
จริงไหม? ที่คุณบอกว่า “ไม่มีเวลา”
“เวลา” ทรัพยากรล้ำค่าที่ทุกๆคนมีเท่ากันอย่างไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าคุณจะเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก เป็นนักกีฬาโอลิมปิก เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นพ่อค้า เป็นพนักงานบริษัท เป็นนักเรียน/นักศึกษา หรือไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กแรกเกิด คุณมีเวลา 24ชม. ต่อ 1 วันเท่ากันทุกคน ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม “เวลา” คือทรัพยากรที่คุณสามารถนำมาใช้เปลี่ยนให้เป็นปัจจัยต่างๆที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตของแต่ละคนได้ ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณก็อยากจะมีเวลามากขึ้นเพื่อที่จะขยายและพัฒนาธุรกิจของคุณ ถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณก็จะใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆที่เป็นเป้าหมายของคุณได้ ถ้าคุณเป็นเด็กแรกเกิด คุณก็ใช้เวลาในการพัฒนาสมองและระบบต่างๆในร่างกายโดยที่คุณไม่รู้ตัว
ถ้าสมมติว่าทุกคนมี ”เวลา” ไม่เท่ากัน ชีวิตทุกชีวิตบนโลกก็คงจะไม่มีความเท่าเทียมใดๆเลย ถ้าเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งมีเวลาต่อวัน 30 ชั่วโมง ก็คงจะพัฒนาธุรกิจตัวเองได้มากกว่าอีกคนที่อาจจะมีเวลาแค่ 15 ชั่วโมงต่อวันถึงสองเท่า เด็กแรกเกิดที่มีเวลาในชีวิตแค่ 12 ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจจะโตช้ากว่าเด็กที่มีเวลาถึง 40 ชั่วโมงต่อวัน แต่โชคดีที่โลกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ชีวิตทุกชีวิตเป็นโลก มีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากันหมดอย่างไม่มีข้อยกเว้น
24 ชั่วโมงของบางคนสามารถดูแลมิติต่างๆในชีวิตของตัวเองได้มากมาย พวกเขาสามารถ ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ ทำงานสร้างผลลัพธ์ในหน้าที่การงาน ให้เวลากับครอบครัว สังสรรค์กับเพื่อนฝูง และพัฒนาตัวเองได้ ในขณะที่บางคน ถ้าต้องการผลลัพธ์จากการทำงาน พวกเขาจำเป็นจะต้องใช้ “เวลา” ในทำงานเพียงอย่างเดียว มากจนกินเวลาชีวิตไปถึงขนาดที่เหลือเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นให้ครอบครัว เขาไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ และเขาไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองเลย และก็ยังมีบางคนที่ เวลาทั้งวันหมดไปกับการทำงาน แต่ก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์อะไรเกิดขึ้นมาเลย ไม่ต้องพูดถึงมิติอื่นๆ เพราะแค่เรื่องการทำงานยังไม่สำเร็จ เวลาสำหรับเรื่องต่างๆในชีวิตคงไม่ต้องพูดถึง

แล้วอะไร เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ขึ้นมา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หลายๆคนพูดว่า “ไม่มีเวลา” ขึ้นมาทั้งๆที่ทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน คุณบอกว่าคุณ “ไม่มีเวลา” ให้ครอบครัว แต่ทำไม Steve jobs มีเวลาทานข้าวเย็นกับครอบครัวได้เกือบทุกวัน คุณบอกว่าคุณไม่มีเวลาพัฒนาตัวเอง แต่ทำไมเพื่อนร่วมงานของคุณบางคนถึงมีเวลาอ่านหนังสือทุกวัน จนวันดีคืนดีก็โพสรีวิวหนังสือทีละเล่มๆ รวมๆเป็นปีทำเป็น Recap ออกมาผลก็คือทั้งปีอ่านไปได้หลายเล่ม
ดังนั้นคำว่า “ไม่มีเวลา” ไม่มีอยู่จริง เพราะข้อเท็จจริงที่สุดคือทุกคนมีเวลา 1 วัน 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ “ความเชื่อ” ที่มีต่อเวลาของแต่ละคน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเวลาของแต่ละคน แตกต่างกันออกไป
ความเชื่อ
ทำไม “ความเชื่อ” ถึงมีผลกับการจัดการเวลาของคุณได้ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ คุณควรจะต้องเข้าใจก่อนว่า “ความเชื่อ” มีผลกับชีวิตคุณมากกว่าที่คุณคิด
“ความเชื่อ” คือ การตัดสินของเรา ที่ทำให้เรายอมรับว่า เรื่องบางเรื่อง หรือสิ่งบางสิ่ง คือ ข้อเท็จจริง หรือสิ่งนั้นเป็นลักษณะทั่วไปของโลก และความเชื่อยังทำหน้าที่เป็นเหมือนสวิทช์ เปิด/ปิด ศักยภาพที่ทำให้เราสามารถสร้างผลลัพธ์บางอย่างอีกด้วย ทำให้ความเชื่อของเรา มีผลเกี่ยวกับมุมมอง การกระทำ และความเป็นตัวของตัวเองที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกันออกไป
“ความเชื่อมีผลขนาดนั้นเลยหรือ?” ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า เคยมีเหตุการณ์ในชีวิตที่คุณคิดว่า “เดี๋ยวเหตุการณ์นี้มันจะต้องเป็นแบบนี้” แล้วเหตุการณ์ที่คุณคิด เกิดขึ้นจริงๆไหม? เชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์นี้มา เช่น คุณคิดว่า “โอ๊ย ผู้ชายมันก็เจ้าชู้กันหมดทุกคนนั่นแหล่ะ” แล้วคุณก็เจอแฟนที่เป็นผู้ชายเจ้าชู้ และนอกใจคุณจริงๆ หรือ คุณคิดว่า “บริษัทนี้โหดเรื่องการรับคนมาก คงไม่มีใครสัมภาษณ์งานผ่านหรอก” แล้วคุณก็ไม่ผ่านจริงๆ คำถามคือ ถ้าคุณคิดว่า “ผู้ชายทุกคนเจ้าชู้หมด” ทำไมบางคนถึงมีคู่ชีวิตที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องชู้สาวเลย หรือถ้าคุณคิดว่า “HR บริษัทโหดขนาดนี้ คงไม่มีใครสัมภาษณ์ผ่านหรอก” แล้วทำไมยังมีคนที่เข้าทำงานที่บริษัทนั้นได้อยู่?
เพราะ “ความเชื่อที่คุณมีดึงดูดผลลัพธ์ที่คุณได้” ซึ่งนี่ไม่ใช่กฏจักรวาลอะไรเลย แต่ความเชื่อของคุณ จะทำให้คุณโฟกัส และสนใจเฉพาะสิ่งที่คุณเชื่อเท่านั้น
มีการทดลองหนึ่งจัดขึ้นในห้องที่วางสิ่งของหลากสีไว้ในมุมและพื้นที่ต่างในห้อง ซึ่งแต่ละสีมีสิ่งของไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้นปะปนกันไป และกำหนดให้ผู้เข้าร่วมมองหาสิ่งต่างๆรอบตัวที่เป็น “สีแดง” เป็นเวลาทั้งหมด 15 วินาที หลังจากทั้งให้ผู้เข้าร่วมหลับตาลง แล้วพูดสิ่งของสีแดงที่ตนเองเห็น ซึ่งส่วนใหญ่สามารถจำสิ่งที่เป็นสีแดงได้ไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น แต่เมื่อผู้เข้าร่วมทดสอบถูกถามเกี่ยวกับสิ่งของที่เป็น “สีเขียว” ผู้เข้าร่วมทดสอบส่วนใหญ่กลับสามารถพูดออกมาได้เพียง 2-4 ชิ้นเท่านั้น ทั้งๆที่ในเวลาที่ผู้เข้าร่วมทดสอบกวาดสายตามองหาของสีแดง สิ่งของสีเขียวก็ปะปนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันแท้ๆ
ซึ่งเมื่อผู้ทดสอบถูกถามว่า ทำไมถึงจำสีเขียวได้น้อย บางคนตอบว่า “เพราะเขาถูกสั่งให้มองแต่สีแดงด้วยเวลาที่จำกัด เขาเลยไม่ได้สนใจสีอื่นๆ” บางคนตอบว่า “มันมีสีเขียวอยู่ในห้องด้วยหรอ” เขาคิดว่าเขาเห็นแต่สีแดง” บางคนก็ตอบว่า “สีอื่นมีอะไรบ้างผมก็ไม่รู้ ผมจำได้แต่สีแดง” ซึ่งการทดสอบนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อคนเราโฟกัส และจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่าง เราจะมองข้ามสิ่งอื่นๆรอบตัวเราไป

“ความเชื่อ” คือตัวกำหนดว่าคุณจะจดจ่อกับอะไร ถ้าเปรียบเทียบการทดสอบกับตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น “สีแดง” ก็คือ “ผู้ชายเจ้าชู้” ที่คุณผู้หญิงในตัวอย่างมองเห็นนั่นแหล่ะ เพราะเขาคิดแต่ว่า “โลกมีแต่ผู้ชายเจ้าชู้” เขาก็จะมองเห็นแต่ผู้ชายเจ้าชู้ ทำให้เขาไม่เห็นผู้ชายแบบอื่น หรือว่า “สีอื่นๆ” เลย และนั่นทำให้เขาเอาตัวเองเข้าไปผัวพันอยู่กับผู้ชายเจ้าชู้อยู่เสมอ เพราะเขามองไม่เห็นผู้ชายแบบอื่นเลย
“ความเชื่อ” ไม่ได้เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะจดจ่อกับอะไรเท่านั้น แต่ เวลาที่คุณ “เชื่อ” อะไรสักอย่าง คุณจะบิดเบือนทุกอย่างที่คุณได้รับมา ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เข้ามาในสมองคุณ ของคุณจะเชื่อมโยงประสบการณ์บางอย่าง อารมณ์บางอย่าง ความคิดบางอย่างเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณเชื่ออะไรก็แล้วแต่ จิตใต้สำนึกจะบิดเบือนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นไปในแบบที่คุณเชื่อ ในหลักของจิตวิทยาสื่อประสาท เราเรียกสิ่งนี้ว่า Filter หรือตัวกรอง ซึ่งตัวกรองนี้จะบิดเบือนข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล
ยกตัวอย่างข้างต้นที่คุณผู้หญิงคิดว่า “ผู้ชายทุกคนบนโลกเจ้าชู้” ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม คุณก็จะคอยระแวงและคิดไปตลอดว่า เขากำลังแอบนอกใจคุณอยู่ตลอดเวลา ทุกๆอย่างที่เขาทำกับคุณ คุณจะมองเป็นเรื่องต้องสงสัยไปทั้งหมด ถ้าสมมติวันหนึ่งแฟนคุณกลบับบ้านมาพร้อมกับดอกไม้ช่อใหญ่ คุณจะคิดทันทีว่า “ไปซื้อมาได้ทำไม ทำอะไรผิดมา ยอมรับเดี๋ยวนี้เลยนะ” ถ้าวันนึงคุณเห็นแฟนคุณกำลังนั่งทานข้าวกับผู้หญิงคนอื่น คุณจะตราหน้าว่าเขากำลังนอกใจคุณอยู่ทันที และต่อให้ความจริงผู้หญิงคนนั้นจะเป็นหุ้นส่วนหรือคู่ค้าทางธุรกิจของแฟนคุณก็ตาม คุณจะไม่รับฟังคำอธิบายใดๆทั้งนั้น และคุณจะเอาแต่คิดว่า “เขาโกหก” เหตุผลทั้งหมดที่แฟนคุณพูดมาจะกลายเป็นข้ออ้างทันที เพราะคุณเชื่อว่า “ผู้ชายทุกคนเจ้าชู้” และนั่นรวมถึงแฟนคุณด้วย และสุดท้าย ความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่จบลงเพราะฝ่ายชายขอบอกเลิก ด้วยเหตุผลที่ว่า “เขาอึดอัด คุณไม่เคยไว้ใจเขา ทั้งๆที่เขาไม่เคยนอกใจคุณเลย” คุณจะคิดอยู่อย่างเดียวว่า เขาเลิกกับคุณไปหาใคร เขาเลิกกับคุณเพราะเขานอกใจคุณแน่ๆ
นี่คือพลังในการทำงานของความเชื่อ ที่บิดเบือนข้อมูลที่คุณรับเข้ามา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการ บิดเบือน เหมารวม และลบข้อมูลอะไรบางอย่างออกไป เพื่อให้ข้อมูลที่เรารับเข้ามาตรงกับ “ความเชื่อ” ของเรา คราวนี้ลองย้อนกลับมาถึงเรื่องคำว่า “ไม่มีเวลา” ดูอีกครั้ง ถ้าคุณพูดว่าคุณ “ไม่มีเวลา” ไปเรื่อยๆ แสดงว่าคุณกำลังมีความเชื่อว่าคุณ “ไม่มีเวลาจริงๆ” และนั่นทำให้คุณไม่จัดการเวลาของตัวเองไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งการบิดเบือน เหมารวม และตัดทิ้งที่เกิดขึ้น เราจะเรียกกันในเชิงจิตวิทยาสื่อประสาทว่า Delete Distort Generalize
Delete (ลบทิ้ง / ตัดทิ้ง)
ข้อมูลที่เกิดขึ้นรอบตัวเรามีมากมาย มากจนถึงขนาดที่สมองเราจะต้องเลือกรับบางอย่าง และ “ลบ” บางอย่างออกไป เหมือนอย่างที่ได้กล่าวไว้ในตัวอย่างการทดลองเบื้องต้น ถ้าคุณโฟกัสที่ “สีแดง” คุณก็จะมองไม่เห็นสีอื่น หรืออาจจะเห็นแต่ว่าเป็นส่วนน้อยมากๆเมื่อเทียบกับสีแดงที่คุณจดจ่ออยู่
ซึ่งการ Delete เหล่านี้สามารถเป็นได้ทั้งการ ลบเรื่องที่ชอบ หรือลบเรื่องที่ไม่ชอบก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณชอบดาราคนหนึ่ง คุณจะเห็นแต่เรื่องดีๆที่เขาทำ เขาออกมาช่วยสังคม เขาออกมาสร้างรอยยิ้ม เขาเป็นตัวอย่างที่ดี โดยที่คุณไม่รับข้อมูลที่เป็นข่าวด้านลบเกี่ยวกับดาราคนนั้นเลย ถ้ามีคนเอาข่าวแง่ลบกับดาราคนนั้นมาให้คุณดู คุณอาจจะตกใจแล้วบอกว่า “ใช่หรอ? ฉันตามเขามาขนาดนี้นะ ดูข่าวตลอด ทำไมฉันไม่เห็นข่าวนี้เลยล่ะ?” นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าคุณกำลังลบเรื่องราวบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเชื่อของคุณออกไปจากข้อมูลที่คุณได้รับ เพราะจิตใต้สำนึกของคุณกำลังจดจ่อกับอีกเรื่องหนึ่งอยู่นั่นเอง
ซึ่งการ Delete หากคุณเชื่อว่าคุณ “ไม่มีเวลา” จะทำให้คุณลบ “ช่องว่าง” ระหว่างกิจกรรมของคุณ ออกไปจากจิตใต้สำนึกของคุณทันที
ดังนั้นถ้าใครมาถามคุณว่า “เห็นบอกว่าไม่มีเวลา วันนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง” คุณก็จะโฟกัสแต่กิจกรรมที่คุณต้องทำ โดยที่ไม่ได้มองช่องว่างระหว่างวันที่เกิดขึ้น และทำให้คุณไม่สามารถเอาเวลาเหล่านั้นมาบริหารจัดการได้เลย เช่น คุณบอกว่าคุณปวดหลัง คุณปวดไหล่เพราะว่าคุณทำงานเยอะ นักกายภาพบำบัดแนะนำให้คุณแบ่งเวลามายืดในแต่ละวัน ถ้าคุณเชื่อว่า “ไม่มีเวลา” จะตอบทันทีว่า “ฉันไม่มีเวลาหรอก ตื่นเช้ามาก็ต้องรีบออกมาทำงาน กลางวันเวลาก็แทบจะไม่พอกินข้าว ตกเย็นกลับบ้านมาก็ดึกแล้ว” ทั้งๆที่การยืดแต่ละครั้ง กินเวลาไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำ
Distort (บิดเบือน)
การมีความเชื่อ จะทำให้เราบิดเบือนข้อมูลที่เราได้รับด้วยการตีความให้ตรงกับความเชื่อที่เรามีอยู่กับตัว เช่น ไม่มีเพื่อนคนไหนสนใจฉัน แต่เพื่อนของคุณสนใจคุณทุกคน แต่ความสนใจที่คุณได้รับนั้น คุณ “ตีความ” ออกมาว่านั่นคือการกระทำที่เกิดขึ้นจากความสงสาร ความจริงแล้วไม่มีใครสนใจคุณจริงๆหรอก และสิ่งที่ตามมาก็คือ คุณจะเริ่มเอาตัวเองออกมาจากวงสังคมของเพื่อนคุณ และคุณก็จะยังคิดอยู่เสมอว่า “เพื่อนไม่สนใจฉัน”
ในเชิงเดียวกัน ถ้าคุณเชื่อและคิดอยู่เสมอว่า “คุณไม่มีเวลา” คุณก็จะบิดเบือนข้อมูลที่คุณได้รับมาว่า เรื่องเหล่านั้นกินเวลามากเกินไปจนคุณไม่สามารถหาเวลามาจัดการกับมันได้ และจนบางครั้ง คุณอาจจะพยายามหากิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ได้จำเป็นกับเป้าหมายของคุณมาอุดเวลาว่างของคุณ โดยที่คุณไม่รู้ตัวก็เป็นได้

Generalize (เหมารวม)
การเหมารวมคือการตัดสินความหมายของเหตุการณ์ตรงหน้า โดยที่อ้างอิงมาจากประสบการณ์ในอดีตของตัวเอง เช่น เมื่อเด็กเปิดประตูเองเป็นครั้งแรกด้วยการผลัก เด็กจะเหมารวมทันทีว่าประตูทุกบานเปิดได้ด้วยการผลักทั้งหมด ซึ่งการเหมารวมในลักษณะนี้คือการเรียนรู้ในแง่บวก แต่ในทางกลับกัน ก็สามารถเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ทางลบได้เช่นกัน เช่น ในตอนเด็กคุณถูกหมากัด และนั่นทำให้คุณกลัวหมาทุกตัวเพราะว่ากลัวมันจะกัด ถึงแม้ว่าหมาตัวที่อยู่ตรงหน้าคุณจะเป็นแค่ลุกหมาตัวเล็กๆที่ฟังยังงอกออกมาไม่เท่าไหร่ก็ตาม
และ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณไม่มีเวลาให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยว่าคุณจะเชื่อว่าคุณจะไม่มีเวลาให้กับอีกหลายๆเรื่อง หรือคุณอาจจะเคยฟังหรือได้ยินใครบางคนพูดออกมาว่าพวกเขาไม่มีเวลาทำเรื่องเหล่านั้นหรอก ทำให้คุณเก็บเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นความเชื่อของตัวเองว่า คุณก็ไม่มีเวลาให้กับเรื่องเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งในความจริงแล้ว ถ้าหากว่าคุณจัดการลำดับความสำคัญได้ และเลือกเอาสิ่งที่จำเป็นในแต่ละมิติของชีวิตคุณมาใส่ในตารางเวลาในแต่ละวัน คุณก็จะสามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้ แต่เพราะว่าคุณเชื่อว่าคุณ “ไม่มีเวลา” คุณก็จะเหมารวมกิจกรรมทุกอย่างไปว่า คุณไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้หรอกเพราะว่าคุณไม่มีเวลา
ดังนั้นเมื่อเห็นแล้วว่า “ความจริง” คือทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ “ความเชื่อ” ที่ต่างกัน ทำให้มุมมอง การกระทำ และการโฟกัส ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน สร้างความแตกต่างในเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเวลาอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดของเรื่องนี้ เพียงแค่คุณเลิกพูดว่าคุณไม่มีเวลา หรือเลิกใช้คำว่า ไม่มีเวลา มาเป็นข้ออ้างให้คุณไม่ต้องทำในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ เพราะนั่นจะทำให้คุณ “ไม่มีเวลา” จริงๆ
ในขณะที่ถ้าคุณเห็นบางเรื่องจำเป็นในชีวิต และคุณต้องการจะจัดการกับมันให้ได้ ให้คุณพูดว่า “ฉันหาเวลาให้เรื่องนี้ได้” ซึ่งนี่เป็นเพียง 1 เทคนิคง่ายๆในการเริ่มต้นจัดการกับเวลาของตัวเองเท่านั้น เพราะเทคนิคง่ายๆแค่หนึ่งข้อ อาจจะเปลี่ยน “ความเชื่อ” ที่คุณกรอกหูตัวเองมานานก็เป็นไปได้
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599