
รู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดคือเป้าหมายของเราจริง ๆ
เชื่อว่าหลายคนกำลังต่อสู้กับอุปสรรคและความท้าทายนับไม่ถ้วนที่จะต้องเจอใน ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน บางคนก็เจอความท้าทายจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเร่ง งานยาก งานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ หรือบางคนอาจจะเจอความท้าทายในการจัดการกับเวลาตัวเอง บางคนไม่มีเวลาให้ครอบครัว บางคนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง บางคนไม่มีเวลาในการทำงานที่มากพอ ฯลฯ แน่นอนว่าปัญหาทั้งหมดนึ้คือความท้าทายที่ทุกคนต้องเจอไม่มากก็น้อย และเชื่อว่าทุกคนก็เข้มแข็งและมีพลังมากพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้แน่นอน ถึงแม้ว่าคุณอาจจะต้องเหนื่อยกันสักหน่อยก็ตาม
แต่คุณเคยหันกลับมาถามตัวเองไว้ว่า คุณพาตัวเองมายืนอยู่ในจุดยืนปัจจุบันของคุณได้ยังไง แล้วคุณมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ตัวคุณเอง เลือกที่จะเอาช่วงชีวิตในปัจจุบันนี้ก้าวเข้ามายืนอยู่ตรงนี้ คุณทำไปเพื่ออะไร ?
หลาย ๆ คนอาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป บางคนบอกว่า “ฉันต้องการชีวิตที่ดีกว่านี้” บางคนบอกว่า “ฉันไม่มีทางเลือก” บางคนบอกว่า “ฉันมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน” ฯลฯ แล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไร ว่านั่นคือเป้าหมายที่แท้จริง หรือว่านั่นเป็นเพียงแค่ความต้องการชั่วขณะของคุณ ?
เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการส่งข้อมูลผ่านถึงกันผ่านทางออนไลน์ ทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในระดับที่แทบจะไม่จำกัด เรียกได้ว่าอยากเห็นอะไรก็สามารถเห็นได้ นั่นทำให้เราสามารถเห็นและเข้าถึงวิถีชีวิตของคนอื่น ๆ ที่คนเหล่านั้นแสดงออกมาผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ คุณมักจะเห็นความ “ชีวิตดี” ของคนรอบตัวคุณอยู่เสมอ คุณเห็นคนซื้อกระเป๋าใหม่ เห็นคนเพิ่งจะออกรถ เห็นคนย้ายเข้าคอนโดใหม่ เห็นคนไปเที่ยว เห็นคนไปดินเนอร์ เห็นคนสำเร็จในเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้ เห็นคนได้กำไรจากการเล่นหุ้น เห็นคนได้กำไรจาก Crypto ฯลฯ และข้อมูลเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นให้คุณเกิดความต้องการบางอย่างขึ้นมา
ซึ่งเมื่อมีการรับข้อมูลลักษณะนี้ในปริมาณมาก ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาตัวเองไปเจอกับสิ่งเร้าที่ทำให้เราเกิดความต้องการขึ้นมา นับไม่ถ้วน และเมื่อคุณมีความต้องการมากมายนับไม่ถ้วนแบบนี้ บ้านสวยก็อยากได้ เงินก็อยากมี หุ่นก็อยากให้ดี และเมื่อคุณพยายามทำตามความต้องการที่เกิดจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ คุณอาจจะพบว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ในจุดที่คุณกำลังถามตัวเองว่า “ฉันกำลังทำทั้งหมดนี่ไปเพื่ออะไร ? “ อยู่แล้วก็ได้
เป้าหมายที่ดีคืออะไร ?
การตั้งเป้าหมายที่ดีมีองค์ประกอบง่าย ๆ อยู่ 5 ข้อ ที่คุณสามารถนำมาตั้งคำถามกับตัวเองได้เลยว่า เป้าหมายของคุณมีองค์ประกอบครบทั้ง 5 หัวข้อนี้หรือไม่
1. Specific (เจาะจง)
เป้าหมายของคุณชัดเจน และเฉพาะเจาะจงมากพอหรือไม่ ? แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีเป้าหมายที่ตั้งขึ้นเพื่อคาดหวังผลลัพธ์อะไรบางอย่างใน เป้าหมายนั้น ๆ อยู่แล้ว เช่น คุณอยากจะมีอิสระภาพทางการเงิน อยากมีเวลาให้ครอบครัว อยากมีหุ่นดี อยากมีความก้าวหน้าทางการงาน ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายอะไรก็ตามทั้งที่ยกตัวอย่างมาและที่ไม่ได้พูดถึง เป็นเป้าหมายที่ดีทั้งหมด และเป้าหมายที่ว่าทั้งหมดนั้น จะสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อถูกกำหนดอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น
อยากจะมีอิสระภาพทางการเงิน : คุณจำเป็นจะต้องมีรายได้เท่าไหร่ คุณถึงจะพูดได้เต็มปากว่าคุณมีอิสระภาพทางการเงิน
อยากมีเวลาให้ครอบครัว : คุณต้องการเวลากี่ชั่วโมงให้กับครอบครัวของคุณในแต่ละวัน ?
อยากหุ่นดี : คุณต้องมีน้ำหนักเท่าไหร่ หรือมีมวลกล้ามเนื้อและมวลไขมันแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าคุณมีหุ่นที่ดีแล้ว ?
อยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน : คุณอยากจะเติบโตไปอยู่ในตำแหน่งไหน คุณถ้าจะพูดได้ว่าคุณเติบโตในหน้าที่การงานได้ตามที่คุณต้องการแล้ว ?

การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ก็เหมือนกับการขีดเส้นชัยในการวิ่งของคุณนั่นแหล่ะ ถ้าคุณตั้งเป้าหมายแต่คุณไม่มีความชัดเจนและเจาะจง ก็เหมือนกับคุณบอกว่าคุณตัดสินใจออกวิ่งไปโดยที่ไม่รู้ว่าคุณจะต้องวิ่งไปไกล แค่ไหน นานแค่ไหน และแน่นอนว่าเมื่อคุณต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ แบบไร้จุดหมาย คุณก็จะรู้สึกเหนื่อย คุณอาจจะท้อ เพราะ คุณไม่รู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องกัดฟันวิ่งไปอีกนานแค่ไหน แต่ถ้าคุณเห็นเป้าหมายชัดเจน คุณตั้งเป้าว่าคุณจะวิ่งไป 10 กม. , 100 กม. , หรือต่อให้เป็น 10,000 กม. ก็ตาม ต่อให้คุณจะค่อย ๆ วิ่งไปทีละน้อยเพียงแค่วันละ 3-5 กม. ทุกวัน ๆ เมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยคุณจะสามารถมองกลับไป เห็นระยะทางที่คุณวิ่งมาได้ว่า คุณมาไกลแค่ไหน คุณลดระยะทางที่คุณต้องวิ่งทั้งหมดไปได้เท่าไหร่แล้ว และคุณจะวางกลยุทธ์ในการวิ่งอย่างไร เพื่อให้คุณวิ่งไปถึงเส้นชัยอย่างมีประสิทธิภาพ
2. Measurable (วัดผลได้)
เมื่อคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ข้อต่อมาที่คุณจำเป็นต้องหาให้เจอในเป้าหมายของคุณก็คือ การวัดผล หลักฐานในการชี้วัดที่ชัดเจนว่า คุณกำลังเดินต่อไปข้างหน้า คุณกำลังเดินไปในเส้นทางที่ทำให้คุณไปถึงเป้าหมายได้จริง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งของพี่ตูนในช่วงปี 61 จากเบตงถึงแม่สาย เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 2,215 กม. ซึ่งถ้าพี่ตูนไม่ได้วางแผนการวิ่งที่สามารถวัดผลได้ว่า ระยะทางในแต่ละวันจะเริ่มวิ่งที่จุดไหน เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้เวลาแต่ละวันแค่ไหน และหยุดพักที่จุดไหน พี่ตูนจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละวันเขาสามารถวิ่งได้ตามเป้าหรือไม่ ? ถ้าสามารถวิ่งได้ตามเป้านั่นหมายความว่าวิธีการวิ่งและเส้นทางที่เลือกไว้ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าวันนี้ไม่สามารถวิ่งมาหยุดในจุดที่ตั้งใจเอาไว้ได้ พี่ตูนจะต้องวางแผนในการวิ่งวันถัด ๆ ไปเพื่อให้สามารถวิ่งไปเข้าเส้นชัยตามเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนดได้
ดังนั้นการกำหนดวิธีการวัดค่าที่ชัดเจนตั้งแต่แรก จะทำให้คุณเห็นพัฒนาการของตัวเองว่าคุณเข้าใกล้เป้าหมายมากแค่ไหน และที่สำคัญคือคุณจะสามารถปรับตัวและแก้ไขได้ทันในตอนที่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะถ้าหากว่าคุณไม่มีการวัดผลที่ดีแล้วล่ะก็ 2,215 กม. อาจจะไม่ได้พาคุณไปถึงแม่สายได้ คุณอาจจะแค่วิ่งวนอยู่ในระยะจุดเริ่มต้นเป็นวงกลมเรื่อย ๆ เป็นระยะทาง 2,215 กม. โดยที่ไม่ได้ขยับออกไปไหนเลยก็ได้
3. Attainable (เป็นไปได้จริง)
หลังจากที่คุณวางเส้นชัยแล้ว หาวิธีวัดค่าได้แล้ว สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้คือ การตัดสินว่าเป้าหมายที่คุณตั้งเอาไว้ เป็นไปได้จริงไหม ? เพราะคงจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังไม่น้อย ถ้าหากว่าคุณกำลังพยายามอย่างไม่ลดละ ยอมสู้กับปัญหา ยอมเหน็ดเหนื่อย แล้วคุณเพิ่งจะมารู้ทีหลังว่า เป้าหมายที่คุณตั้งเอาไว้นั้น ไม่สามารถเป็นไปได้
ลองยกตัวอย่างดูว่าถ้าคุณตั้งเป้าว่าคุณจะ “วิ่ง” ไปถึงดวงจันทร์ คุณต้องพิจารณาแล้วว่าคุณสามารถ “วิ่ง” ไปถึงดวงจันทร์ได้จริงไหม ? คุณมีเส้นทางในการวิ่งหรือไม่ ? คุณสามารถหายใจในชั้นบรรยากาศที่ไม่มีออกซิเจนได้ไหม ? ต่อให้คุณตั้งเป้าหมายชัดเจนและเจาะจงว่าคุณจะวิ่งไปถึงดวงจันทร์ คุณมีวิธีวัดระยะทางชัดเจน แต่คุณไม่สามารถ “วิ่ง” ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้ นั่นแปลว่าเป้าหมายของคุณที่ตั้งเอาไว้นั้นไม่สามารถเป็นไปได้จริง
หรือถ้าลองดูในตัวอย่างการวิ่งของพี่ตูนในข้อที่ผ่านมา ถ้าพี่ตูนตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่ง 2,215 กม. ภายในระยะเวลาแค่ 7 วัน นั่นเท่ากับว่าพี่ตูนจะต้องวิ่งวันละ 313 กม. นั่นหมายความว่า พี่ตูนจะต้องวิ่งความเร็ว 30 กม. ต่อชั่วโมงเป็นระยะเวลา 10 ชั่วโมงนิด ๆ ต่อวัน คุณคิดว่าจะเป็นไปได้ไหม ? เพราะฉะนั้นพี่ตูนและทีมงานจึงวางกรอบเวลาในการวิ่งอยู่ที่ 55 วัน ซึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 40 กม. ต่อวัน ซึ่งเป็นระยะทางที่พอสามารถวิ่งได้และเป็นไปได้จริง
4. Relevant (สมเหตุสมผล)
ผลลัพธ์ที่คุณคาดหวังควรจะต้องเป็นไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายใหญ่ หรือเป้าหมายระยะยาวในชีวิตคุณ เป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่สำคัญในชีวิตของคุณ ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะพบว่าตัวเองกำลังทำอะไรบางอย่าง ที่อาจจะสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับเป้าหมายใหญ่ของคุณก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะเป็นพ่อครัวใหญ่ในภัตตาคารหรู แต่คุณเลือกที่จะยื่นใบสมัครงานในบริษัทเกี่ยวกับการคนส่ง ก็คงจะเป็นวิธีการที่ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ จริงไหม ?
แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินว่าวิธีนั้นไม่ดีเสียทีเดียว คุณอาจจะต้องมององค์ประกอบรอบด้านให้ครบถ้วนก่อน ลองย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเดิม ถ้าสมมติว่านาย A มีเป้าหมายที่จะเป็นพ่อครัวใหญ่ในภัตตาคารหรู แต่นาย A เลือกยื่นใบสมัครเพื่อเข้าทำงานในบริษัทคนส่ง ที่เป็นธุรกิจที่เน้นการคนส่งวัตถุดิบในกาประกอบอาหาร ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักคือ Supplier รายใหญ่หลายเจ้าที่มีการส่งอาหารสดมีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนาย A ตั้งใจจะเข้าไปทำงานที่นี่เพื่อศึกษาวิธีการรักษาวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นนาย A จะได้ข้อมูลรายชื่อ Supplier หลายเจ้าให้เป็นทางเลือกในการเลือกซื้อวัตถุดิบอีกด้วย
เมื่อฟังเหตุผลเหล่านี้แล้ว การตัดสินใจเลือกไปทำงานในบริษัทคนส่งของนาย A ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่น้อย นั่นเป็นเพราะว่า นาย A มีเหตุผลในการกระทำนี้ที่สมเหตุสมผล กับเป้าหมายหลักที่นาย A ตั้งไว้ตั้งแต่แรกนั่นเอง

5. Time-based (มีกรอบเวลาชัดเจน)
เป้าหมายที่ดีจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากว่าไม่มีกรอบเวลาที่เหมาะสม การตั้งเวลา Deadline สำหรับเป้าหมายที่คุณตั้งเอาไว้ เพราะการวางกรอบเวลาที่เหมาะสมนั้น เป็นตัวแปรสำคัญในการวางกลยุทธ์ในการสร้างเป้าหมายของคุณ คุณจะมีแรงกระตุ้น หรือแรงผลักจากการตั้งกรอบเวลานั่นแหล่ะ
ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าถ้าคุณตั้งเป้าในการทำยอดขายเอาไว้ที่ 3 ล้าน แต่คุณไม่ได้ตั้งเวลาเอาไว้ นั่นหมายความว่า คุณจะไม่มีแรงผลักดันที่จะสร้างเป้าหมายให้ได้ 3 ล้านภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้าสินค้าของคุณเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ที่กำไรต่อ 1 ชิ้นมีสูง แน่นอนว่าคุณสามารถขายของน้อยชิ้นและบรรลุเป้าตามยอดขายได้ แต่ถ้าคุณขายสินค้าที่เน้นขายในปริมาณมาก ๆ แล้วคุณไม่ผลักดันให้สินค้าของคุณขายได้ตามปริมาณที่ควรจะเป็น โอกาสมีสูงมากที่คุณจะไม่ได้เป้า 3 ล้านตามที่คุณกำหนด
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่หลายคนพลาดเรื่องนี้มากกว่าที่คิด เพราะกลัวแรงกดดันที่มากับการตั้งกรอบเวลา หรือไม่อยากจะถูกกรอบเวลามาบังคับให้ต้องเลือกทำสิ่งที่ไม่อยากจะทำ ฯลฯ จนสุดท้ายทำให้เลือกที่จะไม่ตั้งกรอบเวลาขึ้นมา ซึ่งถ้าคุณเลือกที่จะถอยออกมาจากการตั้งกรอบเวลา คุณอาจจะต้องกลับมาทบทวนเป้าหมายของคุณอีกทีหนึ่งแล้วว่า “คุณต้องการเป้าหมายนั้นจริงไหม?”
ถ้าเป้าหมายของคุณมีองค์ประกอบครบถ้วน 5 ข้อนี้ ยินดีด้วยครับ คุณได้สร้างเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคุณ ให้เป็นไปในทิศทางที่คุณหวังเอาไว้ได้แล้ว และความสวยงามของการตั้งเป้าหมายในแบบของคุณเองก็คือ คุณคือคนที่ตัดสินว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้คุณไปถึงเป้าหมายของคุณได้ เหมือนกับตัวอย่างนาย A ที่เลือกเข้าไปทำงานในบริษัทคนส่ง ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นพ่อครัวใหญ่ แน่นอนว่านาย A จะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขาอยู่แล้ว แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะคนที่ไม่เห็นด้วยนั้น ไม่ได้มารับรู้เหตุผลที่นาย A เลือกวิธีการนี้ก็เป็นได้
ฉะนั้นเป้าหมายของคุณ ชีวิตของคุณ เหตุผลของคุณ อย่าให้คนอื่นเอาเหตุผลของตัวเขามาบั่นทอนเป้าหมายอันสวยงามที่คู่ควรกับชีวิตที่มีคุณค่าของคุณได้
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599