
คิดบวกเกินไป จนเหนื่อยกับตัวเอง
การจัดการอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องมี ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำทีม ผู้นำครอบครัว หรือผู้นำตัวเองก็ตาม เพราะการจัดการอารมณ์ที่ยอดเยี่ยมในสถานการณ์ต่าง ๆ จะทำให้คุณสามารถเลือกวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หรือทำให้คุณสามารถขยายมุมมองของตัวเอง ให้ตัวคุณได้มีโอกาสเห็นจุดบอดบางอย่างที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน เรียนรู้จากมัน และพัฒนาตัวเองจากจุดบอดเหล่านั้น ซึ่งวิธีการจัดการอารมณ์ที่หลาย ๆ คนเลือกใช้กันมากคือการ “คิดบวก”
“คิดบวก ชีวิตก็ยิ่งบวกขึ้นไปอีก” อาจจะเป็นคำที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาจากหลาย ๆ ทาง ทั้งคนที่พูดให้กำลังใจ หรือคนที่ให้คำแนะนำกับคุณ ซึ่งการ “คิดบวก” ที่ทุกคนเข้าใจกันก็คือ การมองโลกในแง่ดี และการมองโลกในแง่ดีคือการมองหาสิ่งดีกับทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่เราพยายามมองโลกในแง่ดี เพราะเรามีความหวังที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุก ๆ วัน ถ้าตอนเช้าตื่นมาแล้วรู้สึกดี สุขภาพจิตดี คิดดี ทั้งวันก็จะมีความสุข ทั้งวันก็จะแฮปปี้ ทั้งวันก็จะดูดีไปหมด ได้ยินแบบนี้แล้วใคร ๆ ก็อยากจะมีวันที่สดใสในทุกวัน เพราะถ้าเราสดใสแต่เช้า เราก็น่าจะมีภูมิต้านทานเหตุการณ์แย่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันได้สิ ไม่ว่าจะโดนเจ้านายดุ “คิดบวก” ก็ช่วยได้ โดนสิ่งเร้ารอบข้างวุ่นวายก็ “คิดบวก” เข้าไว้ คุณจะได้ไม่เสียใจ ทะเลาะกับแฟนก็ให้ “คิดบวก” แล้วเดี๋ยวเหตุการณ์ก็จะดีขึ้นเอง “ก็ในเมื่อทุกอย่างมีดีและมีร้าย เราจะเอาตัวเองหันไปมองด้านร้ายเพื่อบั่นทอนกันตัวเองทำไม ? ก็หันมาหาด้านดีให้ชีวิตสดใสสิ”
แต่เชื่อไหมว่า ทุกอย่างบนโลกถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี “การคิดบวก” ถ้ามากเกินไปก็เหนื่อยได้เช่นกัน หลายคนถูกปลูกฝังมาให้ “คิดบวก” ตลอดเวลา แต่การ “คิดบวก” นั่นแหล่ะคือสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยที่จะต้องมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา เหนื่อยในการต้องมานั่งหาข้อแก้ตัวให้คนอื่นอยู่เรื่อยไป เหนื่อยที่ไม่สามารถแสดงอาการหรือความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ คุณอาจจะเคยมีประสบการณ์วันเหนื่อย ๆ ที่เจออะไรต่อมิอะไรมากมาย และคุณพยายามผ่านเหตุการณ์ทุกอย่างในวันนั้นมาด้วยการ “คิดบวก” แต่สุดท้ายคุณก็จะรู้สึกว่าคุณ “เหนื่อย” การกับคิดบวก “เหนื่อย” กับการต้องสู้กับเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น จนทำให้คุณอาจจะกำลังลังเลและตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า “แล้วนี่ฉันคิดลบเลยไม่ได้ อย่างนั้นหรือ ? ”

คุณตั้งใจวิ่งหนีอารมณ์ลบมากเกินไป
สำหรับคนที่พัฒนาตัวเองก็มักจะมีเป้าหมายในการสามารถจัดการกับความคิดของตัวเองได้ดี เพื่อหาความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้าง พวกเขามักจะคิดว่า “ฉันพัฒนาตัวเองมามากแล้ว ฉันจะต้องคิดบวกให้ได้สิ” ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า วันทั้งวันต้องเจอมรสุมชีวิตมากมาย แต่สุดท้ายก็ต้องพยายามฝืนตัวเองให้คิดบวกจนเหนื่อย
นั่นเป็นเพราะว่า คุณตัดสินกับตัวเองว่า “อารมณ์ลบ” เป็นสิ่งไม่ดี แล้วคุณก็ตั้งหน้าตั้งตาในการ “วิ่งหนี” มันอย่างสุดกำลังด้วยการ “คิดบวก” เข้าไว้ เพราะการคิดบวกคือการมองแง่ดี และถ้าฉันมองแง่ดี อารมณ์ลบเหล่านี้ก็จะหายไป ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนอารมณ์ลบเป็นกระแสน้ำที่พัดเข้ามาหาคุณ แล้วการคิดบวกคือการพยายามว่ายทวนกระแสน้ำนั้นอย่างเต็มกำลัง แน่นอนว่าการว่ายทวนกระแสน้ำก็ต้องทำให้คุณเหนื่อยอยู่แล้ว
ความผิดพลาดที่คน “คิดบวก” มักจะพลาดกันบ่อย ๆ ก็คือการไปตัดสินว่าอารมณ์ลบเป็นสิ่งไม่ดีนั่นแหล่ะ คุณลองคิดดูดี ๆ ถ้าการคิดบวกคือการมองโลกในแง่ดี คือการมองเห็นข้อดีในทุก ๆ อย่าง แล้วทำไมคุณถึงตัดสินอารมณ์ลบของตัวคุณเอง อารมณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณว่าเป็นเรื่อง “ไม่ดี” หรือเป็นเรื่อง “ผิด” ล่ะ ?
โอบกอดอารมณ์ลบของตัวเองให้ได้
หลายคนพอเห็นอารมณ์ลบของตัวเองแล้วมักจะพยายามพาตัวเองออกห่างจาก อารมณ์เหล่านั้น พยายามดึงตัวเองให้ออกจากอารมณ์เหล่านั้น
เมื่อคุณเห็นน้องได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ แต่คุณไม่ได้ คุณจะคิดว่า “ฉันต้องไม่อิจฉาน้องสิ ฉันเป็นพี่”
เมื่อคุณโดนติเตียนจากเจ้านาย คุณจะพยายามคิดว่า “ฉันต้องไม่โมโหเจ้านายสิ ฉันเป็นลูกน้อง”
เมื่อคุณอยากเรียกร้องอะไรบางอย่างจากคนในครอบครัวคุณจะพยายามคิดว่า “ฉันต้องห้ามเอาแต่ใจกับพ่อกับแม่สิ ฉันเป็นลูก”
เมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจกับการกระทำของแฟน คุณก็จะพยายามคิดว่า “ฉันต้องห้ามโกรธแฟนสิ”
สิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวอย่างข้างต้นก็คือ คุณไม่ได้โอบกอดอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ของตัวเอง คุณไม่อยากจะยอมรับว่าตอนนี้ฉันมีอารมณ์เหล่านี้อยู่ เพราะคุณเห็นว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ผิด” เป็นสิ่งที่ “ไม่ดี” คุณก็เลยพยายามจะว่ายทวนอารมณ์ลบนี้ออกมาให้ได้ ไม่ว่าคุณจะต้องพยายามแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะต้องฝืนแค่ไหนก็ตาม
แต่อารมณ์ลบเหล่านี้ เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างกับคุณเสมอ ทุกสิ่งในโลกนี้ที่เกิดขึ้นกับคุณ ล้วนมีความหมายบางอย่างเสมอ อยู่ที่ว่าคุณจะสามารถมองเห็นข้อความเหล่านั้นได้ไหม และบางครั้ง ข้อความเหล่านั้นก็มักจะมาจากอารมณ์ลบเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากว่าคุณไม่เปิดรับอารมณ์ลบของตัวเอง คุณก็จะไม่มีวันได้รับรู้ข้อความบางอย่างที่แฝงมากับอารมณ์เหล่านี้แน่นอน
โอบกอด ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องจมอยู่กับความรู้สึกนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องกลายเป็นคนขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้โมโห แต่หมายความว่าคุณรับรู้ว่าอารมณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้น อ้าแขนยอมรับอารมณ์เหล่านั้น ซึ่งการเปิดรับอารมณ์เหล่านั้นก็คือขั้นแรกของการยอมรับตัวเองในแบบที่คุณเป็น ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกไม่ชอบอารมณ์เหล่านี้ก็ตาม แต่อารมณ์เหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณ เป็น สิ่งที่ทำให้คุณเป็นคุณ การโอบรับอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ ก็คือการยอมรับด้านมืดของคุณว่านั่นคือส่วนหนึ่งในตัวคุณ แล้วถ้าในปัจจุบัน คุณยังพยายามต่อต้านความเป็นตัวเองอยู่ คุณจะมีความสุขจริง ๆ ได้อย่างไร ?

อนุญาตให้ตัวเองเข้าถึงอารมณ์ส่วนนั้น
เมื่อโอบกอดอารมณ์ส่วนนั้นได้แล้ว คุณจะสามารถเข้าถึงอารมณ์ส่วนนั้นได้จริง ๆ คุณจะสามารถใช้เวลาตั้งสติและนั่งคุยกับอารมณ์ส่วนนี้ได้ในระดับลึกจริง ๆ
ที่ต้องบอกว่าเป็นการคุยระดับลึก เพราะว่า จิตใจของเรามีทั้งระดับจิตสำนึก และจิตใต้สำนึก อ้างอิงจากทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของ Sigmund Freud ภูเขาน้ำแข็งมักจะมียอดเขาโผล่ออกมาเล็กน้อยเท่านั้น และส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำจะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนที่พ้นน้ำหลายเท่า Freud เปรียบเทียบว่าจิตสำนึก (Conscious) ที่เป็นจิตที่คนเราแสดงออกมาด้วยความตื่นรู้ หรือรู้ตัว เป็นส่วนเล็กน้อยที่พ้นออกมา และจิตใต้สำนึก (Unconscious) ที่เป็น ความคิดส่วนลึกที่ถูกสั่งสมมาจากประสบการณ์ของเรา และเราจะไม่ได้สามารถควบคุมมันได้
ซึ่งการเอาแต่ “คิด” ว่าฉันจะต้องเป็นแบบนั้น ฉันจะต้องเป็นแบบนี้ คือการพยายามควบคุมอยู่ในระดับจิตสำนึก ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของจิตใจคุณเท่านั้น และการเอาแต่คิดในลักษณะนี้ยังเป็นการพยายามหนีออกห่างจากความคิด และความรู้สึกข้างในจิตระดับจิตใต้สำนึกของคุณอีกด้วย และนั่นจะทำให้คุณเกิดอาการ สมองกับใจไปกันคนละทาง สมองก็พยายามสั่งว่าฉันจะต้องคิดแบบนี้ แต่ใจคุณพยายามจะบอกว่าตอนนี้ฉันรู้สึกแบบนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คืออาการเหนื่อย ล้า หมดแรง เพราะคุณกำลังต่อต้านอะไรบางอย่างในตัวคุณอยู่
การอนุญาตให้ตัวเองเข้าถึงอารมณ์ต่าง ๆ คือการยอมรับว่า ณ ตอนนี้ กำลังเกิดอารมณ์อะไรขึ้นในตัว คุณกำลังโกรธหรือเปล่า กำลังเสียใจหรือเปล่า กำลังอิจฉาหรือเปล่า อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไหน รุนแรงแค่ไหน แล้วคุณคิดอะไรอยู่ในตอนที่อารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น
เมื่อเข้าถึงอารมณ์เหล่านั้น เมื่อเข้าใจและยอมรับ เมื่อนั้นการเรียนรู้จะเกิด
และเมื่อคุณสามารถเข้าใจได้ว่า เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณมีอารมณ์เหล่านั้นขึ้น อารมณ์เหล่านั้นรุนแรงแค่ไหน และคุณกำลังคิดอะไรอยู่ในขณะที่เกิดอารมณ์นั้นขึ้น นั่นจะเป็นตอนที่คุณจะได้เรียนรู้ และได้รับข้อความอะไรบางอย่างจากอารมณ์เหล่านั้นจริง ๆ และเมื่อคุณเห็นข้อความเหล่านั้น คุณจะรู้สึกขอบคุณอารมณ์เหล่านั้นที่บอกข้อความบางอย่างให้กับคุณ ทำให้คุณเรียนรู้อะไรบางอย่าง และการรู้สึกขอบคุณ หรือ Appreciation นี้แหล่ะ ที่จะเป็นการหาอารมณ์ลบ หรือความคิดด้านลบของคุณ ข้ามฝั่งไปเป็นความ “คิดบวก” อย่างแท้จริง
สรุปง่าย ๆ คือ การคิดบวก ไม่ใช่การพาตัวเองหนีออกจากอารมณ์ลบ ไม่ใช่การห้ามไม่ให้ตัวเองมีอารมณ์ลบ และไม่ใช่การตัดสินว่าอารมณ์ลบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่การคิดบวกเป็นการเข้าใจ และยอมรับอารมณ์ลบของตัวเอง ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจ จะทำให้คุณสามารถเรียนรู้ และขอบคุณอารมณ์ลบเหล่านั้นที่สามารถให้อะไรบางอย่างกับคุณได้ ทำให้คุณกลายเป็นคนที่ยอมรับในทุก ๆ ด้านของตัวคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านดี หรือด้านที่ไม่ดีก็ตาม คุณจะสามารถจัดการได้ และเรียนรู้จากมัน นั่นคือ การ “คิดบวก” ที่จะทำให้คุณมีความสุขในทุก ๆ วันอย่างแท้จริง
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599