ฝึกการสื่อสารภายใน เพื่อความเข้าใจและการพัฒนาจากข้างใน

             โลกเราเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตลอดเวลา เงื่อนไขในการใช้ชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไปทุกวัน แน่นอนว่าการปรับตัวจึงกลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกๆคนจะขาดไม่ได้ และการรับตัวที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้มีแต่มิติการพัฒนาทักษะจำเป็นในชีวิตหรือออาชีพเท่านั้น การพบเจอกับผู้คนใหม่ๆก็เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาทักษะที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หรือบางครั้งก็เป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ และเพื่อที่จะเข้าถึงผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายๆคนจึงหันมาให้ความสนใจกับการ “เรียนรู้ผู้อื่น” มากขึ้น และในช่วงนี้จะสังเกตได้ว่า หลายๆคนเริ่มพูดถึงประเภทของบุคคลด้วยการอ้างอิงจากศาสตร์ต่างๆ สื่อ social เช่น MBTI เป็นต้น

             แต่สำหรับนักพัฒนาตัวเอง หรือผู้ที่รักการพัฒนาตัวเองจะเข้าใจดีกว่า อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การเข้าใจผู้อื่น ก็คือการ “เข้าใจตัวเอง” ซึ่งการเข้าใจตัวเองนี้คือการเข้าใจตัวตนของเราที่เป็นเรา แรงขับที่ทำให้เรามีพลังไปสร้างผลลัพธ์ต่างๆ มุมมองและความเชื่อที่เรามีต่อสิ่งต่างๆในโลก และนอกจากจะทำให้เราเข้าใจ “ตัวเราเอง” ได้มากขึ้นแล้ว เรายังเห็นจุดยืนในปัจจุบันของเราด้วย เพราะพื้นฐานของการพัฒนาตัวเองหรือการพัฒนาเรื่องใดๆก็ตามที่ทุกคนต้องรู้ คือการเห็นและเข้าใจในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ ลองคิดดูว่าถ้าคุณตั้งใจจะวิ่งไปข้างหน้า แต่คุณไม่รู้เลยว่า ณ ปัจจุบันคุณยืนอยู่ในจุดไหน ในอนาคตคุณจะไม่รู้เลยว่าคุณเดินทางมากี่ก้าวแล้ว เพราะการจะพัฒนาเรื่องใดๆก็ตามจำเป็นจะต้องมี “การวัดผล” เกิดขึ้น เพราะการวัดผล คือตัวขี้วัดว่าเราพัฒนามาถึงจุดไหแล้ว และเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราวางแผนการพัฒนาต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งการพัฒนาตัวเองก็ไม่ต่างกันกับการวิ่งที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเป้าหมายคือการเดินไปข้างหน้า การวัดผลก็คือในระยะเวลาเท่านี้ เราเดินทางมากี่ก้าวแล้ว การพัฒนาตัวเองก็ต้องการ “การวัดผล” เช่นเดียวกัน ซึ่งความซับซ้อนทางอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนมีก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่อาจจะมากกว่าตัวชี้วัดแบบง่ายๆอย่างการเดิน-วิ่งที่ยกตัวอย่างมาสักครู่นี้

             “แล้วเราจะเข้าใจตัวเองได้อย่างไร?” หลายๆคนอาจจะมีคำถามนี้เกิดขึ้นมาในหัว เพราะทุกๆคนน่าจะ “รู้จักตัวเอง” ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และนั่นเป็นความจริง เพราะทุกๆคนคงจะตอบได้ไม่ยากเย็นนักถ้าถูกถามว่า “คุณคิดว่าตัวคุณเองเป็นคนอย่างไร” บางคนเป็นคนจริงจัง เจ้าระเบียบ บางคนเป็นคนสบายๆง่ายๆ แต่ก็มีความชัดเจน หรือบางคนอาจจะเป็นคนที่เรียกตัวเองได้อย่างมั่นใจว่าเป็นผู้ให้ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ข้อดีข้อเสียทั้งหมดนี้ ทุกๆคนจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าตัวเองมีข้อดีอะไรบ้าง และตัวเองมีข้อเสียอะไรบ้าง ประเด็นอยู่ที่คำถามต่อมาก็คือ “เพราะอะไรคุณถึงเป็นแบบนั้นได้” เพราะทุกคนมีความเชื่อ และความเชื่อก็ต้นเหตุของความคิดในตัวคุณ และความคิดก็เปลี่ยนมาเป็นพฤติกรรมการกระทำต่างๆซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในที่สุด ย้อนกลับมาที่คำถามเดิมว่า “เพราะอะไรคุณถึงเป็นแบบนั้นได้” อะไรทำให้คุณเจ้าระเบียบ อะไรทำให้คุณเป็นคนสบายๆ หรืออะไรที่ทำให้คุณเป็นผู้ให้ “อะไร” ในที่นี้ก็คือความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณเองนั่นแหล่ะ คุณมีความเชื่อแบบใดคุณถึง “คิด” แบบนี้ และ “เป็น” แบบนี้ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ น่าแปลกใจที่หลายๆคนหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ว่าเพราะอะไรถึงเกิดความเชื่อนี้ขึ้น

 

จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก

             สาเหตุที่หลายๆคนตอบตัวเองไม่ได้ว่า อะไรคือความเชื่อที่ทำให้คุณเป็นอย่างที่คุณเป็นในทุกวันนี้ เพราะเหตุผลนั้นอยู่ใน “จิตใต้สำนึก” ของคุณ และสาเหตุที่คุณยังเข้าถึงเหตุผลเหล่านั้นไม่ได้ ก็อาจจะเป็นเพราะว่า คุณยังไม่เคยเข้าไปคุยหรือสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของคุณเอง ซึ่งการไม่เคยคุยกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง คือสาเหตุที่ทำให้หลายๆคนรู้สึกว่า “ไม่รู้จักตัวเอง” หรือเคยเจอความรู้สึกที่ “กำลังทะเลาะกับตัวเอง” เพราะจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกของคุณ ไม่เคยสื่อสารและปรับตัวเข้าหากัน และเข้าใจกันได้จริงๆ

             แต่ก่อนจะเรียนรู้การเข้าถึงจิตสำนึกของตัวเองได้มากขึ้น ควรจะต้องเข้าใจความหมาย และแยกออกมาให้ชัดเจนก่อนว่า จิตสำนึกคืออะไร และจิตใต้สำนึกคืออะไร ซึ่ง Sigmund Freud ได้ให้ความหมายกิยจิตใต้สำนึก และจิตสำนึกดังนี้

            จิตสำนึก : คือความคิดที่คุณเข้าถึงได้ง่าย การรับรู้ การตัดสินใจ การให้เหตุผลกับเหตุการณ์ต่างๆ ความคิดและความเห็นต่อสิ่งต่างๆรอบตัวคุณ นี่คือส่วนที่คุณสามารถวิเคราะห์และใช้เหตุผลในการพูดคุยสื่อสาร รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายรวมไปถึงความทรงจำด้วย ถึงแม้ว่าความทรงจำจะไม่ได้เป็นจิตสำนึกเต็มที่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นส่วนที่สามารถดึงออกมารับรู้และรู้ทันได้

           จิตใต้สำนึก : คือลักษณะทางธรรมชาติของ ความรู้สึก แรงขับ และความทรงจำภายในที่ไม่สามารถดึงออกมาอยู่ในระดับที่รู้ทันได้ ซึ่งความทรงจำเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกและแรงขับบางอย่างที่เราไม่สามารถ “รู้ทัน” หรือมี Awareness กับมันได้ตลอดเวลา และนอกจากนี้ ความทรงจำเหล่านี้ยังมีผลกับการใช้เหตุผลในการตัดสินใจของเราในปัจจุบันอีกด้วย

อุปสรรคแห่งการสื่อสารภายใน

             โดยปกติแล้ว จิตสำนึกจะไม่สามารถเข้าถึงจิตใต้สำนึกได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้คุณ “ไม่เข้าใจตัวเอง” อย่างที่กล่าวถึงข้างต้น และตัวการของปัญหานี้ ก็คือกำแพงที่ชื่อว่า Critical Faculty barrier

             หลายๆคนอาจจะไม่เคยรู้จักเจ้ากำแพงตัวนี้ และไม่เข้าใจว่ากำแพงตัวนี้ทำงานอย่างไร และทำไมจึงเป็นอุปสรรค ก่อนอื่นอยากให้ลองพิจารณาประโยคต่อไปนี้ดู

                                                                                       “ เสือสามารถบินได้เหมือนนก”

             แน่นอนว่าหลายๆคนคงจะปฏิเสธความเป็นไปได้ของข้อความข้างต้นนี้ทันที “เสือมันจะบินได้อย่างไร” เพราะทุกคนรู้ว่าเสือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสี่ขา ไม่ใช่สัตว์ปีก ซึ่งการพิจารณาให้เหตุผลแบบนี้ คือการทำงานของเข้ากำแพงตัวนี้นั่นแหล่ะ

             กลไลการทำงานของกำแพงตัวนี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย อธิบายง่ายๆก็คือ เราทุกคนใช้ประสบการณ์ในอดีตมาและความรู้ที่เรามี รวมไปถึงความเชื่อที่เราถืออยู่ วิเคราะห์และตัดสินสิ่งที่พบเจอหรือเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบันไม่ตรงกับประสบการณ์ ความรู้ และความเชื่อของเรา เราจะต่อต้านมันด้วยการให้ค่ามันว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องจริง” และปัดเหตุการณ์นั้นออกไปเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่ง

             กำแพงนี้เกิดขึ้นด้วยกลไกการเอาชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์เราด้วย เพราะทุกชีวิตจะไว้ใจในความรู้ที่เรามีและประสบการณ์ที่เราพบเจอ เช่น เมื่อเราให้อาหารแบบใหม่กับแมวที่เราเลี้ยง ปฎิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นคือ มันจะมาดมๆและสำรวมว่าสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้า สามารถกินได้ไหม? และเมื่อมันตัดสินว่าสามมารถกินได้แล้ว ครั้งต่อๆไปเมื่อมันเห้นหรือได้กลิ่นอาหารชนิดนี้ มันจะเข้ามากินทันทีโดยที่ไม่ต้องสำรวจเหมือนครั้งแรกทุกๆครั้ง

             ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกัน เราจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง หรือให้คุณค่ากับอะไรบางอย่างกับเรื่องที่เราไว้ใจและตัดสินว่า “นี่คือความจริง” เท่านั้น เพราะถ้าเราไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจในอะไรบางอย่าง เราก็คงจะต้องตรวจสอบและวิเคราะห์สิ่งตรงหน้า เหมือนกับแมวที่ต้องดมๆอาหารชนิดใหม่ก่อนจะเริ่มกินนั่นแหล่ะ ดังนั้นประโยชน์ของกำแพงตัวนี้ คือ มันทำให้เราสามารถใช้ชีวิตรอดได้อย่างชาญฉลาดนั่นเอง ลองนึกสภาพว่าเราไม่มีกำแพงตัวนี้ ถ้าเราหิวเมื่อไหร่ เราจะหยิบอะไรก็ตามที่อยู่ตรงหน้ามาเข้าปากเราทันที ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะเป็นอาหารหรือไม่ก็ตาม ศัญญชาติญาณจะครอบงำเราเต็มที่ ไม่ต่างอะไรกับการเป็นสัตว์ป่าเลย

             แต่อย่างไรก็ตามกลไลการป้องกันตัวของกำแพงตัวนี้ไม่ได้มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว ข้อเสียของมันก็คือ กำแพงนี้จะทำงานสอดคล้องกับ ”เหตุผล” และ “ความจริง” ภายในจิตใต้สำนึก “ของคุณ” เท่านั้น ซึ่งแต่ละคนก็จะมี “ความจริง” ที่แตกต่างกันออกไป และ “ความจริง” บางอย่างนี้เป็นสิ่งที่จำกัดเราไม่ให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นตรงหน้าได้ เช่น ถ้าความจริงของเราคือ “เงินทองหายาก” เราก็จะมองไม่เห็นทางที่จะสามารถหาเงินได้ง่ายขึ้นทันที ถึงแม้ว่าจะมีคนเอาวิธีมากางบอกตรงหน้าก็ตาม เราจะคิดทันทีว่า “ไม่มีทางที่มันจะง่ายขนาดนี้หรอก ต้องเป็นพวกต้มตุ๋นแน่ๆ” เพราะคุณเชื่อว่า “เงินทองหายยาก” คุณก็จะต่อต้านแนวคิดที่ว่า “เงินทองหาง่าย” ไปในทันที ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดข้อจำกัดทางการตัดสินใจบางอย่าง ซึ่งการจะแก้ปัญหาเหล่านี้ คือการสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของคุณผ่านกำแพงนี้นั่นแหล่ะ

 

การสื่อสารกับจิตภายในของคุณ

             อย่างที่อธิบายไว้ข้างต้นว่า การสื่อสารกับจิตใต้สำนึกทำให้ความคิด และการตัดสินใจของเราเปลี่ยนไปได้มากขนาดไหน สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ นิยาย การ์ตูน และโฆษณาต่างๆ ใข้เทคนิคในการเข้าถึงจิตใต้สำนึกของคุณ โดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งเทคนิคที่จะกล่าวถึงในวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 หัวข้อ

1. Fantasy หรือการใช้ Metaphor

             วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการเล่าเรื่อง (Story telling) คือ เมื่อคุณได้ยินการเล่าเรื่อง กำแพงเหตุผลของคุณจะลดลงมา หรือบางคนอาจจะปิดกำแพงเหล่านั้นไปเลยก็เป็นได้ ลองสังเกตดูจากตัวอย่างหลายๆเหตุการณ์รอบๆตัวเราได้ พ่อ-แม่ เลือกสอนลูกด้วยการเล่านิทาน โฆษณา Viral ต่างๆแฝงไปด้วยการเล่าเรื่อง โฆษณาประกันหลายๆตัว บางตัวยกเรื่องการวางแผนของคุณพ่อคุณแม่ที่มีให้ลูกในระหว่างวัยเรียน บางตัวยกเรื่องการดูแลเอาใจใส่และมรดกที่ส่งผ่านกันรุ่นสู่รุ่น บางตัวเล่นกับความรู้สึกด้วยการเล่าเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ไม่ได้เริ่มด้วยการบอกเราว่า “ฉันจะขายประกัน” แต่โฆษณาเหล่านั้นกำลังสื่อสารกับเราว่า “พวกเรากำลังแคร์คุณ เพราะฉะนั้นให้พวกเราดูแลคุณเถอะ” ซึ่งความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ เราไม่ได้ถูกยัดเหตุผลเข้ามาซึ่งๆหน้า เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กำแพงที่คอยกรองเหตุผลจะเข้ามามีหน้าที่ และตัดสินเหตุผลนั้นทันที แต่การเล่าเรื่องคือการให้ความหมายด้วยตัวของเราเอง เพราะเราจะดึงเอาเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดมาเปรียบเทียบกับจุดที่เหมือนกันในประสบการณ์ของเรา เช่น โฆษณาประกันพูดถึงพ่อกับแม่ ถึงแม้ว่าเนื้อหาอื่นๆในโฆษณานั้นจะไม่ได้เหมือนเราเลยก็ตาม แต่สิ่งเล็กๆที่เหมือนกันคือ เราก็มีพ่อกับแม่ เหมือนตัวละครในโฆษณานั้น ซึ่งสิ่งเล็กๆในเรื่องราวเหล่านี้ จะเป็นตัวที่สามารถผ่านกำแพงที่คัดกรองความจริง และเหตุผลไปได้ เพราะ “ฉันก็มีพ่อกับแม่เหมือนกัน” เป็นต้น

             บางคนอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนจจากโฆษณาสั้นๆ เพราะยังไงโฆษณาเศร้าๆก็เป็นโฆษณาเหมือนกันหมด ถ้าเช่นนั้นลองเปรียบเทียบกับกามภาพยนตร์ดู คุณเคยอินกับการดูหนังมากๆไหม ถ้าคุณเคยรู้สึกตื่นเต้นไปกับฉากต่อสู้ คุณเคยเศร้าซึ้งน้ำตาไหลไปกับฉากสะเทือนใจ คุณเคยรู้สึกอึดอัดในสถานการณ์ตึงเครียดในหนัง หรือคุณเขินเวลาตัวละครเอกสารภาพรักกัน หรือมีโมเม้นน่ารักๆในเรื่อง นั่นคือ คุณกำลังถูกสะกดจิต อยู่ขณะที่คุณกำลังชมภาพยนตร์อยู่ โดยที่คุณไม่รู้ตัว เพราะเรื่องราวทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวคุณเลย คุณไม่ได้กำลังสู้อยู่ คุณกำลังนั่ง คุณไม่ได้จำเป้นจะต้องเศร้า เพราะเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณ เหตุการณ์จริงๆคือคุณกำลังนั่ง คุณรู้สึกอึดอัดกับการตัดสินใจของตัวละครเอก ทั้งๆที่คุณแค่กำลังนั่งอยู่เหมือนเดิม หรือคุณเขินความสัมพันธ์และการแสดงออกของตัวละครในโรงหนัง ทั้งๆ ที่คุณก็แค่นั่งดูหนังเหมือนเดิม เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณเลย แต่การสื่อสารบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับจิตใต้สำนึกของคุณ ทำให้คุณตื่นเต้น หายใจแรงขึ้นบ้างล่ะ ร้องไห้ฟูมฟาย อึดอัดหายใจไม่ทั่วท้อง หรือฟินคนนั่งไม่ติดเก้าอี้ เพราะจิตของคุณกำลังดึงเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมา “เปรียบเทียบ” กับสิ่งที่คุณเชื่อ ประสบการณ์ที่คุณเจอ และความรู้ที่คุณมี

             แล้วถ้าในเมื่อสื่อภายนอก ยังสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกับจิตใต้สำนึกภายในของคุณได้ ทำไมคุณถึงจะทำแบบเดียวกันไม่ได้ ถ้าการเล่าเรื่องราวของคนอื่นเข้าถึงจิตใต้สำนึกของคุณได้ การเล่าเรื่องราวของคุณเอง ก็เข้าถึงจิตใต้สำนึกได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการเล่าเรื่องราวนี้ต้องพึ่ง “จินตนาการ” ของตัวคุณ เพื่อแปลงออกมาเป็นภาพและเรื่องราวในแบบที่คุณต้องการ ลองนึกสภาพดูว่าถ้าคุณ ลองเล่าเรื่องราวความสำเร็จของตัวคุณของ ในหัวของคุณของ ว่าคุณจะมีชีวิตอย่างไร คุณสามารถทำอะไรกับความสำเร็จนั้นได้บ้าง ถ้าคุณจินตนาการความสุขของคุณ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีความสุข  คนรอบตัวคุณได้ประโยชน์อะไรจากความสำเร็จนั้น ฯลฯ เรื่องราวอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะให้มันเกิดขึ้น ลองเรียบเรียงในหัวของคุณดู หรือถ้าบางคนชอบเขียน จะใช้วิธีเขียนเรื่องราวนั้นออกมาเป็นนิทาน หรือนิยายสั้นๆก็ได้

             และเมื่อเรื่องราวเหล่านี้สามารถที่จะเชื่อมเข้าถึงจิตใต้สำนึกของคุณได้ คุณก็จะสามารถเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ และปลดความเชื่อเดิมๆบางอย่างที่กำลังเหนี่ยวรั้งคุณอยู่ในปัจจุบัน คุณอาจจะเห็นเส้นทางใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆที่สามารถเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

2.พูดคุยกับตัวเอง

             เทคนิคที่แล้วพูดถึงเทคนิคที่สามารถสื่อสาร พาข้อความใหม่ๆเข้าไปในจิตใต้สำนึกดูแล้ว เทคนิคนี้เป็นเหมือนการ “เข้าใจ” ตัวตนเราภายในมากกว่า ซึ่งเทคนิคนี้ง่ายและไม่ซับซ้อนเหมือนที่คุณคิด แต่มักจะถูกมองข้ามหรือคิดไม่ถึงกัน เทคนิคนี้คือการ “พูดคุยกับตัวเอง” นั่นเอง

             และการคุยกับตัวเองไม่ได้เหมือนการคุยคนเดียว หรือการบ่นลอยๆอยู่คนเดียว แต่เป็นการคุยอย่างตั้งใจ ตั้งใจที่ว่านี้คือการ หลับตา และจินตนาการภาพตัวเองขึ้นมานั่งอยู่ตรงหน้าเราเลย และให้เราตั้งคำถามแต่ละอย่าง ค่อยๆถามตัวเราที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา ซึ่งการตั้งคำถามเหล่านี้เป็นการหาเหตุผลให้กับตัวเองนั่นแหล่ะ เพราะบ่อยครั้งเราเชื่ออะไรบางอย่าง เรารู้สึกอะไรบางอย่าง หรือเราคิดอะไรบางอย่างที่ออกมาจากจิตใต้สำนึก แต่เรื่องนั้นไม่มีเหตุผลหรือมูลเหตุที่เกี่ยวข้องกกับเราเลย เหมือนกับการดูหนังแล้วร้องไห้ตาม ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น เราไม่ได้เป็นตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งเมื่อเราหาคำตอบจากตัวเองได้ ความรู้สึ หรือความเชื่อบางอย่างจะเปลี่ยนไปหรืออาจจะหายไปเลยก็ได้ และถึงแม้ว่าความเชื่อนั้นอาจจะไม่หายไป แต่ถ้าเราให้เวลากับตัวเองมากพอ เราจะได้คำตอบอะไรบางอย่างออกมาว่า ต้นเหตุของความเชื่อนั้นคืออะไร และเราก็โต้ตอบกับตัวเองไปเรื่อยๆได้จนกว่าคุณจะพอใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องมีคือความใจเย็น และไว้ใจตัวคุณเองว่า ภายในของคุณมีคำตอบสำหรับทุกๆปัญหาที่คุณกำลังเจออยู่อย่างแน่นอน

              คำถามสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ในบทความนี้คือ เมื่อคุณรับรู้แล้ว่าจิตใต้สำนึกของคุณมีผลกับชีวิตคุณมากแค่ไหน

                                “คุณที่เป็นนักพัฒนาตัวเอง จะเลือกใช้วิธีใด ในการเข้าถึง และสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง?”

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า