7 ขั้นตอนที่จะบอกลาปัญหาทะเลาะกับคนรอบตัว
- กันยายน 11, 2020
- Posted by: sirirath
- Category: Life tips , SelfBreakThrough , StoryTelling ,

7 ขั้นตอนที่จะบอกลาปัญหาทะเลาะกับคนรอบตัว
ความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ ทำให้เราต้องอยู่และมีความสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น และเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ย่อมจะมีความคิดที่แตกต่างกันของแต่ละคนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง, ความเชื่อ หรือประสบการณ์ ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้แต่ละคนมองผ่านแว่นคนละชิ้น มีความเห็นที่ต่างกัน และอาจจะทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายของความคิดเห็นแต่ละอย่างจะเป็นจุดเดียวกันก็ตาม วันนี้ LifeEnricher มี 7 ขั้นตอนที่จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณมองคำว่า “ทะเลาะ” ไม่เหมือนเดิม และช่วยให้คุณยกระดับชีวิตของตัวคุณเองและคนรอบตัวของคุณได้
1.รู้ทันสภาวะอารมณ์ของตัวเอง (Self awareness)
เมื่อคุณรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการ “ทะเลาะ” นั่นหมายความว่าคุณมีสภาวะอารมณ์บางอย่างอยู่ในนั้น เพราะถ้ามันไม่มีสภาวะอารมณ์บางอย่าง นั่นจะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่คนสองคนมีความเห็นที่ต่างกัน ดังนั้นจงรู้ให้ทันตัวเองว่าความรู้สึกในตอนนั้นมันคืออะไร มันคือความโกรธ ,โมโห ,เสียใจ ,น้อยใจ ,เจ็บใจ ,รู้สึกผิด หรือ กลัว ฯลฯ หลายๆครั้งที่เรามักจะมองอารมณ์เหล่านี้และเลือกที่จะเก็บมันเอาไว้ในมุมหนึ่ง ,ไม่สนใจมัน หรือเราอาจจะไม่ทันกับมันด้วยซ้ำ แต่เราทุกคนโตขึ้นมาพร้อมกับอารมณ์เหล่านี้ และมันคือเพื่อนรักที่คอยส่งข้อความบางอย่างมาให้เราเสมอในทุกๆช่วงชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นการไม่ทันอารมณ์ของตัวเองจะทำให้เราไม่ได้รับข้อความบางอย่างที่มันกำลังจะบอกเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ
เมื่อใดก็ตามที่คุณยอมรับ และรู้ทันอารมณ์ของตัวเองแล้ว การตั้งคำถามกับตัวเองอย่างฉลาดด้วยคำถามง่ายๆว่า “อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร และมันกำลังจะสอนอะไรฉัน” จะทำให้ซองจดหมายที่เต็มไปด้วยข้อความต่างๆที่อารมณ์เหล่านั้นกำลังพยายามจะบอกเราเปิดออก และคุณจะรู้จักอารมณ์ของตัวเอง เข้าใจ และจัดการกับมันได้ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของคนที่มี EQ ดีเยี่ยม
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนนี้คือการรู้จักและจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เพราะหากคุณยังแบกอารมณ์ลบเหล่านี้ไว้อยู่โดยที่ไม่เข้าใจมัน คุณจะไม่สามารถเข้าใจ และจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆได้ ดังนั้นคุณควรจะจัดการกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก
2.การรับเป็นต้นเหตุ (Be at Cause)
เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะมีคนอยู่สองประเภทคือ คนที่เป็นต้นเหตุ และคนที่ได้รับผลกระทบ ในภาษาจิตวิทยาสื่อประสาทจะเรียกว่า Cause & Effect ซึ่ง การแบ่งออกมาในลักษณะนี้ ไม่ใช่การกล่าวโทษ หรือหาคนผิดแต่อย่างใด แต่เป็นคุณภาพของความคิดและมุมมองของแต่ละบุคคล ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ที่รับตัวเองเป็นต้นเหตุ จะคิดถึงสิ่งที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆและหาหนทางแก้ไขในอนาคต และผู้ที่รับตัวเองเป็นผู้ที่ถูกกระทบ จะคิดถึงและกล่าวโทษการกระทำของคนอื่นที่มีผลกับเรา ยกตัวอย่างเช่น มีอุบัติเหตุรถชนกัน ผู้ที่รับเป็นเหตุ(Cause) จะคิดว่ามันมีอะไรบ้างที่ฉันพลาดไป และมันมีอะไรบ้างที่ฉันทำได้มากขึ้นเพื่อแก้ไขมัน เช่น “ฉันต้องระวังสิ่งรอบด้านให้มากกว่านี้” และผู้ที่รับเป็นผลกระทบ(Effect) จะคิดแต่ว่า “ทำไมคนอื่นถึงขับแย่แบบนี้” ลองจินตนาการว่าอุบัติเหตุรถชนข้างต้น ถ้าคนทั้งคู่กรณีทั้งสองรับเป็น Cause ทั้งคู่ ทั้งสองคนคิดว่า “ฉันต้องระวังสิ่งรอบด้านให้มากกว่านี้” เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร หรือถ้าคนทั้งคู่รับเป็น Effect “ทำไมคนอื่นถึงขับแย่แบบนี้” เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร
หากคุณรับตัวเองเป็นต้นเหตุ คุณคือผู้ที่สามารถพัฒนาตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตได้ และคุณจะรับรู้ได้ถึงพลังในการควบคุมชีวิตของตัวเอง เพราะคุณคิดเสมอว่าเมื่อเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คุณสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ไม่ว่าจะในแง่ของการแก้ไขมันในปัจจุบัน หรือการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่ถ้าคุณรับตัวเองว่าเป็นผลกระทบ คุณจะไม่สามารถควบคุมอะไรในชีวิตตัวเองได้เลย เพราะทุกๆสิ่งมันเกิดขึ้นเพราะ “คนอื่น” คุณเลยไม่สามารถจัดการอะไรกับมันได้ ทำได้แค่รับแรงกระแทกจากสิ่งต่างๆรอบตัวคุณเท่านั้น
ทั้งนี้ การรับเป็นต้นเหตุไม่ใช่การโทษตัวเอง เพราะการรับผิดชอบตัวเองจากการรับเป็นต้นเหตุคือการวิเคราะห์ตัวเองและคิดถึงการกระทำต่อๆไปในอนาคต แต่การโทษตัวเองเป็นเพียงการบั่นทอนและลดคุณค่าของตัวเอง การรับเป็นต้นเหตุไม่ใช่การตัดสินว่าใครผิดหรือถูก แน่นอนว่าเหตุการณ์บางอย่างสามารถตัดสินให้มีคนผิดและถูกได้ตามข้อกฎหมายและหลักจรรยาบรรณ แต่อย่างไรก็ตามการรับเป็นต้นเหตุ คือการมองจุดยืนของตนเองและยอมรับกับตัวเราเองว่าหนึ่งส่วนในเหตุการณ์นั้น คือการตัดสินใจของเรา และการตั้งถามกับตัวเองว่า “ฉันจะสามารถจัดการกับสิ่งรอบตัวฉันเหล่านี้ อย่างไรได้บ้าง” คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้คุณพัฒนาและควบคุมชีวิตของคุณเองได้
ดังนั้นในขั้นตอนนี้ การรับเป็น Cause จะทำให้คุณเรียนรู้และมองวิธีแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่กล่าวโทษผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้คุณไม่ส่งพลังลบไปถึงคนอื่น และพัฒนาตัวเองได้ในเวลาเดียวกันนั่นเอง
3.การเอาตัวเองไปอยู่ในจุดของผู้อื่น (Put yourself in other’s shoes)
เพราะการกระทำทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือร้าย มันมักจะมีเหตุผลที่แต่ละบุคคลคิดว่าดี ซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ อย่างที่เคยพูดไปแล้วว่า ความเชื่อ ประสบการณ์ และมุมมองของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการตัดสินการกระทำหรือเหตุการณ์แต่ละอย่างย่อมต่างกันเป็นเรื่องปกติ การเข้าใจผู้อื่นดูจะเป็นคำพูดที่ทำได้ง่าย แต่อาจจะไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด
กิจกรรมหนึ่งอย่างที่แนะนำให้ทำเมื่อมีเวลาคือ ให้คุณนั่งอยู่ที่เก้าอี้ และนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ของตัวเอง รับตัวเองเป็นเหตุ เมื่อคิดเรียบร้อยแล้ว ให้คุณลองลุกขึ้นจากเก้าอี้ตัวนั้น แล้วเปลี่ยนที่ยืน มายืนอยู่ในตำแหน่งของคู่ของคุณ ลองมาเป็นคู่ของคุณโดยที่ไม่เข้าข้างตัวเอง นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เขาเจอ ความเชื่อที่เขามี ประสบการณ์ที่ทำให้เขาตัดสินใจในแบบที่เขาเลือก
นี่คือโอกาสในการเปิดมุมมองของคุณ ให้คุณมีโอกาสเห็นในสิ่งที่คุณไม่เห็น ได้รู้ในสิ่งที่คุณไม่รู้มาก่อน และเมื่อคุณมีมุมมองที่กว้างขึ้นจะทำให้คุณจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าเดิมแน่นอน
4.การกล้าเริ่มสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา (Honest Communication)
การสื่อสารก็ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการอยู่ร่วมกันของคนเรา เพราะการสื่อสาร ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจกันและกันตามสิ่งที่เราสื่อสารกัน แต่บ่อยครั้งที่เราหลีกเลี่ยงการพูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราอาจจะเกิดความกังวลต่างๆ “เราจะดูไม่ดีหรือเปล่า” “เราควรจะพูดเรื่องนี้ไหม” “เขาจะเข้าใจเราผิดหรือเปล่า” ซึ่งหากเราไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่มีทางที่คนอื่นจะเข้าใจความคิด ความเชื่อ และเจตจำนงค์ของเราอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่การพูดด้วยเจตนาไม่ดี หรือด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ
ความหมายของการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาคือการอธิบายเหตุผลของการกระทำของคุณให้กับคู่กรณีของคุณฟัง ด้วยการแสดงความรู้สึก เจตนา และความต้องการของคุณ ที่อยู่ในการกระทำดังกล่าวของคุณ เมื่อมีเหตุผล ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น และก็ทำให้มีโอกาสลดการทะเลาะหรือมีปัญหาต่อกัน ยกเหตุการณ์ตัวอย่างง่ายๆ คุณพ่อที่อยากให้ลูกทานขนม แต่คุณแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการทานขนมและมาห้ามคุณพ่อ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของคุณพ่อคือ พ่อรู้สึกน้อยใจที่แม่มาห้าม “พ่อแค่เห็นว่าลูกชอบ พ่อก็เลยอยากให้ลูกมีความสุข” และการสื่อสารของคุณแม่อย่างตรงไปตรงมาคือ “แม่เป็นห่วงว่าถ้าลูกทานขนมเยอะแล้วลูกจะฟันผุ แม่ไม่อยากให้ลูกฟันผุ แม่ก็อยากให้ลูกมีความสุขเหมือนกัน” จะเห็นได้ว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยของการกระทำของอีกฝ่ายและมีการกระทำที่ต่างกัน แต่สุดท้ายเมื่อเข้าใจในเหตุผลและเจตจำนงค์ของอีกฝ่าย ทำให้รู้ว่าอีกฝ่ายก็มีความต้องการที่ตรงกันคือ อยากให้ลูกมีความสุข ดังนั้นการพูดคุยและแก้ปัญหาในอนาคต จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก
การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายของทุกคน หากคุณพบว่าตัวเองยังไม่มีความกล้ามากพอ หรือติดปัญหาในการสื่อสาร ลองวนกลับไปที่เทคนิคข้อแรกแล้วถามตัวเองดูว่า อารมณ์ไหนมันกำลังทำให้ฉันไม่กล้าสื่อสารอยู่ และอารมณ์นั้นกำลังบอกอะไรฉันอยู่ ค่อยๆให้เวลากับตัวเองรู้จักมัน และจัดการกับมัน เพราะการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้คุณสามารถอยู่กับคนสำคัญที่คุณรักได้อย่างมีความสุข
5.การถาม และรับฟังเจตนาของผู้อื่นด้วย Breakthrough Listening
การสื่อสารจะไม่มีประสิทธิภาพ หากว่าเป็นการสื่อสารทางเดียว เมื่อคุณสามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับคู่กรณีของคุณ คุณเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้าใจคุณ ถึงเวลาที่คุณจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าใจคนอื่นเพิ่มขึ้น การถามและการรับฟังที่ดี คือส่วนสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้คุณเข้าใจคนอื่นอย่างแท้จริง เพราะการรับฟังที่ดี คือการรับฟังโดยที่ไม่มีเสียงในหัวคอยตัดสินความคิด หรือคำอธิบายของคนอื่นอย่างแท้จริง การรับฟังที่ดีคือการฟังเพื่อเข้าใจคนตรงหน้า ไม่ใช่ฟังเพื่อขัดแย้ง, บิดเบือน หรือด้อยค่าความคิดผู้พูดและเตรียมจะใส่ความคิดของตัวเองลงไปในสิ่งที่กำลังถูกสื่อสารออกมา เตือนตัวเองเอาไว้ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราตัดสินคนอื่น มันคือความเชื่อของเรา หากเราต้องการจะรับฟังความเชื่อของอีกคนหนึ่งคุณจะต้องสามารถปล่อยวางความเชื่อตนเอง และรับสารจากผู้พูดคำต่อคำ โดยที่ไม่มีความคิดของตัวเองผสมอยู่ ดังนั้นการรับฟังที่ดีคือการให้อันแสนวิเศษที่คนหนึ่งคนจะหยิบยื่นให้กับอีกคนหนึ่งได้
อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปในเทคนิคที่ 4 เกี่ยวกับคู่ พ่อ-แม่ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการให้ขนมกับลูก หากว่ามีใครคนใดคนหนึ่ง ไม่เชื่อในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ปัญหาก็จะไม่จบไม่สิ้น ถ้าคุณพ่อไม่เชื่อแม่ที่แม่บอกว่า “แม่ไม่อยากให้ลูกฟันผุ ลูกจะได้มีความสุข” แต่คุณพ่อเอาความเชื่อของตัวเองเป็นตัวตั้ง และเลือกจะบิดเบือนเจตนาที่คุณแม่บอกกลายเป็น “แม่เจ้าระเบียบเกินไป จนไม่ยอมให้ลูกได้ทำอะไรตามใจ” ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว คุณพ่อจะไม่มีวันได้เข้าใจเจตนาของคุณแม่ได้เลย และอาจจะนำพาไปถึงปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้
เมื่อเราเห็นเป็นตัวอย่างอธิบายเป็นตัวหนังสือแบบนี้ มันง่ายที่จะเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ความเป็นจริง ความคิดของคุณมันจะแทรกขึ้นมามีผลกับการรับสารของคุณเร็วมาก จนบางครั้งคุณแปลงสารที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ให้เป็นอีกอย่างโดยที่คุณไม่รู้ตัว แล้วคุณก็บอกตัวเองว่า “ฉันฟังเขาแล้ว ก็ในเมื่อเขาพูดแบบนี้ มันก็มีความหมายแบบนี้ “ ดังนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรฝึกสำหรับผู้นำ หรือผู้ที่อยากอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยที่ไม่มีปัญหาทะเลาะกัน
6.เริ่มต้น ให้คำสัญญาใหม่กับทั้งสองฝั่ง (Agreement)
เมื่อเข้าใจเจตนากันทั้งสองฝ่าย ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างคำสัญญาใหม่เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิด ในเมื่อต่างคนต่างมีความเชื่อ และความเชื่อของแต่ละคนก็ทำให้มีการกระทำออกมาคนละแบบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้น การหาข้อตกลงหลังจากเข้าใจเจตนาของอีกฝ่ายจึงเป็นอีกกุญแจสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ของคุณและคู่ของคุณ โดยข้อตกลงนั้นควรจะเป็นความต้องการจากใจจริงของทั้งสองฝ่าย”ร่วมกัน”
ยกตัวอย่างจากเรื่องคุณพ่อคุณแม่เหมือนเดิม ทั้งคู่ได้พูดเจตนาของทั้งสองฝ่าย และมีเจตนาร่วมกันคือ “พวกเขารักลูก” ทางเลือกมีหลากหลายมาก เช่น ทางเลือก A ให้น้ำหนักกับคำพูดคุณพ่อ แล้วให้ลูกได้ทานขนมตามที่คุณพ่ออยากให้เป็น หรือทางเลือก B ให้น้ำหนักกับคำพูดคุณแม่ แล้วงดการให้ขนมลูกเพื่อรักษาสุขภาพของลูก อย่างที่คุณแม่อยากให้เป็น ทั้งสองทางเลือกนี้ถูกทั้งสองข้อตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน แต่ถ้าหากทางเลือก A คุณแม่พูดความไม่สบายใจของตัวเองออกมาว่า “ฉันไม่สบายใจจริงๆนะ ถ้าจะให้ลูกทานขนมแบบนี้ต่อไป ฉันกลัวลูกจะฟันผุ” นั่นหมายความว่าทางเลือก A มีหนึ่งคนไม่สบายใจกับมัน และถ้าหากว่าทางเลือก B คุณพ่อพูดออกมาเหมือนกันว่า “ฉันสงสารลูกจริงๆนะ ลูกชอบมาก เวลาเราปฏิเสธลูกแต่ละครั้ง ลูกดูจะเสียใจมาก” นั่นก็หมายความว่าทางเลือก B ก็มีหนึ่งคนไม่สบายใจเหมือนกัน ดังนั้นควรจะปรึกษาหาทางเลือก C ที่ทั้งคู่สบายใจและเห็นชอบร่วมกัน ทางเลือก C อาจจะเป็น “การกำหนดปริมาณขนมที่จะให้ลูกทาน อาจจะประมาณนี้ต่อวัน หรือต่อสัปดาห์” คุณพ่อสบายใจเห็นลูกได้กิน คุณแม่สบายใจ เพราะปริมาณที่ควบคุมจะไม่ทำให้ลูกฟันผุ ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตาม หากทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน แล้วก็ยินดีตกลงจะทำตามสัญญาใหม่นี้ร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาเดิมอีกในอนาคตและช่วยคุณดูแลความสัมพันธ์ต่อไปได้
7.รักษาคำพูด ตามคำสัญญาใหม่ร่วมกัน (Integrity)
ทั้งหมดที่ผ่านมาจะไม่มีค่าอะไรเลย หากคุณไม่รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับคู่ของคุณและตัวคุณ,จิตใต้สำนึกของคุณเอง เพราะก่อนจะมาเป็นคำสัญญา มันคือการรับรู้ตัวเอง การเปิดใจพูดออกไปตรงๆ การเปิดใจรับฟังอย่างแท้จริง และการให้คำสัญญาใหม่ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้เพราะ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และเมื่อคุณสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวคุณเองและคู่ของคุณได้ คุณจะรักตัวเองมากขึ้น,เคารพตัวเองมากขึ้น (Self esteem) และเมื่อคุณรักษาคำพูดอย่างต่อเนื่อง คุณจะได้ผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน และคุณก็จะเริ่มเชื่อมั่นในตัวคุณเองเพิ่มขึ้น และ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จากคู่ของคุณก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างคุณ และคู่ของคุณเพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอนาคต ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้คุณผ่านมันไปด้วยกันได้อย่างแข็งแรง
สุดท้ายนี้ ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมดมันจะเป็นเพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น หากคุณไม่พยายามเอาไปฝึกฝนและนำไปใช้ ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตคุณได้ตลอดเวลา เท่ากับว่าคุณมีโอกาสอยู่รอบตัวในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ เพื่อแก้ไข,รักษาและสร้างความสัมพันธ์ในอนาคตกับคนที่คุณรักและคนรอบตัวของคุณ


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599