คำถาม-โค้ช-ชิ่ง

...คำถาม โค้ช ชิ่ง ที่ควรถามถ้าหากอยากเป็นหัวหน้าที่ดี...

             องค์ประกอบในการเติบโตของธุรกิจหรือองค์กรมีอยู่หลากหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาสินค้าของตัวเอง ด้านการบริหารจัดการงบประมาณ ด้านการจัดการระบบการทำงานให้ไหลลื่นและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบไหนก็ตามปัจจัยที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรก็คือ “ บุคลากร “ ที่ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนในองค์กรนั่นเอง

             องค์กรหลายองค์กรเติบโตมาจากการเป็นธุรกิจ SME เล็ก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นและพัฒนาด้วย Founder คนเดียว หรือกลุ่มคนไม่กี่คน ในจุดที่กำลังเริ่มต้นอยู่นั้นธุรกิจจะรอดหรือไม่รอด จะโตหรือไม่โตก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความสามารถของ Founder เป็นหลัก แต่เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต ความต้องการของสินค้าเพิ่มขึ้น Task หรืองานที่จำเป็นจะต้องรับผิดชอบก็มีเพิ่มขึ้น นั่นเป็นจุดที่ทำให้ Founder เริ่มคิดที่จะเพิ่มกำลังคนในการทำงาน หรือก็เริ่มคิดที่จะจ้างบุคลากรมาทำงานร่วมกันนั่นเอง และแน่นอนว่าเมื่อมีความคิดที่จะจ้างบุคลากรเข้ามาทำงานก็ย่อมจะมีความหวังที่จะได้บุคลากรคุณภาพเข้ามาทำงานเช่นเดียวกัน เพราะ Founder หลาย ๆ ท่านเมื่อต้องเริ่มถ่ายงานให้คนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองไปรับผิดชอบ แน่นอนว่าจะต้องมีความกังวลว่างานที่อยู่ในมือของคนอื่นจะออกมามีคุณภาพเหมือนตอนที่ตัวเองทำไหม จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความกังวลนั้นลดลงและหมดไปในที่สุดก็คือ ศักยภาพของบุคลากรนั่นเอง

             เมื่อพูดถึงศักยภาพของบุคลากรในองค์กร เราจะสังเกคเห็นได้ว่าองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมประจำปี บางบริษัทในมุมอ่านหนังสือไว้ให้บุคลากรใช้งาน บางบริษัทมีนโยบายให้ทุนเรียนกับบุคลากรของตัวเองในหัวข้อที่จะสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ดีได้ว่าทุกองค์กรต้องการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เจ้าขององค์กรทุกคนคงจะมีความเห็นเดียวกันว่า ถ้าบุคลากรไม่ได้คุณภาพก็ไม่มีซะยังจะดีกว่า ตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีทีมงานคนแรกเกิดขึ้นในองค์กร จนถึงตอนนี้ที่อาจจะมีทีมของตัวเองหลายร้อยหรือหลายพันคน ก็คงจะไม่มีตำแหน่งไหนที่แค่อยากจะให้ใครก็ได้เข้ามารับผิดชอบโดยที่ไม่ขัดกรอง จริงไหม ?

 Coaching กับการพัฒนา

             พูดถึงการพัฒนาแล้วหลายคนหลายองค์กรคงจะคุ้นเคยกับคำว่า Coaching หรือการโค้ชกันว่าเป็นวิธีที่ผู้นำคุณภาพหลายคนเลือกนำมาใช้กัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ Coaching ในองค์กรเป็นที่นิยมนำมาใช้กันเพราะว่า การโค้ชให้อิสระในการพัฒนากับตัวบุคลากรนั่นเอง ซึ่งที่บอกว่าให้อิสระในการพัฒนาก็เพราะว่า วิธีการสอนหรือถ่ายทอดแบบอื่นจะใช้ความรู้หรือ Knowhow ของผู้สอนเป็นหลัก นั่นทำให้มุมมองในการเรียนรู้จะถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบที่ผู้สอนถ่ายทอดให้เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่การ Coaching จะเป็นการพัฒนาด้วยการตั้งคำถาม และแน่นอนว่าเมื่อคำตอบเป็นคำตอบที่ออกมาจากโค้ชชี่ ( Coachee ) หรือผู้ที่ได้รับการโค้ช นั่นหมายความว่าคำตอบที่ออกมาไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้เหมือนกับการเรียนรู้ด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ก่อนที่จะบรรยายคุณประโยชน์ไปมากกว่านี้ มาทำความรู้จักกันสักหน่อยดีกว่าว่า โค้ชชิ่งคืออะไร ?

              การโค้ช หรือ Coaching คือ ศาสตร์ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะและศักยภาพของแต่ละบุคคล ด้วยการใช้ คำถาม กระตุ้นเพื่อสร้างแนวทางในการเรียนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเป้าหมายที่ Coachee หรือผู้ที่ถูกโค้ชต้องการ โดยที่มีโค้ชเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยอยู่เป็นกระจกสะท้อนอยู่ตลอดเวลา

             ความแตกต่างหลัก ๆ ของการ Coaching กับ Training หรือการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ก็คือ Coaching จะใช้คำถามเพียงอย่างเดียว เพื่อกระตุ้นให้ Coachee หาคำตอบและวิธีทางในการพัฒนาตัวเองด้วยตัวเอง เพราะศาสตร์ของการโค้ชเชื่อว่า แต่ละคนจะมีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองในการเติบโตในแบบของตัวเอง เพื่อเป้าหมายของตัวเอง

             ลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบดูว่ามีสัตว์ 3 ชนิด จำเป็นจะเดินทางไปยังจุดหมายเดียวกัน ม้าคงจะต้องหาทางที่เป็นพื้นดินให้ตัวเองได้วิ่งไปได้สะดวก ๆ ปลาคงจะต้องว่ายน้ำไป และนกก็คงจะเลือกบินมากกว่าวิ่งอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าถึงแม้ว่าจะมีจุดหมายเดียวกัน สัตว์แต่ละชนิดก็มีเส้นทางในการเดินทางที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดของตัวเอง สมมติว่าในเส้นทางทั้งหมด แม่น้ำจะเป็นเส้นทางที่เส้นและเร็วที่สุดในการไปถึงจุดหมาย แต่ถ้าจะให้ม้ามาว่ายน้ำก็อาจจะช้ากว่าให้มันวิ่งอยู่บนบกก็เป็นได้ หรือต่อให้นกจะสามารถลงมาเดินไปพื้นดินได้เหมือนม้า แต่ถ้าให้มันบินบนฟ้าก็คงจะสะดวกและรวดเร็วกว่า จริงไหม ?

คำถาม-โค้ช-ชิ่ง

             ซึ่งการเปิดโอกาสให้หาวิธีทางเองในลักษณะนี้จะแตกต่างกับการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ที่อ้างอิงจากความรู้ที่ผู้สอนถ่ายทอดมา เพราะการถ่ายทอดจากผู้สอนจะค่อนข้างเทไปในทางที่ผู้สอนถนัดมากกว่า ถ้าย้อนกลับไปที่ตัวอย่าง ม้า นก และปลา ถ้าผู้สอนเป็นปลา จะแนะนำให้ม้าลงไปว่ายน้ำก็ดูท่าจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่ถึงแม้ว่าจะทำได้ก็ตาม หรือถ้าจะให้นกลงมาว่ายน้ำก็ยิ่งแล้วใหญ่ แต่การโค้ชจะเป็นการใช้เครื่องมือในการถามว่า คุณอยากจะเดินทางแบบไหน และเมื่อผู้ถูกโค้ชเลือกแล้วว่าอยากจะเดินทางแบบไหน พวกเขาก็จะเห็นหนทางและมีแรงกระตุ้นที่จะไปหา Knowhow จาก Specialist ในเส้นทางที่พวกเขาเลือกเอง

             แน่นอนว่าคนเราก็ย่อมจะมีเส้นทางและความถนัดของตัวเอง ทำให้เราจะเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนมักจะมีวิธีทางในแบบของตัวเอง แต่ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะมีความถนัดเป็นของตัวเอง ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสังเกตตัวเองได้ง่ายเหมือนการยกตัวอย่างว่าม้าก็ต้องวิ่ง นกก็ต้องบิน ปลาก็ต้องว่ายน้ำ บางคนอาจจะเติบโตมาด้วยการเดินตามเส้นทางที่คนอื่นวางเอาไว้จนการเลือกเส้นทางของตัวเองก็อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าที่คิด เพราะไม่เคยให้เวลากับตัวเองเลย ตรงจุดนี้จะเป็นหน้าที่ของโค้ชที่ดีแล้วว่า จะใช้เครื่องมือที่ศาสตร์การโค้ชหรือ Coaching tools แบบไหนเพื่อดึงเอาศักยภาพที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวของ Coachee ออกมาสะท้อนให้ตัวเขาเองได้เห็นด้านที่ไม่เคยเห็นของตัวเองมาก่อนได้

 การเป็น โค้ช ชิ่ง ที่ดี

             อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าผู้นำหลาย ๆ ท่านก็คงจะสนใจการเอาเครื่องมือไปใช้พัฒนาบุคลากรของตัวเองกันพอสมควร ความเป็นไปได้ที่จะดึงศักยภาพของทีมงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตขององค์กรคุณในแบบที่คุณอาจจะไม่เคยคิดถึงมาก่อนก็ได้ แต่ก่อนที่จะเอาเครื่องมือมาเริ่ม Coaching ในองค์กร เราควรจะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าการจะเป็นโค้ชที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

คุณสมบัติการเป็นผู้ฟังที่ดี : แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้คำถาม นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาหาคำตอบด้วยตัวของพวกเขาเอง ซึ่งบางครั้ง คำตอบที่ได้ออกมาอาจจะไม่ตรงกับความเชื่อหรือความคิดของคุณ จุดนี้คุณจะต้องมีสติเอาไว้ให้ดี เพราะเมื่อคุณได้ยินสิ่งที่มันขัดกับความเชื่อของตัวเอง คุณจะมีความรู้สึกที่จะต้องให้คำแนะนำในทันที ระวังตัวให้ดีเพราะ โค้ชที่ดี จะไม่ให้คำแนะนำถ้าหากว่าโค้ชชี่ไม่ได้ขอ เพราะการโค้ชคือการกระตุ้นให้ตัวบุคคลหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งการหาคำตอบก็เป็นเรื่องปกติที่จะผิดบ้างถูกบ้างปะปนกันไป ดังนั้นคุณมีหน้าที่นั่งฟังแนวคิดของพวกเขา และสะท้อนสิ่งที่คุณได้ยินทั้งหมดกลับไปให้พวกเขาฟังเท่านั้นเอง ยกเว้นเสียแต่ว่าโค้ชชี่ของคุณจะเอ่ยปากขอคำแนะนำจากคุณเท่านั้น คุณถึงจะให้คำแนะนำ

  •  ไม่ใช้คำถามชักจูง : นอกจากจะไม่ให้คำแนะนำแล้ว โค้ชที่ดีจะต้องระวังตัวเองไม่ให้ใช้คำถามชักจูงด้วย โค้ชบางคนพลาดที่การใชคำถามหว่านล้อมให้ Coachee ตอบในสิ่งที่ตัวโค้ชอยากจะได้ยิน โค้ชบางคนมีวิธีในหัวของตัวเองอยู่แล้ว สุดท้ายตัวโค้ชเองพยายามใช้คำถามเพื่อชี้นำเพื่อให้ได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ นี่เป็นข้อห้ามในการใช้ศาสตร์การโค้ชเลย เพราะนี่จะเป็นการปิดโอกาสในการคิดและเติบโตด้วยตัวเองของ Coachee
  •  รู้จักกันก่อนจะสอนกัน : องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการทำให้การโค้ชประสบผลสำเร็จก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน( Trust ) ระหว่าง Coach และ Coachee เพราะการโค้ชต้องการให้ Coachee ตอบสิ่งที่เป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะให้คำตอบกับเรื่องบางเรื่องได้ โค้ชที่ดีความจะสร้างพื้นที่ที่ทำให้ Coachee สามารถพูดหรือถ่ายทอดความรู้สึกทุกอย่างของตัวเองออกมาได้โดยที่ไม่รู้สึกกดดันหรืออึดอัด ดังนั้นการ “ รู้จักกัน “ ก่อนหรือการสร้างความเชื่อใจระหว่างกันก่อนจึงเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการเริ่มโค้ชสำหรับโค้ชที่ดี
  •  ติดตามอยู่ตลอด : แน่นอนว่าถึงแม้ Coaching sessions จะจบลงไปแล้ว การติดตามผลลัพธ์ที่ Coachee ตั้งใจว่าจะทำให้เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของโค้ชที่ดี เพราะถึงแม้ว่าใน sessions จะประสบความสำเร็จแค่ไหน ถ้าผลลัพธ์ไม่เกิดตามที่คุยกันเอาไว้ หน้าที่ของโค้ชคือติดตาม และคอยเป็นผู้ช่วยในการแก้ปัญหาของ Coachee เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่ Coachee อยากจะได้รับ

 

คำถามที่หัวหน้าที่ดี ควรถาม

             การมีคำถามที่ดูอลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยคำพูดสวยหรูก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคำถามข้อนั้นจะเป็นคำถามที่ดีเสมอไป ตัวที่จะวัดว่าคำถามข้อนี้ “ ดี “ หรือไม่จริง ๆ คือตัวผู้ถามเองนั่นแหละ เพราะคำถามจะเป็นคำถามที่ดีได้ก็ต่อเมื่อ

  • ผู้ถามเชื่อใจว่าคนที่กำลังตอบเรา มีศักยภาพมากพอ : ผู้นำหลายคนพยายามคัดทีมงานที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานด้วยกัน แต่หลายคนไม่ได้เชื่อใจในศักยภาพของทีมตัวเองจริง ๆ ทำให้หลาย ๆ ครั้ง ผู้นำเหล่านี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทีมงานพูดมากพอ หรือไม่ได้รับฟังมากพอ แต่ถ้าผู้นำมีความเชื่อใจว่าทีมงานของเรามีศักยภาพและสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ ภาษาที่ใช้สื่อสารเวลาตั้งคำถามจะเปลี่ยนไปในทันที ทั้งภาษากายและภาษาพูด
  •  เป็นคำถามปลายเปิด : คำถามที่ดีคือคำถามทีเปิดโอกาสให้ออกความเห็นได้เต็มที่ ไม่ใช่คำถามที่บีบให้มีตัวเลือกไม่กี่ทางเลือก

           เมื่อนำองค์ประกอบของการเป็นโค้ชที่ดี มารวมเข้ากับการใช้คำถามที่ดี ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาบางอย่างในการทำงานจะสนับสนุนให้คุณและทีมงานของคุณเติบโตขึ้นมาทันที

          ลองนึกภาพการทำงานที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้นำและทีมงานแน่นแฟ้น และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างทางความคิดและการแสดงความคิดเห็น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วทีมงานเดินเข้ามาหาคุณที่เป็นผู้นำเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว นี่คือตัวอย่างชุดคำถามที่คุณสามารถเลือกใช้ได้

“ อะไรคือผลลัพธ์ที่คุณต้องการให้เกิดขึ้น ? “

“ ผลที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์นั้นคืออะไร ? “

“ อะไรเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นได้บ้าง ? “

“ อะไรที่อาจจะเป็นอุปสรรคได้บ้าง ? “

“ เราจะจัดการรกับอุปสรรคเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง ? “

“ คุณต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม ? ”

             สังเกตได้ว่าคำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามที่ชวนให้เราวิเคราะห์ปัญหาจากผลลัพธ์ที่ต้องการจะได้มากกว่าการจี้ปัญหาหรือการหาคนผิดว่าใครเป็นต้นเหตุของปัญหา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทีมงานของเรามีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ว่าหนทางในการแก้ปัญหาคืออะไร อุปสรรคที่อาจจะเจอมีอะไรบ้าง ต้องการจะจัดการอย่างไร ซึ่งถ้าหากว่าคำถามพวกนี้ถูกตอบมาทั้งหมด นั่นคือกระบวนการในการเรียนรู้ของคุณและทีมงานของคุณในบทสนทนาสั้น ๆ นี้เอง โดยที่การเรียนรู้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากศักยภาพของทีมงานของคุณล้วน ๆ 

             แน่นอนว่านี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างในการใช้เครื่องมือและคำถามด้วยศาสตร์การโค้ช หรือ Coaching ในการทำงานขององค์กรของคุณเท่านั้น ศาสตร์การโค้ชไม่ได้จำกัดแค่สำหรับคนที่อยากจะทำอาชีพโค้ชเท่านั้น ทักษะการเป็นโค้ชที่ดีนั้นยังเหมาะสำหรับผู้นำที่ต้องการจะพัฒนาตัวเองขององค์กรอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ศาสตร์การโค้ชยังมีเครื่องมืออีกมากมายที่เหมาะจะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพในการเติบโตของทั้งคุณและทีมงานของคุณ

             ดังนั้นหากว่าคุณเห็นความสำคัญของศาสตร์การโค้ช คุณไม่ควรพลาดการอบรมในโปรแกรม Peak Performance Coach ของ The Life Enricher ที่อัดแน่นไปด้วยเทคนิคการโค้ชให้คุณได้ทั้งเรียนรู้ และฝึกใช้จริงกับผู้เชี่ยวชาญ

             เพราะฉะนั้นตอนนี้คำถามที่คุณอาจจะต้องเริ่มถามตัวเองก็คือ คุณพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอกับเครื่องมือที่จะทำให้คุณ และทีมงานของคุณ พัฒนาไปพร้อม ๆ กันแล้วหรือยัง ?

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า