะไม่ได้ถูกตอบรับทุกครั้ง เพราะเหมือนกันกับที่คุณไม่จำเป็นจะต้องตอบรับความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา คนรอบตัวคุณก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบรับความต้องการของคุณตลอดเวลาเช่นกัน แต่การพูดความต้องการของตัวเอง เป็นการสร้างนิสัยให้คุณไม่คล้อยตามคำพูดของผู้อื่นมากเกินไป เรื่องเล็กๆน้อยๆที่คุณพูดว่าตัวเองต้องการอะไร จะทำให้คุณสามารถปฎิเสธเมื่อคุณจำเป็นจะต้องปฎิเสธได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าคุณเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆแล้วคุณคิดว่าคุณจะ “ปล่อยผ่าน” ไปเพราะมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ วันหนึ่งคุณอาจจะพบตัวเองอยู่ในสถานการณืที่อยากจะปฎิเสธบางสิ่งบางอย่าง แต่คุณพูดไม่ออกเพราะว่าคุณคิดว่าคุณ “เกรงใจ” คนอื่น แต่จริงๆแล้วคุณอาจจะแค่กำลัง “เคยชิน” กับการบอกว่าคุณโอเคกับทุกเรื่อง ทั้งๆที่คุณอาจจะไม่โอเคก็เป็นได้
Yes man !
คล้ายๆกับหัวข้อข้างต้นที่ไม่บอกว่าตัวเองไม่โอเค ข้อนี้คือการตอบรับทุกอย่าง ใครถามอะไร ใครวานอะไรก็ตอบว่า ได้ครับ/ได้ค่ะ ไปเสียหมด ซึ่งการตอบรับทุกอย่างแบบนี้จะทำให้คุณ “ถูกใช้งาน” ได้ง่าย ก่อนจะเข้าใจผิดว่า “แล้วฉันไม่ควรช่วยคนอื่นหรือ?” แน่นอนว่าการยื่นมอเข้าไปช่วยเหลือเมื่อสามารถเป็นเรื่องดี แต่คุณต้องประเมินด้วยว่า สิ่งที่คุณกำลังยื่นมาเข้าไปช่วยอยู่ สมควรไหม? และเกินกำลังคุณไหม? มูลนิธิยังมีเงื่อนไขและเกณฑ์การตัดสินว่าพวกเขาจะยื่นมือเข้าหาคนกลุ่มไหน และกลุ่มไหนที่พวกเขาจะไม่ช่วย ดังนั้นคุณเองก็ควรจะต้องมีบรรทัดฐานในการตัดสินเช่นเดียวกันว่า คุณสามารถช่วยเขาได้มากน้อยแค่ไหน
สรุปแล้ว “พฤติกรรมแย่ๆ” ที่ว่าก็คือการ “ละเลยตนเอง” นั่นเอง เพราะถ้ามองด้วยผิวเผินคุณอาจจะกำลังเข้าใจว่าคุณกำลังทำเพื่อคนอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปกปิดความรู้สึกของตัวเอง หรือว่าจะเป็นการตอบรับไปเสียทุกอย่างก็ดี ทั้งสองข้อนี้คือการ “ละเลย” ตนเองทั้งสิ้น และถ้าคุณพบว่าคุณอยู่ในสถานะแบบนี้อยู่บ่อยๆ เพราะคุณคิดว่าถ้าคุณไม่ทำแบบนี้ คุณจะหมดคุณค่า ให้คุณหยุดทำทันที เพราะ “คุณค่า” ที่หมดไปเป็นเพียงแค่มุมมองของคนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อคุณ แต่ “คุณค่า” ในตัวคุณจะคงอยู่และไม่มีทางหมดไปแน่นอน คุณลองคิดดูว่าถ้าคุณจะ “มีคุณค่า” กับคนบางกลุ่มเพียงเพราะคุณเป็นคนที่ถูกใช้งานง่าย อะไรก็ได้ไปหมด แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งคุณปฎิเสธแล้วเขายอมรับไม่ได้ คนกลุ่มนั้นคู่ควรกับคุณค่าอันสวยงามในตัวคุณแน่นอน 100% และเมื่อคุณสามารถดึงตัวเองออกมาได้ เชื่อว่าในที่สุด คุณก็จะพบกลุ่มคนที่เห็น “คุณค่า” ของคุณ และคุณก็เห็น “คุณค่า” ของพวกเขา เช่นเดียวกัน

4.ปล่อยวาง +ให้อภัยเป็น
“ปล่อยวาง” อาจจะดูเป็นคำง่ายๆที่ทุกคนพูดกันเกลื่อนไปหมด แต่ การปล่อยวางคือการเข้าใจจริงๆว่า “คนทุกคนทำเต็มที่ในศักยภาพที่ตัวเขามี” จริงๆ เพราะทุกๆคน รวมถึงตัวคุณเองด้วย ย่อมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างกับตัวเองอยู่แล้ว และทุกๆครั้ง พวกเขาทำเต็มที่ในศักยภาพที่เขามี เพื่อประโยชน์เหล่านั้นแน่นอน
ลองคิดตามดูเรื่องง่ายๆ คุณรู้อยู่แล้วว่านกพิราบบินได้ และคุณรู้อยู่แล้วว่าปลาทองว่ายน้ำเป็น คำถามคือ คุณจะโกรธที่นกพิรายว่ายน้ำไม่เป็นไหม? หรือคุณจะโกรธที่ปลาทองบินไม่ได้หรือเปล่า? เชื่อว่าหลายๆคนคงจะไม่โกรธแน่นอน เพราะคุณรับรู้และเชื่ออยู่แล้วว่า นกว่ายน้ำไม่ได้ตั้งแต่แรก จึงไม่มีเหตุผลที่คุณจะต้องไปโกรธมัน และปลาก็บินไม่ได้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วคุณจะโกรธมันเพราะมันบินไมได้ไปทำไม
ซึ่งหลักการนี้สามารถนำมาใช้กับคนที่คุณ “ไม่ชอบ” ได้เช่นกัน แต่กับดักที่ทำให้คุณมองไม่เห็นจุดนี้ ขีดความสามารถที่หลากหลาย และแตกต่างกันของมนุษย์ ทำให้หลายๆครั้งเราพลาดที่จะมองเห็นว่า ใครทำอะไรได้ หรือใครทำอะไรไม่ได้ ส่งผลให้เราคาดหวังสิ่งที่คนบางคนอาจจะทำไม่ได้ และกับดักอีกข้อที่ใหญ่ที่สุดคือ คุณเปรียบเทียบทุกคนกับตัวคุณเอง เพราะตัวคุณเองคือตัวตนที่คุณมีความเข้าใจมากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะเปรียบเทียบคนอื่นกับตัวเอง “ถ้าฉันพูดจาดีๆได้ ทำไมเขาถึงไม่พูดจาดีๆบ้าง” “ถ้าฉันมีเหตุผลได้ ทำไมเขาถึงไม่มีเหตุผลเหมือนฉันบ้าง?” นั่นเป็นเพราะคุณคิดว่าคุณสามารถทำได้ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ แต่จริงๆแล้ว เขาอาจจะกำลังคิดว่าเขาพูดดีที่สุดแล้วอยู่ก็ได้ หรือความไร้เหตุผลที่คุณเห็น อาจจะเป็นเหตุผลเป็นสำหรับพวกเขาก็ได้
ดังนั้นการปล่อยวาง คือการเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรทุกอย่างที่เขามี และพวกเขาทำเต็มที่ที่สุดแล้ว และนั่นจะทำให้คุณสามารถให้อภัยคนเหล่านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องอยู่เป็นสนามอารมณ์ให้กับเขาไปตลอด แต่เมื่อคุณรับรู้ข้อนี้ แสดงว่าคุณกำลังมีสติ และความมีสติของคุณจะทำให้คุณสามารถเลือกได้ว่า คุณจะยืนอยู่ตรงนี้ หรือคุณจะถอยออกมาจากจุดนั้นเอง เพราะคุณเห็นว่าคนตรงหน้ากำลังแสดงอาการท่าทางออกมาในลักษณะไหน การมีสติของคุณจะทำให้คุณตัดสินใจได้ดีแน่นอนว่าคุณจะรับมือกับเหตการณ์ตรงหน้าได้อย่างไร
สุดท้ายนี้ ทุกอย่างวนกลับมาที่คำว่า “คุณเลือกได้” คุณเลือกสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ คุณเลือกผู้คนที่อยู่รอบตัวได้ คุณเลือกวิธีจัดการกับคนอื่นได้ คุณเลือกที่จะให้ความหมายใหม่ๆกับพฤติกรรมบางอย่างของคนอื่นได้ และคุณเลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองที่อาจจะกำลังทำร้ายตัวเองอยู่ก็ได้ ขอให้คุณหันกลับมาคุยกับตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ เพราะอย่างไรก็ตาม ทุกคนมีทรัพยากรในตัวมากพอที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขได้แน่นอน คำถามสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ
“คุณจะทำอย่างไร เมื่อคุณรับรู้ว่าคุณกำลังอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นพิษกับคุณ?”
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599