Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

ทำไมพูดแล้ว ทำตามอย่างที่พูดยากจัง ?
พูดไปแล้ว แต่ทำไมมันทำยากจัง… แน่นอนว่าไม่มีใครบนโลกนี้อยากจะให้คำพูดของตัวเองดูเป็นคำพูดที่ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรไปใครเขาก็ฟังให้มันผ่าน ๆ ไปเฉย ๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าคำพูดของคุณ ไม่ได้คู่ควรที่ให้ความไว้วางใจ หรือแม้แต่จะมีความคาดหวังในคำพูดนั้น ๆ เพราะคุณพูดออกมาแล้วคุณก็มักจะทำไม่ได้เหมือนที่พูดเอาไว้
ทุกคนอยากจะเป็นคนที่พูดแล้วมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ สามารถไว้วางใจได้ ถ้าคุณบอกว่าจะทำ นั่นหมายความว่าคุณจะสร้างผลลัพธ์ที่คุณเอ่ยปากพูดเอาไว้ได้ 100% ถึงแม้ว่าคุณจะต้องเหนื่อยกับการจัดการสิ่งนั้นมากแค่ไหนก็ตาม เพราะเมื่อผู้คนรอบตัวมีภาพจำว่าคุณเป็นคนที่เชื่อถือได้
แน่นอนว่าโอกาสในการสร้างประโยชน์และผลลัพธ์ให้กับตัวคุณเอง รวมไปถึงคนรอบตัวของคุณจะเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน ถ้าหากว่าวันใดวันหนึ่ง ที่ทำงานของคุณในโปรเจคใหม่ที่น่าจะสร้างรายได้ให้องค์กรแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าคุณที่เป็นคนที่รักษาคำพูดได้ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่หัวหน้าของคุณจะไว้วางใจ และถ้าคุณสร้างผลงานออกมาให้องค์กรได้ การเติบโตในหน้าที่การงานจะหนีไปไหนไกล จริงไหม ? หรือว่าจะเป็นครอบครัวของคุณ การเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้น รับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ก็สร้างความสบายใจในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในบ้าน เพราะถ้าคุณเป็นคนที่คาดหวังอะไรไม่ได้เลย สมาชิกในครอบครัวคุณก็คงจะต้องมาเหนื่อยกับคุณไม่น้อย จริงไหม ?
แล้วทำไม เวลาที่พูดอะไรออกไป ส่วนใหญ่ถึงทำไม่ได้กัน ทั้ง ๆ ที่ในตอนที่ออกปากพูดออกไปก็มั่นใจเต็มร้อยว่าจัดการได้แน่ ๆ หรือเรื่องบางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อนอะไร แต่ทำไมคุณถึงไม่ขยับตัว หรือว่าลุกขึ้นมาสร้างผลลัพธ์ที่คุณลั่นวาจาเอาไว้ให้เกิดขึ้นสักที
ถ้าคุณพาตัวเองเข้ามาอ่านบทความนี้ ยินดีด้วย คุณกำลังเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว คุณได้พิสูจน์กับตัวเองแล้วว่าคุณต้องการจะพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นคุณคงจะไม่เสียเวลามานั่งอ่านบทความบทนี้หรอก จริงไหม ?
เทคนิคต่อไปนี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถ “ทำ” แบบที่ตัวเอง “พูด” เอาไว้ได้อย่างที่คุณตั้งใจ และจะช่วยให้คุณมองเห็นมุมมองบางอย่าง ที่อาจจะกำลังเป็นอุปสรรค ทำให้คุณไม่สามารถสร้างผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ได้อยู่

1. หาความชัดเจน
เหตุผลที่มักจะเจอบ่อยที่สุด เมื่อใครสักคนหนึ่งเลือกที่จะวางมือจากอะไรบางอย่างก็คือ “พวกเขาไม่รู้ว่าเขาจะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปทำไม” ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอยุ่พอสมควร เพราะถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะได้ผลลัพธ์อะไร แล้วผลลัพธ์นั้นคุณอยากได้จริง ๆ ไหม ? ถ้าคำถามเหล่านี้ยังวนเวียนอยู่ในหัวของคุณอยู่ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าคุณจะย้อนกลับมาถามตัวเอง่า “นี่ฉันทำทั้งหมดนี่ไปทำไม แล้วจะยังทำต่อเพื่ออะไร ?” หลายคนเลือกที่จะซิ่ว หรือเปลี่ยนคณะที่เรียนเพราะพวกเขาไม่รู้ว่า พวกเขาจะเรียนไปทำไม พวกเขาไม่รู้ว่าเขาจะเอาวิชาความรู้เหล่านี้ไปใช้งานอะไรต่อในอนาคตของตัวเอง เพราะงั้นพวกเขาจึงตัดสินใจที่จะหยุดเรียนในสาขาวิชานั้น แล้วหันไปเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเขาเองสนใจจริง ๆ
ดังนั้นข้อความสำคัญของ เทคนิคข้อแรกก็คือ “ความชัดเจน” คุณจะต้องชัดเจนกับตัวเองตั้งแต่ตอนที่คุณคิดว่าจะรับปากอะไรสักอย่างเลย ว่าถ้าคุณจะต้องลงทุนลงแรงทำอะไรบางอย่าง คุณจะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตัวคุณไหม และสิ่งนี้เป็นผลลัพธ์ที่ตัวคุณต้องการจริง ๆ หรือไหม ? ซึ่งความชัดเจนในที่นี้ แนะนำว่าอย่าหยุดแค่คำว่า “ดี” แค่นั้น เพราะถ้าให้พูดตรง ๆ แค่ “ดี” อย่างเดียวมันไม่พอ คุณจะต้องรู้ด้วยว่า “ดี” ที่คุณว่าเนี่ย มันจะดีอย่างไร มันจะสร้างประโยชน์ให้คุณได้อย่างไร และคุณอยากได้ประโยชน์ข้อนั้นจริง ๆ ไหม ?
ถ้าคุณอยากจะออกกำลังกาย คุณรู้ว่าการออกกำลังกายนั้น “ดี” แล้วความ “ดี” ที่ว่า ดีกับคุณอย่างไร ?
สุขภาพดี : จะทำให้คุณสามารถพาตัวเองไปสร้างผลัลพธ์ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เสียเวลาและทรัพยากรในการรักษาตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย
รูปร่างดี : จะทำให้คุณมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเมื่อต้องออกไปพบปะผู้คน และเมื่อคุณมีความมั่นใจ คุณจะสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น และนั่นคือโอกาสในการพัฒนาตัวเองของคุณ
การมีปฏิสัมพันธ์ : มีใครบางคนที่คุณกำลังสนใจมาก ๆ ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องการออกกำลังกายอยู่ และคุณอยากจะทำกิจกรรมร่วมกันกับเขา
ไม่ว่าเหตุผลของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าคุณขยายความคำว่า “ดี” ของคุณออกมาได้ คุณจะพบว่าตัวเองมีเป้าหมายในการทำอะไรบางอย่างขึ้นมาทันที ซึ่งใจความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดีในแบบของคุณ โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับคนอื่น เพราะถ้าเป็นคนทั่วไปพูดถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายก็อาจจะได้ยินอะไรคล้าย ๆ กับสองข้อแรก แต่ถ้าหัวข้อเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์เป็นแรงจูงใจของคุณ แล้วทำไมคุณถึงไม่กล้าพูด หรือไม่กล้ายอมรับกับตัวเองล่ะ ?

2. ใส่ความหนักแน่นลงไป
ข้อนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐานอีกเรื่องหนึ่ง แต่หลาย ๆ คนอาจไม่รู้ตัวเองว่ากำลังมองข้ามเรื่องบางเรื่องไปอยู่ ซึ่งข้อนี้ก็คือ “ความหนักแน่น” ของคุณเอง หลังจากที่คุณตัดสินใจแล้ว
เพราะเมื่อคุณออกปากพูดออกมาแล้ว ส่วนใหญ่คุณไม่ได้พูดให้ตัวเองฟังคนเดียว คุณกำลังสื่อสารกับคู่สนทนาของคุณว่า คุณจะทำอะไรบางอย่าง และแน่นอนว่าถ้าคุณพูดออกไป ผู้ฟังที่รับสารเหล่านั้นจะต้องมีความคาดหวังกับคำพูดของคุณอย่างแน่นอน
ดังนั้น คุณจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อคุณประกาศออกไปแล้วว่าคุณจะลงมือทำอะไร คุณไม่ได้รับผิดชอบแค่ผลลัพธ์ของตัวเองอีกต่อไปแล้ว คุณกำลังรับผิดชอบคนที่รับฟังสิ่งที่คุณพูดอยู่เหมือนกัน เหมือนกันกับเวลาที่คุณได้ยินใครสักคนหนึ่งพูดว่าจะทำอะไร คุณก็จะมีความคาดหวังกับคำพูดเหล่านั้นเป็นปกติ ดังนั้นความหนักแน่นในที่นี้ หมายถึงความรับผิดชอบในคำพูดของตัวคุณเองที่มีต่อตัวเอง และคนรอบข้างของคุณด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คุณหวัง ชีวิตคุณย่อมจะเจออุปสรรคอยู่เสมอ ถ้าหากว่าคุณคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าคุณจะไม่สามารถทำได้อย่างที่พูดไว้จริง ๆ สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือ ถอนคำพูดของตัวเอง สื่อสารออกไปว่าเพราะอะไรคุณถึงไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่คุณรับปากเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถทำตามที่พูดเอาไว้ได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้ก็คือ คุณยังให้ความสำคัญกับคำพูดของตัวเองอยู่ และถ้าหากคุณทำงานกันเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณ เพื่อนคุณ หรือเพื่อนร่วมงานของคุณ พวกเขาจะได้ปรับแผนกันใหม่ว่า ถ้าเกิดปัญหาตรงนี้แล้ว จะจัดการกันอย่างไรดี ไม่ใช่ว่าคุณไม่สามารถรับผิดชอบได้ แต่เก็บเงียบ แล้วพอถึงเวลาจริง ๆ เดือดร้อนกันทั้งทีม
คำเตือนสำหรับการขอถอนคำพูดของคุณก็คือ คุณจะต้องเรียนรุ้จากมันด้วย เพราะถ้าคุณเอาแต่สัญญาแล้วก็ถอนไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการผิดคำพูดนั่นแหละ ความหนักแน่นก็จะหายไปเพราะคนฟังก็จะเข้าใจว่า เดี๋ยวคุณก็จะกลับมาขอถอนคำพูดเหมือนเดิม

3. วางแผนงาน
การไม่มีแผนงานที่ดี จะทำให้คุณรู้สึก “ท้อ” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานด้วยซ้ำ เพราะการจะสร้างผลลัพธ์บางอย่างขึ้นมา ย่อมจะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องมี นั่นหมายความว่างานของคุณมีรายละเอียดหลายขั้นตอนด้วยกัน และถ้าคุณไม่ได้บริหารแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะก็ คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะรู้สึกเหมือนคุณกำลังจมอยู่ในกองงานที่ไม่รู้ว่าจะจับซ้ายจับขวา หรือว่าจะเริ่มตรงไหนก่อนดี
ซึ่งวิธีการวางแผนงานง่าย ๆ คุณก็อาจจะเริ่มด้วยการแบ่งออกมาให้ชัดเจนว่า Task หรือว่างานทั้งหมดของคุณ มีอะไรที่ต้องจัดการบ้าง ลองเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ ว่าคุณจะต้องรับผิดชอบในหัวข้อไหน และคุณจะให้เวลากับงานแต่ละอย่างแค่ไหน ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณทำงานง่ายขึ้นแล้ว ในกรณีที่คุณทำงานเป็นทีม คุณจะสามารถสื่อสารกับทีมของคุณได้ทันทีด้วยว่า มีจุดไหนบ้างที่คุณอาจจะรับผิดชอบไม่ได้ หรือว่าต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม และเมื่อคุณเห็นแล้วว่าเนื้องานของคุณมีอะไรบ้าง และคุณแบ่งออกมาได้ว่างานแต่ละอย่างคุณจะต้องจัดการตอนไหนเวลาไหน งานที่ดูเหมือนจะกองใหญ่น่ากลัวในตอนแรกก็อาจจะไม่ได้ดูสิ้นหวังเท่ากับตอนแรกแล้ว
ลองเปรียบเทียบกับเค้กก้อนใหญ่ขนาด 5 ปอนด์ ที่คุณจะต้องกินให้หมด ถ้าคุณมองว่าคุณจะต้องกินเค้กทั้งหมดนั้นทั้งก้อน แค่คิดคุณก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าคุณหั่นเค้กออกมาเป็นชิ้นที่พอดีสำหรับการกินแต่ละครั้งของคุณ แล้วคุณก็ค่อย ๆ ใช้เวลากินไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะหมดก็ได้ หรือถ้าหากว่าคุณเป็นห่วงเรื่องเวลากลัวเค้กก้อนนั้นจะเสีย หรือหมดอายุเสียก่อน คุณก็หันไปบอกทีมของคุณว่า คุณกินเค้กก้อนนี้ให้หมดก่อนจะเสียคนเดียวไม่ไหวแน่ ๆ คุณต้องการความช่วยเหลือ แล้วคุณจะแบ่งเค้กให้ทีมของคุณคนละกี่ชิ้นก็ทำได้ง่าย เพราะคุณหั่นเค้กออกมาเป็นชิ้น ๆ เรียบร้อยแล้ว
4. เพิ่มแรงจูงใจ
คุณรู้แล้วว่าคุณจะทำอะไรบางอย่างไปทำไม คุณหนักแน่นกับมันเต็มที่ และคุณวางแผนเอาไว้อย่างดิบดี แต่ทำไม.. บางครั้งคุณถึงรู้สึกไม่มีเรี่ยวมีแรงจะทำเลย ถ้าคุณกำลังรุ้สึกแบบนี้อยู่ อาจจะเป็นเพราะว่า คุณกำลังขาดแรงจูงใจที่ดีอยู่ก็ได้
เทคนิคนี้อาจจะเป็นเทคนิคที่ดูเหมือนสิ่งที่ใช้กระตุ้นเด็ก แต่เชื่อไหมว่า “การให้รางวัล” เป็นเรื่องที่ได้ผลดีสำหรับการกระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจจริง ๆ ถ้าคุณลองสร้างข้อตกลงกับตัวเองเอาไว้ว่า ถ้าคุณจัดการกับงานส่วนของวันนี้ได้ คุณจะอนุญาตให้ตัวเองทำอะไร หรือคุณจะให้รางวัลตัวเองเป็นอะไร นั่นจะทำให้คุณเห็นสิ่งที่คุณจะได้ในระยะสั้นมากขึ้น เพราะงานบางอย่าง กว่าจะมีผลลัพธ์ออกมาให้คุณชื่นใจก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร เพราะฉะนั้นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณให้ตัวเองหลังจากเลิกงานก็เป็นการเติบพลังและเพิ่มแรงจูงใจในแต่ละวันได้ดีไม่น้อย
แต่อย่างไรก็ตาม การให้รางวัลกับตัวเองของคุณก็ควรจะเป็นรางวัลที่ไม่ขัดกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของคุณจนเกินไป เช่น ถ้าหากว่าคุณตั้งใจจะออกกำลังกายลดน้ำหนัก การให้รางวัลตัวเองเป็นชานมไข่มุกแก้วใหญ่ทุกครั้งหลังจากออกกำลังกายเสร็จก็ดูจะเป็นอะไรที่ไม่เหมาะเท่าไหร่นัก หรือถ้าคุณตั้งใจจะให้รางวัลตัวเองด้วยการออกไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อน แต่คุณดันไปหนักข้อกับการดื่มเกินไปจนคุณตื่นมาทำงานในวันต่อไปไม่ไหว อันนี้ก็ไม่น่าจะเหมาะเช่นกัน เพราะฉะนั้นคิดให้ดี และสื่อสัตย์กับตัวเองว่า รางวัลเหล่านั้นจะไม่ทำให้เกิดผลด้านลบให้กับเป้าหมายของคุณ

5. เริ่มทำสิ่งง่าย ๆ
บางครั้งการเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องท้าทายและน่ากลัวสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะการสร้างผลลัพธ์ในบางครั้งคุณจะต้องเจอกับเรื่องใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำ หรือไม่เคยจัดการมาก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อคุณสัมผัสถึงความกดดันในการต้องทำสิ่งใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้อการสร้างผลลัพธ์ คุณอาจจะรู้สึกเหมือนอยากจะหดตัวหนีออกจากความรับผิดชอบนี้ออกไปเลยก็ได้
ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณกำลังรับผิดชอบอยู่มันใหญ่ และยากเหลือเกิน ถ้างั้นก็ลองเริ่มจากการทำอะไรง่าย ๆ ก่อนก็ได้ ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณอยากจะเริ่มออกกำลังกาย แล้วคุณจำเป็นจะต้องวิ่งวันละ 60 นาทีทุกวัน แต่ชีวิตปกติของคุณ แค่เดินขึ้นบันไดก็หัวใจเต้นแรงแล้ว คุณอาจจะเริ่มจากการเดินไปก่อนก็ได้ เดินในความเร็วที่คุณเดินปกติ และเมื่อคุณเดินไปเรื่อย ๆ คุณจะเริ่มรู้สึกอยากลองวิ่งขึ้นมาเอง เพราะคุณได้เริ่มเดินแล้ว ถึงจะไม่ใช่การวิ่งก็เถอะ กับการทำงานก็เหมือนกัน ถ้าคุณรู้สึกว่าบางอย่างมันยากเกินไป คุณก็อาจจะลองหันมาทำเรื่องง่าย ๆ ก่อนก็ได้ แล้วพอคุณได้เริ่มทำแล้ว คุณก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่คุณไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวแบบตอนแรก เหมือนกับที่คุณเริ่มเดินไปสักพัก คุณก็อยากจะวิ่งไปเองนั่นแหละ
การรักษาคำพูดของตัวเองก็เหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องท้าทาย เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของคนอื่น แล้วรู้สึกว่าไม่อยากจะแบกความรับผิดชอบทั้งหมดนี้เอาไว้ ก็ลองวางทั้งหมดลงไปสักพัก แล้วค่อย ๆ ทำเรื่องที่คุณทำได้ทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ
“สังเกตตัวคุณเองว่าตอนนี้คุณกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ แก้ไปทีละอย่างสองอย่าง เชื่อสิว่าในตอนที่คุณรู้ตัวอีกที ผลลัพธ์ที่คุณต้องการก็จะปรากฏให้คุณเห็นอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว”
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599