องค์กรแบบครอบครัว หรือองค์กรแบบทีมชาติ จะสร้างแบบไหนดี ?

              ความเปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในสิ่งที่สวยงามในช่วงชีวิตของเรา และในความสวยงามเหล่านั้นก็แฝงไปด้วยความท้าทายที่กระตุ้นให้เราต้องปรับตัวให้พร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเรานึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้รอบตัวเราอย่างชัดเจนมากที่สุดรอบ ๆ ตัวเราก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในแต่ละยุคสมัยนั่นเอง

             แน่นอนว่าในเชิงธุรกิจนั้นบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผู้นำแทบจะทุกองค์กรให้ความสำคัญในการจัดการและดูแล ซึ่งกลยุทธ์การจัดการกับบุคลากรในองค์กรที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรอย่างชัดเจน โดยที่วัฒนธรรมในองค์กรเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยวิสันทัศน์ของผู้นำ เป้าหมายหลักขององค์กร ทำให้หลาย ๆ องค์กรในวัฒนธรรมการทำงานและการอยู่ร่วมกันที่แตกต่างกันออกไป  เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยสัมผัสกับความแตกต่างนี้กันมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ตรงจากการย้ายที่ทำงาน หรือว่าเป็นประสบการณ์ที่เล่าสู่กันฟังมาจากเพื่อนฝูง บางองค์กรอยู่กันแบบสบาย ๆ เฮฮาปาร์ตี้ บางองค์กรเข้มงวด บางคนอาจจะเคยเข้าไปอยู่ในองค์กรที่เป็นสาขาย่อยจากต่างประเทศ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น องค์กรจากญี่ปุ่นที่เข้มงวดทุกรายละเอียด ทำงานกันเต็มเวลาสุด ๆ จนถึงขั้นหามรุ่งหามค่ำกันเลยทีเดียวในบางกรณี

             แต่ไม่ว่าวัฒนธรรมองค์กรจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม หนึ่งสิ่งที่หลาย คนอาจจะคุ้นเคยกันที่สุดก็คือ องค์กรที่ทำงานกันแบบ “อยู่กันเป็นครอบครัว” เชื่อว่าบางคนเคยได้ยินคำนี้แล้วก็คงจะพยักหน้าอ๋อไปตาม ๆ กันว่า เราเองก็เคยผ่านการอยู่ในองค์กรแบบนี้มา หรือในตอนนี้ก็อาจจะยังทำงานอยู่ในองค์กรแบบนี้ก็ได้ แล้วองค์กรแบบครอบครัวมันดีจริงหรือ ? เพราะในเมื่อถ้าหากว่าการทำงานกันแบบเป็นครอบครัวดีจริง ๆ ทำไมล่าสุดถึงมีหนังสือที่ได้รับความนิยมออกมาเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ทำไม Netflix ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง” ถึงมีใจความสำคัญว่า “บริหารทีมงานให้เหมือนทีมกีฬา”

             เชื่อว่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มสร้างธุรกิจน่าจะต้องเคยถามตัวเองว่า คุณอยากจะให้องค์กรของตัวคุณเอง ออกมาในรูปแบบไหน อยากจะให้มันเป็นเหมือนครอบครัว หรืออยากจะให้ออกมาเหมือนสโมสรกีฬาทีมชาติ ลองมาวิเคราะห์กันดูว่าองค์กรทั้งสองอย่างนี้ แตกต่างกันอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร และแบบไหนถึงจะเหมาะกับองค์กรของคุณ ?

             ขั้นแรกก่อนเลย คำถามที่คุณจะต้องตอบให้ได้ตั้งแต่แรกก็คือ คุณสร้างองค์กรของคุณขึ้นมาเพื่ออะไร ? เป้าหมายใหญ่ที่สุดในการสร้างองค์กรคืออะไร ? นี่จะเป็นเหตุผลข้อสำคัญที่จะข่วยให้คุณตัดสินใจ ลองวิเคราะห์ Netflix ดูว่า องค์กรนี้มีเป้าหมายแน่นอนอยู่แล้วในการเข้าไปเล่นตลาดระดับสากล ขยายธุรกิจของตัวเองเข้าไปในหลากหลายประเทศทั่วโลก นั่นเป็นเหตุผลที่หนักแน่นว่า Netflix ต้องการคนที่เก่งมาก ๆ แล้วเก่งของเขาเก่งกันในรูปแบบไหน วัฒนธรรมแบบไหนที่คนเก่งเขาอยู่กัน ความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ภายในองค์กรของ Netflix พนักงานทุกคนจะต้องกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา ซึ่งความคิดเห็นที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายถึงการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นต่อเพื่อนร่วมงานด้วย ซึ่งวัฒนธรรมนี้ให้ประโยชน์หลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการกล้าแสดงความคิดเห็นกันในที่ประชุม ก็อาจจะดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่พนักงานทุกคนควรกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง อยู่แล้ว แต่การแสดงความเห็นในที่ประชุมของ Netflix จะแตกต่างจากองค์กรทั่วไป ความแตกต่างนั้นก็คือ Mindset การยอมรับความเห็นด้านตรงกันข้ามของผู้อื่น ลองจินตนาการตามดูว่าบรรยากาศในห้องประชุมที่มีบุคลากรหลายตำแหน่ง นั่งร่วมโต๊ะประชุมกัน มีการแสดงความเห็นต่อกัน แต่ที่น่าแปลกที่สุดก็คือการประชุมส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นต่าง เพราะถ้าเราเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นต่างกันผู้ใหญ่ในองค์กร พนักงานที่แสดงความเห็นนั้นมักจะจบไม่สวยอย่างแน่นอน หรือบางคนที่เสนอความคิดของตัวเองไปแล้วไม่ถูกนำไปพิจารณาก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลัง “แพ้” อยู่ก็ได้ แต่ที่ Netflix ไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้นในที่ประชุม เพราะทุกครั้งที่การประชุมได้ข้อสรุปมาแล้ว นั่นคือชัยชนะขององค์กร ไม่ว่าข้อสรุปนั้นจะเกิดขึ้นจากพนักงานคนไหนก็ตาม เหมือนกับการทำประตูของผู้เล่นคนหนึ่งในสนามฟุตบอล สุดท้ายแล้วประตูที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นชัยชนะของทีม เพราะสุดท้าย Netflix ไม่ได้ต้องการให้พนักงานแข่งขันเพื่อชนะกันเอง แต่พวกเขาต้องการจะชนะใจลูกค้านั่นเอง

             นี่เป็นเพียง 1 เหตุผลในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรออกมาเท่านั้น จะเห็นได้ว่า Netflix ไม่ได้แค่รู้สึกว่า การพูดตรง ๆ เป็นเรื่องดี ทุกคนควรจะพูดตรง ๆ แต่พวกเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าการพูดตรง ๆ จะให้ประโยชน์กับตัวคุณและองค์กรอย่างไรบ้าง ซึ่งความชัดเจนเหล่านี้จะทำให้บุคลากรทุกคนเข้าใจและเห็นดีเห็นงามในการปฏิบัติตามมากกว่าการพูดลอย ๆ ว่า “สิ่งนี้ดีนะ ทำสิ…”

             ถ้าหากว่าคุณได้คำตอบของตัวเองแล้วว่าองค์กรของคุณเป็นแบบไหน ต้องการอะไร ลองมารู้จักกับกลยุทธ์ทั้งสองอย่างในการสร้างทีมและองค์กรกันว่า มีประโยชน์อย่างไร แตกต่างที่ตรงไหน และมีโทษอย่างไรบ้าง

องค์กรนักกีฬาเป็นอย่างไร ?

             องค์กรแบบสโมสรกีฬาทีมขาติคือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ เปรียบเสมือนกับทีมนักกีฬาทีมชาติที่เฟ้นหาตัวแทนนักกีฬาเฉพาะระดับTop ที่สุดเท่านั้นเพื่อให้ได้ทีมที่ดีที่สุดสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก ดังนั้นข้อสำคัญของการสร้างองค์กรในรูปแบบนี้คือการ “คัดแต่คนเก่ง” เท่านั้น คนที่เหมาะกับหน้าที่และตำแหน่งในการทำงาน คนที่สร้างผลลัพธ์ได้โดดเด่นกว่าพนักงานทั่วไป

             ซึ่งกลยุทธ์ของ Netflix ก็คือ “เลือกคนเก่งเข้ามา และปลดคนที่ไม่ใช่ออกไป” และคนที่ถูกเลือกเข้ามาก็จำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ “เก่ง” อยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าพวกเขาหยุดพัฒนา เขาจะไม่ใช่คนเก่งอีกต่อไป เขาจะเป็นคนที่ “เคย” เก่งต่างหาก เหมือนกับนักกีฬาที่ในช่วงหนึ่งฟอร์มการเล่นดีมาก ทำให้เขาติดทีมหลัก แต่เมื่อฟอร์มการเล่นตกลงมา ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้เท่าเดิม กุนซือของทีมก็ไม่ลังเลที่จะถอดเขาออกมาและเปลี่ยนผู้เล่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างผลลัพธ์ให้ได้มากกว่าเข้ามามีบทบาทในสนามแทน หรือถ้าหากว่าแผนการเล่นใหม่ ไม่ได้เหมาะกับผู้เล่นคนเดิมอีกต่อไป พวกเขาก็จะต้องพร้อมที่จะถูกแทนที่โดยผู้เล่นที่มีศักยภาพเหมาะสมกับแผนใหม่นี้มากกว่า ซึ่ง Netflix ก็ให้ความสำคัญกับการสับเปลี่ยน “ผู้เล่น” ให้เหมาะสมกับกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทอยู่เสมอ ดังนั้นพนักงานที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญกับองค์กรมาก ๆ เมื่อครึ่งปีก่อน ตอนนี้จะถูกแทนโดยพนักงานที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรในกลยุทธ์ปัจจุบันได้ดีกว่า

             ซึ่งข้อดีข้อสำคัญของการสร้างองค์กรแบบนี้ก็คือ องค์กรจะเติบโตไวแบบก้าวกระโดดในทุก ๆ สถานการณ์ ด้วยการเลือกพนักงานที่มีศักยภาพสูงและเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็น แรงขับเคลื่อนองค์กรอยู่เสมอ

และแน่นอนว่าในเมื่อบุคลากรในคุณภาพสูง ทรัพยากรที่จำเป็นจะต้องใช้ดูแลบุคลากรเหล่านี้ก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน คุณไม่ต้องคิดเป็นอื่นไกลเลยว่า ถ้าคุณเป็นคนที่สร้างผลลัพธ์ให้องค์กรได้มหาศาล แต่ถ้าสิ่งที่องค์กรตอบแทนคุณนั้นเล็กน้อยจนเหมือนคุณไม่มีคุณค่า คุณจะยังอยากอยู่ในองค์กรเหล่านั้นไหม ? ขั้นตอนการหาและสร้างสุดยอดทีมนั้นว่ายากแล้ว การรักษาทีมให้ยังอยู่กับคุณนั้นยากกว่า เพราะไม่ใช่แต่คุณที่ต้องการผลลัพธ์จากทีมของคุณ แต่ในทางกลับกันทีมของคุณก็ต้องการผลลัพธ์ที่พวกเขาควรจะต้องได้จากคุณ  เช่นกัน ในขณะที่คุณเฟ้นหาทีมงานที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้คุณได้ ทีมงานของคุณก็ต้องการองค์กรที่ให้ผลลัพธ์กับพวกเขาได้ดีที่สุดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่แปลกอะไรที่ทีมงานของคุณจะเลือกหันไปทุ่มเททรัพยากรที่เขามีให้กับองค์กรอื่นที่พร้อมจะให้ผลลัพธ์กับเขามากกว่า

 องค์การแบบครอบครัว เป็นอย่างไร ?

             นี่คือองค์กรแบบที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันดีในบ้านเรา “พี่อยากให้เราอยู่กันแบบครอบครัว” นี่อาจจะเป็นประโยคที่พนักงานในองค์กรหลาย ๆ องค์กรเคยได้ยินผ่านหูกันเข้ามา ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะมีจุดเด่นของการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างคนในองค์กรกันได้ ง่าย ไม่สร้างความกดดันให้กับพนักงานโดยรวม และลดการเสียดสีต่อกัน เป็นองค์กรที่อบอุ่น สนับสนุนให้พนักงานเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และคอยสนับสนุนกัน

             ซึ่งองค์กรลักษณะนี้จะเปิดโอกาสให้พนักงานที่อ่อนประสบการณ์เข้ามาทำงาน หาทักษะและเก็บความรู้ในการทำงานได้ เป็นพื้นที่ที่ทำให้พนักงานใหม่เข้ามาแล้วกล้าที่จะผิดพลาด กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ โดยที่มีพนักงานรุ่นพี่หรือหัวหน้าคอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ

             แน่นอนว่าข้อดีเหล่านั้นก็แฝงมาด้วยข้อเสียเหมือนกับองค์กรแบบนักกีฬา เพราะองค์กรแบบครอบครัว มีความเกรงใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน แต่ถ้าหากว่าเกรงใจกันมากเกินไป จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในองค์กรเกิดขึ้น ตัวอย่างที่เห็นกันได้ง่าย ๆ ก็คือพนักงานที่มีอายุงานมาก ๆ พนักงานที่อยู่กับบริษัทมานาน จะยังอยู่ในตำแหน่งงานนั้น ๆ อยู่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรให้กับบริษัทมากมาย แต่ยังอยู่ได้เพราะว่า “อยู่มานาน เป็นครอบครัวเดียวกันมานาน” ซึ่งระบบผู้ใหญ่ผู้น้อยเหล่านี้คือกำแพงขวางกั้นการเติบโตในหน้าที่การงานของพนักงานรุ่นใหม่หลาย ๆ คนที่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรได้

             อีกอย่างหนึ่งที่ถ้าหากว่าไม่ระวังจะเป็นดาบสองคมก็คือ “ความสัมพันธ์” ของคนในองค์กร แน่นอนว่ามีคนที่สนิทกันก็ย่อมต้องมีคนที่ไม่สนิทกัน การแบ่งพรรคพวก แบ่งก๊กแบ่งเหล่ากันจะทำให้เกิดการเมืองในองค์กรขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานแย่ลงไปด้วย

แล้วแบบไหนดี ?

             อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะต้องตัดสินใจกันว่า แล้วจะต้องเลือกแบบไหนดี จะสร้างองค์กรที่เน้นผลลัพธ์แต่ก็มีความกดดันและมีการแข่งขันสูง หรืออยากจะสร้างองค์กรที่ให้ความสบายใจเหมือนอยุ่ในครอบครัว แต่ก็ต้องยอมรับในเรื่องผลลัพธ์ว่าจะไม่ดีเท่ากับแบบแรกแน่ ๆ

             คำถาม ต่อมาก็คือ คุณมีทางเลือกแค่นี้จริงหรือ ? คุณจะต้องเลือกเอาข้อดีอย่างใดอย่างหนึ่งจริงหรือ ? และคุณจำเป็นจะต้องรับข้อเสียเหล่านั้นให้ได้จริงหรือ ?

             คำตอบ ก็คือไม่ คุณไม่จำเป็นจะต้องเลือกอย่างดีอย่างหนึ่ง คุณไม่จำเป็นจะต้องมีข้อดีเพียงอย่างเดียว และคุณไม่จำเป็นจะต้องรับข้อเสียเหล่านั้น คุณสามารถสร้างองค์กรในแบบที่คุณต้องการได้

             Netflix อาจจะดูโหดร้ายในแง่ของการคัดเลือกพนักงาน เพราะพวกเขาคัดแต่คนเก่งเข้ามาเท่านั้น และพร้อมที่จะดีดคนเดิมออกถ้าหากว่ามีคนใหม่ที่เก่งกว่าเข้ามาแทนที่ได้ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไล่พนักงานคนนั้นออกทันที แต่พวกเขาจะหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะกับศักยภาพของพนักงานในแต่ละคนทันที ซึ่งเงื่อนไขนี้จะต่างกับทีมกีฬาตรงที่ กีฬาแต่ละประเภทจะจำกัดจำนวนผู้เล่น แต่การทำงานนั้นไม่ได้มีกฏเกณฑ์เรื่องการจำกัดจำนวนผู้เล่นในสนาม ทำให้ทีม HR ของ Netflix เลือกที่จะฉีกกฏการวางแผนการเติบโตของพนักงานแต่ละคนทิ้งออกไปเลย พร้อมทั้งบอกพนักงานของพวกเขาว่า เส้นทางการเติบโตของพวกคุณ พวกคุณต้องเป็นคนกำหนดใหม่เอง

             ส่วนการทำงานกันของพนักงานก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะตั้งหน้าตั้งตาแก่งแย่งชิงดีกัน อย่างเดียว แน่นอนว่าพวกเขาถูกกระตุ้นให้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา แต่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น “ไม่ดี” จริงหรือ ? การแข่งขันไม่ได้หมายความว่าพนักงานจะต้องทะเลาะกัน ขัดขากันเพื่อชิงความเป็นที่ 1 อย่างเดียว แต่การทำงานร่วมกันกับคนที่มีความสามารถ และร่วมแก้ปัญหาเคียงบ่าเคียงไหล่กันก็เป็นอีกหนึ่งการสานสัมพันธ์ระหว่างทีมงานของคุณที่ดีไม่แพ้กันกับการออกไปปาร์ตี้สังสรรค์กัน

             และด้วยความเป็น Western ที่สูงมาก ๆ ขององค์กรนี้ทำให้การดูแลพนักงานจะเป็นการดูแลพนักงานแบบผู้ใหญ่ดูแลกัน มากกว่าที่จะเป็นการวางกฏเกณฑ์แบบเด็ก ๆ ทำให้ Netflix มีนโยบายในการลาพักงานแบบไม่จำกัด เพราะถ้าคุณสร้างผลลัพธ์ให้องค์กรได้ตามที่องค์กรต้องการจากคุณ คุณก็สมควรที่จะได้รับการพักผ่อนที่คู่ควรกับความเหน็ดเหนื่อยของคุณ คุณจำเป็นจะต้องลาขนาดไหนก็ตามใจ ตราบใดที่คุณยังขับเคลื่อนองค์กรต่อไปได้แบบไม่สะดุดปัญหา รวมไปถึงการเบิกเงินจากบริษัทด้วย คุณสามารถยื่นขอเบิกได้ตามสมควร โดยที่ทีมงานบัญชีจะอนุมัติให้เท่าที่จำเป็นสำหรับคุณโดยที่ไม่มีเพดานจำกัดเลยทีเดียว ซึ่งความไร้ข้อจำกัดเหล่านี้นอกจากจะแฟร์กับพนักงานแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาวะความเครียดในการทำงานของพนักงานอีกด้วย

              ดังนั้น การสร้างองค์กรไม่ได้มีทางเลือกแค่ 2 ทาง นี้ คุณสามารถรังสรรค์องค์กรในฝันของคุณให้ออกมาเป็นอย่างที่คุณคิดได้ ขอแค่ให้คุณชัดเจนกับเป้าหมายที่คุณอยากได้ รูปแบบและทิศทางขององค์กร ทั้งชัดเจนกับตัวคุณเอง และทีมของคุณ เชื่อว่าคุณจะสามารถสร้างองค์กรที่สร้างคุณค่าให้คุณ ให้ทีมงานของคุณ และคนรอบตัวของคุณทุกคนบนโลกนี้ได้อย่างแน่นอน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า