
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับการควบคุมอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณใจเย็นลง
สุขุม เยือกเย็น และเฉียบคม สามสิ่งนี้คงจะเป็นสิ่งที่ทุกๆคนวาดความหวังเอาไว้ว่าอยากจะมีคุณสมบัติสามข้อนี้ในตัวเอง เพราะความสุขุม ทำให้คุณดูน่าเชื่อถือ มีเหตุมีผล และทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบคมในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความสามารถในการประเมินสถานการณ์รอบข้างได้ในทุกมุมมอง และความนิ่งในอารมณ์ที่จะทำให้คุณวิเคราะห์ข้อมูลที่คุณประเมินออกมาได้ จนออกมาเป็นการตัดสินใจที่เฉียบแหลมในที่สุด และแน่นอนว่าการตัดสินใจที่เฉียบคมนั้นมีประโยชน์กับชีวิตของทุกๆคนในหลายๆมิติ เช่น โค้ชฟุตบอลที่สังเกตเกมตลอดเวลา และตัดสินใจปรับกลยุทธืในแต่ละแมทช์ รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ถ้าโค้ชตัดสินใจได้อย่างสุขุมเยือกเย็น ก็จะสามารถแก้เกมในตอนที่เสียเปรียบได้ หรือดึงความได้เปรียบให้ทิ้งห่างกันออกไปได้ หรือจะเป็น ผู้ปกครองที่สังเกตพฤติกรรมของบุตร พร้อมทั้งเลิอกวิธีสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ หากทำได้เด็กก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีพัฒนาการที่ดีเยี่ยม หรือจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่จำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์ในสถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจและทีมของพวกเขาอยู่รอด ฯลฯ
“ความใจเย็น” คือ Keyword ที่จะทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้ยอดเยี่ยมในทุกๆสถานการณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้ หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับวลีที่ว่า “จะทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง” ซึ่งความ “ใจนิ่ง” มีประโยชน์อย่างไรก็ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วอะไรคือปัญหาที่ทำให้คุณ “ใจไม่นิ่ง” หรือ “ใจร้อน”
ปัจจัยหลักๆที่จะทำให้คุณร้อนรนได้คือเหตุการณ์ที่ “ผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นและมีผลทำให้เกิดอารมณ์บางอย่างกับคุณ เช่น ความกังวล ความโกรธ ความเครียด ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์ดังกล่าว แตกต่างกันมากในแต่ละบุคคล เหตุการณ์บางอย่างอาจจะทำให้บางคนรู้สึกโกรธ บางคนรู้สึกกังวล และบางคนอาจจะไม่รู้สึกอะไร และนอกจากความแตกต่างกับของเหตุการณ์ ความแตกต่างของ Timeline ของเหตุการณ์ต่างๆก็มีผลเช่นเดียวกัน บางคนกังกวลกับเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว บางคนกังวลกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิด และบางคนกังวลกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์ต่างๆมีเงื่อนไขและองค์ประกอบที่ทำให้เกิดอารมณ์ในแบบต่างๆซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณ ใจร้อน ร้อนรน และไม่รอบคอบ เราจึงจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้สามารถควบคุมการตอบสนองของตัวเองต่อเหตุการณ์แต่ละอย่าง ด้วยเทคนิคการจัดการตัวเองด้วยความมองย้อนกลับไปในอดีต การเพิ่มมุมมองในปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้น
รู้ทันตัวเอง
ก่อนที่จะมองย้อนไปในอดีต กวาดสายตาไปรอบๆตัวในปัจจุบัน หรือคาดเดาอนาคตที่ยังไม่เกิด คุณจำเป็นจะต้องมองเข้ามาในตัวคุณเอง และรู้ตัวเองให้ได้ว่า ขณะนี้กำลังมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นอยู่ในตัวคุณ เพราะถ้าคุณไม่รู้ว่ากำลังเกิดปัญหาขึ้นในตัวคุณ คุณไม่มีทางที่จะแก้มันได้เลย ก็ในเมื่อคุณไม่เห็นว่าบ่อเกิดปัญหาคืออะไร คุณจะวางแผนการแก้ปัญหาได้อย่างไร จริงไหม? แต่หลายๆคนอาจจะฟังแล้วเกิดคำถามตลกๆว่า “ใครกันจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่” คำตอบที่อาจจะตลกไม่ออกก็คือ “คุณไง คุณไม่รู้ตัว” เพราะหลายๆครั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเร็วมากๆ เร็วจนคุณตามอารมณ์เหล่านั้นไม่ทัน และสุดท้ายคุณปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ และชักนำความคิดและจิตใจ จนทำให้พฤติกรรมของคุณเปลี่ยนไป การตัดสินใจแย่ลง
ตัวอย่างง่ายๆที่หลายๆคนอาจจะเจออยู่เป็นประจำคือ ถ้าคุณกำลังขับรถอยู่ แล้วมีรถคันหนึ่งปาดหน้ารถคุณ ก่อนที่คุณจะรู้ตัวว่าคุณกำลังโกรธ คุณอาจจะตะโกนด่าเขาออกไปแล้วก็ได้ บางคนอาจจะใจร้อนจนเปิดประตูรถและลงไปต่อว่ากันตรงๆเลยก็ได้ ซึ่งถ้าดูจากตัวอย่างข้างต้นคุณจะเห็นแล้วว่า ความใจร้อนที่เกิดขึ้นทำให้คุณมองผ่านอารมณ์ของตัวเอง และตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปแล้ว
ดังนั้นก่อนจะไปถึงเทคนิคอื่นๆ เทคนิคแรกที่คุณต้องฝึกคือการ “เท่าทันตนเอง” และการเท่าทันตัวเองนี้แต่ละคนก็มีวิธีการฝึกแตกต่างกันออกไป หนึ่งวิธีง่ายๆที่คุณสามารถเริ่มทำได้ง่ายๆก็คือ “ถามตัวเอง” ใช้คำถามง่ายๆกับตัวเองว่า “ฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่” มีผลมากกว่าที่คุณคิด ลองสังเกตดูว่า หลายๆครั้งเวลาเราเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างมา แล้วเราเล่าให้เพื่อนสนิทฟัง และเมื่อเจอคำถามว่า “แกรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น” เรามักจะตอบได้ทันทีว่า “โกรธสิ แหงอยู่แล้ว” หรือ “กลัวมาก ไม่รู้ว่าถ้าเบรกช้ากว่านี้จะชนไหม” ประเด็นคือคำตอบไม่ได้อยู่ภายในลึกจนคุณค้นหาไม่เจอ ประเด็นอยู่ที่ คุณตามมันไม่ทัน เพราะฉะนั้นคำถามที่จะช่วยให้คุณตามอารมณ์ตัวเองง่ายๆก็แค่ตามตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอะไรอยู่”
แน่นอนว่าเหตุการณ์ตัวอย่างข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็ว และอารมณ์คุณพุ่งสูงในเวลาอันสั้น แต่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่มีผลกับอารมณ์มักจะไม่ใช่เหตุการณ์สั้นๆที่ทำให้อารมณ์พุ่งพล่าน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีผลกับคุณในระยะเวลานานๆ ถึงแม้ว่าในบางครั้งเหตุการณ์นั้นจะจบลงไปแล้ว เช่น คุณทะเลาะกับแฟน คุณกับแฟนคุณผิดใจกันในเรื่องบางเรื่อง คุณมีปากเสียงกระทบกระทั่งกัน แต่เมื่อบทสนทนานั้นจบลง คุณจะยังอยู่ในอารมณ์ลบรูปแบบต่างๆอยู่ คุณเสียใจกับเหตุการณ์ขึ้น คุณโกรธที่เหตุการณ์จบลงแบบนั้น หรือคุณกังวลว่าความสัมพันธ์ของคุณจะเป็นอย่างไรต่อ ฯลฯ ซึ่งบ่อยครั้งคุณจะไม่รู้ตัวว่าอารมณ์ใดเกิดขึ้นกับตัวคุณฌอง แต่คุณจะรับรู้ได้ถึงความไม่สบายใจในตัว แต่ ถ้าคุณลองถามตัวเองว่า “ฉันคิดอะไรอยู่” เชื่อว่าคุณจะต้องคำตอบกับตัวเองแน่นอนว่า คุณกำลังรู้สึกอะไรอยู่
ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง
ดูจะเป็นคำแนะนำเสียมากกว่าเทคนิค เพราะกับดักอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณ “ไม่รู้จักตัวเอง” เลย คือการไม่ยอมรับตัวเองเลย สาเหตุมาจากความเชื่อและค่านิยมส่วนตัวของทุกๆคนแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนเชื่อว่าพวกเขาจะไม่รู้สึกโกรธกับ”เรื่องพวกนี้” เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่าการโกรธเรื่องพรรค์นี้คือ ความไม่เป็นผู้ใหญ่ คือความไม่โตทางอารมณ์ หรือบางคนอาจจะมีความเชื่อว่าพวกเขาจะไม่รู้สึก “กลัว” อะไรบางอย่าง เพราะลึกๆแล้วพวกเขาอาจจะไม่อยากยอมรับว่าพวกเขาเกิดความ “กลัว” กับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบกับว่า ไม่การทันตัวเองคือการไม่รู้ปัญหาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น การไม่สื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเองก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่ยอมรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง และถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้ว การไม่ยอมรับปัญหาดูจะเป็นประเด็นที่ร้ายแรงกว่าการไม่รู้ปัญหาเสียอีก เพราะถ้าคุณไม่รู้ปัญหา คุณยังสามารถใช้เวลากับตัวเองเมื่อค้นหาปัญหาที่อยู่ภายในได้ แต่ถ้าคุณเจอปัญหาและคุณเลือกที่จะไม่ยอมรับมัน นั่นคือคุณกำลังปิดโอกาสตัวเองในการแก้ปัญหาเหล่านั้นทันที เพราะถ้าคุณไมม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเป็นปัญหา คุณจะไม่สามารถหาวิธีมาแก้ได้จริงๆ และผลที่ตามมาก็คือคุณจะติดอยู่กับปัญหาเหล่านั้นไปตลอด
ดังนั้นเมื่อคุณได้คำตอบบางอย่างกับตัวเอง ยอมรับมัน เปิดใจรับมัน เรื่องบางเรื่องอาจจะใช้เวลา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติมากๆ และเมื่อคุณยอมรับคำตอบของความรู้สึกตัวเองได้แล้ว คุณได้เปิดโอกาสให้ตัวเองจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในแล้วเช่นกัน

หาที่มาของอารมณ์
ลองเปรียบเทียบดูว่าถ้าคุณเห็นกองเพลิงอยู่ตรงหน้า คุณจะตื่นตระหนกและพยายามดับไฟแบบไม่คิดอะไรแน่นอน และเมื่อคุณได้สติขึ้นมา คุณอาจจะเพิ่งหันมามองเห็นว่าต้นเหตุของไฟก่อนหน้านี้มาจากเตาแก๊ส และถ้าคุณแค่เดินไปปิดแก๊สได้ เหตุการณ์อาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ นี่คือเทคนิคการหาที่มาของอารมณ์ซึ่งบ่อยๆครั้ง ที่มาของอารมณ์เหล่านี้ที่กำลังเกิดขึ้น มักจะมาจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ในอดีต และประสบการณ์เหล่านั้นทำให้คุณมีการตอบสนองและอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นต่อเหตุการณ์บางอย่าง
การสาวกลับเข้าไปในอดีตของตัวเองคือการหาต้นตอ หรือตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอารมณ์บางอย่างต่อเหตุการณ์ปัจจุบันได้ เช่นได้คุณเคยปั่นจักรยานหกล้มตั้งแต่ตอนเด็กๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่คุณจะกลัวการปั่นจักรยานในปัจจุบัน หรือบางคนอาจจะกลัวสุนัข เพราะเขาคยถูกสุนัขกัดในอดีต ทำให้ในปัจจุบันเขากลัวสุนัข ไม่ว่าสุนัขตรงหน้าจะตัวเล็กแค่ไหนก็ตาม
ซึ่งการสาวกลับไปยังเหตุการณืในอดีตบางครั้งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่บางครั้งก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการทำบำบัดจริงๆ เพราะบางครั้งเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กแบเบาะ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แต่เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นฝังความทรงจำบางอย่างในจิตใต้สำนึกเรา และส่งผลออกมาในปัจจุบันโดยที่เราอาจจะไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร เช่น เด็กกทารกได้ยินพ่อกับแม่ทะเลาะกันเสียงดัง เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นมากลายเป็นคนที่ไม่ชอบเสียงดังๆ ก็เป็นได้
นอกจากการรับรู้ต้นตอของปัญหาแล้ว การสาวกลับไปในอดีตยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณสามารถรับมือกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ หรือบางครั้งคุณอาจจะป้องกันปัญหาเดิมๆที่เกิดขึ้นได้ด้วย เช่น ตัวอย่างเหตุการณ์เพลิงไหม้ข้างต้น เมื่อคุณเห็นว่าปัญหาอยู่ที่เตาแก๊ส ครั้งหน้าคุณจะมองหาเตาก๊สทันทีที่เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ และคุณจะสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ด้วยการเดินไปปิดแก๊สทุกครั้งหลังใช้ได้อีกด้วย
ปรับมุมมองไปหาส่วนดีในชีวิตคุณ
บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรบางอย่างที่คุณแก้ไขไม่ได้ และผลลัพธ์เหล่านั้นทำให้คุณร้อนรน หรือกังวล การหันมามองส่วนที่คุณสบายใจในชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คุณใจเย็นลง และวางแผนจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปได้ เพราะถึงแม้ว่าผลลัพธ์บบางอย่างอาจจะแก้ไขไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะจัดการกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไม่ได้ เช่น ถ้าคุณทำจานใบหนึ่งแตก แน่นอนว่าคุณไม่สามารถย้อนไปหรือซ่อมจานใบนั้นให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่คุณสามารถไปซื้อจานใบใหม่มาใช้ได้แบบไม่เดือดร้อนอะไร ตัวอย่างนี้อาจจะดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายๆคนรู้กัน แต่เรื่องน่าประหลาดคือ หลายๆคนวนเวียนอยู่กับการเสียใจให้กับการแตกสลายไปของจานใบนั้น โดยที่ไม่ได้แม้แต่จะขยับมามองเลยว่า แค่จานแตกถึงจะซ่อมไม่ได้ แต่ไปซื้อใหม่ก็มีใช้เหมือนเดิมแล้ว
แน่นอนว่าเหตุการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กเหมือนกับจานที่แตกไปในตัวอย่างข้างต้น และเป็นปกติที่หลายๆคนจะจมปลักอยู่กับความเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น แต่ถ้าคุณขยับตัวเองออกมามองในองค์ประกอบอื่นๆที่ดีในชีวิตของคุณในปัจจุบัน เช่น คุณยังมีครอบครัวที่น่ารัก, คุณยังมีเพื่อนที่คอยรับฟังปัญหาของคุณ, คุณยังมีสุขภาพดีอยู่, คุณยังสามารถทำกิจกรรมที่คุณชอบได้อยู่ ฯลฯ เรื่องเล็กๆน้อยๆที่คุณอาจจะมองข้ามไปในชีวิต ก็สามารถทำให้คุณถอยห่างออกมาจากอารมณ์ร้อนที่คุณเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ปรับอารมณ์ให้สงบลงและกลับไปลุยกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ด้วยการพาตัวเองไปในอนาคต

เราผ่านการสาวกลับไปหาต้นตอในอดีตแล้ว เราผ่านการหาส่วนที่ดีและน่าชื่นใจในปัจจุบันไปแล้ว เทคนิคสุดท้ายในบทความนี้คือการพาตัวเองไปในอนาคตเพื่อคาดเดาผลลัพธ์ต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบันได้
เพราะอารมณ์ร้อน เกิดขึ้นจากอารมณ์ที่พุ่งพล่าน การพาตัวเองไปในอนาคตมีส่วนช่วยในการปิดสมองส่วนที่ประมวลอารมณ์ และเปิดส่วนที่ประมวลเหตุผลและใช้ความคิดมากยิ่งขึ้น เหตุผลก็คือ เมื่อคุณพยายามจะคาดเดาอนาคต คุณจะต้องรวบรวมข้อมูลในปัจจุบัน วิเคราะห์การกระทำที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะยังไม่เกิดขึ้น และคาดเดาอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นไปได้อาจจะเกิดขึ้นในทางลบ แต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีความเป็นไปได้เชิงบวกเช่นเดียวกัน และการมองให้เห็นความเป็นไปได้ทางบวกเหล่านั้น จะทำให้คุณพยายามประมวล Action ที่จะเกิดขึ้นให้สัมพันธ์กับผลลัพธ์ในอนาคตที่คุณอยากจะให้เกิดได้เช่นกัน ยิ่งคุณเห็นอนาคตชัดเจนเท่าไหร่ action ของคุณก็จะชัดเจนขึ้นเท่านั้น และผลลัพธ์ก็จะเกิดขึ้นชัดเจนตามไปด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าเทคนิคต่างๆอาจจะเหมาะกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป หรือเหมาะกับความเชื่อที่แตกต่างกันของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วคุณจะเลือกเทคนิคที่เหมาะกับตัวคุณได้ก็ต่อเมื่อ คุณรู้ทันตัวเอง ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และเมื่อคุณรับรู้และยอมรับตัวเองได้แล้ว เชื่อว่าคุณจะสามารถเลือกหาเทคนิคมาปรับใช้เพื่อจัดการกับอารมณ์ร้อนของตัวเองได้แน่นอน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599