Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

ผู้นำที่ดี ควรเตรียมสิ่งนี้... ก่อนนัดทีมประชุม

            ก่อนที่เราจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา จะต้องมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่างด้วยกัน ต้องมีแรงบันดาลใจในการทำ ต้องมีแรงผลักดัน ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญ ต้องมีความสามารถมากพอที่จะทำให้ความฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้ ซึ่งแน่นอนว่า การสร้างธุรกิจก็ย่อมจะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ต่างอะไรไปกว่าการสร้างอย่างอื่นเลย

             แต่ถ้าจะให้พูดถึงความต่างอย่างหนึ่งของธุรกิจส่วนใหญ่ก็คือ เรามักจะไมได้ทำคนเดียว เราไม่ได้เดินทางด้วยตัวคนเดียว ซึ่งแน่นอนว่าในตอนเริ่มต้นเราก็อาจจะเริ่มด้วยตัวเองก่อนอยู่แล้ว อิฐก้อนแรกมันก็มักจะถูกวางด้วยผู้ก่อตั้งเป็นปกติ แต่ก้อนต่อ ๆ ไป ชั้นต่อ ๆ ไปก็จะมีทีมงาน มีคนมาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่หวังไว้ คราวนี้มาถึงการหาทีม ทุกคนก็ต้องหาคนเก่งมาร่วมงานด้วยกันอยู่แล้ว แต่การหาคนเก่งมีกับดักอยู่อย่างหนึ่งก็คือเรามักจะคิดกันว่า คนเก่งหลายคน ย่อมจะดีกว่าคนเก่งแค่คนเดียว จริงไหม ? หลาย ๆ คนอาจจะมองวูบเดียวแล้วตอบได้ทันทีว่า “ ใช่ คนเก่งหลาย ๆ คนก็ต้องดีกว่าคนเก่งคนเดียวอยู่แล้วสิ “ กับดักมันอยู่ตรงนี้ เราอาจจะต้องเสียทรัพยากรมากมายเพื่อดึงเอาคนเก่งเข้ามาร่วมงานเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับบริษัท แต่ถ้าหากว่าหัวหน้าหรือผู้นำ ไม่มีศักยภาพในการ “ นำ “ ทีมของตัวเองจริง ๆ แล้วละก็ ไม่ว่าทีมงานจะมีความสามารถแค่ไหนก็ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่คาดหวังเอาไว้ได้ เหมือนกับทีมฟุตบอลที่มีนักเตะระดับตำนานค่าตัวรวมกันหลายร้อยล้าน แต่กุนซือไม่มีความสามารถมากพอในการวางแผนและ “ นำ “ ทีมจริง ๆ ได้ ก็คงจะไม่แปลกใจอะไรถ้าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะออกมาไม่ได้ดีตามความสามารถของนักเตะ

             ซึ่งหนึ่งสนามที่ผู้นำจะต้องแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาในการนำทีมก็คือการ Brainstorm หรือการระดมสมองกันนั่นเอง เพราะเราจ้างคนเก่งเข้ามา เราจ้างคนที่มีความสามารถสูงเข้ามา เพราะเราอยากจะได้ศักยภาพเหล่านั้นมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของเรา ซึ่งการระดมสมองนี้เป็นพื้นที่ที่คนเก่งเหล่านั้นจะสามารถแสดงความคิดเห็น ถกเถียง วิเคราะห์ เพื่อหาเส้นทางเดินที่ดีและเหมาะสมกับองค์กรของเรามากที่สุด แต่การ Brainstorm นี้จะไม่เกิดผลเลย ถ้าหากว่า “ ผู้นำ “ ไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ ซึ่งถ้าหากว่าคุณเป็นหนึ่งคนที่สัมผัสได้ว่าไม่ว่าจะประชุมกี่ครั้งก็มักจะมีไอเดียดี ๆ ผุดขึ้นมาตลอด แต่จะใช้เวลายืดยาวเกินกว่าที่วางไว้ และสุดท้ายก็ไม่สามารถสรุปออกมาได้ว่าจะเดินไปทางไหนต่อ คุณอาจจะต้องเตรียมตัวก่อนเข้าประชุมด้วย

7 ขั้นตอนง่าย ๆ ต่อไปนี้

 1. ผู้นำที่ดี ต้องมี Objective เข้าประชุม

             ข้อแรกเลยคือ Objective ที่ชัดเจนในการระดมสมอง หรือจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการประชุม ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนกับผู้นำหน้าใหม่หลายคนที่อาจจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งแล้วต้องจัดการการประชุมครั้งแรก หรือว่าเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ที่เพิ่งจะมีทีมเป็นของตัวเอง

             ซึ่งความผิดพลาดในข้อนี้ไม่ใช่การละเลย หรือว่าลืมทำเพราะถ้าหากว่าไม่ได้มีหัวข้อหรือเหตุจำเป็นก็คงจะไม่เรียกประชุมให้เสียเวลาเปล่ากันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะพลาดกันเพราะว่าไม่ชัดเจนในหัวข้อมากกว่า ซึ่งตัวอย่างของความเลวร้ายในองค์ประชุมก็คือ ผู้นำเดินเข้ามาบอกว่า ปัญหาของพวกเราตอนนี้คือเราใช้ต้นทุนสูงเกินไป ผมอยากให้มันลดลง พวกเราจะทำอย่างไรกันดี ตรงนี้ถ้าหากว่าดูเผิน ๆ ก็อาจจะเป็นหัวข้อในการประชุมที่ชัดเจนว่าอยากจะลดต้นทุน แต่ไม่มีความชัดเจนว่าต้นทุนที่เราใช้มันเกินกว่าที่กำหนดไว้เท่าไหร่ แล้วต้องการให้ลดลงมาเท่าไหร่ นี่จะทำให้ทีมงานเสนอความคิดเห็นได้ลำบากมาก เพราะถ้าไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน ทีมงานเราก็ไม่ทราบกันแน่ชัดว่าถ้าจะลดต้องลดลงมาเท่าไหร่ถึงจะพอใจ ต้องตัด ปรับ หรือเปลี่ยนอะไรบ้างก็ไปไม่ถูก  แต่ถ้าหากว่าผู้นำแจ้งชัดเจนว่า อยากจะลดต้นทุนให้ลงมาเหลือ xxxxxx บาท ฝ่ายไหนแผนกไหนมีไอเดียในการลดค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ? การเห็นเส้นที่ชัดเจนจะทำให้การประชุมเริ่มต้นและดำเนินไปได้ง่ายขึ้น แต่ละฝ่ายจะบอกค่าใช้จ่ายปัจจุบันและส่วนที่สามารถลดลงได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนเห็นตัวเลขเป็นโจทย์อย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าการประชุมองค์กรก็คงจะไม่ได้มีแค่หัวข้อที่เข้าใจและตีโจทย์ง่ายแบบที่ยกตัวอย่างมาอยู่แล้ว การทำธุรกิจย่อมจะต้องมีเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากกว่านี้มากมาย หน้าที่ของผู้นำที่ดีในการประชุมก็คือ การจัดหาจุดประสงค์ที่ชัดเจนและวัดค่าได้จึงเป็นเรื่องสำคัญในข้อแรก

 2. ผู้นำที่ดี ต้องมี Ownership ก่อนเข้าประชุม

             คนเราจะเริ่มขยับตัวทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องมีแรงบันดาลใจหรือมีแรงขับเคลื่อนให้ออกมาสร้างผลลัพธ์อะไรบางอย่าง การเรียกประชุมก็เช่นกัน ถ้าหากว่าผู้นำไม่สร้าง “ เหตุ “ ที่ทำให้ทีมงานของคุณต้องรวมหัวกันแก้ปัญหาแล้วละก็ การประชุมก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการก็ได้

             ลองยกเอาตัวอย่างข้างต้นมาพิจารณากันอีกรอบว่า หัวหน้าอยากจะลดต้นทุน สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมงานก็คือ “ เอาละ เงื่อนไขในการทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกแล้ว “ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนรู้ดีว่า อาชีพการงานของพวกเราจะรอดได้ องค์กรก็ต้องรอดก่อนด้วย แต่ถ้าหากว่าการประชุมเกิดขึ้นเพราะผู้นำอยากจะได้ผลประโยชน์มากขึ้น อยากจะได้ผลกำไรมากขึ้น ประหนึ่งว่าการประชุมนี้เกิดขึ้นเพราะฉันอยากจะได้แบบนี้แบบนั้นแบบนู้น แต่ทีมงานมีปัญหาที่จะต้องแก้มากขึ้น และอาจจะทำให้งานเยอะขึ้นมาอีกหลายเท่าตัวด้วย ทั้ง ๆ ที่สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกัวตัวพวกเขามีเท่าเดิม คุณลองคิดแค่กับตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าอยู่ ๆ มีงานที่ต้องทำกองขึ้นสองเท่าตัว แต่ค่าตอบแทนของคุณเท่าเดิม คุณจะมีกำลังใจในการทำงานต่อไปไหม ? และถ้าตัวคุณเองยังไม่มีแรงจะทำงานเลย คุณจะคาดหวังให้ทีมงานของคุณทำงานถวายชีวิตเพิ่มขึ้นมาโดยที่ไม่ได้มีผลตอบแทนเลยได้อย่างไร ? ดังนั้นการเริ่มประชุมคุณจะต้องสร้างเป้าหมายในการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งวิธีในการสร้างแรงผลักดันที่ดีและง่ายที่สุดก็คือ “ ค่าตอบแทน “ นั่นเอง พอพูดถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณมองว่าทีมงานของคุณแค่เอาเงินฟาดหัวก็พร้อมที่จะพลีกายถวายชีพ ทำงานหามรุ่งหามค่ำให้คุณแล้ว แต่ค่าตอบแทนที่ว่านี่คือการตอบแทนในการลงแรงทำงานเพื่อผลักดันธุรกิจของคุณให้เติบโตจริง ๆ ถ้าหากว่าคุณไม่มีไอเดีย คุณจะลองคิดกับตัวเองก่อนดูก็ได้ว่า ถ้าต้องทำงานเพิ่มคุณจะอยากได้อะไร ? หรือคุณอาจจะเสนอสวัสดิการอื่นเพิ่มเติม ว่าถ้าทำกำไรได้มากขึ้นก็จะมีงบประมาณสำหรับ Company trip หรือว่า Company outing มากขึ้นกว่าเดิม กินหรูขึ้น ที่พักดีขึ้น ได้เที่ยวไกลขึ้น อะไรก็ว่าไป ซึ่งถ้าหากว่าผู้นำสามารถสร้างเป้าหมายร่วมให้กับทีมงานได้แล้วละก็ รอดูผลลัพธ์จากการประชุมที่จะเปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตาได้เลย

3. ผู้นำที่ดี ต้อง Save environment ได้

             เมื่อเรามีจุดประสงค์แล้ว และสร้างเป้าหมายร่วมกันกับทีมเราแล้ว การประชุมจะดำเนินไปไม่ได้เลย ถ้าหากว่าเราไม่ได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นออกมาเลย ถ้าหากว่าห้องประชุมของคุณเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการตัดสิน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสบายใจที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาในพื้นที่แบบนั้น หรือบางคนอาจจะไม่ได้มีปัญหากับการโดนตัดสิน แต่อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากจะพูดไปเลยก็ได้ ก็ในเมื่อตัดสินกันนักก็เดินเกมเองไปเลยสิ จริงไหม ?

             ดังนั้นการสร้างพื้นที่ที่ดีเริ่มต้นจากคุณเอง คุณต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีมงานได้ว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงบวกต่อกันเป็นอย่างไร การให้ความรู้สึกขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นบางอย่างออกมา ถึงแม้ว่าความคิดนั้นอาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรมากมายแต่ก็เป็นความคิดที่ออกมาจากเจตนาที่อยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แล้วทีมงานของคุณจะเริ่มซึมซับการวางตัว และการสื่อสารกับระหว่างประชุมของคุณไปทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มมีทีมงาน นี่จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้

 4. เปิดโอกาสให้ผู้ตามของคุณแชร์ก่อนเสมอ

             ผู้นำทุกคนย่อมจะเป็นคนที่มีความสามารถ ซึ่งผู้นำหลาย ๆ คนส่วนใหญ่ก็จะคิดวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ในแบบของตัวเองก่อนจะเข้ามาในที่ประชุมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเปิดองค์ประชุมผู้นำหลายคนเริ่มด้วยการเสนอแนวคิดและวิธีการของตัวเองก่อน และนั่นคือหนึ่งในข้อผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

             เพราะเมื่อผู้นำเปิดเรื่องมาก่อนเลย นั่นจะทำให้ทีมงานของคุณไม่กล้าพอที่จะเสนอความคิดเห็นที่สวนทางกับหัวหน้า หรือมากไปกว่านั้นทีมงานของคุณอาจจะเข้าใจผิดไปว่านี่ไม่ใช่การ Brainstorm แต่เป็นการมารับคำสั่งใหม่ที่หัวหน้าสั่งมาแล้วก็เป็นได้

             ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ทีมงานของคุณได้เสนอความคิดก่อนจะทำให้คุณมีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของทีมงานทุก ๆ คนของคนทีละคน และเมื่อคุณเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ฟังแล้วก็อย่าลืมที่จะวางคำตัดสินลง วางอีโก้ที่คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ในสายงานมากกว่า มีชั่วโมงบินในงานมากกว่า สร้างผลลัพธ์ได้ หรือว่าจบสูงกว่า แล้วคุณจะได้เห็นอะไรมากกว่าที่คุณคิดเมื่อคุณหยุดที่จะตัดสิน เพราะผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดี ดังนั้นฟังให้เยอะ ตัดสินให้น้อย และวิเคราะห์ให้มาก

 5. Facilitate

             ลองคิดสภาพดูว่าถ้าคุณเป็นคนเก่ง และคุณหาคนเก่งมาอยู่ในพื้นที่ที่เปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็น ในพื้นที่นั้นจะมีไอเดียกระเจิงออกมามากแค่ไหน จะมีความเห็นออกมาเยอะแค่ไหน และจะออกทะเลมากแค่ไหน ถ้าคุณที่เป็นผู้นำไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมให้อยู่ในร่องในรอยได้ อาจจะเกิดปัญหาในที่ประชุมที่ใหญ่กว่าปัญหาที่เป็น Objective ในองค์ประชุมก็เป็นได้

             เพราะคนเก่งต่างคนต่างความคิด การแก้ปัญหาย่อมต้องการความสร้างสรรค์หรือการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ และการพูดถึงประเด็นของสิ่งใหม่ ๆ นี้เนี่ยแหละที่จะทำให้การประชุมออกทะเลไปไกลจนทำให้เวลาในการประชุมยืดยาวเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นคุณสมบัติที่ผู้นำควรจะต้องมีคือสติในการฟัง เพราะถ้าผู้นำมีสติมากพอ จะสามารถจับประเด็นได้ว่าเนื้อหาที่กำลังพูดคคุยกันอยู่นี่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Objective ของวันนี้ ซึ่งเมื่อคุณจับได้ไพ่ตายของคุณก็คือ “ ผมสนใจในประเด็นที่คุณกำลังพูดอยู่มากเลย ทีนี้ผมตามไม่ทันอยู่เล็กน้อย คุณช่วยอธิบายให้ผมฟังหน่อยได้ไหมว่าประเด็นนี้เกี่วข้องกับ Objective ของเราอย่างไรบ้าง “ เพียงเท่านี้เนื้อหาก็จะเบนกลับมาอยู่กับ Objective ที่คุณตั้งขึ้นมาโดยที่ไม่ทำให้คนที่กำลังแสดงความเห็นอยู่เสียน้ำใจอีกด้วย

6. Board สรุปใจความ ผู้นำที่ดี ต้องสรุปประชุมได้

             แน่นอนว่าหนึ่งปัญหาไม่ได้มีทางแก้แค่ทางเดียว หนึ่งปัญหาอาจจะมีวิธีเป็นล้านวิธีทีจะแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าคนเก่งหลายคนที่อยู่ในห้องประชุมเดียวกันก็คงจะไม่ได้มีวิธีแก้ปัญหาอย่างเดียวอยู่แล้ว การมีกระดานสำหรับจับประเด็นสำคัญ หรือสรุปใจความในการประชุม เพราะถ้าคุณไม่มีการบันทึกจุดสำคัญ คุณอาจจะตื่นเต้นกับไอเดียใหม่ ๆ หรือหัวข้อใหม่ ๆ ที่คลุ้งอยู่ในห้องประชุมของคุณจนสุดท้ายคุณอาจจะจับไอเดียมาประติดประต่อกันไม่ได้ไปซะอย่างนั้น ดังนั้นการมีกระดานสรุปจะทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเราจะเดินไปทางไหนดี หรือเราจะใช้วิธีไหนดี คุณอาจจะเป็นคนตัดสินเองก็ได้ว่าอยากจะใช้วิธีนี้ หรือคุณจะเปิดให้โหวตกันก็ได้ว่าทุกคนอยากจะใช้วิธีไหนกัน เป็นการตัดสินใจร่วมกันก็ไม่ผิด

 7. Landing

             สุดท้ายเลยก็คือ การลงจอดที่ดี หรือก็คือการจบการประชุมที่ดีนั่นแหละ ขั้นตอนนี้จริง ๆ แล้วไม่ซับซ้อน แต่ส่วนใหญ่จะเผลอไปจบกันที่การสรุปใจความว่าเราจะทำอะไรกัน แต่ไม่ได้ลงไปถึง Action ของแต่ละคนจริง ๆ ว่าแต่ละคนจะทำอะไรบ้าง จะมีบทบาทในวิธีที่ถูกตัดสินใจมาแล้วอย่างไรบ้าง ซึ่งการ Landing ที่ดีคือการที่ทุกคนเดินออกจากห้องประชุมไปแล้วรู้ว่าตัวเองจะต้องสร้างผลลัพธ์อะไรให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะติดตามได้อย่างไร นั่นเอง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า