
แค่คิดบวก ก็ลดอารมณ์ลบได้ จริงหรือ?
เครียด ทำยังไงดี.. ด้วยสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันทำให้วลีข้างต้นคงจะเกิดขึ้นกับใครหลายๆคนไม่มากก็น้อยด้วยเรื่องต่างๆกัน บางคนเครียดเรื่องหน้าที่การงาน, บางคนเครียดเรื่องรายรับรายจ่าย, บางคนเครียดเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว หรือบางคนอาจจะเครียดเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้ง ”ความเครียด” ก็จะแฝงมากับอารมณ์ลบอย่างอื่น เช่น เพราะผิดหวังก็เลยเครียด , เพราะเสียใจก็เลยเครียด , เพราะกังวลก็เลยเครียด ฯลฯ และแน่นอนว่าหากในชีวิตประจำวันเราจะต้องพบเจอกับความเครียดหลากหลายเช่นนี้ เชื่อว่าหลายๆคนก็น่าจะลองหากลยุทธ์ในการจัดการกับความเครียด หรือความรู้สึกทางลบเหล่านี้แตกต่างกันออกไป บางคนออกไปหาอะไรอร่อยๆทาน บางคนออกไปสังสรรค์กับเพื่อน บางคนหันไปพึ่งสุรา บางคนออกไปดูหนัง เล่นเกม หากิจกรรมอื่นๆทำ ฯลฯ แต่สุดท้ายเจ้าความเครียดก็ไม่หายไปเสียที บางครั้งก็ช่วยให้ลืมไปได้สักครู่หนึ่ง พอหลุดออกมาจากกิจกรรมต่างๆที่ทำอยู่ก็จะกลับมาวนอยู่กับความรู้สึกเครียดอีกครั้งหนึ่ง เหมือนว่ากลยุทธ์ที่ลองใช้มาทั้งหมดเป็นเหมือนกับการหนีความจริงออกมาเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คำถามที่หลายๆคนน่าจะมีก็คือ
“แล้วจะต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง?”
“แค่คิดบวก ชีวิตก็บวกได้” น่าจะเป็นคำที่ถูกใช้ให้กำลังใจกัน หรือแนะนำกันในหลายๆสถานการณ์จนคุ้นเคยกันดี ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า ความคิดเชิงบวกหรือ Positive thinking ก็จะสามารถลบ “อารมณ์ด้านลบ” ได้จริงๆอย่างนั้นหรือ? บางคนบอกว่า “ความคิดเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนไปเลย” บางคนบอกว่า “ถ้ามองอีกมุมหนึ่งได้ สิ่งที่เห็นก็ดูไม่ได้แย่สักเท่าไหร่เลย” แล้ว “ความคิด” กับ “มุมมอง” มันมีผลกับความเครียดได้อย่างไร และสองสิ่งนี้คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนไปง่ายจริงๆหรือ?
ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ลองมาวิเคราะห์กันดูเป็นข้อๆดีกว่าว่า “อารมณ์ลบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร? “ความคิด/มุมมอง” คืออะไร แล้วสองสิ่งนี้เกี่ยวโยงกันจริงหรือ และถ้าจริงสองสิ่งนี้เกี่ยวโยงกันอย่างไร
ถ้าหากเรามองว่า “อารมณ์ลบ” คือปัญหา ถ้างั้นขั้นตอนแรกที่เราจะต้องเริ่มทำก็คือสาวไปถึงต้นตอว่า อารมณ์ลบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอารมณ์ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณย่อมมีเหตุมีผลรองรับการเกิดขึ้นของมันเสมอ ลองคิดดูเล่นๆว่า ถ้าคุณมีความสุข นั่นหมายความว่าคุณกำลังรู้สึกดีกับอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณ เช่น คุณอาจจะได้ขึ้นเงินเดือน, คนที่คุณชอบมานานรับรักคุณแล้ว, คุณได้ทานข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัว, คุณได้เจอเพื่อนคุณ หรือคุณอาจจะกลับบ้านมาเจอสัตว์เลี้ยงแสนรัก นั่นคือเหตุผลที่คุณมีความสุขทั้งสิ้น
อารมณ์ลบก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ลบเกิดขึ้นด้วยสาเหตุต่างๆรอบตัว เช่น คุณขับรถโดนปาดหน้า = อารมณ์ลบเกิด , คุณโทรหาเพื่อนแล้วเพื่อนไม่รับสาย = อารมณ์ลบเกิด หรือจะเป็น คุณสั่งอาหารแต่ไม่ได้อาหารตามที่คุณสั่ง = อารมณ์ลบเกิดเช่นเดียวกัน แต่บ่อยครั้งที่อารมณ์ลบเกิดเรามักจะมีเหตุผลอื่นๆแอบแฝงมากับอารมณ์เหล่านั้นเสมอ ลองย้อนกลับไปดูตัวอย่างข้างต้นดู เช่น คุณโดนขับรถปาดหน้า Fact หรือความจริงในเหตุการณ์นั้นคือ คุณโดนขับรถปาดหน้า แต่จิตของคุณคิดไปต่างๆนาๆ มีเหตุผลเพิ่มเติมแทรกขึ้นมาเหมือนใส่เพลิงให้อารมณ์ลบของคุณในตอนนั้น คุณเริ่มคิดไปว่า “ขับรถแบบนี้ ไปสอบใบขับขี่หรือไปซื้อใบขับขี่มาเนี่ย” หรือ “ทำไมถึงเห็นแก่ตัวแบบนี้ อยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ดูหน้าดูหลัง ถ้ารับผิดชอบตัวเองในสังคมแบบนี้ไม่ได้ก็อย่าออกมากลางถนนเลยดีกว่าไหม” หรือ “ตำรวจหายไปไหนหมด ปล่อยให้คนขับรถแบบนี้ได้อย่างไร”เป็นต้น
ถึงแม้ว่าเหตุผลเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง และนั่นไม่ใช่เรื่องผิดทึ่คุณจะรู้สึกแบบที่ยกตัวอย่างมาให้ดู แต่สิ่งที่คุณอาจจะมองข้ามไปคือ ความคิดเหล่านี้ปะทุขึ้นมามีผลกับตัวคุณเพียงคนเดียว ไม่มีใครมารับรู้ความคิดนี้กับคุณ คนที่ขับรถปาดหน้าคุณไม่ได้มารับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในตัวคุณ และที่สำคัญคือ คุณมักจะจับเหตุผลเหล่านี้ไม่ทัน ลองคิดดูว่าถ้าคุณอารมณ์เสียเกี่ยวกับเรื่องการโดนขับรถปาดหน้า พร้อมกับเหตุผลทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา แล้วคุณโดนถามว่า “ไปโมโหเรื่องอะไรมา?” คุณจะตอบแค่ว่า “โดนขับรถปาดหน้ามา” ในขณะที่เหตุผลอื่นๆที่คุณอาจจะตามไม่ทันวนเวียนอยู่ในตัวคุณ จนทำให้คุณดูออกอาการกับเรื่องบางเรื่องมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะอารมณ์แรกที่เกิดขึ้นคือ ไม่พอใจที่โดนขับรถปาดหน้า แต่นอกจากตคุณจะไม่พอใจแค่เรื่องเดียวแล้ว จิตของคุณยังหาเหตุผลต่อๆมาที่ทำให้คุณมีอารมณ์ลบมากกว่าเดิมก็คือ คุณ”คิด”ว่าคนที่ขับรถปาดหน้าคุณซื้อใบขับขี่มาอย่างไม่ถูกต้อง , คุณ”คิด”ว่าคนที่ขับรถปาดหน้าคุณเห็นแก่ตัว และคุณ”คิด”ว่าคนที่ขับรถปาดหน้าคุณไร้ความรับผิดชอบ
เจ้าเหตุผลเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้คุณมีอารมณ์ลบเกิดขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น และตัวอย่างข้างต้นก็เป็นตัวอย่างของความเกี่ยวเนื่องกันของอารมณ์และความคิดอย่างชัดเจน เพราะ ถ้าคุณสังเกต คุณยิ่งคิด คุณก็ยิ่งอารมณ์เสียมากขึ้น แล้วยิ่งคุณคิดหาเหตุผลอื่นมาใส่ไฟเติมให้ตัวเอง ผลที่ได้คือคุณก็จะอารมณ์เสียมากกว่าเดิมนั่นเอง
ในเชิงจิตวิทยาสื่อประสาทได้พัฒนาศาสตร์หลายๆอย่างขึ้นมาเพื่อรับมือกับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่อยากจะยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังคือ

Mindfulness
Mindfulness หรือการรู้เท่าทันตัวเอง คือ การรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแท้จริง อารมณ์อะไรเกิดขึ้น เกิดจากอะไรด้วยเทคนิคการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันคิดอะไรอยู่” ด้วย 4 ขั้นตอนง่ายๆคือ
1. หาเหตุการณ์ : ตั้งคำถามกับตัวเองให้ชัดเจนว่า ฉันโกรธเรื่องอะไร ฉันไม่พอใจเรื่องอะไรบ้าง หาให้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ไหนทำให้เราเกิดอารมณ์ลบ
2. วิเคราะห์ : เมื่อทราบแล้วว่าเหตุการณ์ไหนคือตัวการที่ทำให้เกิดอารมณ์ลบขึ้น ต่อมาคือวิเคราะห์กับตัวเองให้ชัดเจนว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นคืออารมณ์ไหน (โกรธ / เศร้า / กลัว / เสียใจ / รู้สึกผิด ฯลฯ) วิเคราะห์ให้ชัดเจน ถามให้ชัดเจนว่าอารมณ์ไหนตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
3. ให้คะแนน : เมื่อรับรู้แล้วว่าอารมณ์ใดเกิดขึ้น ต่อมาคือการให้คะแนนความรุนแรงของอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา ถ้าคุณเศร้า ลองให้คะแนนว่าเศร้าแค่ไหน เช่น 0-2 ไม่เศร้าเลยถึงเศร้าเล็กน้อย / 3-5 เศร้าแต่ยังไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นกับตัวเอง / 6-8 เศร้ามาก และมีผลกระทบกับตัวเองสูงมาก / 10 ชีวิตนี้ไม่เคยเศร้าขนาดนี้มาก่อน เป็นต้น ซึ่งการให้คะแนนลักษณะนี้ ไม่มีกรอบเกณฑ์การให้คะแนนใดๆทั้งสิ้น เพราะคุณคือเจ้าของอารมณ์ และคุณคือผู้ตัดสินสูงสุดว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับใด ค่อยๆให้เวลาคิดกับตัวเองว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงระดับไหน และเพราะอะไรถึงมีความรุนแรงระดับนั้น
4. ทบทวน : เมื่อคุณได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ต่อมาคือการถามคำถามง่ายๆข้อสุดท้าย “ฉันคิดอะไรอยู่” ที่ได้ผลอย่างที่คุณคิดไม่ถึง ในเหตุการณ์ตอนนั้น เกิดอะไรขึ้น แล้วอารมณ์อะไรเกิดตามขึ้นมา อารมณ์นั้นรุนแรงแค่ไหน และ “ฉันคิดอะไรอยู่” ซึ่งคำถามนี้คือเทคนิคการรับรู้ “ความคิด” ของคุณที่ผุกขึ้นมาทันทีในตอนนั้น (automatic thought เรียกสั้นๆว่า auto thought) ซึ่งความคิดเหล่านี้ต้องการจะ “บอก” อะไรบางอย่างกับเราเสมอ เช่น โดนชับรถปาดหน้า ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาคือ “อะไรวะ ทำไมไม่ระวังเลย” และเมื่อคุณทบทวนซ้ำไปซ้ำมา ความคิดนี้อาจจะกำลังบอกคุณอยู่ว่า รอบตัวคุณมีอันตรายอยู่เสมอ เป็นต้น
ซึ่งไม่ว่า “ข้อความ” ที่คุณได้รับมาจะเป็นอะไรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการ “เลือก” ว่าคุณจะทำอย่างไรกับข้อมูลที่คุณได้มา คุณจะเลือกนำมาปรับใช้หาประโยชน์จากมัน หรือคุณจะ “ปล่อยวาง” ก็คือรับรู้ รู้ทัน และวางมันลง
Hypnosis therapy
ขึ้นชื่อว่า Hypnosis หรือที่แปลว่าการสะกดจิต หลายๆคนอาจจะนึกถึงนาฬิกาที่แกว่งไปแกว่งมา สั่งให้เป็นไก่ก็จะทำตัวเหมือนไก่ สั่งให้หลับก็คอพับกันไปเฉยๆ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ แต่ที่ยกขึ้นมาเพราะว่าการได้รับการสะกดจิตบำบัดจากนักสะกดจิตมืออาชีพ สามารถช่วยให้คุณจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้จริงๆ
ในหัวข้อนี้จะอธิบายอย่างคร่าวๆ ให้พอเข้าใจว่าศาสตร์นี้สามารถช่วยจัดการอารมณ์ลบได้อย่างไร แต่จะไม่ได้อธิบายถึงวิธีการ เนื่องจากการจะทำการสะกดจิตนั้นจำเป็นจะต้องถูกอบรมอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ และในแต่ละขั้นตอนมีความหมายที่ละเอียดอ่อนซ่อนอยู่ในนั้น
ศาสตร์นี้คือการให้ความหมายอย่าง “ไม่เป็นเหตุเป็นผล” เลย ที่พูดว่าไม่เป็นเหตุเป็นผลก็เพราะว่า เราไม่ได้สื่อสารกับจิตสำนึกของตัวเอง แต่เรากำลังสื่อสารกับจิตใต้สำนึกอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกเราจะสื่อสารกันโดยตรงไม่ได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี่มีกำแพงที่ชื่อว่า Critical faculty barrier หรือกำแพงตรรกะกั้นไว้ระหว่างกันอยู่ ซึ่งกำแพงตัวนี้จะคอยกรองสิ่งที่ผิดไปจากตรรกะของเราออกจากความคิดเราไปทั้งหมด แต่การสะกดจิตบำบัดจะเป็นการหาเข้าไปในภวังค์ (trance) และการเข้าไปในภวังค์นี้จะทำให้กำแพงเหล่านี้หยุดทำงานลง และเริ่มเข้าไปสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของคุณ และนี่คือความหมายของคำว่าการให้ความหมายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะในสภาวะนี้ กำแพงตรรกะ หรือ Logic ของคุณถูกปิดการทำงานไปแล้ว
ยกตัวอย่าง : คุณลองคิดว่าอารมณ์ลบของคุณคือเศษฝุ่นสีดำที่อยู่ในมือคุณ แล้วคุณลองจิตนาการดูว่าคุณได้เป่ามันออกไป แล้วฝุ่นสีดำนั่นก็จะค่อยๆลอยหายไป หายไปอย่างช้าๆ
ซึ่งถ้าคุณกำลังอ่านประโยคข้างต้นโดยที่ไม่ได้อยู่ในภวังค์ คุณคงจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี ทำไมอยู่ๆอารมณ์ที่เป็นนามธรรมจะเปลี่ยนเป็นฝุ่นสีดำที่เป็นรูปธรรมได้ แล้วมันจะลอยหายไปไหน ฯลฯ แต่ถ้าคุณมีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติม หรือมีโอกาสได้รับการรักษาจากศาสตร์นี้โดยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ คุณจะรู้สึกได้ว่าการให้ความหมายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลนี้สามารถช่วยจัดการกับอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

Positive thinking
วิธีสุดท้ายก็คือการ “คิดบวก” อย่างที่กล่าวถึงในตอนแรก ถ้าคุณลองพิจารณาดู ในตอนแรกได้ให้ตัวอย่างเกี่ยวกับความคิดลบที่ก่อให้เกิดอารมณ์ลบขึ้นแล้ว การคิดบวกก็น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้เราจัดการกับอารมณ์ลบได้ จริงไหม?
คำตอบคือ ถูกต้อง ถ้าคุณมีความคิดเชิงบวก อารมณ์ของคุณจะเป็นอารมณ์เชิงบวกเช่นกัน สมมติเหตุการณ์เดียวกันกับตัวอย่างข้างต้นคือ คุณโดนรถปาดหน้า แล้วคุณเดินไปบ่นกับเพื่อน แล้วเพื่อนคุณตอบว่า
คำตอบ 1 : “มันขับรถอะไรของมัน เนี่ยวันก่อนเราก็เจอมา อยากจะเลี้ยวขวาแต่ก็เบนออกมาจากซ้ายสุด แย่จริงๆ”
คำตอบ 2 : “เฮ้ย แล้วแกเป็นอะไรมากไหม เออดีนะว่าแกเป็นคนมีสติระวังตัว เลยไม่เป็นไรทั้งเขาทั้งเรา”
แค่ลองอ่านคุณก็คงจะเห็นด้วยว่า คำตอบแรกคือคำตอบที่จะทำให้ทั้งคุณทั้งเพื่อนคุณ “หัวร้อน” ไปตามๆกัน ผิดกับคำตอบที่สองว่า เพื่อนเราเป็นห่วงเรา และคำตอบที่ออกมาไม่ได้มีข้อความหรือเจตนาโจมตีคนที่ขับรถปาดใครเลย แต่เป็นข้อความที่มีเจตนาเป็นห่วง และชื่นชมที่เราขับรถมีสติระมัดระวังเลยไม่บาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้น แน่นอนว่าคำตอบที่สองจะต้องทำให้คุณอารมณ์เย็นลงกว่าเหตุการณ์แรกอย่างแน่นอน
เมื่อเห็นความแตกต่างของมุมมองแล้วว่า แต่ละมุมมองมีผลกับอารมณ์เราแค่ไหน ต่อมาคือเทคนิคการเปลี่ยนมุมมองว่า แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนมุมมองของตัวเองได้อย่างไร
ขั้นตอนแรกก่อนที่จะเปลี่ยนมุมมองของเราคือ เข้าใจตัวเองก่อนว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาจากมุมมองใด และมุมมองนี้มาได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นเทคนิคที่ใกล้เคียงกันกับ Mindfulness ที่กล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อเราเข้าใจที่มาของอารมณ์เหล่านี้แล้ว เทคนิคที่จะแนะนำคือ การ Reframing หรือการ “เปลี่ยนมุมมอง”
ความจริงอย่างหนึ่งของโลกใบนี้คือ ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ทุกๆสิ่งมีขาวมีดำ ทุกๆเรื่องไม่ดี มีประโยชน์แฝงอยู่ในนั้นเสมอขึ้นอยู่กับว่าคุณจะสามารถมองเห็นประโยชน์นั้นได้หรือไม่ การ Reframe คือการมองหาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งรอบตัวทุกๆอย่าง ลองคิดย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเดิมว่า คุณโดนขับรถปาดหน้า แล้วลองถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆว่า “ฉันได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้บ้างนะ”
บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าฉันมีลูกฉันจะไม่ยอมให้ลูกขับรถอันตรายแบบนี้แน่ นี่เท่ากับว่าเขาได้วางแผนในอนาคตเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานเอาไว้แล้ว
บางคนอาจจะคิดได้ว่า ดีนะว่าเบรคยังทำงานดีอยู่ ว่าแต่ไม่ได้ไปเช็คสภาพเบรคมานานแล้ว น่าจะได้เวลาไปตรวจสภาพแล้ว เพื่อความปลอดภัย นี่หมายความว่าคุณกำลังเป็นคนที่รอบคอบเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานของอุปกรณ์มากขึ้น
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตัวอย่างสองข้อข้างต้นคือ คนหนึ่งวางแผนความรู้และความรับผิดชอบบนท้องถนนให้ลูกหลานเรียบร้อย และอีกคนวางแผนการตรวจสภาพการใช้งานของรถเพื่อความปลอดภัยได้ ซึ่งการหาประโยชน์ทำนองนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ในชีวิต และแน่นอนว่าถ้าคุณสามารถหาประโยชน์จากเหตุการณ์เหล่านี้ได้ อารมณ์ลบของคุณจะหายไปอย่างแน่นอน เพราะแทนที่คุณจะมีอารมณ์ลบเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์หนึ่ง กลายเป็นว่า คุณได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นั้นมาแทน
ชีวิตไม่ได้ยาก ถ้าคุณใช้ให้มันง่าย และความสุขก็ไม่ได้หาลำบาก แค่คุณกวาดสายตาไปรอบๆจากเหตุการณ์นั้น และความเครียดก็จะไม่เป็นปัญหากวนใจของคุณอีกต่อไป แถมคุณจะกลายเป็นคนที่มีมุมมองเชิงพัฒนาที่สามารถหาประโยชน์จากเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้ใครหลายๆคนดำดิ่งลงไปในอารมณ์ลบได้อีกด้วย นี่เท่ากับว่าคุณได้โบนัสในการพัฒนาตัวเองขึ้นไปจากการจัดการอารมณ์ลบของตัวเองอีกด้วย ดังนั้นสำหรับผู้ที่รักการพัฒนาตัวเองย่อมเข้าใจดีว่า การพัฒนาที่ดีที่สุดคือการ “เริ่มลงมือทำ” และสิ่งที่อยากจะให้คุณเริ่มลงมือทำในวันนี้คือลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คุณมีอารมณ์ด้านลบขึ้นแล้วตั้งคำถามง่ายๆว่า
“ฉันจะได้ประโยชน์อะไร จากเหตุการณ์นี้บ้าง?”
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599