คุณสมบัติของผู้นำยุค Metaverse

         “ ผู้นำ ” ที่หลายคนเข้าใจและให้ความหมายกันในอดีตคงจะหนีไม่พ้นคำว่า “ หัวหน้า ” ที่หมายถึงตัวตนบางอย่างที่คอยบงการและออกคำสั่งเมื่อต้องทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกลุ่มในชั้นเรียน ทำกิจกรรมร่วมกันในที่สาธารณะ หรือจะเป็นการทำงานในองค์กรที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ซึ่งเมื่อเป็นคำว่า หัวหน้า กับ ลูกน้อง แล้วจะแบ่งแยกชัดเจนว่าหนึ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าจะเป็นคนบังคับและควบคุมระบบการทำงานทุกอย่างของลูกน้องในทีมตัวเองตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนจบกระบวนการ

          แต่ในยุคปัจจุบันเมื่อสังคมเริ่มพัฒนามากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ทำให้สังคมที่เราอยู่มีมุมมองที่เปลี่ยนไป และหนึ่งอย่างที่เริ่มมีความหมายเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้นก็คือการให้ความหมายของคำว่า “ ผู้นำ ” นั่นแหละ

          “ ผู้นำ ” ในยุค Metaverse ไม่ได้หมายถึงบุคคลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นให้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการสั่งการเหมือนในอดีตอีกต่อไป คำว่าผู้นำในความหมายเดิม ถ้าลองพิจารณาดูแล้วเหมือนเป็นการตีกรอบจำกัดโอกาสให้คนที่มีตำแหน่งหัวหน้าเท่านั้นในการคิดและตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถสวมบทบาทผู้นำเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างผลลัพธ์ให้กับตัวเองและองค์กรอย่างมีนัยยะได้มากยิ่งขึ้น เพราะคำว่าผู้นำในปัจจุบันหมายถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นนักพัฒนา ทำให้ในโลกปัจจุบันองค์กรชั้นนำหลายองค์กรต้องการคนที่เป็น “ ผู้นำ ” เข้ามาทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ในบทบาทผู้นำในอดีตที่มีหน้าที่สั่งการลูกน้อง แต่เป็นการรวมกลุ่มคนที่มีความเป็นผู้นำมาทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อสร้างและส่งต่อคุณค่าขององค์กรสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

          หลายคนอาจจะยังคุ้นเคยกับความหมายเดิมของคำว่าผู้นำ และอาจจะยังกังวลเรื่องการให้ผู้นำหลายคนมาทำงานร่วมกัน กังวลว่าจะเกิดปัญหา เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ กลัวว่าการทำงานจะไม่ราบรื่นเนื่องด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ความน่าทึ่งก็คือคนที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำในปัจจุบันจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่สองคนแต่ไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม ถ้าทุกคนมีคุณสมบัติของผู้นำในยุคใหม่แล้ว พวกเขาจะสามารถร่วมกันสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมออกมาได้แน่นอน คราวนี้คำถามก็คือ แล้วอะไรคือคุณสมบัติของการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบันที่จะทำให้พวกเขาสามารถระดมความคิดและมุมมองที่แตกต่างจนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้โดยที่ไม่เกิดปัญหา

การสื่อสาร ( Communication )

            การสื่อสารคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เผ่าพันธ์มนุษย์สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาได้หลายพันปี แทนที่เราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกช่วงอายุคน หมื่นปีก่อนมีคนเคยคิดค้นไฟได้แล้วหมื่นปีถัดมาก็ยังคงต้องมานั่งคิดค้นไฟทุกครั้ง การสื่อสารทำให้คนรุ่นหลังเอาความรู้จากคนรุ่นก่อนมาต่อยอดได้ และการส่งต่อนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากว่าไม่มีการสื่อสารที่ดี ดังนั้นทักษะในการสื่อสารจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำในยุคปัจจุบัน

           ผู้นำควรจะสามารถสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม ตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสื่อสารเกี่ยวกับชิ้นงานอย่างชัดเจนและรัดกุม รวมไปถึงการพูดคุยเพื่อ empower หรือให้กำลังใจกัน ซึ่งการจะสื่อสารให้มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมก็จะมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ดังนี้

  • Knowledge / skill

            ในยุค Metaverse ทักษะและความรู้จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความเข้าใจในศาสตร์เฉพาะด้านอย่างลึกซึ้งคือองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ หลายคนคงจะเคยเจอปัญหาที่หัวหน้ารู้เนื้องานระดับผิวเผิน แล้วตอนสื่อสารเกิดปัญหาเพราะว่าหัวหน้าไม่เข้าใจวิธีการทำงาน ไม่เข้าใจเงื่อนไข จบที่การสร้างเป้าหมายที่ไม่สมเหตุสมผลขึ้นมา

 

  • Integrity

            เมื่อต้องทำงานเป็นทีม ความไว้วางใจที่มีต่อกันเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน ถ้าไม่ไว้ใจกันจะไม่สามารถทำงานได้แน่นอน การรักษาคำพูดคือพื้นฐานที่สุดของการสร้างความไว้เนื่อเชื่อใจกัน พูดคำไหนคำนั้น ถ้าเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น แสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองอย่างชัดเจนว่าตัวเองผิดคำพูดไปแล้ว เพราะถ้าไม่ออกมารับผิดชอบแล้วละก็ นั่นเป็นการลดคุณค่าและน้ำหนักของคำพูดตัวเองในทันที แล้วถ้าคำพูดไม่มีน้ำหนักแล้วการสื่อสารจะมีประสิทธิภาพคงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไมได้เลย

 

  • Listening

            หลายคนพยายามพัฒนาการสื่อสารด้วยการอัพเกรดวิธีการพูดของตัวเอง หัดใช้น้ำเสียงที่เปลี่ยนไป ชึ้คำที่สละสลวยเหมาะสม ใช้ภาษากายที่น่าดึงดูด แต่ทักษะที่จะทำให้การสื่อสารได้ดีที่สุดก็คือ “ การฟัง ”

           หลายคนน่าจะเคยสังเกตกันว่า ธรรมชาติของคนไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนก็ตามมักจะฟังและให้น้ำหนักคำพูดของคนที่ตัวเองเชื่อใจหรอสนิทใจ มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว บางครั้งคนสองคนพูดประโยคเดียวกันแบบคำต่อคำ ด้วยน้ำเสียงเหมือนกัน แต่คนฟังจะเลือกรับฟังคนที่ตัวเองรู้สึกสบายใจที่จะฟังมากกว่า คนที่ตัวเองรู้สึกเข้าถึงและสนิทสนมได้มากกว่า จึงเป็นที่มาของคำว่า Connect before Content หรือที่แปลว่า ก่อนจะส่งสารให้พวกเขา พยายามเข้าถึงและเข้าใจพวกเขาเสียก่อน

          ดังนั้นในยุค Metaverse ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการให้คุณค่าต่อกันและกันมากขึ้น การฟังจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงคู่สนทนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการฟังคือการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สื่อสาร ได้พูด ได้แสดงความเป็นตัวเองออกมา การฟังที่ดีจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้น เข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนอยากพูด ทุกคนอยากแสดงความคิดเห็น การฟังก็เลยเป็นเหมือนการให้อย่างหนึ่ง และเมื่อเราทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการฟังที่ดี เราจะสังเกตได้เอาว่าพวกเขาจะเปิดใจให้กับพวกเรามากขึ้น ซึ่งไม่ต้องไปมองหรือสังเกตคนอื่นไกลเลย แค่เราสังเกตตัวเราเองก็จะพบว่า เราจะรู้สึกสบายใจที่จะอยู่กับคนที่ฟังเราจริง ๆ มากกว่าคนที่ไม่ว่าเราจะพูดอะไรก็จะพูดแทรก จะพยายามแสดงความเป็นตัวของเขาเองออกมามากกว่ายอมรับฟังเวลาที่เรากำลังสื่อสาร

  • Empathy

            ความเข้าอกเข้าใจกันเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้เรา “ เข้าถึง ” คู่สนทนาของเราได้มากขึ้น ถ้าหากว่าเรามีทักษะการฟังที่ดีแล้ว เราจะสามารถเข้าใจได้เลยว่าพวกเขา “ รู้สึก ” อะไรอยู่ผ่านทางสารที่พวกเขาสื่อออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด น้ำเสียง หรือภาษากายก็ตาม

             เมื่อเราเข้าใจ เราจะได้มุมมองของการทำงานและความคิดของคู่สนทนาของเรามาประกอบการตัดสินใจในการทำงานเพิ่มเติม และเราจะสามารถสื่อสารในภาษาเดียวกันกับคู่สนทนาของเราได้ดีขึ้น ซึ่งการคุยกันในภาษาเดียวกันนั้นก็เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่ดีอีกทางหนึ่ง

การรู้เท่าทันตัวเอง ( Self-awareness )

            การทำงานกับปัญหาและความท้าทายคงจะเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาก็ย่อมจะตามมาด้วยความกดดันหรือความตึงเครียด แน่นอนว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะส่งผลกับอารมณ์ของเราอย่างแน่นอน และเมื่ออารมณ์เปลี่ยน พฤติกรรมกับการกระทำของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรู้เท่าทันตัวเองและอารมณ์ของตัวเอง จึงเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่จะทำให้ผู้นำยุคใหม่สามารถรักษาสาภวะทางอารมณ์ของตัวเองได้ดีในสถานการณ์ที่ตึงเครียด สถานการณ์ที่ต้องใช้การตัดสินใจที่เฉียบคมจะทุกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะอารมณ์ที่ดี ซึ่งความสามารถในการรักษาสภาวะอารมณ์ที่ดีก็คือการมีระดับ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ทีดี่นั่นเอง

การเรียนรู้และปรับตัวที่รวดเร็ว ( Learning Agility / Adaptability )

            สังคมปัจจุบันที่โลกแทบจะเปลี่ยนแปลงทุกวัน trends หรือกระแสบางอย่างรายวันก็อาจจะทำให้ธุรกิจของเราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตเอาไว้ ดังนั้นความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และการปรับตัวอย่างรวดเร็วจึงเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับผู้นำที่ต้องการจะสร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจในยุคปัจจุบัน

            องค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหัวหน้าเท่านั้นที่ควรจะมีคุณสมบัติเหล่านี้ แต่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งการทำงานใดก็ตามควรจะมี การสื่อสารที่ดีจะทำให้สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในทีมที่ดี สร้างประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นกว่าเดิม รับมือและจัดการกับปัญหาในแต่ละช่วงได้อย่างรวดเร็ว และการมี EQ ในระดับที่ยอดเยี่ยมจะทำให้การทำงานและการอยู่ร่วมกันราบรื่นยิ่งขึ้น ทำให้คุณค่าที่สร้างออกมาจากตัวบุคคลสะท้อนผ่านออกมาทางสินค้าจากองค์กรสู่สังคมได้

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า