2 เทคนิคที่ทำให้คนอื่น เข้าใจคุณได้มากขึ้น

             สภาพแวดล้อมที่ทุกคนวาดฝันเอาไว้ คิดว่าคงจะไม่พ้นสภาพแวดล้อมที่รอบ ๆ ตัวคุณ รายล้อมไปด้วยกลุ่มคนคุณภาพในหลาย ๆ รูปแบบ คุณลองคิดภาพดูว่า ชีวิตคุณจะดีแค่ไหน ถ้าตื่นมาแล้วเจอครอบครัวอบอุ่น ทุกคนเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นที่พึ่งให้กัน มีเพื่อนสนิทที่พร้อมจะดูแลซึ่งกันและกัน มาทำงานก็มีเพื่อนร่วมงานที่จับมือกันพัฒนาและแพ้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน คุณลองจินตนาการดูว่า ชีวิตของคุณ จะง่ายขึ้น และมีความสุขมากขึ้นแค่ไหน ?

             “ความเข้าอกเข้าใจ” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัง ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน หรือจะเป็นความสัมพันธ์กับคนรักก็ตาม ทุกคนน่าจะมีความเห็นที่ตรงกันว่า ถ้าความสัมพันธ์เหล่านี้ขาดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ปัญหาเกิดขึ้นทันที พวกเราเคยได้ยินเหตุการณ์ที่สมาชิกในครอบครัวไม่พอใจกัน ไม่ยอมรับกัน เคยได้ยินเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมงานไม่ทำงานร่วมกัน แก่งแย่งชิงดีกัน เราเคยเห็นกลุ่มเพื่อนที่คบกัน อยู่ด้วยกันมาหลายปี ทะเลาะกันรุนแรงด้วยเหตุผลที่อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น หรือมีบางครั้งการทะเลาะผิดใจกันก็สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้ง ๆ ที่สองฝ่ายหวังดีซึ่งกันและกันด้วยซ้ำ แต่ความหวังดีเหล่านั้น กลับทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างอารมณ์ด้านลบให้กับคนทั้งสองฝ่ายด้วย เพียงเพราะว่า “ไม่เข้าใจกัน”

             “เขาไม่เข้าใจฉัน” ดูจะเป็นวลีที่มักจะได้ยินมากที่สุดในเวลาที่เกิดปัญหาขัดแย้งกันระหว่างคนสองคน “แม่ไม่เข้าใจฉัน” “แฟนฉันไม่เข้าใจอะไรเลย” “เพื่อนฉันไม่ฟังฉันเลย” ฯลฯ เมื่อเรารับรู้หรือสัมผัสได้ว่าบุคคลตรงหน้าเรา ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังพยายามจะสื่อสารออกไป หรือเข้าใจผิดไปจากที่สื่อสารออกไป สิ่งที่เรามักจะแสดงออกก็คือ เราพยายามอธิบายมากขึ้น เราพยายามทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง “เข้าใจเรา”

             แต่บ่อยครั้งที่เราพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจเรา ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดูจะไม่ได้เป็นแบบที่เราต้องการเท่าไหร่ เพราะเหลายครั้งที่เราถูกตอบกลับมาว่า “เข้าใจแล้ว” เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าคนตรงหน้าของเราเข้าใจเราจริง ๆ นั่นเป็นเพราะอะไร ? แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนรอบตัวเรา เข้าใจเราได้มากยิ่งขึ้น ? บทความนี้จะพูดถีงสองเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณและคนรอบตัวคุณ เข้าใจกันได้มากขึ้น

1. เข้าใจคนอื่นก่อน

             อ่านชื่อหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด “เข้าใจคนอื่นก่อน” เป็นเทคนิคที่ได้ผลมากที่สุด หลักการ Give first หรือที่เข้าใจกันว่า “ก่อนจะเรียกร้องอะไร คุณจะต้องเป็นคนให้เสียก่อน” ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคุณและ คนรอบตัวของคุณได้

             ถ้ายังไม่เห็นภาพว่า การเข้าใจคนอื่นก่อนจะช่วยให้คนรอบตัวเข้าใจคุณได้มากขึ้นได้อย่างไร ? ลองคิดถึงเพื่อนสนิทของคุณดู อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณสามารถเข้าใจเขาได้ ? เชื่อว่าคำตอบหนึ่งที่จะผุดขึ้นมาในหัวคุณก็คือ เพราะคุณมั่นใจว่า เขาก็เข้าใจคุณได้เหมือนกัน จริงไหม ?

             คุณลองคิดต่อดูว่า คุณจะใช้ชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่เอาแต่เรียกร้องความเข้าใจจากคนรอบข้าง โดยที่คุณไม่ยายามเข้าใจพวกเขาเลย คุณคิดว่าวิธีการจัดการกับความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ จะได้ผลอย่างไรกับคุณและคนรอบตัวคุณ ลองนึกภาพดูว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่พยายามจะเรียกร้องให้คุณเข้าใจเขาตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะพูดอย่างไร ไม่ว่าเขาจะมีการกระทำอย่างไร ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร เขาก็พยายามที่จะเรียกร้องขอความเข้าใจจากคุณตลอดเวลา โดยที่ไม่ได้พยายามเข้าใจเลยว่ามีอะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้นภายในจิตใจของคุณใน ตอนนี้ ถามง่าย ๆ คุณยังอยากจะเข้าใจเพื่อนคนนี้อยู่ไหม ?

             ลองนึกต่อดูว่า ในบทสนทนาที่เพื่อนของคุณเข้ามาปรึกษา คุณใช้เวลาคุยกับเพื่อนคุณ เป็นผู้ฟังที่ดี เป็นพื้นที่การฟังที่มีคุณภาพให้เพื่อนคุณได้ เมื่อเพื่อนคุณรู้สึกดีขึ้น หนึ่งคำพูดที่มักจะออกมาก็คือ “แล้วแกล่ะ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ? “  นั่นคือหนึ่งในข้อพิสูจน์ที่ดีข้อหนึ่งว่า เมื่อคุณตั้งใจที่จะเข้าใจคนอื่นก่อน คนอื่นก็จะอยากเข้าใจคุณมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แล้วเราจะสามารถเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร ?

             คำตอบนี้ถูกเฉลยไว้ในตัวอย่างอันล่าสุดแล้ว วิธีการเข้าใจคนอื่นที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือการ “ฟัง”  และการวางตัวเองเป็นพื้นที่ในการฟังที่ดี ให้คนรอบตัวของคุณ

             Dale Carnegie นักเขียนและอาจารย์ที่คิดค้นหลักสูตรการพัฒนาตัวเองชาวอังกฤษเคยกล่าวเอาไว้ ว่า “ถ้าหากว่าคุณ คุยกับคนหนึ่งคนต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 เดือน โดยที่คุณเป็นฝ่ายพูดฝ่ายเดียว และคุณเอาแต่พูดถึงแต่สิ่งที่คุณสนใจ คุณจะไม่รู้สึกถึงความสนิทสนมที่เกิดขึ้นระหว่างคุณ 2 คน มากเท่ากับการที่คุณแค่นั่ง “ฟัง” สิ่งที่เขาพูดเพียงแค่ 2 ชม. เท่านั้น” นั่นหมายความว่า การเป็นผู้ฟังที่ดี การเป็นพื้นที่การฟังที่มีคุณภาพ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้คนรอบตัวคุณ เข้าใจคุณมากขึ้น เพราะความสนิทสนมที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน เป็นเครื่องยืนยันที่ดีที่สุดว่า พวกเขากำลังเข้าใจซึ่งกันและกันอยู่

การฟังที่ดี เป็นอย่างไร ?

             ก่อนที่เราจะตอบคำถามว่าการฟังที่ดีเป็นอย่างไร เราควรจะมีตัววัดว่าอะไรคือการฟังที่มีประสิทธิภาพ เพราะอย่างที่ทุกคนรู้กัน แค่นั่งฟังอย่างเดียว อาจจะไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจคนตรงหน้าได้ จริงไหม ? ถ้าคุณนั่งฟังไปทำอย่างอื่นไป นั่งฟังแบบเหม่อลอย นั่งฟังโดยที่พูดแทรกหรือพูดขัดตลอดเวลา ลองคิดกลับกันดูว่า ถ้าคุณกำลังพูดอะไรบางอย่างอยู่ แต่คนตรงหน้าคุณเปิดทีวีดู หัวเราะชอบใจกับสื่อที่เขากำลังเสพอยู่ในขณะนั้น แล้วก็หันมาบอกคุณว่า “ฟังอยู่ ๆ พูดต่อได้เลย” คุณจะยังรู้สึกอยากจะสื่อสารกับเขาอยู่ไหม ? ดังนั้นข้อแรกที่สุดของการเป็นผู้ฟังที่ดีก็คือ เป็นผู้ฟังที่ทำให้ผู้พูด อยากพูดให้คุณฟัง

 

วิธีการแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังสนใจ

  • ปิดเครื่องมือสื่อสาร หยุดทุกอย่างที่คุณกำลังทำอยู่ และให้ความสนใจกับการฟังสิ่งที่คนตรงหน้ากำลังพูด

  • แสดงอาการตอบรับด้วยคำพูด (เออ…ใช่ , ไม่เคยได้ยินมุมนี้เหมือนกันนะ , จริงหรอ? ฯลฯ)

  • แสดงอาการตอบรับโดยที่ไม่ใช้คำพูด (พยักหน้า , เอนตัวเข้าหาผู้พูดเล็กน้อย ฯลฯ)

             นอกจากจะแสดงอาการสนใจในเนื้อหาที่ผู้พูดกำลังสื่อสารแล้วนั้น ข้อควรระวังอย่างหนึ่ง ที่คุณควรจะต้องตั้งใจระวังที่สุดก็คือ “ความคิด” ของคุณในขณะที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่

             เพราะความคิดของคุณ ผุดขึ้นมาตอบสนองกับข้อมูลที่คุณรับฟังแบบทันที และความคิดที่ผุดขึ้นมานั้นทำให้ข้อมูลที่คุณรับจากผู้พูด บิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบที่ความคิดคุณพุ่งขึ้นมาทันที นอกจากบิดเบือนแล้ว คุณอาจจะ “ตัดสิน” และให้ความหมายกับคำพูดเหล่านั้น หรือกับตัวผู้พูด โดยที่ความหมายที่คุณให้ไว้ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ผู้พูดพยายามจะสื่อสาร และนั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ คุณต้องการฟัง รับรู้และเข้าใจผู้พูด ในสิ่งที่เขากำลังสื่อสาร คุณไม่ได้อยากจะเข้าใจเขา ตามแบบที่คุณคิด ถูกไหม ? ดังนั้นระวังที่สุดคือ ความคิดของตัวเองที่ดังอยู่ในหัวของคุณ คุณกำลังนั่งฟังเหตุผลของเขา วิธีคิดและมุมมองของเขา เพื่อที่คุณจะได้ “เข้าใจ” เขามากขึ้น 

2. ทวน และสะท้อนอย่างไม่ตีความ

     วิธีที่จะจัดการกับความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของตัวคุณเองที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การใช้ เทคนิคการ ”ทวนคำพูด” อ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะงงว่า แค่การทวนคำพูด จะทำให้เราเข้าใจคนตรงหน้าได้มากขึ้นอย่างไร ?

             เทคนิคการทวนคำพูด ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ็อนไปมากกว่าการทวนคำพูดที่ผู้พูด พูดออกมา “คำต่อคำ” เลย เป็นเรื่องที่ฟังดูเผิน ๆ แล้วง่าย และไม่น่าจะมีผลอะไรมาก แต่การทวนคำพูด กลับมีผลต่อผู้พูดอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการทวนคำพูดเป็นเครื่องการันตีได้ดีที่สุดว่า คนที่ฟังเราอยู่ ได้รับสารที่เราพูดไปเป๊ะ ๆ แบบไม่คลาดเคลื่อน และนั่นมี Impact กับผู้พูด มากกว่าที่คุณคิด

เพราะในชีวิตประจำวัน คนเราจะถูกตัดสินการสื่อสารผ่านตัวกรองหรือความเชื่อของคนอื่น ๆ รอบตัวเราตลอดเวลา การถูกเข้าใจในแบบที่เราเป็น จึงเป็นสิ่งที่เรามักจะสัมผัสได้จากเพื่อนสนิท หรือคนสนิทที่เรารู้สึกว่า “เขาเข้าใจเรา” จริง ๆ 

ลองคิดตามดูว่า ในชีวิตของเรา เราถูกตีความมากแค่ไหน

ตัวอย่างที่ 1

สมมติว่านาย A พูดว่า “ร้อนจัง ไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย”

นาย B ตอบกลับมาว่า “นั่นสิ ร้อนเหมือนกัน ถ้าได้กินของหวานเย็น ๆ ก็คงดีเนอะ และถ้าได้แช่น้ำเย็น ๆ ด้วยนี่เพอร์เฟคเลยเนอะ”

 ถ้ามองเผิน ๆ แล้วก็อาจจะเหมือนคุยเรื่องเดียวกันอยู่ แต่ถ้าได้ลองสังเกตดี ๆ คุณจะสังเกตได้ว่า นาย A ไม่ได้ถูกเข้าใจเลยว่า เขากำลังร้อนมากเสียจนรู้สึกว่าไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย

ลองมองบทสนทนาแบบเดิมที่ใช้เทคนิคการทวนคำพูดดู

ตัวอย่างที่ 2

นาย A พูดว่า “ร้อนจัง ไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย”

นาย B ตอบกลับไปว่า “เมื่อกี้เราได้ยินแกพูดว่า ร้อนจัง ไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย เราช่วยอะไรได้ไหม ? “

            บทสนทนาเรื่องเดิม แต่ความใส่ใจและความแสดงออกว่านาย B กำลังเข้าใจสิ่งที่นาย A พูดอยู่ แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งความแตกต่างหลัก ๆ ระหว่างตัวอย่างที่ 1 และตัวอย่างที่ 2 ก็คือ นาย B เลือกที่จะใส่ความคิดและความเชื่อของตัวเองที่ว่า “ถ้าร้อน ก็ต้องกินอะไรเย็น ๆ และอยู่ในที่เย็น ๆ” โดยที่นาย B ไม่ได้แสดงออกทางคำพูดถึงความคิดและคำพูดของนาย A เลย ในทางกลับกัน ในตัวอย่างที่ 2 นาย B ทวนคำพูดออกมาอย่างชัดเจนว่านาย A พูดอย่างไร คำต่อคำ และการทวนคำพูดนั้นก็เป็นการยืนยันว่านาย B รับรู้และเข้าใจประโยคที่ตัวเองได้ยินมาชัดเจน 100%

             ตัวอย่างที่ยกขึ้นมานี้เป็นเพียงแค่เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ได้ซันซ้อนอะไรมาก แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่านี้ ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้พูดมากกว่านี้ แต่การสื่อสารจากผู้พูด ถูกความคิดของผู้ฟังบิดเบือนความหมายและตัดสินเป็นสิ่งอื่น การไม่เข้าใจกันจะมีผลต่อความรู้สึกและความสัมพันธ์ของคนสองคนมากกว่านี้หลายเท่า

             ดังนั้นการเลือกที่จะเข้าใจคนอื่นก่อน เลือกที่จะวางตัวเองให้เป็นพื้นที่การฟังที่ดี ทั้งสองข้อนี้เป็นเทคนิคในการสร้างคุณสมบัติในตัวคุณ ที่จะทำให้ผู้คนรอบตัวคุณ หันมาเข้าใจคุณมากขึ้น เปิดใจรับฟังและเข้าใจความคิด และมุมมองในแบบของคุณ เหมือนกับที่คุณ เข้าใจในความคิดและมุมมองของพวกเขา ในแบบที่เขาเป็น

 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า