Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.

3 เทคนิคที่จะทำให้คุณ “ เก่งคน “
“ อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น “ นี่คงจะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่หลายคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำที่ดีควรจะมี เพราะถ้าผู้นำมีความสามารถหรือความถนัดเฉพาะทางเพียงอย่างเดียว คงจะไม่สามารถพาองค์กรพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้ เรือลำที่มีคนเก่งพายอยู่เพียงเคนเดียว ไม่มีทางแล่นเร็วเท่าเรือที่มีคนเก่งหลายคน และเรือที่มีคนเก่งหลายคน ก็ไม่มีทางที่จะแล่นเร็วเท่าเรือที่เต็มไปด้วยคนเก่ง ที่มีผู้นำที่สามารถทำให้คนเก่งทุกคนทำงานกันเป็นทีมได้แน่นอน
ที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะยกตัวอย่างในแง่ของการทำงานเป็นหลัก แต่การเป็นคนที่ “เก่งคน“ ไมได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ในด้านของการพัฒนาองค์กรอย่างเดียว แต่การ “ เก่งคน “ ยังทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตกับคนรอบตัวได้ง่ายขึ้นในแบบที่คุณคิดไม่ถึงมาก่อน เพราะเมื่อพูดถึงคนใกล้ตัว คุณย่อมจะต้องมีความหวังดีให้กับพวกเขาอยู่แล้ว แต่บางครั้งการกระทำจากความหวังดีกลับได้ผลลัพธ์ทางลบแทน อยากดูแล อยากสื่อสาร อยากถ่ายทอด แต่ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ถูกรับฟัง หรือบางครั้งอาจจะกระทบกระทั่งกันก็เป็นได้
ไม่ว่าคุณจะอยาก “ เก่งคน “ เพื่ออะไรก็ตาม Keyword ง่าย ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นคนที่ “ เก่งคน “ ก็คือ Connect before content ที่แปลความหมายง่าย ๆ ว่า “ เข้าถึงกันให้ได้ก่อนแล้วค่อยสื่อสาร “
เพราะทุกคนมีการรับข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเจอเหตุการณ์ที่ ใช้วิธีการสื่อสารแบบเดียวกันกับคนสองคน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกัน เหตุการณ์นั่นมีสาเหตุมาจากความแตกต่างในการรับข้อมูลของแต่ละบุคคลนั่นแหละ ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มีผลกับการรับสารมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “ ประสบการณ์ในอดีต “ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ฯลฯ บางคนอยู่ในบ้านที่สังสรรค์กันเฮฮาตลอดเวลา คนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มสูงที่จะให้ความหมายของการ “ เสียงดัง “ ว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน เป็นเรื่องเชิงบวก แต่กลับกันถ้าบางคนอยู่ในบ้านที่การเสียงดังเกิดขึ้นจากการดุด่า ต่อว่า คนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มสูงที่จะให้ความหมายของการ “ เสียงดัง “ ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจ เป็นเรื่องเชิงลบ เป็นต้น
ซึ่งแต่ละคนก็ร้อยพ่อพันแม่ล้านเพื่อน เราคงจะไม่สามารถรู้เรื่องราวทั้งหมดของคนทุกคนได้ เราไม่มีทางรู้ได้ในทันทีว่าเพราะอะไร คนตรงหน้าเราถึงให้ความหมายกับเหตุการณ์บางอย่างในลักษณะนี้ ทำไมเขาถึงตอบสนองออกมาลักษณะนี้ แต่ข่าวดีก็คือ ต่อให้เราไม่สามารถรับรู้ประสบการณ์ในอดีตของพวกเขา เราก็สามารถที่จะเข้าใจ และ “ เข้าถึง “ พวกเขาเหล่านั้นได้ ด้วยเทคนิคง่าย ๆ 3 ข้อต่อไปนี้

1 . Be Observative สังเกตให้เก่ง
เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับกลุ่มคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน ถ้าหากคุณอยากจะเป็นคนที่ “ เก่งคน “ อย่างแรกที่คุณจะต้องฝึกทำให้เป็นนิสัยก็คือ คุณจะต้องเป็นคนช่างสังเกต หรือหมั่นสังเกตคนรอบตัวของคุณอยู่เสมอ
แต่สังเกตในที่นี้ก็ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องไปเดินตามพวกเขาทุกฝีก้าว หรือว่าพยายามที่จะถามถึงชีวิตประจำวันของพวกเขาตลอดเวลา แต่สังเกตในที่นี้หมายถึง สังเกตการวิธีการสื่อสารของพวกเขา
พอขึ้นชื่อว่าการสื่อสาร เรื่องแรกที่หลายคนคิดถึงทันทีก็คือ “ การพูดจา “ ถ้าคุณลองย้อนนึกถึงเพื่อนสนิทของคุณสัก 2 คน แล้วลองเปรียบเทียบวิธีการพูดของพวกเขาทั้งสอง คุณจะมองเห็นความแตกต่างในการสื่อสารของพวกเขาได้ทันที ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะมาก หรือว่าน้อยก็ตามที แต่ความแตกต่างเหล่านั้นจะบ่งบอกอะไรบางอย่างให้กับคุณได้
แต่ถ้าพูดถึงการสื่อสารแล้ว จะจำกัดอยุ่ที่คำพูดอย่างเดียวก็กะไรอยู่ เพราะจากการศึกษาของ Dr.Mehrabian แสดงผลว่า จิตใจเราจะตีความสารที่ได้รับมาตามสัดส่วนดังนี้
- Verbal คำพูด 7%
- Vocal น้ำเสียง 38%
- Visual ภาพที่เห็น 55%
ตัวเลขเหล่านั้นหมายความว่า เมื่อเรากำลังรับสารในระหว่างที่พูดคุยสื่อสารกับใครบางคนอยู่ จิตใจของเราจะให้น้ำหนักกับคำพูดที่หูได้ยินเพียงแค่ 7 % เท่านั้น อีก 93% ที่เหลือคือน้ำเสียงที่ใช้ กับภาพที่เขาเห็น ซึ่งภาพที่เห็นก็คือภาษากายทั้งหลายนั่นแหละ สีหน้าท่าทางที่ผู้พูดกำลังแสดงออก มีผลมากกว่าคำพูดที่พวกเขาใช้เกือบ 8 เท่า เลยทีเดียว
สำหรับบางคนที่ยังไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร ” คำพูด “ ถึงดูมีน้ำหนักน้อยเหลือเกิน ของจินตนาการดูว่า ผู้ชายบอกกับแฟนของเขาว่า “ ผมรักคุณ “ ด้วยน้ำเสียงที่ตะโกนสุดเสียง สีหน้าโมโห เหมือนกับมีครูฝึกนาวิกมายืนตะโกนใส่หน้าว่า “ ผมรักคุณ “ ยังไงยังงั้น คุณคิดว่าแฟนของเขาจะรู้สึกโรแมนติกกับประโยคนั้นไหม ? หรือถ้าเกิดว่าผู้นำของคุณ ยืนพูดในที่ประชุมว่า “ เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ผมมั่นใจ “ แต่ว่าเขาพูดเสียงเบา พูดไม่รู้เรื่อง ยืนห่อตัว ก้มหน้าก้มตา หลบสายตาคนฟัง คุณจะเชื่อไหวไหมว่า “ เขามั่นใจ “ ?
และถ้าคุณอยู่กับคนกลุ่มหนึ่งไปนาน ๆ เข้า คุณจะเริ่มสังเกต “ สัญญาณ “ บางอย่างที่จะเกิดขึ้นเมื่อคนรอบตัวของคุณกำลังรู้สึกอะไรบางอย่างอยู่ เช่น บางคนจะเริ่มเดินไปเดินมาในตอนที่รู้สึกกังวล หรือบางคนจะเผลอกัดเล็บตอนที่กำลังเครียด บางคนอาจจะเดินเข้ามาชวนคุยชวนเม้าเยอะเป็นพิเศษเวลาที่ไปเจออะไรดี ๆ มา เป็นต้น ดังนั้นการเริ่มต้นสังเกตวิธีการสื่อสาร และวิธีการใช้ชิวีตของแต่ละคน จะทำให้คุณเริ่มเข้าใจคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น
2 . Matching & Mirroring ว่าไงว่าตามนั้น แสดงออกให้เหมือนกัน
หลังจากที่อ่านเทคนิคข้อแรกมาแล้ว หลายคนน่าจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า การสื่อสารของแต่ละคนมาความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และการสื่อสารแต่ละแบบแสดงผลอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ สังเกตแล้วยังไงต่อ ? “ ซึ่งการสังเกตนั้นจะนำมาถึงเทคนิคข้อที่สองก็คือ การทำตาม หรือว่าเลียนแบบภาษาสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม
แต่การเลียนแบบหรือว่าทำตามก็ไม่ได้หมายความว่าให้พูดตามแบบล้อเลียนหรือแบบคำต่อคำด้วยเจตนาที่จะกวนประสาทของอีกฝั่งหนึ่ง แต่การทำตามในที่นี้คือ การใช้ภาษาสื่อสารในแบบเดียวกันกับคู่สนทนาของคุณ การ Match ภาษาสื่อสารลักษณะนี้จะทำให้คู่สนทนาของคุณสบายใจที่จะสื่อสารมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเลือกใช้วิธีการสื่อสารในแบบที่เขาสบายใจ ประมาณว่าเขาชอบอะไร เขาก็มักจะเลือกทำแบบนั้นนั่นแหละ
การแสดงออกที่เหมือนกันนี้ อาจจะฟังดูแล้วเป็นเรื่องง่าย แต่เชื่อเถอะว่าหลายคนมองข้ามเรื่องนี้ไป ลองคิดสภาพดูว่า เพื่อนคุณกำลังนั่งเครียดอยู่ เพื่อนคุณนั่งก้มหน้า ไหล่ห่อ เวลาพูดจาก็งืมงำเสียงเบา แล้วคุณดันไปเลือกวิธีสื่อสารที่ตรงกันข้ามเขาอย่างสิ้นเชิง คุณยืนเชิดอกค้ำหัวเพื่อนคุณ พูดจาเสียงดังเสียงแข็ง คุณคิดว่านั่นจะดูเหมือนเพื่อนที่กำลังจะไปเป็นพื้นที่ในการฟังให้กับเขาไหม ? ถ้าลองนึกภาพตามดูอาจจะดูเหมือนหัวหน้ากำลังด่าลูกน้องอยู่ด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณเลือกที่จะให้ภาษาสื่อสารเดียวกัน ย่อตัวนั่งลงไปอยู่ในระดับเดียวกัน ค่อย ๆ พูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวกับเพื่อนคุณ นั่นถึงจะดูเป็นภาพของเพื่อนที่กำลังปลอบกันอยู่มากกว่า จริงไหม ?
หรือลองคิดอีกสถานการณ์หนึ่งคือ เพื่อนคุณกำลังจะเข้าไปเสนอโปรเจคให้กับนายทุน เพื่อนคุณดูท่าทางมั่นใจมาก สีหน้ายิ้มแย้ม ยืนตัวตรง อกผาย แต่คุณเดินตัวห่อ ๆ เข้าไปพูดให้กำลังใจเบา ๆ ว่า “ สู้ ๆ นะ “ ถ้ามาแนวนี้เพื่อนของคุณอาจจะคิดว่าเขาอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นคนที่ต้องให้กำลังใจคุณมากกว่าก็ได้…

3 . Win – Win ได้ประโยชน์ทั้งคู่
หลายคนอยากจะเก่งคน เพราะอยากจะสื่อสารกับคนอื่นได้ อยากจะโน้มน้าวความคิดหรือกระตุ้นให้ใครบางคนทำอะไรบางอย่างเพื่อประโยชน์ของคุณ และนี่คือกับดักอันสุดท้าย เพราะนี่ไม่ได้เป็นการเก่งคนเพื่อจะอยู่ร่วมกันคนอื่นได้อย่างมีความสุข แต่นั่นเป็นเจตนาที่จะ “ ควบคุม “ พฤติกรรมของคนรอบตัว เพื่อประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง ซึ่งเจตนาในการสื่อสารลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ในที่ทำงาน เพราะบ่อยครั้งที่คุณอาจจะสังเกตได้ว่า พนักงานระดับหัวหน้าหลายคนถูกส่งไปอบรมทักษะการสื่อสาร การบริหารทีม การพูดจาโน้มน้าว ฯลฯ
การมีทักษะในการสื่อสารและเข้าถึงที่ดี เป็นคุณสมบัติที่หลายองค์กรอยากจะให้เหล่าผู้นำในองค์กรมี แต่คุณจะต้องเข้าใจให้ได้ว่า นี่เป็นศาสตร์เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้มีความสุข และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขจะต้องไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไม่ยุติธรรม ดังนั้นถ้าหากว่าคุณมีเจตนาที่จะควบคุมคนอื่น เชื่อได้เลยว่า พวกเขาก็จะสัมผัสได้ว่าคุณกำลังพยายามควบคุมเขาอยู่ หรือกำลังพยายามใช้ประโยชน์บางอย่างจากพวกเขาอยู่ คนเราทุกคนผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเยอะ เวลาที่มีใครสักคนเข้ามาพูดจาหว่านล้อมเพื่อหาประโยชน์สักอย่างก็ย่อมจะต้องดูออกเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ดังนั้นวิธีสื่อสารที่ดีที่สุดก็คือ การหาผลลัพธ์ที่จะทำให้ทั้งคุณ และเขาได้ประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายพอใจร่วมกัน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เวลาคุณต้องการใช้ประโยชน์จากใครก็ตาม เขารู้อยู่แล้ว คุณก็จริงใจและชัดเจนกับพวกเขาไปเลยว่า คุณต้องการอะไร และพวกเขาจะได้อะไร เพราะต่อให้คุณจะไม่ได้มีเจตนาหาผลประโยชน์ก็ตาม บางครั้งการไม่สื่อสารไปตรง ๆ ว่าความหมายของคุณคืออะไร เจตนาของคุณคืออะไร ก็อาจจะทำให้สารที่ผู้ฟังได้รับ ผิดเพี้ยนไปได้
สุดท้ายนี้หลังจากที่อธิบายมาครบทั้ง 3 เทคนิค แล้ว อย่างหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดใน 3 หัวข้อก็คือ การเก่งคนคือการปรับตัวให้อยู่เหมาะสมกับเขา ไม่ใช่ยืนเป็นศูนย์กลางจักรวาลให้ทุกคนมาหมุนรอบตัวคุณ หลายคนมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำตัวเป็นแกนจักรวาลแน่นอน แต่บางครั้งคุณอาจจะไม่รู้ตัวว่า คุณกำลังมีความคิดว่า “ ทำไมคนนู้นไม่ทำแบบนั้น “ หรือ “ ทำไมคนนั้นไม่ทำแบบนี้ “ เมื่อไหร่ที่คุณมีความคิดที่ต้องการให้ใครทำอะไรบางอย่างตามใจคุณ นั่นเป็นการพยายามหรือเรียกร้องให้คนอื่นปรับตัวเข้าหาคุณแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้แนะนำให้คุณลืมความเป็นตัวเองทิ้งไป แล้วหันไปวิ่งตามคนอื่นเต็มกำลัง เพียงแค่คุณมีสติ รับรู้และสังเกตคนรอบตัว แล้วเลือกวิธีสื่อสารให้เหมาะสม เท่านั้นเอง
เชื่อว่าหลายคนที่เลือกเข้ามาอ่านบทความนี้ จะต้องเป็นผู้ที่รักการพัฒนาตัวเอง และอยากจะฝึกฝนเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ แน่นอน และการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือการลงมือทำในทันที ถ้าคุณอ่านอยู่ คุณอาจจะมีคนรอบตัวของคุณบางคนที่คุณรู้สึกว่า พูดกันยังไงก็ไม่เข้าใจกันสักที แนะนำอะไรไปก็เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หวังว่าเทคนิคง่าย ๆ 3 เทคนิค “ สังเกต “ , “ ทำตาม “ และ “ win-win “ จะทำให้การสื่อสารของคุณเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน คำถามสุดท้ายก็ที่คุณต้องเริ่มถามตัวเองเลยก็คือ คุณจะเปลี่ยนวิธีการสื่อสารของคุณ กับคนสำคัญของคุณ อย่างไรบ้าง ?
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599