ทำไมถึงเจอปัญหาเดิม ๆ ในองค์กร

          เมื่อพูดถึงการสร้างรายได้ให้กับตัวเองแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงจะมีกลยุทธ์ในการหาทรัพยสินเข้ากระเป๋าที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง บางคนเลือกที่จะเติบโตในบริษัทและองค์กรที่ตนเองไว้ใจ พัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง ให้สามารถเข้าไปต่อรองกับบริษัทได้เมื่อถึงเวลา พยายามให้ตัวเองเป็น “ คนเก่งที่บริษัทขาดไม่ได้ “ บางคนเลือกที่จะ Job-hopping หรือเปลี่ยนองค์กรไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนงานเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองมากกว่าการรอเพิ่มเงินเดือนปีละ 3 % และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องให้กลายเป็น “ คนเก่งที่ใคร ๆ ก็อยากได้ “ และแน่นอนว่าก็จะมีบางคนที่เลือกที่จะก้าวออกมาเริ่มสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองเช่นกัน เพราะพวกเขาเห็นว่า การทำงานให้ตัวเองเนี่ยแหละ สร้างรายได้มากที่สุดแล้ว

         ส่วนที่น่าสนใจของการออกมาทำธุรกิจเองก็คือ เรามีโอกาสได้สร้าง “ พื้นที่ “ อีกหนึ่งพื้นที่พที่เราจะสามารถให้คุ้นค่ากับสังคมในแบบที่เป็นตัวของเราเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งสาเหตุที่เราสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวเองได้มากขนาดนั้น เพราะว่าเราเป็นคนที่เริ่มสร้างทุกอย่างขึ้นมาตั้งแต่ก้าวแรก เริ่มนับหนึ่งด้วยตัวคนเดียว เหมือนที่พูดติดปากกันว่า SME มีคนเดียวนั่นแหละ ตั้งแต่การคิดสินค้า การมองหากลุ่มตลาดที่ต้องการ การคำนวณความเสี่ยง การวางแผนการตลาด การจัดงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งแค่ที่ยกตัวอย่างมาก็คงจะไม่ใช่ทั้งหมดที่จะต้องจัดการเมื่อต้องรับผิดชอบธุรกิจหนึ่งธุรกิจแน่นอน แต่ถ้าพูดออกมาเท่านี้หลาย ๆ คนได้ฟังก็คงจะเหนื่อยแล้ว

          อย่างไรก็ตามเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็มักจะเตรียมตัวเตรียมใจกันมาพร้อมแล้วก่อนที่จะก้าวออกมาแบกรับความเสี่ยงกับการเริ่มสร้างธุรกิจ และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มต้นได้ค่อนข้างดีในตอนที่เจ้าของจัดการเองคนเดียว บางคนออกมาขายของ เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในช่วงที่ออเดอร์เข้ามาช่วงแรก ๆ ก็สามารถรับและจัดการออเดอร์เองได้ แต่พอธุรกิจเริ่มเติบโต เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น เริ่มมีสินค้าที่จะต้องตรวจสอบมากขึ้น “ กำลังคน “ จึงเป็นเรื่อสำคัญ เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน คุณมี 1 สมอง 2 มือ และเวลา 24 ชม. ต่อวันเท่ากับคนอื่น ดังนั้นการสร้างทีมจึงเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการเติบโตของธุรกิจคุณ

          และสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อธุรกิจจะต้องเติบโตก็คือ “ ปัญหา “ ที่พร้อมจะถาโถมเข้ามาตลอดเวลา เยอะขนาดที่ว่าถ้าจะเอาปัญหาของคนทำธุรกิจทุกข้อมาเขียนก็คงจะเขียนไม่หมด แต่ส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่รู้สึกว่าท้าทายและแก้ลำบาก มักจะเกิดขึ้นในตอนที่ไม่ได้ทำอยู่คนเดียวแล้ว ตอนอยู่คนเดียวอะไรที่รู้สึกว่าไม่โอเคก็เปลี่ยน อยากปรับตรงไหนก็ปรับ อยากแก้ตรงไหนก็แก้ได้ทันที อยู่คนเดียวตัดสินใจคนเดียว แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกับทีมแล้ว คุณจะเริ่มสังเกตได้ทันทีเลยว่า เวลาจะปรับจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างดูจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าตอนอยู่คนเดียว เมื่อมีคนอื่นเข้ามาคุณจะรับรู้ได้ทันทีว่าคุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรตามใจได้แล้ว เพราะคุณต้องนึกถึงทีมที่ทำงานร่วมกับคุณอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าของธุรกิจทุกคนก็มีประสบการณ์เดียวกันก็คือ มีปัญหาบางเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และแก้ยังไงก็แก้ไม่หายสักที และเจ้าปัญหาซ้ำซากเนี่ยแหละที่ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มท้อกับการทำธุรกิจ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าปัญหาขึ้นการเดินหน้าอย่างหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น การเจอปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และแก้ไม่ได้สักทีอยู่ตลอดเวลา ก็คงจะรู้สึกเหนื่อยและหมดแรงกันไม่น้อย

           แต่จริง ๆ แล้วปัญหาที่เกิดซ้ำ ๆ เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในการทำงานนั้นเป็นเรื่องปกติมากที่จะต้องเจอปัญหาเดิม ๆ ไม่ว่าเราจะมีวิธีแก้ออกมามากแค่ไหน บางคนแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ Plan A ของตัวเอง บางคนปาเข้าไป Plan G แล้วยังแก้ไม่ได้ก็มี ซึ่งไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการแก้ปัญหามากแค่ไหนก็ตาม Mindset ในการแก้ปัญหาด้วยการทดลองและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาจะทำให้คุณและองค์กรของคุณพัฒนาได้อย่างแน่นอน

          แต่สิ่งที่ทำให้บริษัทไม่พัฒนาจริง ๆ และเรียกได้เต็มปากว่าเป็นปัญหาค้างคา คือการไม่สื่อสารกันในองค์กรต่างหาก เพราะการขาดการสื่อสารจะทำให้เราไม่รับรู้ถึงปัญหาด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากว่าทำงานด้วยกันแล้วผิดพลาดแต่ม่สื่อสาร ปล่อยผ่าน มองข้าม อย่าว่าแต่จะแก้ปัญหาเลย เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน และต้องแก้อย่างไร ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว เจอปัญหาเดิม ๆ แล้วแก้ไม่หายยังได้พยายามแก้ แต่ถ้าไม่สื่อสารกันก็เท่ากับว่าไม่ได้เริ่มที่จะจัดการกับปัญหาเลยด้วยซ้ำ

ปัญหาที่เกิดจากการสื่อสาร

             เมื่อพูดถึงการสื่อสารแล้ว หลายคนอาจจะไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าการสื่อสารเป็นต้นเหตุของปัญหาหลาย ๆ เรื่อง เพราะในชีวิตการทำงาน “ การสื่อสาร “ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อยู่แล้ว ไหนจะต้องประชุมอยู่ตลอดเวลา ไหนจะต้องสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอด ทำให้บุคลากรระดับหัวหน้าและผู้ประกอบการพยายามหาสาเหตุของปัญหาจากส่วนใหญ่เสียมากกว่า

            ปัญหาของการสื่อสารไม่ใช่การไม่พูดคุยกันเลย แต่เป็นการสื่อสารแบบไม่มีประสิทธิภาพเสียมากกว่า เพราะโดยปกติหลาย ๆ ที่หลาย ๆ องค์กรก็เริ่มต้นวันใหม่กันด้วยการประชุมเช้าเข้าไปแล้ว 1 ชั่วโมง และบางคนก็มักจะมีบางวันที่ต้องประชุมยาว ๆ ทั้งวัน ซึ่งถ้าหากว่ามีโอกาสพูดคุยกันมากขนาดนี้ แล้วยังเจอปัญหาเดิม ๆ อยู่อีก ปัญหาน่าจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพเสียมากกว่า

ปัจจัยที่ลดประสิทธิภาพในการสื่อสาร

             การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือการสื่อสารที่ไม่สามารถส่งสาร หรือข้อความสำคัญไปถึงผู้รับได้ และสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถสื่อข้อความได้ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มาจากความสามารถในการถ่ายทอดข้อความได้ดี แต่มักจะมาจากปัจจัยอื่น ๆ เสียมากกว่า เช่น

  • เกรงใจ : ความเกรงใจถึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ แต่ความเกรงใจก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแทนที่เราจะสามารถส่งข้อความต่าง ๆ ที่ต้องการไปโดยตรงได้ แต่เรากลับจะต้องมานึกถึงปัจจัยอื่น ๆ เป็นพนักงานรุ่นพี่ก็พูดตรง ๆ ไม่ได้ หรือว่าอายุเยอะกว่าก็ไปว่าเขาไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นพนักงานระดับเดียวกันก็ตาม ซึ่งถ้าหากว่าเป็นพนักงานระดับเดียวกันยังพูดกันลำบาก จะสื่อสารกับหัวหน้าหรือพนักงานระดับสูงกว่าก็น่าจะมีปัญหาแบบไม่ต้องสงสัย

  • กลัว : กลัวเสียความรู้สึก กลัวเสียความสัมพันธ์ กลัวทำงานร่วมกันไม่ได้ ความกลัวเหล่านี้ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่สื่อสารออกไปตรง ๆ เพราะถ้าหากว่าพูดอะไรไปไม่เข้าหู หรือว่าไปพูดอะไรแทงใจดำ กลัวว่าจากที่จะแก้ปัญหาได้อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมอีกก็ได้ จะเตือนก็ออกปากเตือนได้ไม่เต็มที่ จะแสดงความคิดเห็นกันก็ต้องระวังแล้วระวังอีก

สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

             ถึงแม้ว่าการสื่อสารจะเป็นศาสตร์ที่อาจจะซับซ้อนกว่าที่หลาย ๆ คนคิด แต่บอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่าการสื่อสารไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ถ้าหากว่าเราสามารถตัดสิ่งหนึ่งออกไปได้ ซึ่งสิ่งที่เราควรจะตัดออกก็คือ “ การตัดสิน “

             การตัดสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้การสื่อสารและการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าที่ควรจะเป็นมากกว่าที่คุณคิด เพราะการตัดสินเป็นการเอา “ มุมมอง “ ของตัวเองมาใช้ในการประมวลผลและตีความหมายของคำพูดหรือสารที่ได้รับ และการตัดสินนี่แหล่ะที่จะทำให้ “ ความหมาย “ ของสารนั้นเปลี่ยนไป จากคำว่า “ พี่ช่วยแก้ตรงนี้ได้ไหมครับ/คะ “ ถ้าหากว่าเราไปตีความด้วยมุมมองของเราเองแล้วละก็ คำว่า “ พี่ช่วยแก้ตรงนี้ได้ไหมครับ/คะ “ จะกลายเป็น “ ทำไมพี่ถึงผิดพลาดได้ แก่กว่าแท้ ๆ “ หรือ “ ทำไมเด็กนี่ถึงกล้าพูดขนาดนี้ “ ฯลฯ กลายเป็นว่า พนักงานรุ่นน้องที่ตั้งใจจะสื่อสารเพื่อแก้ปัญหา กลับกลายเป็นถูกตัดสินว่าเป็นเด็กไม่มีมารยาท กล้าพูดกล้าติรุ่นพี่ ฯลฯ

            ดังนั้นการพูด และฟังโดยที่ไม่ตัดสิน คือกุญแจสำคัญในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้เราไม่ตัดสินก็คือ รับรู้และเข้าใจความหมายในสิ่งที่เขาพูด แค่นั้น ไม่จำเป็นจะต้องคิดอะไรต่อ ถ้ามีคนบอกให้เราแก้งาน เราก็แค่เข้าใจว่าจะต้องแก้งาน ไม่ต้องคิดว่าเขากำลังบอกว่าเราไม่เก่ง หรือกำลังดูถูกเราอยู่อะไรทั้งนั้น และในแง่ของผู้พูด ก็จำเป็นจะต้องพูดสิ่งที่ตัวเองอยากจะสื่อออกมาทั้งหมด เพราะถ้าไม่พูดเขาก็จะไม่เข้าใจ อย่าใช้คำพูดเพื่อให้พวกเขาไปคิดต่อเอง

             แน่นอนว่าการสื่อสารลักษณะนี้อาจจะไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่หลาย ๆ คนคุ้นชิน เพราะการที่จะสื่อสารลักษณะนี้ถ้า เราควรจะต้อง “ เข้าถึง “ กันก่อน

             คุณลองสังเกตดูว่า หนึ่งในกลุ่มคนที่คุณมักจะสามารถพูดอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเลย คือกลุ่มเพื่อนสนิทที่คุณคบหากันมายาวนาน เพื่อนที่คุณจะพูดอะไรใส่มันก็ได้ เพื่อนที่คุณสามารถพูดในสิ่งที่คุณอาจจะไม่กล้าพูดกับคนอื่น ที่คุณทำแบบนั้นได้ เพราะพวกคุณเข้าถึงกัน และเพราะพวกคุณสื่อสารแบบนี้นั่นแหละที่จะทำให้พวกคุณเข้าถึงกันมากกว่าเดิม และความสัมพันธ์ของพวกคุณก็จะแน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิมอีก

              กลับมาในมุมของธุรกิจและการทำงานในองค์กร นี่เป็นหน้าที่ของผู้นำทั้งหลายในองค์กรที่จะต้องพยายามเข้าถึงทีมงานของตัวเอง มากกว่าแค่การทำงาน ไม่เช่นนั้นความสัมพันธ์ของพวกคุณจะไม่ต่างอะไรกับการสิ่งงานให้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ทำงานให้ได้ผลลัพธ์ตามใจคุณเลย คุณสามารถเข้าถึงผ่าน Team building รูปแบบต่าง ๆ หรือถ้าหากว่าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณสามารถ “ เริ่ม “ วัฒนธรรมการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ได้ตั้งแต่แรกด้วยตัวคุณเอง เริ่มพูดคุยและสังเกตทีมงานของคุณมากกว่าเรื่องการทำงาน เริ่มเป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นของทีมงาน และเริ่มเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น วัฒนธรรมการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก็จะเริ่มฝังลงไปในองค์กร การตัดสินก็จะลดลง ผู้พูดก็พูดได้อย่างได้ตัดสิน ผู้ฟังก็ฟังได้อย่างไม่ตัดสิน สารและสาระสำคัญที่ควรจะถ่ายทอดกันก็จะสามารถถ่ายทอดถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

            ดังนั้นหน้าที่ของผู้นำหรือเจ้าของธุรกิจกับการสื่อสารก็คือ พุ่งชน และเข้าหาทีมงานของคุณ ซึ่งแน่นอนว่าความรับผิดชอบเหล่านี้ก็คงจะเพิ่มหน้าที่ให้กับคุณไม่น้อย ไหนจะต้องเรียนรู้คน ไหนจะต้องทำความเข้าใจ แต่ถ้าหากว่าคุณสามารถจัดการและรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ได้ ก็เหมือนคุณกำลังวางระบบการสื่อสารในองค์กรที่จะสร้างประสิทธิภาพในการพัฒนาระยะยาวที่จะลดปัญหากวนซ้ำซากที่คอยกวนใจคุณได้

             คำถามอยู่ที่คุณแล้วว่า คุณเห็นว่าสมควรหรือยัง ที่ควรจะต้องก้าวเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์การสื่อสาร การเข้าใจตัวเอง การเข้าใจผู้อื่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขององค์กรของคุณ ทีมงานในองค์กรของคุณ คนรอบตัวที่คุณและ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวคุณเอง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า