อยากได้คนเก่งมาทำงาน ต้องใช้คำถามเหล่านี้!

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “การเติบโต” ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับใดก็ตาม เพราะนั่นหมายความว่า ธุรกิจของคุณที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเริ่มถึงขีดจำกัดในแง่ของบุคลากร จึงต้องการพลังจากคนที่มีความสามารถมาช่วยกันขับเคลื่อนอีกแรง ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลที่ทำให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายเลือกที่จะจ้างคนเพิ่มก็จะมีหลักๆอยู่ไม่กี่สาเหตุ เช่น ขยายสาขาเพิ่ม นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับธุรกิจแทบจะทุกประเภท อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว การขยายสาขาหมายความว่าสินค้าของคุณกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ , มีแผนกใหม่เกิดขึ้น ทั้งเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ หรือไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านสวัสดิการของพนักงาน ฯลฯ

             แน่นอนว่าหากจะหาทีมเพิ่ม เจ้าของธุรกิจทั้งหลายก็จะต้องมองหาคนที่มีความสามารถ และมีอุดมการณ์ตรงกันกับธุรกิจของคุณ รวมทั้งสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของคุณได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้คุณจำเป็นจะต้องตัดสินให้ได้ด้วยข้อมูลที่เห็นใน Resume และในช่วงเวลาการสัมภาษณ์งานสั้น ๆ เท่านั้นเอง ถ้าหากว่าคุณเลือกคนที่ความสามารถไม่ถึง แทนที่องค์กรจะสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้ก็อาจจะสะดุด หรือถ้าคุณรับคนที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของคุณไมได้ อัตราการ Turn over ก็มีสูงทำให้คุณต้องมานั่งค้นหาคนใหม่ แล้วกว่าจะใช้เวลาสอนงานให้สามารถทำงานตาม Flow ขององค์กรของคุณได้ เรียกว่าเสียเวลากันซ้ำสอง หรือถ้าสมาชิกใหม่ของคุณมีอุดมการณ์ขัดกับองค์กร ปัญหากองมหืมาจะตามมา งานทุกอย่างจะไม่เป็นไปในทางเดียวกัน อาจจะทำงานร่วมกับคนอื่นที่มีอุดมการณ์คนละแบบกันได้ลำบาก ฯลฯ

             จะเห็นได้ว่าเก่งอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องเข้ากันได้ด้วย แน่นอนว่าการ Turn over อาจจะทำให้ต่ำจนเป็น 0% ไม่ได้ แต่ถ้าคุณสามารถลดความเสี่ยงในการเสียเวลาประเภทที่กล่าวมาข้างต้นได้ ก็น่าจะทำให้ธุรกิจของคุณเดินหน้าไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าการต้องมานั่งเสียเวลาเกี่ยวกับการรับคนใหม่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จริงไหม?

             แน่นอนว่าด้านความสามารถเราน่าจะสามารถตัดสินได้จาก Resume และ Port การทำงานที่ผ่านมาของผู้สมัครได้อยู่แล้วว่า Hard skills ที่จำเป็นกับตำแหน่งงานมีครบหรือไม่ ปัญหาหลัก ๆ ของการรับคน โดยเฉพาะธุรกิจเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่จะอยู่ในฉากของการสัมภาษณ์งาน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น องค์ประกอบในการหาคนที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมของคุณมีไม่น้อย ส่วนที่มีน้อยก็คือเวลาในการหาคำตอบเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ในการสัมภาษณ์งานสั้นๆ ดังนั้น เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณหาคำตอบเหล่านั้นได้มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ “คำถาม” นั่นเอง บทความนี้จะนำเสนอ 10 คำถามที่จะช่วยให้คุณหาสุดยอดสมาชิกในทีมที่จะเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญขององค์กรคุณ

             แต่ก่อนจะไปถึงคำถามในการสัมภาษณ์ อยากจะให้คุณย้อนกลับมาตรวจสอบตัวคุณเองอีกครั้งว่า คุณชัดเจนแล้วหรือยังว่าคุณอยากจะได้ทีมแบบไหน เพราะอะไร เพื่ออะไร บุคลิกที่เข้ากับตำแหน่งงานไหม องค์กรของคุณมีอุดมการณ์แบบไหน มีมุมมองอย่างไร วัฒนธรรมองค์กรที่คุณสร้างขึ้นและต้องการที่จะรักษาไว้มีอะไรบ้าง จะสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ไหม ฯลฯ คำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามที่คุณเองจะต้องตอบให้ชัดเจนก่อนที่จะไปสัมภาษณ์ ถ้าคุณไม่ชัดเจน คุณจะเข้าไปสัมภาษณ์แบบที่ไม่รู้ว่าคุณจะถามอะไร คุณจะฟังอะไร คุณจะสนใจส่วนไหน ในเมื่อตัวคุณเองยังไม่รู้เลยว่าคุณต้องการอะไรจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ หรือกรณีที่คุณรู้คำตอบเหล่านี้แล้ว การทบทวนอีกครั้งก่อนจะเดินเข้าไปหาผู้สมัครจะเป็นส่วนช่วยให้คุณชัดเจน และคมมากขึ้นในการตั้งคำถามและฟังคำตอบของผู้สมัครแต่ละท่าน

1. รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทนี้ / ทำไมอยากร่วมงานกับเรา

             ถ้าจะให้แปลความหมายของคำถามนี้แบบห้วน ๆ ง่าย ๆ ก็คือ “รู้ไหมว่ากำลังเอาตัวเองมาเจอกับอะไร” คำถามนี้จะทำให้คุณรู้ได้เลยว่าผู้สมัครคนนี้ เตรียมตัวมาดีแค่ไหน ทำการบ้านเกี่ยวกับองค์กรมามากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะแสดงถึงความใส่ใจ ทั้งต่อองค์กรของคุณ และต่อตัวเขาเอง อย่างน้อยที่สุดเขาควรจะรู้ว่าองค์กรของคุณเป็นองค์กรประเภทอะไร มีสินค้าเป็นแบบไหน กลุ่มลูกค้าของเราน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง

             หลังจากที่ได้คำตอบมาแล้วต่อมาคือ “ทำไมถึงอยากร่วมงานกับเรา” ผู้สมัครคนนี้เห็นอะไรในองค์กร ทำไมถึงคิดว่าเขาสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตัวเขาเอง และกับตัวองค์กรของคุณได้ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาพาตัวเองมานั่งตรงหน้าคุณในวันนี้

2. อะไรคือจุดแข็ง และจุดอ่อนของคุณ

             คำถามยอดฮิตที่หลายๆคนเคยเจอ และหลายๆองค์กรชอบถาม ซึ่งประโยชน์ของคำถามข้อนี้ก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าทำไมถึงเป็นที่นิยม คำถามนี้ให้ทั้งข้อมูลเรื่องความสามารถของตัวบุคคล การหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าตนทำอะไรได้ดี หรืออะไรที่ต้องปรับปรุง และเจ้าตัวสามารถยอมรับจุดอ่อนของตัวเองได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นการวัดความมั่นใจของผู้สมัครอีกด้วย เพราะคงจะไม่มีใครพูดสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เก่งจริงออกมาในตอนที่กำลังสัมภาษณ์งานอยู่แน่ ๆ

             เพื่อไม่ได้ให้เป็นการยืดเยื้อมากเกินไปในการสัมภาษณ์ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะให้ผู้สมัครอธิบายคือ ยื่น Job description ให้ผู้สมัครดู และให้เขาเลือกเลยว่าคุณสมบัติที่บริษัทต้องการข้อไหนบ้างที่เป็นจุดแข็งของเขา ข้อไหนบ้างที่เป็นจุดอ่อนของเขา

หลังจากที่เลือกแล้ว ลองให้คะแนนตัวเองดูว่าเขาจะให้คะแนนตัวเองอยู่ที่เท่าไหร่ ทำไมถึงให้คะแนนเท่านี้ ให้ผู้สมัครเหล่าความสำเร็จทีเกิดขึ้นจากจุดแข็งของตัวเอง เช่น ถ้าจุดแข็งของเขาคือการปิดการขาย ความสำเร็จที่มีก็ควรจะต้องมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับจุดแข็งของพวกเขามากพอสมควร หรือถ้าหากว่าผู้สมัครแค่พูดจุดแข็งบางอย่างขึ้นมาให้ตัวเองดูดีเฉย ๆ เช่น บอกว่าตัวเองเป็นคนละเอียดรอบคอบ แต่ถ้าคุณมองไปที่ Resume แล้วยังเขียนคำผิดอยู่ คุณอาจจะต้องพิจารณาผู้สมัครคนนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

3. เหล่าประสบการณ์ในการทำงาน

             คำถามที่ว่า “จุดแข็งของคุณ มีผลกับตำแหน่งงานที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง” จุดแข็งบางประเภทอาจจะไม่ได้มีผลแบบเดียวกันกับทุกๆคน คำถามนี้จะ ทำให้เห็นว่าผู้สมัครสามารถนำความสามารถเด่นของตัวเองมาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างไรได้บ้าง เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองหรือเพื่อนร่วมงานอย่างไรบ้าง และทำให้เกิดผลลัพธ์อะไรได้บ้าง

4. ปัญหาในการทำงานที่ใหญ่ที่สุดคืออะไร / คุณผ่านมันมาได้อย่างไร

             ข้อนี้จะเปิดโอกาสให้คุณได้ฟังทัศนคติในการจัดการกับปัญหาแต่ละอย่าง ได้เห็นมุมมองต่อเหตุการณ์บางเหตุการณ์ว่า อะไรคือปัญหาที่ใหญ่สำหรับเขา เพราะความท้าทายของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป ถ้าคุณสมบัติหลักในตำแหน่งงานที่เขาลงสมัครมาคือความท้าทายอันใหญ่ในชีวิตของเขา และเขาจัดการกับมันไม่ได้ ผู้สมัครคนนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับตำแหน่งงานนี้ แต่ถ้าเขาสามารถจัดการและก้าวข้ามปัญหานั้นมาได้ นั่นจะทำให้คุณเห็นถึง Mindset ในการแก้ปัญหาของเขา รวมไปถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขาก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นมาได้

5. ความภูมิใจที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร

             ความภูมิใจสะท้อนถึงค่านิยมของบุคคลได้ เพราะถ้าพวกเขาไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ยอมรับในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งนั้นก็คงจะไม่ใช่ความภูมิใจของพวกเขาหรอก จริงไหม?

             ถ้าคุณตั้งใจฟัง ค่านิยมเหล่านี้บ่งบอกถึงอะไรหลายอย่างในตัวผู้สมัครได้ เช่น พวกเขาภูมิใจที่เรียนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เพราะพวกเขาให้คุณค่ากับความพยายามและความต่อเนื่องในการศึกษา , เขาภูมิใจได้ที่ทุนเรียน เพราะพวกเขาสามารถสร้างอนาคตของตัวเองไปพร้อม ๆ กับการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้านได้ , เขาภูมิใจที่สามารถสร้างผลลัพธ์บางอย่างให้กับองค์กรเก่าได้ เพราะเขาเห็นคุณค่าในการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ฯลฯ

             คำถามต่อมาที่จะถามต่อก็คือ “คุณใช้คุณสมบัติอะไรในตัวคุณทำให้เกิดผลลลัพธ์ที่เป็นความภูมิใจเหล่านั้นได้” คำตอบที่ได้ออกมามักจะน่าสนใจเสมอ เช่น เพราะเขาเป็นคนที่วางแผนเก่ง ทำให้เขาวางแผนการเรียนได้มีประสิทธิภาพ เขาเลยได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งมา เขาอาจจะไม่ใช่คนเก่งตั้งแต่แรก แต่การวางแผนทำให้เขาสร้างผลลัพธ์ได้ , หรือว่าพวกเขาสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรได้ เพราะว่าพวกเขาเก่งคน เขา Connect กับคนหลาย ๆ คนได้ และเขาสามารถรวมคนให้ทำงานด้วยกันจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้ เขาอาจจะไม่ได้สามารถทำทุกอย่างเองได้หมด แต่เขาสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยทักษะการบริหารคนที่ยอดเยี่ยม

             จะเห็นว่า “ความเก่ง” มาในรูปแบบที่หลากหลาย และการนำคุณสมบัติเด่นของตัวเองมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ อาจจะทำให้คุณเห็นจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ของพวกเขาก็ได้ และที่สำคัญคือ สิ่งเหล่านี้จะไม่สิ่งที่ไม่สามารถ “ปลอม” ขึ้นมาได้ เพราะนั่นคือหนึ่งเหตุการณ์ในชีวิตของเขา ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และถ้าหากว่าค่านิยมของผู้สมัครตรงกับค่านิยมขององค์กรคุณ คุณเตรียมตัวยิ้มรับได้เลยว่าคุณอาจจะได้สมาชิกในทีมคนใหม่ที่มีทัศนคติและค่านิยมแบบเดียวกัน และพร้อมจะพัฒนาไปพร้อม ๆ กันกับคุณ

6. ชอบทำงานกับคนแบบไหน ไม่ชอบทำงานกับคนแบบไหน

             ทักษะในการทำงานกับผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ คุณในฐานะเจ้าของธุรกิจ ควรจะรู้ดีอยู่แล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณเป็นอย่างไร และองค์กรของคุณมีคนประเภทไหนอยู่บ้าง ผู้สมัครคนนี้จะสามารถทำงานกับทีมงานของคุณได้ไหม

             นอกจากนี้ คุณยังสามารถคาดเดาได้อีกว่า ผู้สมัครคนนี้เป็นคนแบบไหน เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าพูดว่าไม่ชอบคนแบบไหน ก็มักจะไม่เป็นคนประเภทที่ไม่ชอบ เช่น ถ้าบอกว่าไม่ชอบคนขี้ซุบซิบ แสดงว่าเขาอาจจะเป็นคนที่ชอบคนพูดตรงๆ มีอะไรสามารถเช้าไปสื่อสารตรง ๆ ได้เลย หรือถ้าบอกว่าไม่ชอบคนที่เอาแต่ชวนคุยเล่นระหว่างงาน แสดงว่าเขาอาจจะเป็นคนที่ต้องการสมาธิและความเป็นส่วนตัวในที่ทำงานก็ได้ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นการคาดเดา อาจจะไม่สามารถตัดสินได้ชัดเจน 100% แต่ด้วยกรอบเวลาเพียงสั้นๆเท่านี้ การคาดเดาลักษณะนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจจ้างคนหนึ่งคนได้ดีทีเดียว

             หรือถ้าคุณเจอคนเก่งที่ตอบคุณว่า “ผมทำงานได้กับคนทุกประเภท เพราะสุดท้ายผมแก้ปัญหาที่ตัวเอง” นี่คือคำตอบของคนเก่งที่เริ่มแก้ปัญหาจากตัวเองก่อนที่จะโยนปัญหาไปที่คนรอบข้าง

7.สำหรับคุณ อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต

             สิ่งสำคัญ แสดงถึง ค่านิยมและแรงขับเคลื่อนในการทำงาน ของแต่ละคน สิ่งสำคัญของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป และค่านิยมของแต่ละคนก็ย่อมจะแตกต่างกัน ถ้าคุณตั้งใจฟัง คุณจะรับรู้ถึงค่านิยมของผู้สมัคร เช่น ถ้าพวกเขาพูดว่าเขาให้ความสำคัญกับ Work life balance นั่นแสดงว่าเขาอาจจะเป็นคนที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ด้วยการจัดการชีวิต เขาอาจจะจัดการชีวิตหลายๆมิติของตัวเองได้ดี เป็นต้น

8. ถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัทนี้ คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่คุณมี

             นี่คือช่วงปล่อยของที่ คุณจะได้เป็นวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร เกี่ยวกับการพัฒนาและการเติบโต ทุก ๆ ไม่ว่าจะเป็น First jobber หรือว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานมามากแล้ว ย่อมจะมีทัศนคติการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป ณ จุดนี้คุณอาจจะต้องสื่อสารให้ผู้สมัครเห็นว่าคุณเปิดโอกาสชัดเจนให้แสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งคำตอบที่ออกมาจะบ่งบอกถึงแนวคิดในการพัฒนา หรือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ เช่น พวกเขาอาจจะอยากเปลี่ยนแปลงเวลาในการทำงาน ให้อยู่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เพื่อลดการใช้เวลาทิ้งขว้างช่วงกลางวันแล้วมานั่งทำงาน OT หวังเงินโบนัส นั่นอาจจะแปลว่าพวกเขาไม่ชอบทักศนคติที่จ้องจะหาผลประโยชน์เข้าตัวของพนักงานโดยที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์โดยรวมขององค์กร หรือถ้าพวกเขาถามคุณกลับว่า ตอนนี้มีอะไรที่อยากให้เกิดขึ้นบ้าง นั่นอาจจะหมายความว่าพวกเขาเป็นคนที่ต้องการข้อมูล พวกเขาไม่ตัดสินใจบุ่มบ่ามโดยที่ยังไม่มีข้อมูลมากพอ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ได้

9. เห็นตัวเองใน … ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร

             พวกเขาเห็นอนาคตตัวเองอย่างไร เห็นอนาคตของบริษัทเป็นอย่างไร มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีเป้าหมายอะไรบ้าง หรือพวกเขาแค่มาหางานทำแบบหาเงินมาจ่ายเดือนชนเดือนไปที นี่คือคำถามที่จะ ทำให้คุณเห็นการวางแผนในอนาคต และแรงขับเคลื่อนในการทำงานของผู้สมัครแต่ละคน ได้ดีเยี่ยม

10. ปกติคุณพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง

             สิ่งที่กำลังจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกๆองค์กรคือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง หรือ Life long learning เพราะโลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าคนเราหยุดนิ่งก็ไม่มีทางที่จะตามโลกได้ทัน เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าคุณกำลังพยายามหาทีมที่ยอดเยี่ยม และคนที่จะมาเป็นสมาชิกที่ดีได้ก็ควรที่จะต้องหมั่นหาความรู้ด้วยตัวเอง

             เมื่อผู้สมัครตอบมาแล้วว่าพวกเขาพัฒนาตัวเองด้วยวิธีใด คุณสามารถถามต่อได้เลยว่า คุณมีกิจกรรมพัฒนาตัวเองถี่แค่ไหน เรื่องล่าสุดที่คุณกำลังสนใจคือเรื่องอะไร เช่น เขาตอบว่าเขาชอบอ่านหนังสือ พวกเขาอ่านเรื่องอะไร หนังสือเล่มล่าสุดที่เขาอ่านจบเกี่ยวกับอะไร พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร คำตอบที่ได้อาจจะ ทำให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ถ้าสิ่งที่เขากำลังสนใจพัฒนาตัวเองอยู่ ตรงกับวัฒนธรรมองค์กร หรือเป็นไปในทางเดียวกับกับทิศทางในองค์กรของคุณก็ได้

           สุดท้ายนี้ไม่ว่าคำถามใดก็ตามที่คุณเลือกใช้ สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องชัดเจนในองค์ประกอบที่คุณต้องการ และฟังในระดับลึกที่ทำให้คุณสามารถรับข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน เพราะทีมของคุณคือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำงาน

การเริ่มต้นเลือกคนเข้าทีมของคุณ ก็คือหนึ่งก้าวสำคัญที่จะทำให้คุณและทีมพัฒนาและเดินหน้าต่อไปยังเป้าหมายหลักของพวกคุณได้ 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า