อยากเป็นโค้ชต้อง”คิด”อย่างไร?       

             อาชีพโค้ชที่หลายๆคนอาจจะเห็นว่ากำลังเติบโตขึ้น กำลังเป็นที่ต้องการขอวตลาดมากๆขึ้นดูน่าสนใจ หลายๆคนอาจจะหาข้อมูล และอาจจะคุ้นเคยกับบทความ “3 สิ่งที่ต้องมีในการเป็นโค้ชมืออาชีพ” ที่เคยลงเอาไว้ว่า การจะเป็นโค้ชมืออาชีพ มีองค์ประกอบใดบ้างที่ควรจะมีถ้าหากอยากจะเรียกตัวเองได้เต็มปากว่า “ฉันเป็นโค้ชมืออาชีพ” และคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าหลายๆคนจะมีความคิดว่า “อยากเป็นโค้ช” เพราะในเมื่อโค้ชเป็นอาชีพที่กำลังต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่เคยหันมามองกันไหมว่า คนที่เป็นโค้ชกัน เขา “คิด” อย่างไรกันบ้าง

             แน่นอนว่าแทบจะทุกคนที่เลือกจะเป็นโค้ช หรือไม่ว่าจะเลือกอาชีพอะไรก็ตาม ย่อมจะอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแน่นอน แต่การจะ “สำเร็จ” ได้ก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายเอาเสียเลย แล้วอะไรคือตัวแปรที่ทำให้บางคนก้าวเข้ามาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จได้ ในขณธที่บางคนก็ยังดูเหมือนจะไม่ขยับไปข้างหน้าสักอเท่าไหร่

             Mindset หรือ “ทัศนคติ” คงจะเป็นคำที่หลายๆคนคิดขึ้นมาเป็นคำแรก ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ถึงแม้ว่าทัศนคติจะไม่ใช่คำตอบหรือองค์ประกอบเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ก็คงจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้าหากจะประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นก็คือทัศนคติที่ดีนั่นแหล่ะ แต่ก่อนที่จะพูดถึงเกี่ยวกับอาชีพโค้ชว่าจะเป็นโค้ชได้ ควรต้องคิดอย่างไร อยากจะชวนให้หันกลับมาทบทวนสักนิดนึงว่า เมื่อเราเรียกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เราเลือกกันที่อะไร? เราเลือกอาชีพที่ตรงกับสายที่เรียนมา? เราเลือกที่ความสะดวกสบายในการทำงาน? เราเลือกที่ผลตอบแทนในแต่ละเดือนที่จะได้? เราเลือกเพราะว่ารู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว? เราเลือกเพราะอาชีพนี้ทำให้เรามีหน้ามีตาในสังคม? ฯลฯ

             คำตอบทั้งหมดนั้นหลายๆคนอาจจะมองเห็นบางข้อว่า ดูไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ดีสักเท่าไหร่ แต่อยากให้ลองเปิดใจและเข้าใจว่า คำตอบทั้งหมดที่กล่าวไว้หรืออาจจะไม่ได้กล่าวไว้ก็ตาม ถูกทั้งหมด ถ้าคำตอบนั้น “สำคัญ” กับคุณมากพอ และไม่ใช่แค่เกี่ยวกับเรื่องอาชีพและหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียว แต่กับมิติอื่นๆในชีวิตของคุณทั้งหมดเช่นกัน ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าคุณมีเหตุผลที่สำคัญมากพอ คุณจะสามารถทำให้สิ่งขึ้นเกิดขึ้นและสำเร็จขึ้นมาได้อย่างแน่นอน ลองเปรียบเทียบดูง่ายๆว่า คนสองคนกำลังวิ่งอยู่เหมือนกัน มีสมรรถภาพทางร่างกายพอๆกัน คนหนึ่งกำลังวิ่งตามพี่ตูน เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอยู่ พอคิดได้แบบนี้ก็รู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้เลยตัดสินใจลงไปวิ่งกับพี่ตูนด้วยความตั้งใจว่า จะวิ่งกับพี่ตูนให้ได้ 5 กิโล ส่วนอีกคนหนึ่ง ถูกบังคับออกมาวิ่ง เพราะคนรอบตัวเห็นว่าเริ่มอ้วนแล้ว คุณคิดว่าใครจะสามารถวิ่งได้ดีกว่ากัน

             และนอกจากจะสำคัญแล้ว ยังต้องมีความ “ชัดเจน” มาเสริมอีกด้วย ลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าคุณผู้หญิงสองคนมีเป้าหมายอยากจะลดน้ำหนัก คนหนึ่งบอกว่า “ฉันจะต้องหุ่นสวยให้ได้ภายใน 3 เดือน เพราะฉันจองชุดเจ้าสาวเอาไว้แล้ว และฉันจะไม่ยอมให้ตัวเองดูอ้วนในวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิตแน่นอน ดังนั้นใน 3 เดือนนี้ เอวฉันจะต้องเล็กลง 4 นิ้ว รอบแขนจะต้องหายไปให้ได้ 1 นิ้ว และหลังฉันจะต้องมาลายกล้ามเนื้อสวยๆเอาไว้โชว์ด้วย” กับอีกคนหนึ่งบอกว่า “ปีใหม่นี้ฉันจะไม่อ้วนเหมือนเดิมแล้ว” คุณคิดว่าใครดูน่าจะลดความอ้วนได้สำเร็จมากกว่ากัน

             แน่นอนว่าในตัวอย่างแรก คนที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำก็ย่อมจะทำได้ดีกว่า และสำเร็จตามเป้าหมายได้มากกว่าคนที่ถูกบังคับมาทำอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับตัวอย่างถัดมา คนที่มีความชัดเจนในเป้าหมายของตัวเองก็ย่อมจะไปถึงเป้าหมายได้มากกว่าคนที่แค่พูดออกมาลอยๆเฉยๆ เหมือนกันกับการเลือกอาชีพ ถ้าเป้าหมายของคุณชัดเจนว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต และอาชีพที่คุณเลือกสามารถตอบเป้าหมายที่คุณต้องการได้ เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตามก็สามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จได้แน่นอน  

          โอมมีความคิดอย่างไรก่อนจะมาเป็นโค้ช?

             เมื่อก่อนนี้โอมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ อยากมีเงินเก็บ อยากมีหน้าตาในสังคม อยากลงทุน อยากมีอิสระภาพทางการเงิน โอมเคยทำงานขายมาก่อน โอมเคยทำโฆษณาและโอมถูกยอมรับในช่วงที่ตัวเองรับหน้าที่นายแบบออกสื่อต่างๆ เราได้รับการชื่นชมจากเพื่อนๆ และโอมก็ทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ จนโอมเริ่มมาเป็นนายหน้าอสังหา เริ่มลงทุน ทั้งในหุ้นและในอสังหา ในช่วงนั้นโอมรู้สึกภูมิใจกับตัวเองมากในสิ่งที่ทำได้ ในความยอมรับที่คนอื่นมีให้ แต่ความภูมิใจเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ และมันก็ค่อยๆจางหายไปในเวลาไม่ช้า ใช่ครับ สำหรับโอมความภูมิใจและการยอมรับเหล่านั้นไม่ยั่งยืนสำหรับโอม

             จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าชีวิตต้องการอะไร โอมเลยใส่แรงและทรัพยากรเท่าที่โอมจะสามารถทำได้ในช่วงเวลานั้น ทุ่มเข้าใส่การหาคำตอบว่า ชีวิตโอมต้องการอะไร โอมอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง ความโชคดีของโอมคือตอนที่โอมเลือกไปเข้าสัมนาพัฒนาตัวเอง โอมมีโอกาสเจอผู้คนมากมาย และแน่นอนว่าโอมมีโอกาสเจอคนที่สำเร็จ แต่ก็น่าแปลกใจที่คนสำเร็จหลายคนที่โอมเจอ ยังไม่มีความสุข และในขณะเดียวกันโอมก็เจอคนที่มีความสุข ตั้งแต่ตอนที่ตัวเองยังไม่สำเร็จ และที่ทำให้ทึ่งที่สุดคือ คนที่ทั้งประสบความสำเร็จและมีความสุข แน่นอนว่าโอมรู้สึกทึ่งกับคนที่เจอความสุขของตัวเอง และประสบความสำเร็จด้วย

             ซึ่งสิ่งสำคัญที่โอมเห็นจากการพบเจอคนเหล่านี้คือ ความสุข และความสำเร็จ มักจะอยู่คนละเส้นทางกัน มันอยู่คนละสายกัน แต่ถึงแม้ว่าสองเรื่องนี้จะอยู่คนละเส้นทางกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาสองสิ่งนี้ไปพร้อมๆกันได้ กราฟของคนที่สำเร็จมากๆ แต่ยังไม่มีความสุข ก็จำเป็นจะต้องมาเรียนรู้ความสุขตัวเองใหม่ เช่นเดียวกันกับคนที่มีความสุขมากๆ ก็ควรจะต้องมาเรียนรู้เส้นทางสำเร็จของตัวเอง จังหวะนั้นคือจุดที่ทำให้โอมเจอเหตุผลของตัวเองว่า “ถ้าเราทำอะไรบางอย่าง ที่ช่วยให้คนมีความสุขได้มากขึ้น และช่วยคนให้มีความสำเร็จได้มากขึ้น ชีวิตคงจะมีความสุขน่าดูเลยนะ” เมื่อมีเป้าหมายนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งต่อมาที่ทำก็คือ ค้นหาอาชีพที่ทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข และทำให้เรามีความสุขไปด้วย แน่นอนว่าตอนแรกใช้เวลาพอสมควรกับการ “ลอง” เทคนิคต่างๆกับตัวเอง หาประสบการณ์และวิเคราะห์กับสิงที่ทำกับผลที่เกิดขึ้น ทบทวนและฝึกฝนซำไปซ้ำมาเรื่อยๆจนเริ่มมั่นใจ และหลังจากมั่นใจมากขึ้นแล้ว โอมใช้เวลา 2 ปีเต็มๆ โค้ชคนอื่นฟรีๆโดยที่ไม่เก็บเงินเลย ตลอดสองปีที่โค้ชคนอื่นฟรีๆทุกอาทิตย์ ในขณะที่ก็ยังต้อทำอย่างอื่นเลี้ยงตัวเองไปด้วย ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีความสุขมาก สุขจนคิดกับตัวเองได้ว่า ถ้าเรามีความสุขขนาดนี้ ทำไมเราไม่หยุดทำอย่างอื่น และโฟกัสสิ่งที่เรารักที่สุด ซึ่งก็คือการโค้ชคน ช่วยเหลือคนให้หลุดจากสิ่งต่างๆที่เหนี่ยวรั้ง ให้คนประสบความสำเร็จ ให้คนมีความสุข วันนั้นทิ่คิดได้ทำให้โอมตัดสินใจสมัครเรียนคลาสสำหรับการเป็นโค้ชมืออาชีพจริงๆ หลังจากที่ทำทุกอย่างที่กล่าวมาแล้ว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นโค้ชมืออาชีพของโอม

             หลังจากที่ได้อ่านจุดเริ่มต้นของคุณโอมดูแล้ว ลองหันกลับมาดูสตัวคุณเองในตอนนี้ว่า เหตุผลที่อยากจะเป็นโค้ช คืออะไร? เพราะถ้าคุณเลือกแล้วว่าคุณอยากจะทำอาชีพนี้ แน่นอนว่าคุณต้องเห็นข้อดีอะไรบางอย่างจากมัน ไม่เช่นนั้นคุณก็คงจะไม่หันมาในเส้นทางนี้ตั้งแต่แรก แต่ถ้าคุณยังไม่เห็นชัดเจนว่าทำไมคุณถึงเลือกมาทำอาชีพนี้

คุณอาจจะอยู่ใน 3 หัวข้อที่มักจะเจอในคนที่อยากเป็นโค้ชนี้ก็ได้

 1.อยากเป็นโค้ช เพื่อช่วยตัวคุณเอง พัฒนาตัวเอง

             คุณอยากมีทักษะการโค้ชเพื่อพัฒนาตัวเอง เพราะ คุณรู้สึกว่ามีบางอย่าง กำลังฉุดรั้งชีวิตตัวคุณฌองไว้อยู่ คุณยังไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นตามที่หวังไว้ได้ ทั้งๆที่คุณก็มีเป้าหมายตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า แต่คุณก็ยังเอื้อมไม่ถึงเสียที คุณเลยอยากที่จะรู้จักตัวเองงมากขึ้น อยากเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึกขึ้นอย่างที่คุณไม่เคยเห็นมุมมองบางอย่างในตัวเองมาก่อน และในขณะเดียวกันคุณก็อยากที่จะยอมรับตัวเองในสิ่งที่ตัวเองเป็น เห็นในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ เห็นปัญหาที่กำลังรั้งตัวคุณเอาไว้ และหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อผ่านมันไปให้ได้ในที่สุด

             กลุ่มนี้ถ้าจะให้พูดว่าอยากเป็นโค้ช เพราะอยากโดนโค้ช ก็คงจะไม่ผิด เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเจอมา คนกลุ่มนี้เลือกเดินเข้ามาเรียนในหลักสูตรการเป็นโค้ชมืออาชีพ เพื่อเอาทักษะเหล่านี้มาพัฒนาตัวเอง เติมเต็มความสุขและความสำเร็จให้ตัวเอง

             ดังนั้นอาการของคนกลุ่มนี้จะเหมือนคนที่กำลังหลงใหลในการพัฒนาตัวเองระยะแรก ถ้าพวกเขาสามารถก้าวผ่านอะไรบางอย่างในตัวเอง และสร้างผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการได้ พวกเขาจะใช้เวลาเรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

2.อยากเป็นโค้ช เพราะอยากช่วยเหลือคนอื่น

             กลุ่มที่สองนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะพัฒนามาจากการเป็นกลุ่มที่หนึ่ง หลังจากที่สามารถตอบความต้องการในความสุขตัวเองได้ ผลักดันตัวเองให้เดินไปถึงความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ได้ ก็เริ่มมองเห็นคนรอบข้างที่กำลังเจอปัญหาคล้ายๆกันอยู่ และเริ่มอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วย เหมือนกับเวลาที่เราทานข้าวจนเริ่มอิ่มแล้ว เราก็เริ่มมองหาคนรอบข้างที่อาจจะกำลังหิวอยู่ และหยิบยื่นสิ่งดีๆที่เรามีให้คนรอบตัวเรา ก็ในเมื่อฉันเจอสิ่งดีๆ สิ่งที่มีประโยชน์ ฉันก็อยากจะเอาสิ่งที่มีประโยชน์เหล่านี้ คำแนะนำเหล่านี้ไปบอกต่อถึงคนอื่นๆรอบตัวฉัน ให้เขาได้เจอสิ่งดีๆเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน

             แต่ปัญหาที่กลุ่มนี้มักจะเจอกันก็คือ ไม่ว่าจะแนะนำอย่างไร ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนตรงหน้าได้สักที ไม่ว่าจะลองแนะนำวิธีที่ตัวเองทำ แนะนำวิธีที่เห็นคนอื่นทำ หรือถึงขั้นที่ว่าช่วยคิดวิธีใหม่ขึ้นมาให้ แต่คำแนะนำที่ให้ก็ดูเหมือนจะไม่ส่งผลอะไรเลย บางครั้งตอนที่คุยกันก็เหมือนจะดูตื่นเต้น แต่พอมาติดตามผลก็ดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต่อให้พูดมากแค่ไหน อธิบายให้ฟังยังไงก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ถูกนำเอาไปใช้เลย ซ้ำร้ายบางครั้งอาจจะโดนสวนกลับมาด้วยเหตุผลต่างๆนาๆอีกด้วย

             เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็เลยหันเข้ามาหาศาสตร์การโค้ช เพื่อหาวิธีในการช่วยคนรอบตัวของพวกเขา ซึ่งพวกเขาก็จะได้รับรู้สิ่งสำคัญสิ่งใหม่นั่นก็คือ “คำตอบที่ดีที่สุด มาจากตัวเองเสมอ” เหมือนกับที่คนกลุ่มนี้เคยผ่านช่วงที่ตั้งคำถามให้ตัวเอง และตอบคำถามด้วยตัวเองเหมือนคนกลุ่มแรกมา ดังนั้นคนที่คนกลุ่มที่สองอยากช่วย ก็จำเป็นจะต้องหาคำตอบด้วยตัวเขาเอง โดยที่คนกลุ่มที่สองจะเป็นเพียงผู้ช่วยและผู้สนับสนุนกระบวนการเหล่านี้เท่านั้น

             เพราะการให้คำแนะนำ หรือการบอกวิธีการเพื่อผลลัพธ์บางอย่าง ก็เหมือนการสร้างผู้ตาม ที่ต้องรอคำแนะนำ หรือคำสั่งจากผู้นำเท่านั้น แต่การโค้ชคือการสร้างผู้นำ ด้วยการใช้คำถาม เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดในหลายๆมิติ เกิดการวิเคราะห์คำตอบเหล่านั้น จนได้ออกมาเป็นคำตอบที่เกิดจากตัวเองจริงๆ และผู้นำที่ถูกสร้างขึ้นมาก็จะสามารถสร้างผู้นำคนอื่นๆต่อไปได้ชเนกัน ดังนั้นประโยคที่คนกลุ่มนี้จะได้หลังจากที่ก้าวเข้ามาเรียนรู้ศาสตร์การโค้ชจริงๆก็คือ “การโค้ชไม่ใช่การสร้างผู้ตาม แต่การโค้ชคือการสร้างผู้นำ” ลองคิดตามดูว่าถ้าคุณเป็นผู้นำในองค์กร ผู้บริหารระดับสูงที่มีลูกน้องมันจะดีแค่ไหนถ้าทีมของคุณ ไม่ใช่ผู้ตามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกันคุณได้ จึงเป็นที่มาของประโยคอีกประโยคนึงที่ว่า “ผู้นำที่ดีไม่ใช่ผู้นำที่สร้างผู้ตาม แต่ผู้นำที่ดีจะสร้างผู้นำเพิ่มขึ้น” และแน่นอนว่าผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้นำหรือหัวหน้าในองค์กรเสมอไป แต่ผู้นำยังหมายถึง ผู้ที่กำหนดความคิดของตัวเอง กำหนดผลลัพธ์ของตัวเอง และกำหนดความสุขของตัวเองได้อีกด้วย

 3.มองเป็นทักษะที่สามารถเป็นอาชีพ และสร้างรายได้ให้ตัวคุณเองได้

             ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มที่หนึ่ง หรือคนกลุ่มที่สองก็ตาม เมื่อไหร่ที่คุณเห็นว่าทักษะนี้ สามารถนำมาใช้เป็นอาชีพที่สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างคุณ และคนอื่นได้ นั่นจะทำให้คุณมาตกอยู่ในกลุ่มที่สามนี้ ที่เล็งเห็นว่า ทักษะการโค้ชนี้ สามารถสร้างเป็นธุรกิจการโค้ชได้

             ในตอนแรกๆหลายๆท่านอาจจะคิดว่า ถ้าเป็นโค้ชและสามารถโค้ชช่วยคนได้ชั่วโมงละ 500 – 1,000 ก็ดูดีมากแล้ว ถ้าคุณได้ก้าวเข้ามาอยู่ในอุตสหกรรมนี้จริงๆ การโค้ชจากโค้ชมืออาชีพ 1 Session จะมีมูลค่าหลักหมื่น หรือหลักหลายหมื่นเลยทีเดียว ถ้าลองวิเคราะห์ดูว่า การโค้ชสามารถสร้างรายได้ ชั่วโมงละหลายๆหมื่นได้ แสดงว่าในเวลา 1 ชั่วโมงนั้นจะต้องมีมูลค่าสูงมากๆแน่นอน ซึ่งมูลค่าเหล่านี้วัดค่าไม่ได้จริงๆ เพราะ

– น้อยคนที่จะรู้จัก และเข้าใจการโค้ชจริงๆ

– น้อยคนที่จะฝึกฝนจนสามารถสร้างคุณค่าให้คนรอบข้างได้มหาศาลมากจริงๆ

– น้อยคนที่จริงจังจนสามารถเปลี่ยนทักษะเป็นอาชีพได้

– และน้อยคนจริงๆที่จะสามารถเพิ่มความเป็นมืออาชีพเข้าไปในอาชีพของตัวเองได้

– และหลายๆคน พลาดการเปลี่ยนทักษะ เป็นอาชีพ และเป็นธุรกิจของตัวเองได้อย่างน่าเสียดาย

             ซึ่งความสามารถเหล่านี้ สามารถสร้างผลลัพธ์ให้ลูกค้าหรือ Coachee ที่มีเป้าหมายมูลค่าหลักล้าน บางคนร้อยล้าน หรือบางคนหลายพันล้าน สามารถบรรลุเป้าได้จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าลองคิดดูว่า Session 1 ชั่งโมง มีมูลค่าเท่ากับหลักหลายพันล้านในอนาคต การลงทุน Session หลักหมื่นหรือหลายๆหมื่นก็ดูเป็นเรื่องที่ตัดสินใจเข้ารับการโค้ชได้ไม่ยากนัก ด้วยตัวเลขและความต้องการเหล่านี้ ดังนั้นคงจะไม่แปลกอะไรถ้าจะบอกว่า อาชีพโค้ชก็สามารถกลายเป็นธุรกิจการโค้ชมีมีมูลค่า 7 หลักต่อเดือน กลายเป็นธุรกิจ 8 หลักต่อปีได้

            สุดท้ายนี้ หลังจากที่อ่านมาทั้งหมด สุดท้ายสรุปสั้นๆกืคือ ถ้าคุณมีความคิดอยากที่จะเป็นโค้ช คุณมีคำตอบให้ตัวเองหรือยังว่า คุณอยากจะเป็นโค้ชไปเพื่ออะไร? คำตอบนั้นชัดเจนกับคุณไหม ถ้าสมมติคุณบอกว่า “เป็นโค้ชแล้วมันเท่ดี” คำถามคือความเท่นั้นมีน้ำหนักกับคุณมากพอไหมที่จะทำให้คุณเดินหน้าลุยกับการเป็นโค้ชมืออาชีพได้เต็มที่ ความเท่นั้นมีคุณค่ากับคุณมากพอที่จะทำให้คุณใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และฝึกฝนได้อย่างไม่ลดละ ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่ ความเท่นี้ทำให้ผมทำได้ขนาดนี้” ถ้าเช่นนั้นความคิดที่คุณมี คือคำตอบที่ถูกต้องแล้ว แต่ในทางกลับกัน ต่อให้คุณมีคำตอบสวยหรูแค่ไหน แต่คำตอบเหล่านั้นไม่มีน้ำหนักมากพอจะทำให้คุณเดินหน้าลุยกับการเป็นโค้ชได้เต็มที่ คำตอบนั้นไม่ได้ทำให้คุณอยู่กับการฝึกฝนได้นาน นั่นอาจจะไม่ใช่ความคิดที่เหมาะกับการเป็นโค้ชก็ได้

             ดังนั้นไม่ว่าความคิดของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม คุณก็สามารถเป็นโค้ชมืออาชีพที่สามารถสร้างธุรกิจการโค้ชที่ประสบความสำเร็จได้ ถ้าความคิดนั้นหนักแน่น สำคัญ มีคุณค่า และชัดเจนกับตัวเองมากพ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า