ทักษะที่ผู้นำหน้าใหม่ต้องมี!     

             เชื่อว่าทุกคนที่กำลังประกอบอาชีพอยู่นั้น ต่างก็ต้องคาดหวังการเติบโตทางหน้าที่การงานของตัวเอง คนที่เข้าไปทำงานอยู่ในองค์กรต่างก็หวังผลตอบแทนที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการขึ้นเงินเดือนประจำรอบปี ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้น หรือบางคนอาจจะเลือกย้ายที่ทำงานไปอยู่ในองค์กรที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดี กว่า บางคนเลือกออกมาเริ่มต้น นับ 1 ใหม่ในธุรกิจของตัวเอง

             แต่อย่างหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการเติบโตในหน้าที่การงาน ก็คือการก้าวเข้ามายืนอยู่ในสถานะของการเป็น “ผู้นำ” ซึ่งต้องยอมรับจริง ๆ ว่าสังคมสมัยใหม่พัฒนากันอย่างรวดเร็ว บุคลากรที่จบการศึกษาใหม่และกำลังก้าวเข้ามาสู่สังคมการทำงานล้วนแล้วแต่มี พัฒนาการและมีความสามารถมากขึ้นทุกวัน ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก ที่เราจะเห็น “เด็กจบใหม่” หลาย ๆ คน “มีของ”

             เมื่อ “มีของ” ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกทาบทามให้ขึ้นมาเป็น “ผู้นำป้ายแดง” อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการถูกแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กร หรือจะเป็นการสร้างทีมมาขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองก็ตาม แต่การจะขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีนั้น จะมีแค่ทักษะในการทำงานที่โดดเด่นอย่างเดียวคงจะไม่ได้ การเป็นผู้นำที่ดีนั้นจำเป็นจะต้องมีทักษะการเป็นผู้นำด้วย แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าผู้นำป้ายแดง เรื่องประสบการณ์ในการทำงานก็ย่อมจะน้อยกว่าคนที่มีอายุงานมาก ๆ อยู่แล้ว แต่การมีประสบการณ์ในการทำงานน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ บทความนี้จะพูดถึง

 

7 ทักษะ ที่ผู้นำหน้าใหม่ต้องมี ถ้าคุณต้องการจะเป็นผู้นำที่ดี ห้ามพลาด!

 1. ทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

             การมายืนอยู่ในตำแหน่งผู้นำ เป็นเครื่องบอกที่ดีอย่างหนึ่งว่าคุณเป็นคนที่มีความสามารถ แต่ถ้าคุณขาดทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นั่นจะทำให้ตัวคุณในอนาคตไม่ใช่คนเก่งอีกต่อไป แต่คุณจะกลายเป็นคน “เคย” เก่งในทันที เพราะเมื่อคุณหยุดพัฒนาตัวเอง นั่นหมายความว่าคุณหยุดที่จะเติบโตในทันที ณ ตอนนั้นเลย แน่นอนว่าในปัจจุบันคุณมีความสามารถที่จะรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว แต่คุณต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากว่าคุณหยุดพัฒนา คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตคุณจะสามารถเป็นผู้นำที่มีความสามารถให้ทีมของคุณพึ่งพาได้อยู่ ?

             ข่าวดีก็คือในยุคปัจจุบัน มีทางเลือกในการหาข้อมูลและพัฒนาตัวเองให้เลือกมากมาย ตัวเลือกง่าย ๆ ที่ใช้กันแพร่หลายก็จะมีทั้ง การดู VDO ในหัวข้อที่ตัวเองสนใจผ่านช่องทาง Youtube , ฟัง Podcast เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง หรือบางคนอาจจะชอบเช้าร่วมการสัมนาอบรมในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้พบเจอกับกลุ่มสังคมใหม่ ๆ ที่คุณสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ 

2. ทักษะการควบคุม EGO

            เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ EGO มาแล้วไม่มากก็น้อยใช่ไหม ?  ไม่ว่าจะเป็นประโยคเตือนว่าอย่าให้ EGO ตัวเองสูงเกินไป หรือจะเป็นการสนทนาเกี่ยวกับคนที่มี EGO สูง ที่น่าจะพบได้ในสถานที่ทำงานทั่วไป ซึ่งเมื่อคุณเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว คุณน่าจะคิดกับตัวเองแน่ ๆ อยู่แล้วว่า “ฉันจะต้องไม่เป็นคนมี EGO สูง” ถูกไหม ?

             แต่การควบคุม EGO ของตัวเองนั้น ไม่ใช่เพราะว่าคุณตั้งใจจะมี EGO สูง แต่เป็นเพราะว่า คุณไม่ทันตัวเองต่างหาก ซึ่งความไม่ทันตัวเองนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเริ่มสร้าง EGO ของตัวเองขึ้นมา

             อย่างที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อคุณขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง “ผู้นำ” นั่นหมายความว่าคุณมีจุดเด่นบางอย่าง มีความสามารถบางอย่าง หรือคุณประสบความสำเร็จกับอะไรบางอย่างมาอยู่แล้ว ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ คือสิ่งที่จะทำให้คุณพัฒนา EGO ของตัวเองให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ “ฉันเคยทำสิ่งนี้สำเร็จมามากกว่าคุณ ทำไมฉันจะต้องฟังคุณด้วย ?“ “ฉันเคยรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว จะมาพูดให้ฉันฟังทำไม ?” “ถ้าคิดได้แค่นี้ก็อย่ามาทำเป็นสอนฉันเลย” ถ้าคุณมีความคิดเหล่านี้อยู่ในหัวบ่อย ๆ แล้วล่ะก็ ยินดีด้วยครับ ตอนนี้คุณพาตัวเองมาอยู่บนจุดสูงสุดของภูเขาแห่งความโง่แล้ว อ่านแล้วดูแปลกดีใช่ไหม ? ยิ่งเก่ง ยิ่งฉลาด คุณก็มีแนวโน้มที่จะ “โง่” สูงขึ้นตามไปด้วย

             ดังนั้นการฝึกควบคุม EGO ของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่า EGO สูงเกินไปย่อมจะส่งผลเสียต่อคุณและคนรอบข้าง แต่ EGO ก็ทำให้คุณมั่นใจในตัวเอง หนักแน่นในความคิดของตัวเอง และถ้าคุณไร้ซึ่งความมั่นใจในตัวเองก็คงจะไม่เป็นผลดีเท่าไหร่เช่นกัน ดังนั้นการฝึกควบคุมให้คุณสามารถเปิดรับ และรับฟังข้อมูลจากผู้อื่นโดยที่ไม่ตัดสิน และสามารถเปิดใจนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณากับข้อมูลที่คุณมี และความเชื่อที่คุณมี นั่นเท่ากับว่าคุณได้เปิดโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตให้ตัวเองอีกหนึ่งช่องทางแล้ว หรือต่อให้ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่คุณมีอยู่แล้ว คุณก็อาจจะได้รับรู้มุมมองของคนอื่นที่มีต่อข้อมูลนั้นก็เป็นได้

3. ทักษะการรับมือกับอารมณ์อย่างมืออาชีพ

             IQ จะไม่ได้มีประโยชน์กับการทำงานเป็นทีมเลย ถ้าหากว่าผู้นำอย่างคุณขาด EQ ไป หลายคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์ที่คุณยอมรับอยู่เต็มอกว่าผู้นำของคุณนั้น “เก่ง” แต่คุณกลับไม่อยากที่จะทำงานร่วมกับเขา บางคนหนักถึงขนาดว่าแค่ได้ยินเสียงก็ยังปวดหัว นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าผู้นำคนนั้นขาด EQ ก็ได้

             ถ้าผู้นำจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ นั่นหมายถึงหายนะของทีมเลยทีเดียว ลองคิดภาพดูว่าในการประชุมปกติที่ต่างคนต่างเสนอ แล้วมีใครสักคนพูดไม่เข้าหูหัวหน้าขึ้นมา หัวหน้าคุณก็จะสามารถเปลี่ยนการประชุมครั้งนั้นให้กลายเป็นสนามอารมณ์ได้ใน ทันที ถ้าหากว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ สมาชิกในทีมจะเกิดความรู้สึกทางลบทันที ทั้งขัดใจ เบื่อหน่าย ผิดหวัง หรืออาจจะเลือกเดินออกจากทีมตรงนั้น เดี๋ยวนั้นเลยก็ได้ หรือถ้าทีมคุณหรือองค์กรของคุณอยู่ในสถานการณ์คับขัน แต่ผู้นำของคุณไม่ได้มีความเข้มแข็ง แสดงอาการเครียดและตื่นตระหนก ตัดสินใจไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก คุณคิดว่าสมาชิกในทีมจะยังมีความมั่นใจในองค์กรอยู่ไหม ?

             ดังนั้นคนที่เป็นผู้นำควรจะต้องจัดการอารมณ์ตัวเองให้ดี เพราะการจัดการอารมณ์ที่ดี คือสิ่งที่สะท้อนวุฒิภาวะของผู้นำได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง หาเวลานั่งจับความรู้สึกของตัวเอง รู้เท่าทันตัวเอง และจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะไปจัดการและบริหารทีมของคุณ

4. เปิดกว้างและยืดหยุ่น

             ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ในการเป็นผู้นำที่ดีคือ “ความยืดหยุ่น” ในเมื่อโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา คุณจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าคุณยังยึดติดกับวิธีการสร้างผลลัพธ์แบบเดิม ๆ แน่นอนว่าวิธีเดิมอาจจะยังใช้ได้ผลอยู่ในตอนนี้ แต่คุณก็ควรจะมองหาวิธีการใหม่ ๆ ที่อาจจะสามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เตือนตัวเองเอาไว้เลยว่าตอนนี้หมดยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว ตอนนี้เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า คนที่ปรับตัวเร็วเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้

             นอกจากจะยืดหยุ่นแล้ว คุณจะต้องใจกว้างด้วย เพราะบุคลากรหน้าใหม่จะกลายเป็นคนอีกรุ่นหนึ่งแล้ว ซึ่งคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคน Gen Z ค่อนข้างจะมีความต้องการที่จะทำงานในรูปแบบของตัวเอง หรือในเงื่อนไขของตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ เพราะพวกเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีทางเลือกมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ พวกเขามีโอกาสได้ทำอะไรมากกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พวกเขาจะมีวิธีคิดและแนวทางที่แตกต่างออกไป ซึ่งจุดนี้คือจุดที่คุณซึ่งเป็นผู้นำควรจะเปิดกว้างในการเจรจาเรื่องวิธีในการทำงาน หรือการกำหนด Flow งานในแบบของพวกเขาเองมากขึ้น แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่วิธีการปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจ 100% แต่เป็นการหา Solution ตรงกลางที่สามารถตัดประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเป็นห่วงออกไปได้มากที่สุด เพราะในเวลาที่คุณเลือกเขาเข้าทีมมาทำงานร่วมกัน นั่นหมายความว่าคุณมั่นใจในความสามารถของพวกเขา แล้วทำไมคุณถึงพยายามจะสร้างกรอบเพื่อมาจำกัดความสามารถที่คุณเลือกมาตั้งแต่แรกล่ะ ?            

5. อ่านคนให้ออก

             ชื่อตำแหน่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นผู้นำ แน่นอนว่าคุณก็จำเป็นที่จะต้องเลือกคนที่เหมาะสมกับงานแต่ละงานอยู่แล้วจริงไหม เหมือนวลีที่พูดกันว่า “จะเป็นผู้นำต้องอ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น”

  • อ่านคนออก : คุณสามารถประเมินได้ไหมว่า ทีมของคุณแต่ละคนมีความสามารถด้านใดบ้าง ? อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของพวกเขา การประเมินนี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการมอบหมายงานในแต่ละครั้งของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ “สั่งปลาไปปืนต้นไม้”
  • บอกคนได้ : คุณสามารถปรับวิธีการสื่อสารให้เข้ากันคนทุกประเภทได้ คุณตรงกับคนที่ตรงและชัดเจน คุณเข้าถึงคนที่อ่อนไหวได้ คุณชัดเจนในข้อมูลสำหรับคนที่ละเอียด และคุณเป็นกันเองกับคนที่สบาย ๆ ได้ โดยที่คุณไม่ยึดเอาความเป็นตัวเองไปยัดเหยียดให้ทีมของคุณ ไม่ใช่ว่าคุณเป็นคนตรง ๆ คุณก็จะพูดโผงผางใส่กับทุกคนก็คงจะไม่เหมาะ เพราะคนที่อ่อนไหวง่ายก็จะไม่สามารถรับข้อมูลจากคุณได้อย่างเต็มที่
  • ใช้คนเป็น : คุณรู้ว่าคุณจะมอบหมายงานอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด คุณรู้จักศิลปะการ Feedback ที่มีคุณภาพ คุณประสานงานและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

6. การเป็นนักอ่านตัวยง

             อาจจะฟังดูคล้าย ๆ กับข้อแรกที่พูดถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าการอ่านหนังสือคือหนึ่งในทางเลือกในการพัฒนาตัวเอง แต่เหตุผลที่อยากจะแยกหัวข้อนี้ออกมาเพิ่มเติมก็คือ การอ่านหนังสือคือยังคงเป็นการหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่ง คุณลองพิจารณาดูว่า ยุคสมัยนี้เทคโนโลยีพัฒนามาจนสามารถหาข้อมูลได้มากมายใน Internet แต่หนังสือก็ยังเป็นสื่อที่สามารถตีพิมและขายได้อย่างต่อเนื่อง ถึงจะถูกแปลงมาเป็นสื่อออนไลน์แล้วก็ตาม หนังสือก็ยังคงถูกเรียกว่า E-book อยู่

             เพราะหนังสือเล่มหนึ่ง มาจากประสบการณ์บางอย่างที่สะสมกันมาในระยะเวลานานหลายสิบปี หรือบางเล่มที่เขียนออกมาอาจจะเกิดจากการตกผลึกมาทั้งชีวิตเลยก็ได้ หนังสือไม่ใช่เพียงแค่แหล่งข้อมูลที่ชี้แจง Facts เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของคนหนึ่งคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น และสุดท้ายเลือกที่จะถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือเล่มหนึ่ง

             ดังนั้นการเรียนรู้จากหนังสือ ไม่ได้ทำให้คุณรู้ข้อมูลเพิ่ม แต่ทำให้คุณได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ผลลัพธ์ที่ผู้เขียนได้จากประสบการณ์เหล่านั้น รวมไปถึงมุมมองและความคิดของเขาจากประสบการณ์เหล่านั้น แน่นอนว่าทุกคนจะต้องเคยมีประสบการณ์ “รู้งี้ตอนนั้นทำแบบนี้ดีกว่า” การอ่านหนังสือก็คือการได้ “รู้งี้” โดยที่คุณไม่ต้องผิดหวังก่อนนั่นแหล่ะครับ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า