
เรียนรู้ข้อเสียของตัวเอง Cause & Effect
ความสวยงามของสังคมมนุษย์เราอย่างขึ้นคือ การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในทุก ๆ ยุคสมัย ตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการเริ่มใช้ไฟให้ความอบอุ่น ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นยังต้องหวังพึ่งไออุ่นจากแสงอาทิตย์ มีการหยิบจับเอาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับตัวเองในหลากหลายรูปแบบ ถ้าคุณเห็นว่าการพัฒนาลักษณะนี้ของมนุษย์น่าประทับใจแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่าก็คือ การพัฒนาในช่วงยุคประวัติศาสตร์ ที่เริ่มมีการสลักหรือเขียนสัญาลักษณ์บางอย่าง ซึ่งการทิ้งข้อความบางอย่างเอาไว้ในลักษณะนี้คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้แตกต่างกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างชัดเจน เพราะการทิ้งข้อความไว้นี้คือการ “ ส่งต่อ ” ให้มนุษย์คนอื่นเอาความรู้ไปต่อยอด ให้มนุษย์รุ่นถัดไปเอาสมบัติทางปัญญาเหล่านี้ไปสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับชีวิตของคนรุ่นต่อ ๆ ไป
สิ่งที่น่าพิศวงในตัวมนุษย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในแต่ละคนในความถนัดที่แตกต่างกันออกไป บางคนทำอาหารเก่ง บางคนวางแผนเก่ง บางคนสมรรถภาพทางกีฬาเป็นเลิศ หรือบางคนคิดคำนวนเก่ง ฯลฯ ซึ่งความถนัดที่ยกตัวอย่างมานี้ก็สามารถแตกละเอียดยิบย่อยลงไปได้หลากหลายมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด และเจ้าความหลากหลายนี้แหละที่ทำให้เกิด “ คุณค่า ” ใหม่อยู่ตลอดเวลาในสังคม ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลายคนในปัจจุบันจะพยายามค้นหาตัวเอง หาความถนัดของตัวเอง และสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองลงไปในความถนัดของตัวเองที่แตกต่าง ทำให้ในปัจจุบันคุณจะเห็นสินค้าและบริการใหม่ ๆ ออกมาเป็นกระแสในปัจจุบันมากมายนับไม่ถ้วน
ถ้าพูดถึงการพัฒนาตัวเราแล้ว การพัฒนาแบบที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นคือการพัฒนาต่อยอดความถนัด หรือ “ ข้อดี ” ของตัวบุคคล ซึ่งความน่าหลงใหลที่สุดอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนาตัวเองก็คือ การพัฒนาตัวเองจาก “ ข้อเสีย ” ของตัวเอง ถ้าหากว่าการพัฒนาจากข้อดีของตัวเองจะให้ความพึงพอใจเวลาที่เราสามารถทำสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้วให้มันยอดเยี่ยมขึ้นไปได้อีก การพัฒนาจากข้อเสียก็จะทำให้คุณรู้สึกว่า คุณสามารถดึงตัวเองออกมาจากบางสิ่งบางอย่างที่กำลังเหนี่ยวรั้งตัวคุณอยู่ หรือละทิ้งบางอย่างที่กำลังบั่นทอนตัวเองและคนรอบข้างอย่างไม่รู้ตัวออกไปได้
คนสำเร็จหลายคนให้ความสำคัญกับการจัดการกับข้อเสียของตัวเอง ซึ่งการจะจัดการกับข้อเสียของตัวเองมีแกนหลักที่เหมือนเป็นข้อบังคับอยู่หนึ่งอย่างที่คุณจะต้องรู้ก่อนเลยก็คือ คุณจะต้องรับรู้ให้ได้ว่าข้อเสียของตัวคุณเองคืออะไร และที่สำคัญก็คือคุณจะต้องยอมรับให้ได้ว่าข้อเสียของตัวเองคืออะไร นี่เป็นหลักพื้นฐานของการแก้ปัญหาทุกประเภท เพราะบ่อยครั้งแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่แก้ยากหรือว่าซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ว่าเจ้าตัวที่กำลังสร้างปัญหา ไม่รู้ตัวว่าปัญหาที่กำลังเกิดมาจากตัวเอง หรือไม่ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดมาจากตัวเอง พออธิบายมาขนาดนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงใครบางคนที่อยู่ใกล้ตัวและมีลักษณะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จริงไหม ?
ในหลักของจิตวิทยาสื่อประสาท Neuro linguistic program หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า NLP ได้พูดถึงเทคนิคการจัดการกับข้อเสียของตัวเองไว้หลากหลายเทคนิคด้วยกัน แต่หนึ่งเทคนิคที่อยากจะทำมาพูดถึงก็คือ Cause & Effec
Cause & Effect
ปัญหาที่เกิดในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นด้วยมูลเหตุบางอย่างเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญหา ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนที่พัฒนาตัวเองได้ กับคนที่ยังย่ำอยู่กับข้อเสียของตัวเองแตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ การระบุสาเหตุของปัญหา เพราะคนที่พัฒนาตัวเองได้รวดเร็ว มักจะสามารถพา Action หรือการกระทำของตัวเองที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม พวกเขาจะพูดได้ทุกครั้งว่า “ ฉันจะต้องทำแบบนั้น ” , “ ฉันจะต้องปรับส่วนนี้ ” ในขณะที่หลายคนที่ยังย่ำอยู่กับปัญหาเดิม มักจะไม่สามารถมองหาวิธีได้เลยว่าพวกเขาจะจัดการกับปัญหาตรงหน้าอย่างไร และสุดท้ายพวกเขาจะวนเวียนอยู่กับปัญหานั้นอยู่ตรงนั้น
สิ่งที่ทำให้คนทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันก็คือ การจุดยืนหรือการวางตัวเองในปัญหาเหล่านั้น คนที่พัฒนาได้ดีมักจะหาส่วนร่วมของตัวเองที่มีต่อปัญหาตรงหน้าได้เสมอ และคนที่จัดการกับข้อเสียของตัวเองไม่ได้สักทีมักจะไม่เห็นตัวเองเป็นสาเหตุของปัญหาอยู่เรื่อยไป
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ : ในวันที่ฝนตก รถยนต์ที่ขับผ่านขับแรงจนสาดน้ำจากพื้นกระเด็นใส่เรา
คนที่หนึ่ง : แย่จริง ทำไมขับรถไม่ดูตาม้าตาเรือแบบนี้นะ เมื่อไหร่คนจะจับรถมีมารบาทกับคนอื่นสักที แล้วทำไมฉันจะต้องมาโชคไม่ดีเจอกันคนแบบนี้ด้วย
คนที่สอง : ครั้งหน้าเวลาฝนตกฉันจะต้องระวังมากกว่านี้เวลาเดินริมถนน เอ๊ะหรือว่ารอบหน้าชุดกันฝนจะเหมาะกว่าการถือร่มนะ ว่าแต่ถ้าหากว่าสามารถทำเสื้อผ้าลำลองที่กันน้ำได้ 100% คงจะดีกับเหตุการณ์แบบนี้ไม่น้อย
จากเหตุการณ์ข้างต้นจะสังเกตได้ว่าความแตกต่างระหว่างคนที่หนึ่งกับคนที่สองที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ คนแรกมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากผู้อื่น ดังนั้นคนที่จะต้องมาจัดการปัญหาของพวกเขาจะต้องเป็นคนอื่นที่เป็นต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ตัวพวกเขาเอง ในขณะที่คนที่สองมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวเองก็มีส่วนในการทำให้ปัญหานั้นไม่เกิดขึ้นได้ทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นในเมื่อปัญหามีส่วนอยู่ที่เขา และพวกเขาก็จะสามารถจัดการปัญหาโดยที่เริ่มจากตัวพวกเขาเองได้
ศาสตร์ของ NLP จะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า Cause & Effect ที่เรียกว่า Cause กับ Effect ก็เพราะว่าการตอบสนองของปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเป็น Cause คือการรับตัวเองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเป็นต้นตอที่มีส่วนทำให้ผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้น ในขณะที่การเป็น Effect คือการรับว่าตัวเองเป็นเหยื่อของเหตุการณ์บางอย่าง คนผู้โชคร้ายที่โดนผลกระทบของการกระทำบางอย่างของผู้อื่น
หลุมกับดักแห่งการเป็น Effect
การเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือการเป็นเหยื่อของการกระทำหรือของเหตุการณ์บางอย่างที่มีจุดตั้งต้นมาจากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรามีพฤติกรรมการ “ ผลักความรับผิดชอบ ” ออกจากตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตาม คนที่มีส่วนในการรับผิดชอบชีวิตของเราที่สุดก็คือตัวเราเองนั่นแหละ แต่การวางตัวเองว่าเป็น Effect หรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นเหมือนกับการสร้างเหตุการณ์บอกตัวเองว่า ฉันกำลังถูกปัจจัยภายนอกทำร้ายอยู่ และฉันไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย เพราะต้นเหตุไม่ได้อยู่ที่ภายในฉัน ต้นเหตุอยู่ข้างนอกนั้น ดังนั้นคนที่จะต้องจัดการกับปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ฉัน แต่เป็นคนนั้นหรือคนนี้ที่เป็นคนสร้างปัญหา คนที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ฉัน แต่เป็นคนนั้นต่าหาก
แน่นอนว่าปัญหาบางอย่างอาจจะถูกมองว่าเป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าหากว่าปัญหาเล็กน้อยเหล่านั้นเราตั้งตัวเองว่าเป็น Effect นั่นหมายความว่าปัญหาเล็กน้อยแค่นี้เรายังผลักความรับผิดชอบออกจากตัวเองเลยว่า นี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฉัน ซึ่งถ้าคุณอยู่ในฐานะ Effect ต่อไปเรื่อย ๆ คุณกำลังสร้างกับดักขังตัวเองไม่ให้พัฒนา ไม่ให้มีโอกาสแก้ไขตัวเอง ไม่แม้แต่จะมองเห็นบางอย่างภายในตัวเองที่สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยซ้ำ

พัฒนาด้วยการเป็น Cause
อีกฝั่งหนึ่งของการแก้ปัญหาก็คือ การมองมาที่ตัวเองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า ฉันมีส่วนกับมันอย่างไรบ้าง และฉันจะจัดการกับตัวเองอย่างไรได้บ้างถึงจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปได้ นี่คือการตั้งตัวเองเป็นต้นเหตุหรือ ตั้งตัวเองว่าเป็น Cause บอกกับตัวเองว่าเรามีส่วนในการจัดการปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้
ความลับของการพัฒนาด้วยการรับเป็น Cause อยู่ตลอดเวลาก็คือ เราจะพัฒนาความสามารถในการมองเห็นจุดพกพร่อง หรือว่า “ ข้อเสีย ” ในตัวที่สามารถพัฒนาได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราจะมองเห็นตลอดเวลาว่าตัวฉันจะต้องทำอะไรเพิ่ม ตัวฉันจะต้องปรับเปลี่ยนส่วนไหน และนั่นจะทำให้เราเป็นคนที่ควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ ซึ่งในความหมายหนึ่ง การรับเป็น Cause คือการยอมรับตัวเองว่าฉันมีจุดที่สามารถแก้ไขได้ จุดที่สามารถพัฒนาได้ และท้ายที่สุดก็จะสามารถเติบโตจากสิ่งนั้นได้
แต่ก่อนที่จะเข้าใจผิดว่าการรับเป็น Cause จะเป็นการโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่การรับเป็นต้นเหตุหรือรับเป็นสาเหตุก็ไม่ใช่การโทษตัวเองว่าความผิดทั้งหมดอยู่ที่ตัวฉันตลอดเวลา แต่เป็นการยอมรับและสังเกตตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะสามารถจัดการกับเหตุการณ์หรือผลลัพธ์บางอย่างได้อย่างไรต่างหาก เพราะสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นที่กำลังเป็นอุปสรรคก็เป็นเพียงแค่ด่านทดสอบบางอย่างที่รอให้คุณจัดการกับมันเท่านั้น Concept หรือความหมายที่ว่า “ ถูก ” หรือ “ ผิด ” ไม่ได้มีความสำคัญในการพัฒนาเลย เพราะส่วนหนึ่งของการพัฒนาก็คือการทดลอง การทดลองก็ย่อมจะมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายก็เป็นทางเลือกของเราว่าเราจะใช้วิธีทางไหน และสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือบททดสอบมีมาให้เราจัดการอยู่ตลอดเวลา มีมาให้เราใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าคุณจะสามารถมองเห็นช่องทางการพัฒนาจากบททดสอบนั้นรอบตัวหรือไม่แค่นั้นเอง ดังนั้นอยู่ที่ตัวคุณแล้วว่าคุณจะอนุญาตให้ตัวเองมองเห็นช่องทางการเติบโตเหล่านี้หรือยัง
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599