คุณกำลังรอให้หลายอย่างเพอร์เฟ็กต์ จนไม่ได้ลงมือทำอยู่หรือเปล่า
ในโลกยุคใหม่มีเทคโนโลยีที่คอยสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แทบจะไม่จำกัด คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าหลายๆคนจะเห็นหนทางการพัฒนาตัวเอง เห็นกิจกรรมใหม่ๆ เห็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เห็นโอกาสในเส้นทางใหม่ๆ และมันก็คงจะน่าเสียดายถ้าคุณไมได้มีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ ที่อาจจะพัฒนาชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของคุณให้ดีขึ้นไปอีกระดับ แต่ความจริงที่น่าเสียดายคือ บ่อยๆครั้งคุณมักจะไม่ได้เริ่มทันทีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ข้อมูลยังไม่พร้อม อุปกรณ์/เครื่องมือยังไม่ครบ ยังไม่ใช่โอกาสที่เหมาะสม ยังไม่ถึงเวลาของมัน ถ้าคุณเคยพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่ใกล้เคียงกับประโยคเหล่านี้ ในตอนที่คุณคิดว่าคุณควรจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ นั่นอาจจะหมายความว่า คุณกำลังรอให้หลายๆอย่าง Perfect จนคุณไม่ได้เริ่มลงมือทำสักที
การไม่ได้เริ่มลงมือทำ เปรียบเสมือนกับการพลาดโอกาสบางอย่างในชีวิตคุณไป การไม่ได้ลงมือทำนั้น อาจจะมีผลกระทบกับเส้นทางการดำเนินชีวิตในหลายๆมิติ มากกว่าที่คุณคิด หลายๆคนที่กำลังหา Passion ในชีวิต ค้นหาตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคืออะไร แต่ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ยังหาไม่เจอ บ่อยครั้งไม่ใช่

เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นโชคไม่ดี แต่ส่วนมากแล้วเป็นเพราะว่า “เขาไม่ได้เริ่มลงมือทำ”
การเป็น Perfectionist ไม่ดีหรือ?
อ่านมาทั้งหมดคร่าวๆ หลายๆคนอาจจะมีความคิดบางอย่างผุดขึ้นมาว่า “เขาอาจจะเป็น Perfectionist ก็ได้นะ”
“มันไม่ดีอย่างนั้นหรือ? ถ้าเขาจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะลงมือทำอะไรสักอย่าง”
ก่อนอื่นเลยความหมายของ Perfectionist ที่อ้างอิงมาจาก Merriam-Webster (Dictionary ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวอเมริกันมากที่สุด) คือ “ผู้ที่ไม่สามารถยอมรับ ผลลัพธ์ใดๆก็ตาม ที่ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ (ในมุมมองของเขา) และมีทัศนคติที่ไม่ยอมรับความล้มเหลว โดยให้ความหมายกับความล้มเหลวว่าเป็น “การไม่มีคุณค่า” โดยที่มาตรฐานที่ใช้ชี้วัด มักจะเป็นการตั้งมาตรฐานที่สูงเกินความจริง
ดังนั้น Perfectionist ส่วนใหญ่ มักจะทำงาน และไม่ยอมปล่อยงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ จนกว่าจะ “สมบูรณ์แบบที่สุด” ในความคิดของเขา บอกกันตรงนี้เลยว่า คนกลุ่มนั้นไม่ได้มีปัญหาการ “ไม่ลงมือทำ” แต่คนเหล่านั้นอาจจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปล่อยวาง ซึ่งจะไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้
อย่างไรก็ตามจะมี Perfectionist บางกลุ่มที่กำลัง “ผัดวันประกันพรุ่ง” ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ หรือไม่อยากทำ แต่เพราะว่าเขาเหล่านั้นตั้งความหวังไว้สูงจนเกินไป และทำให้เกิดความ “กลัว” ที่จะลงมือทำ เพราะเขาไม่อยากจะทำให้ผลลลัพธ์ออกมาด้อยกว่าที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้ และคิดว่าตัวเองไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ได้
เพราะฉะนั้นคำตอบก็คือ คนที่ยังไม่เริ่มลงมือทำ อาจจะเป็น Perfectionist หรือไม่เป็นก็ได้ ดังนั้นบทความนี้จะไม่ให้ความหมายว่าอะไร “ดี” หรืออะไร “ไม่ดี” แต่บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุหลายๆอย่างที่อาจจะกำลังทำให้คุณ เลือกที่จะไม่ลงมือทำอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นคน Type ใดก็ตาม ทั้งเรื่อง สภาวะอารมณ์ , Automatic thought , ทัศนคติ หรือความเชื่ออะไรก็ตามที่เหนี่ยวรั้งคุณ และทำให้คุณ “ไม่ได้ลงมือทำ” รวมถึงจะแนะนำ 4 เทคนิคที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ และฝึกฝนเพื่อให้คุณได้ “ลงมือทำ”
1. อ้างว่า “เดี๋ยวก่อน, รอก่อน, แปบนึง”
เทคนิคแรกอาจจะฟังดูกำปั้นทุบดินไปสักหน่อย “ไม่เริ่มทำอย่างนั้นหรือ? ลงมือทำเลยสิ!” คุณอาจจะยังไม่เห็นว่าการ ”รอ” ไม่ได้แค่ทำให้เสียเวลา แต่การ ”รอ” จะเกิดความคิด / แคลงใจ ที่อาจจะทำให้เกิดความ “กลัว” ที่จะทำกิจกรรมนั้นๆที่คุณตั้งใจทำไว้ตั้งแต่แรก ถ้าคุณลองสังเกตตัวเองดีๆ ความคิดที่เกิดขึ้นมาในหัวนั้นมักจะเกิดจากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น เมื่อคุณเห็นคนหุ่นดีกำลังได้รับความสนใจจากเพศตรงข้าม ณ จุดนั้นคุณจะอยากดูแลและเปลี่ยนแปลงตัวเอง “เดี๋ยวฉันจะต้องเข้า Fitness บ้างแล้ว” ณ จุดนั้นไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความตั้งใจของคุณได้เลย นั่นคือจุดที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นเส้นทางแห่งการหุ่นดีของคุณได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปผ่านไป คำว่าเดี๋ยวของคุณที่ไม่ทำให้คุณลงมือทำ จะทำให้เกิดความคิดอื่นๆเพิ่มขึ้นมา “คงต้องใช้เวลาหลายปีแน่เลย” “ถ้าฉันไม่สามารถไปสังสรรค์กับเพื่อนได้แล้วล่ะ” “ถ้าฉันไม่ได้กินอะไรที่อยากกินแล้วล่ะ” และเวลาที่ว่านั่น อาจจะไม่ใช่เวลาที่นานอย่างที่คุณคิด บางครั้ง 1 วัน , 2 ชั่วโมง หรือบางครั้ง แค่ 5 นาทีความคิดของคุณอาจจะเปลี่ยนไปจากจุดแรกที่ความคิดนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ ลองคิดดูเล่นๆว่า คุณอาจจะกำลังพลาดโอกาสที่จะดูดี เพียงเพราะคุณปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ไม่เริ่มลงมือทำ แค่ 5 นาที คุณเสียดายไหม?
ดังเมื่อคุณตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง ให้นับถอยหลัง 5 วิ แล้วทำเลย นี่คือวิธีหลีกหนีเสียงในหัวที่คอยฉุดรั้งคุณไม่ให้คุณลงมือทำ ถ้าคุณเริ่มลงมือทำด้วยชุดความคิดที่ดี ในตัวอย่างเมื่อสักครู่คือ คุณเริ่มดูแลตัวเองด้วยชุดความคิดที่ว่า “ฉันจะต้องดูแลตัวเอง เพราะฉันอยากจะดูดี” แน่นอนว่าคุณน่าจะออกกำลังกายและคุมอาหารได้ง่ายและมีความสุขมากกว่าการมีชุดความคิดที่ว่า “กว่าจะหุ่นแบบนั้นก็น่าจะต้องใช้เวลาหลายปี” “ถ้าจะหุ่นดีก็ต้องอดไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อน” “ถ้าจะหุ่นดีก็ต้องอดกินของอร่อย” การมีชุดความคิดที่ดีกว่า จะทำให้คุณมีแรงขับเคลื่อนในการทำกิจกรรมนั้นๆ ได้มีประสิทธิภาพกว่าอย่างแน่นอน
“แล้วถ้าเกิดว่าฉันต้องทำเลย หมายความว่าถ้าคิดอยากจะหุ่นดี ฉันก็ต้องลงไปวืดพื้นภายใน 5 วินาทีนั้น ทั้งๆที่ฉันกำลังทานข้าวอยู่ในร้านอาหารอย่างนั้นหรือ?”
คำว่า “ทำ” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่การลงมือทำกิจกรรมเหล่านั้นตรงๆ แต่ “ทำ” หมายถึง อะไรก็ตามที่ทำให้คุณเห็นกับตัวเองแล้วว่าฉันเริ่มทำ ยกตัวอย่างเดิมจากข้างต้นว่า ถ้าคิดอยากจะหุ่นดี แต่สถานการณ์รอบตัวไม่อำนวยให้ทำ “เดี๋ยวนั้น” ก็ไม่จำเป็นจะต้องออกกำลังกายเดี๋ยวนั้นเลยก็ได้ คุณอาจจะหยิบมือถือขึ้นมา ใช้เวลาสั้นๆ ลงตารางใน Calendar ของคุณว่า วันนี้ เวลานี้ ฉันจะออกกำลังกาย หรือว่ามีระหว่างที่คุณกำลังทำ Project หนึ่งอยู่ และในระหว่างที่กำลังทำงานเหล่านั้นคุณเห็นว่ามี Skill set ที่คุณควรจะเรียนรู้เพิ่ม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหยุดทำหรือต้องทิ้ง Project นั้นเลย แค่คุณ Update ใน Calendar ของตัวเองไว้ ในวันที่ส่ง Project นั้นว่า “หาข้อมูลเกี่ยวกับ……เพิ่มเติม”
ดังนั้นความชัดเจนก็เป็นสิ่งสำคัญอีกหนึ่งเรื่องในการลงมือทำ คุณจะทำอะไร คุณจะเริ่มวันไหน คุณจะเริ่มเมื่อไหร่ กี่โมง การลงมือทำทันที และการกำหนดเวลาที่คุณจะเริ่มทำ ก็คือวิธีหนึ่งในการส้รางความชัดเจนให้กับตัวคุณเอง และนี่คือเทคนิคแรกที่จะทำให้คุณ “เริ่มลงมือทำ”

2. มอง worst / best case scenario
แน่นอนว่ากิจกรรมบางอย่างมีความเสี่ยง และในความเสี่ยงนั้น อาจจะทำให้เกิดความ “กลัว” ขึ้น ซึ่งความกลัวนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด ในทางจิตวิทยาให้ความหมายกับอารมณ์ต่างๆว่า อารมณ์ เกิดขึ้นเพราะจิตใต้สำนึกของคุณ กำลังพยายามจะบอกอะไรคุณบางอย่างผ่านอารมณ์เหล่านั้น ดังนั้นความ “กลัว” ที่เกิดขึ้น อาจจะกำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างกับคุณอยู่ก็ได้ เพียงแค่คุณยอมรับคำเตือนเหล่านั้น และลองนั่งวิเคราะห์ดูว่า ความกลัวนั้นเกิดขึ้นจากอะไร
ดังนั้นเทคนิคที่ 2 คือการพาตัวเองไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ เลวร้ายที่สุด และดีที่สุด ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำกิจกรรมนั้นๆ
Worst case scenario
หรือก็คือเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? หากล้มเหลวจะมีผลกระทบอย่างแย่ที่สุดกับคุณมากแค่ไหน? เมื่อคุณเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ สิ่งต่อมาที่ต้องทำคือ หาวิธีรับมือกับมัน จากตัวอย่างเดิม ถ้าออกกำลังกาย Worst case คือคุณอาจจะออกกำลังกายผิดท่า แล้วทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ อย่างแย่ที่สุดอาจจะกระดูกหัก คุณอาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำเวลาออกกำลังกาย หรือคุณอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย
และเมื่อคุณเห็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งมีวิธีรับมือไม่ได้ปัญหานั้นเกิดขึ้น หรือมีวิธีแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นแล้ว ถ้าคุณสามารถจัดการกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้แล้ว จะมีอะไรน่ากลัวอยู่อีก?
Best case scenario
หลังจากที่มองเหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็ได้เวลามอง เหตุการณ์ที่ดีที่สุด บางครั้งผลลัพธ์อาจจะดีกว่าที่คุณคิดเอาไว้ในตอนแรกก็เป็นได้ จากตัวอย่างข้างต้น คุณเริ่มอยากออกกำลังกายเพราะคุณเห็นคนที่หุ่นดี และเป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม เหตุการณ์ที่ดีที่สุด นอกจากจะเป็นภาพที่คุณหุ่นดี อาจจะมีคนอยากรู้จักคุณ คุณดึงดูดผู้คนให้มาสนใจในตัวคุณได้ นอกจากนั้นสิ่งนี้ยังทำให้คุณ มั่นใจ ผู้คนชื่นชมในระเบียบวินัยของคุณ รูปร่างที่น่าดึงดูดของคุณอาจจะไม่ได้ดึงดูดแค่เพศตรงข้าม แต่อาจจะดึงดูดคนที่กำลังหาเพื่อนร่วมงานที่มีระเบียบวินัย คนที่สามารถ commit กับสิ่งหนึ่งได้เป็นระยะเวลานานจนปรากฏเป็นผลสำเร็จออกมา
กิจกรรมหนึ่งอย่าง อาจจะเริ่มจากเป้าหมายเพียงแค่อย่างเดียว แต่ทุกสิ่งบนโลกไม่ได้มีแค่มิติเดียว ต่างคนต่างมีมุมมองที่ต่างกัน ตัวคุณเองเมื่อเวลาผ่านไปคุณอาจจะมีมุมมองใหม่ๆกับเรื่องเดิมเกิดขึ้นมาก็เป็นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ถ้าเป้าหมายของคุณอาจจะให้อะไรมากกว่าที่คุณคาดหวังไว้ในตอนแรก และก็คงจะดีไม่น้อย ถ้าคุณลงมือทำอะไรสักอย่างโดยมีเป้าหมายเหล่านี้เป็นแรงผลักดัน
ดังนั้นเทคนิคที่ 2 คือการฟังเสียงตัวเอง วิเคราะห์ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น กำลังเตือนอะไรเราอยู่ แปลงคำเตือนเหล่านั้นออกมาให้ชัดเจนว่า Worst case / Best case เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง คุณจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร คุณจะรับมืออย่างไร และหากคุณทำสำเร็จ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง
3. ตีสนิทกับความล้มเหลว
“ความล้มเหลว” คงจะเป็นคำที่หลายๆคนให้ความหมายในทางลบ ความล้มเหลวทำให้คุณสูญเสียอะไรหลายๆอย่าง ความล้มเหลวทำให้คนไม่ยอมรับในตัวคุณ และบ่อยครั้ง ที่ “ความล้มเหลว” ทำให้เกิดความ ”กลัว” ขึ้นมา และทำให้หลายๆคนเลือกที่จะเลี่ยงไม่ทำกิจกรรมนั้นเลย เพราะถ้าไม่ทำ คุณก็ไม่ล้มเหลว แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ในทางจิตวิทยา “ความกลัว” คืออารมณ์ลบอย่างหนึ่ง และอารมณ์ทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นมาจาก “ความเชื่อ” และ “ความคิด” เพื่อส่งข้อความบางอย่างมาบอก หรือเตือนเรา และ “ความเชื่อ” เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีต ที่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์ในอดีตบางอย่างอาจจะกำลังเตือนเราในปัจจุบันอยู่ว่า ถ้าเราลงมือทำอะไรบางอย่าง เราจะล้มเหลว และความล้มเหลว เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ เลยเป็นสาเหตุให้หลายๆคน “ไม่ลงมือทำ”

แต่จริงๆแล้ว “ความล้มเหลว คือทางลัดที่ดีที่สุด เพื่อจะไปถึงการประสบความสำเร็จ” แน่นอนว่าหากวัดจากผลลัพธ์ การล้มเหลวอาจจะทำให้ไม่เกิดความคืบหน้าขึ้น หรือบางครั้งอาจจะทำให้คุณถอยหลัง แต่ในด้านของการพัฒนาและเติบโตของตัวคุณเอง “ความล้มเหลว คือการเดินหน้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่ง” เพราะเหมือนกับที่คุณได้อะไรบางอย่างจากการทำสำเร็จ ความล้มเหลวก็ให้อะไรหลายๆอย่างกับคุณเหมือนกัน
คุณคือมนุษย์คนหนึ่ง การมีความสามารถที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ และการทำอะไรเป็นครั้งแรก ก็มักจะมีสิ่งที่ต้องแก้ไขตามมาเป็นเรื่องปกติ การเรียนรู้จากเรื่องที่ต้องแก้ไข คือความสมบูรณ์แบบของการเป็นมนุษย์ จึงเป็นที่มาของประโยคที่พูดว่า “Perfection is Imperfection” ความสมบูรณ์แบบ คือการผิดพลาด เรียนรู้ และพัฒนาอย่างไม่รู้จบ อาจจะเคยฟังหลายๆคนที่พูดว่า ถ้าจะให้งานสมบูรณ์เรียบร้อยเป๊ะๆ ให้มันเป็นหน้าที่เครื่องจักรเถอะ แต่ถ้าสังเกตจริงๆ กว่าเครื่องจักรจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องอาศัยการปรับแต่งกันไม่น้อย กว่างานที่ออกมาจะเป็นไปอย่างที่คุณต้องการ
4. จำแนกเนื้องาน
เมื่อคุณเริ่มลงมือทำได้แล้ว เทคนิคอันสุดท้ายนี้ดูเหมือนจะเป็นคำเตือนมากกว่าสิ่งที่อยากให้ฝึกทำ แต่เพราะว่าจากประสบการณ์การพูดคุยและสังเกตคนหลายๆกลุ่ม เมื่อตั้งเป้าหมาย บางครั้งจะไม่สังเกตว่ากิจกรรมที่ทำ ก่อให้เกิด “เนื้องาน” แบบใด ซึ่งเป็นผลให้ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรสักเท่าไหร่ มากแค่ไหน ก็ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นสักที ดังนั้นการจำแนกประเภทกิจกรรมว่า กิจกรรมแบบใด ก่อให้เกิด “เนื้องาน” แบบไหน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกมองข้ามมากกว่าที่คิด โดยจะแบ่งเนื้องานออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
เนื้องานติดลบ
คือกิจกรรมต่างๆ หรือสิ่งที่ทำโดยที่รู้อยู่แก่ใจว่า กิจกรรมเหล่านั้น มีผลด้านลบกับเป้าหมายของคุณ และคุณเริ่มหาเหตุผล หรือข้ออ้าง เพื่อจะทำกิจกรรมเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตั้งใจจะควบคุมน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ และคุณวางแผนมาอย่างดีว่าคุณจะทานอาหารอย่างไร กำหนดวันที่สำหรับการ Cheat meal ไว้เรียบร้อย แต่คุณเลือกที่จะทานอาหารนอกโปรแกรม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นี่คือกิจกรรมที่ถือว่าเป็น “เนื้องานติดลบ”
เนื้องานศูนย์
นี่คือกับดักจริงๆที่หลายๆคนหลงเข้ามาติดโดยที่ไม่รู้ตัว เนื้องานติดลบนั้นโดยมากแล้ว ถ้ามีความตั้งใจ มีวินัยและมีสติ จะควบคุมตัวเองได้ไม่ยากนัก แต่เนื้องานศูนย์ เป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ส่งผลให้ผลลัพธ์คืบหน้า ยกตัวอย่างเรื่องเดิมกับคนที่อยากดูแลรูปร่าง ขั้นแรกต้องหาข้อมูลให้แน่น ดูคลิปต่างๆ อ่านบทความ ซื้อหนังสือมาอ่านเป็น 10 เล่ม แต่เขาวนเวียนอยู่ในขั้นตอนนี้มาร่วมๆ 2 ปีเข้าไปแล้ว และเขาบอกตัวเองว่า “ฉันกำลังหาข้อมูลอยู่ไง พร้อมเมื่อไหร่จะเริ่มลงมือทำทันที”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนๆนี้ มีกิจกรรมที่ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากมาย แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเลย เขารู้ว่าการออกกำลังกายควรจะวางโปรแกรมแบบไหน การทานอาหารควรจะต้องมีอะไรบ้าง แต่เขาไม่ออกกำลังกาย และเขาก็ไม่ได้ทานอาหารในแบบที่เขาควรจะต้องทาน จนสุดท้ายเวลาผ่านไป 2 ปีกว่าๆ เขายังไม่ได้เนื้องานที่มีผลทำให้รูปร่างเขาเปลี่ยนแปลงเลย แบบนี้เรียกว่า “เนื้องานศูนย์”
เนื้องานบวก
คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายว่า “เนื้องานบวก” เป็นอย่างไร เรียกว่าเป็นคำเตือนคงจะเหมาะกว่า เพราะเนื้องานบวก ไม่จำเป็นว่าผลลัพธ์ของกิจกรรมแต่ละอย่างจะต้องออกมาสำเร็จเสมอไป แต่เป็นกิจกรรมที่ทำ โดยที่มีเจตนาหวังจะให้เกิดความคืบหน้ากับเป้าหมาย ถึงแม้ผลที่ออกมาไม่ใช่อย่างที่หวัง แบบนี้ก็เรียกว่า “เนื้องานบวก” ได้เช่นกัน เพราะเจตนาคุณมุ่งมั่นว่าเป้าหมายต้องเกิด ผลลัพธ์มันต้องใช่ แต่ผลออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด สิ่งที่ได้จากกิจกรรมเหล่านี้คือ คือการเรียนรู้ และการแก้ไข
ยกตัวอย่างเช่น คนที่จะดูแลรูปร่าง วางแผนการออกกำลังกาย และวางแผนการทานอาหารมาเรียบร้อย พร้อมทั้งทำตามแผนได้ทุกอย่าง แต่พอถึงเวลาวัดผล กลับไม่ได้ผลลัพธ์ตามี่หวังไว้ แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นเนื้องานบวกเช่นกัน เพราะสิ่งที่เขาต้องทำต่อมาก็คือ วิเคราะห์ และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับแผนที่วางไว้ และเดินหน้าทำต่อไป
ดังนั้นการสังเกตและจำแนกเนื้องานให้ชัดเจน จะทำให้คุณเห็นว่ากิจกรรมไหน ให้ผลลัพธ์แบบใด และผลลัพธ์นั้นมีผลกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้หรือไม่ เมื่อคุณจำแนกได้ คุณจะสามารถเลือกได้ว่า เพื่อเป้าหมายของคุณ คุณจะทำอะไร และคุณจะไม่ทำอะไร
เมื่อคุณได้เรียนรู้ และเข้าใจเทคนิค 4 ข้อนี้ว่า ปัญหาของคุณติดอยู่ที่ข้อไหน ปรับปรุงและนำไปใช้ เชื่อว่าคุณจะมีความกล้าที่จะลงมือ กล้าที่จะทำ กล้าที่จะล้มเหลว โดยที่ไม่รอให้ทุกอย่างมัน Perfect ไปก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว Perfection is Imperfection ความสมบูรณ์แบบ คือการผิดพลาด เรียนรู้ และพัฒนา เพื่อที่คุณจะได้สร้างผลลัพธ์ สร้างประโยชน์ และ Enrich ชีวิตของคุณ และคนรอบตัวคุณ
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599