
คิดอย่างไร? เมื่อตัดสินใจไม่ได้
การตัดสินใจ เป็นหนึ่งสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา บางครั้งคุณรู้สึกขอบคุณในการตัดสินใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจลองทำสิ่งใหม่ ๆ ตัดสินใจเลือกคบเพื่อนบางกลุ่ม ฯลฯ และแน่นอนว่ามีเรื่องดีก็ย่อมมีเรื่องที่ไม่น่าพอใจเท่าไหร่นักมาเป็นของคู่กันอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าพวกเราทุกคนจะมีเรื่องที่รู้สึกว่า “ฉันไม่น่าตัดสินใจแบบนี้ลงไปเลย” ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจของตัวเองในอดีต ก็ย่อมจะมีผลกับการตัดสินใจในปัจจุบันของตัวเอง
ความลังเล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่เราผ่านการตัดสินใจที่ให้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจเท่าไหร่ เราจะเริ่มไม่กล้าตัดสินใจ ไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจเหล่านั้นจะส่งผลอย่างไร หรือในบางครั้งเราอาจจะไม่อยากจะรับผลของการตัดสินใจเหล่านั้นด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจยังคงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน และถ้าคุณเลือกเข้ามาอ่านบทความนี้ แสดงว่าคุณก็อยากที่จะพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้คุณมีความกล้าที่จะเลือก เมื่อถึงคราวที่คุณจะต้อง “ตัดสินใจ”
ถึงแม้ว่าจะพูดถึงการพัฒนาทักษะในการตัดสินใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการตัดสินใจที่ “ถูก” หรือ “ผิด” ไปเสียทีเดียว เพราะทุกอย่างมีขาวและมีดำคู่กันเสมอ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพคือการมองเห็นในความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น และยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือ คุณจะตัดสินใจอย่างไรให้เหมาะสมกับคุณ
1. Happiness Indicator
วิธีที่ง่ายที่สุด และมักจะโดนมองข้ามไปมากที่สุด คือการถามตัวเองว่า ตัดสินใจแบบไหน คุณจะมีความสุขมากกว่ากัน
แน่นอนว่ามีหลายสถานการณ์ที่คุณพบตัวเองกำลังต้องตัดสินใจระหว่างสองทางเลือกที่ไม่ว่าคุณจะคิดหาเหตุผลอย่างไรคุณก็หาเหตุผลมาใช้ตัดสินใจไม่ได้สักที คุณอาจจะต้องวางเหตุผลลง แล้วหันมาถามตัวเองว่า ถ้าจะต้องเลือกจริงๆ ตัวเลือกไหนที่จะทำให้คุณมีความสุขมากกว่ากัน อาจจะฟังดูไม่สมเหตุสมผลกับหลายคนที่ใช้เหตุผลตัดสินใจเป็นประจำ แต่ถ้าหากว่าเหตุผลอย่างเดียวไม่เพียงพอ คุณอาจจะต้องการปัจจัยอื่นในการใช้ตัดสินใจ
เพราะความสุขของคุณจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุผลบางอย่าง จริงไหม ? และเหตุผลของความสุขเหล่านั้น ก็อาจจะเป็นสิ่งที่คุณอาจจะมองข้ามไปก็เป็นได้ และต่อให้การตัดสินใจนั้นจะไม่เกิดผลลัพธ์อย่างที่คุณคาดหวัง อย่างน้อยคุณก็รับรู้ด้วยตัวเองว่าคุณมีความสุขกับการตัดสินใจนี้แล้ว ไม่มากก็น้อย

2. ตัดสินใจโดยใช้อนาคต
สำหรับบางคนที่อาจจะยังไม่เห็นด้วยเต็มที่กับการใช้ความรู้สึกชั่ววูบ หรือความสุขระยะสั้นในการตัดสินใจ แนวคิดต่อมาสำหรับการตัดสินใจก็คือ การมองระยะไกลมากขึ้นในการตัดสินใจ เปลี่ยนจากการคำนึงถึงความสุขระยะสั้นเพียงอย่างเดียว ลองเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า ถ้าฉันตัดสินใจแบบนี้ไป 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ คุณจะรู้สีกอย่างไร หรือ 1 เดือนจากนี้คุณจะรู้สึกอย่างไร
บางครั้งอารมณ์วู่วามที่เกิดขึ้นมีผลกับความคิดของคุณมากกว่าเหตุผล หรือความสุขที่แท้จริงของคุณ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ “ของมันต้องมี” ในเวลาที่คุณเดินไปเจออะไรบางอย่างที่คุณรู้สึกว่า “ฉันต้องได้มันเดี๋ยวนี้” แล้วคุณกำลังจะตัดสินใจซื้อทันที แน่นอนว่าถ้าคุณถามตัวเองว่าถ้าซื้อแล้วมีความสุขไหม คุณก็น่าจะตอบว่าคุณจะมีความสุขอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณลองถามตัวเองว่า เมื่อคุณตัดสินใจซื้อไปแล้ว อีก 1 สัปดาห์ให้หลัง คุณจะยังมีความสุขเหมือนกับวันนี้อยู่ไหม
หรือถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าคุณตัดสินใจแบบนี้แล้ว ตัวคุณในอนาคตจะหันกลับมาขอบคุณการตัดสินใจในวันนี้ หรือตัวคุณในอนาคตจะหันกลับมารู้สึกเสียใจว่าตัวคุณในวันนี้ตัดสินใจแบบนี้ไป
3. ตั้งมาตรฐานให้ตัวเอง
ความหมายของการตั้งมาตรฐานก็คือ การชัดเจนกับตัวคุณเอง เลยว่า คุณต้องการอะไร คุณมีเป้าหมายอะไร ต้องการผลลัพธ์อะไร แล้วคุณจะได้มาตรฐานการตัดสินใจกับเรื่องบางเรื่องเอง บางครั้งที่คุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถตัดสินใจได้ อาจจะเป็นเพราะว่าคุณยังไม่แน่ใจว่าคุณกำลังต้องการอะไรกันแน่ และความไม่แน่ใจนี้ทำให้คุณไม่สามารถหาเหตุผลมาให้กับตัวเองได้ เพราะตัวคุณเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าคุณต้องการอะไร เหตุผลทุกอย่างของคุณมันก็เลยดูไม่สมเหตุสมผลไปหมด
สมมติว่าคุณอยากไปเที่ยวต่างประเทศ คุณรู้สึกว่าพอโรคระบาดนี้จบลงแล้ว คุณจะต้องได้ออกไปเที่ยวสักที คุณเลยอยากจะวางแผนไปเที่ยว แต่คุณไม่รู้ว่าคุณจะไปเที่ยวที่ไหนดี อดไปเที่ยวมาเกือบสองปี คุณมีที่ที่อยากจะไปเต็มไปหมด ซึ่งการตั้งบรรทัดฐานในการตัดสินใจของหลาย ๆ คนในเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือการตั้งงบประมาณที่ตั้งใจจะใช้ ถ้าคุณตั้งงบการไปเที่ยวทริปนี้อยู่ที่ 80,000 บาท คุณจะสามารถเลือกสถานที่และประเทศที่จะไปได้ง่ายขึ้นแน่นอน ถ้าคุณมีงบ 80,000 บาท และคุณอยากช๊อปปิ้งเต็มที่ คุณก็อาจจะไปเที่ยวประเทศใกล้เคียงที่ไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินแพงมากนัก จะได้มีงบประมาณไปจับจ่ายใช้สอยได้อย่างเต็มที่
หรือถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็น HR ที่จะต้องคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กร แน่นอนว่าคุณก็จะต้องมีบรรทัดฐานในการตัดสินใจเหมือนกัน และส่วนใหญ่แล้วจะมีบรรทัดฐานหลายข้อด้วย ทั้งความสามารถที่ต้องมี ความพร้อมในการทำงาน และค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล
ไม่ใช่แค่การรับพนักงานใหม่เข้ามาอย่างเดียว การคัดพนักงานออกก็ย่อมจะต้องมีบรรทัดฐานด้วยเหมือนกัน ถ้าพนักงานคนนี้ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ตามตำแหน่งหน้าที่ ขาดงานโดยที่ไม่มีเหตุอันควรบ่อยครั้ง หรือเป็นคน Toxic ที่ทำให้บรรยากาศในการทำงานขององค์กรคุณแย่ลง คุณก็คงจะตัดสินใจไล่พนักงานคนนี้ออก โดยที่มีบรรทัดฐานเหล่านี้เป็นเหตุผลรองรับ

4. Best case & Worst case
เราเคยพูดกับไปข้างต้นแล้วว่าทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย มีขาวมีดำเสมอ ดังนั้นเทคนิคต่อไปก็คือ การคิดถึงความเป็นไปได้ทั้งสองด้านว่า ถ้าตัดสินใจแบบนี้ไปแล้วความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดคืออะไร และความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุด จะเป็นอะไรได้บ้าง
ถ้าคุณจะตัดสินใจเลือกลงทุนกับเหรียญ Crypto ตัวหนึ่ง คุณมองเห็นความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดอย่างไรบ้าง และในทางกลับกัน คุณรับได้ไหมถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมา ลองคิดตามดูว่า ส่วนใหญ่ถ้าจะตัดสินใจลงทุนในรูปแบบนี้ หลายคนอาจจะมองเห็นแต่อนาคตที่สวยหรูว่าจะได้กำไรเท่านี้ % ภายในเวลาเท่านี้ แต่ไม่ได้หันกลับมามองว่าถ้าหากว่าดอยขึ้นมา ถ้าขาดทุนจะมีโอกาสขาดทุนเท่าไหร่ แต่ถ้าหากคุณชัดเจนแล้วว่า ต่อให้เงินจำนวนนี้ขาดทุนจนหายไปทั้งหมด คุณก็ไม่เดือดร้อน นั่นคือคุณเห็นแล้วว่าแย่ที่สุดเป็นอย่างไร จะมีอะไรมาห้ามคุณไม่ให้ตัดสินใจลงทุนอีก แต่ในทางกลับกัน ถ้าเงินจำนวนนี้เป็นเงินก้อนสำคัญที่คุณไม่สามารถเสียมันไปได้ คุณอาจจะตัดสินใจไม่เสี่ยงลงทุนแล้วเสียเงินก้อนสำคัญนี้ไปก็ได้
หรือถ้าคุณจะเลือกคบแฟนคนหนึ่ง ความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดคือเขากับคุณเข้ากันได้ ดูแลกัน เข้าใรกัน พร้อมจะปรับตัวเข้าหากันได้ และสุดท้ายก็ตกลงมีชีวิตคู่ร่วมกัน และแย่ที่สุดคือคุณกับเขามีปัญหากัน สุดท้ายก็แค่เลิกกัน และคุณพร้อมที่จะรักษาความรู้สึกตัวเองหลังจากจบความสัมพันธ์ลงแล้ว การตัดสินใจลองคบกับคน ๆ นั้นดูก็ไม่ใช่เรื่องแย่ไปเสียทีเดียว เพราะคุณอาจจะได้คู่ชีวิตที่ดี และต่อให้ทุกอย่างมันจะต้องจบลง คุณก็แค่หันกลับมาดูแลตัวเองแล้วก็ก้าวเดินต่อไป แต่ถ้าหากว่าคุณยังไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถดูแลตัวเองหลังจากที่เลิกกับเขาไปได้ไหม หรือคุณเห็นว่าคุณไม่พร้อมที่จะเสียเวลากับการเสี่ยงคบกับคนที่คุณไม่มั่นใจ การตัดสินใจของคุณก็อาจจะเป็นการขีดเส้นความสัมพันธ์นั้นว่าเป็นแค่เพื่อน หรือแค่คนรู้จักก็ได้
สรุปสั้น ๆ ของเทคนิคนี้ก็คือการมีสติและรอบคอบในการตัดสินใจ ไม่ปล่อยให้ความหอมหวานของผลลัพธ์ที่อาจจะยังไม่แน่นอนมาฉุดให้คุณเลือกบางสิ่งบางอย่าง ที่อาจจะส่งผลเสียให้กับชีวิตคุณเกินกว่าที่คุณจะรับไหว และในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนที่ขี้ระแวง ไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ การยืนยันกับตัวเองว่าต่อให้ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับชีวิตคุณมากมายนัก คุณก็อาจจะได้แรงกระตุ้นในการลองทำอะไรใหม่ ๆ ให้ชีวิตคุณก็เป็นได้
5. Two ways Door decision
ปัญหาข้อที่หลาย ๆ คนเจอมากที่สุดเมื่อรู้สึก “ไม่กล้า” ที่จะตัดสินใจก็คือ ความกังวลว่าเมื่อเลือกที่จะเดินไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งแล้ว คุณจะไม่สามารถหวนกลับมาเป็นแบบที่คุณเคยเป็นได้ ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือคุณเข้าใจว่าการที่คุณเปิดประตูบานหนึ่ง แล้วย่างเท้าก้าวเข้าไป ประตูบานนั้นจะปิดตายและหายไปในทันที ทำให้คุณติดอยู่ในพื้นที่นั้นไปตลอด
ซึ่งจริง ๆ แล้วประตูเกือบจะทุกบานจะสามารถเปิดกลับมาในจุดเดิมที่คุณเคยอยู่ได้ทั้งนั้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ว่า ถ้าเลือกแล้วก็ต้องเดินไปต่อให้สุด หรือถ้ามาแล้วก็ห้ามถอย ตั้งแต่การเลือกสายการเรียนในช่วงมัธยมปลาย หลายคนอาจจะโดนพูดใส่ว่าให้คิดดี ๆ นะ ถ้าเลือกแล้วถอยกลับมาไม่ได้แล้วนะ โอกาสมีแค่ครั้งเดียว มาถึงช่วงมหาลัยที่ต้องเลือกคณะที่จะเรียน เราก็ยังโดนพูดใส่ว่าให้คิดดี ๆ เลือกครั้งนี้แล้วจะมีผลกับชีวิตการทำงานของเราไปทั้งชีวิต
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเลือกทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้เกือบทั้งหมด เราจะเห็นหลาย ๆ คนเลือกทำงานในสายอาชีพที่ดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับปริญญาบัตรของตัวเองสักเท่าไหร่ เราเห็นคนจบหมอหลายคนหันมาเปิดร้านอาหาร เราเห็นคนที่จบวิศวะผันตัวมาเป็นสจ๊วต ฯลฯ
แน่นอนว่าเวลาเป็นสิ่งที่คุณเรียกคืนมาไม่ได้ แต่การเสียเวลาไปไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถกลับมาตั้งต้นใหม่ และลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้อีกครั้ง และที่สำคัญ เชื่อว่ากิจกรรมทุกอย่างที่คุณทำ ทุกประสบการณ์ที่คุณได้รับมาระหว่างช่วงเวลาเหล่านั้น ไม่มีอะไรสูญเปล่า เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นคุณในวันนี้
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจบางประเภทก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถย้อนกลับมาในจุดเดิมได้ และส่วนใหญ่แล้วการตัดสินใจเหล่านั้นก็คือการเลือกที่จะเจ็บปวดเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต เพราะถ้าคุณเลือกที่จะทำแล้ว คุณไม่สามารถที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ดังนั้น คิดให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจที่จะลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกตัดสินใจอย่างไร ไม่มีอะไรผิดหรือถูกไปเสียทั้งหมด ทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อเสีย และแน่นอนว่าทุกอย่างไม่สามารถควบคุมได้ 100% ได้ไม่ใช่ตัวคุณเอง ดังนั้นถ้าหากว่าคุณตัดสินใจเลือกแล้วว่า สิ่งนี้จะทำให้คุณมีความสุข ทั้งระยะสั้น และ หรือในระยะยาวก็ตาม คุณมีมาตรฐานในการตัดสินใจชัดเจน คุณมองเห็นทั้งข้อดีที่สุดและสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น และสุดท้าย คุณเห็นและมั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้ยังไงคุณก็สามารถย้อนกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตัวคุณว่า คุณอาจจะกำลังตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมสำหรับคุณในตอนนี้แล้ว ก็เป็นได้
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599