5 วิธีคิดในการสร้างวินัยในตัวคุณ

             “ความสำเร็จ” น่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนกำลังพยายามต่อสู้ ดิ้นรน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เผื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสำเร็จ” ซึ่งความหมายของความสำเร็จนั้นแตกต่างออกไปสำหรับหลาย ๆ คน บางคนให้ความหมายว่า ความสำเร็จคือการมีรายได้มาก ๆ เผื่อที่เขาจะสามารถดูแลคนในครอบครัวและดูแลคนสำคัญของตัวเองได้ บางคนบอกว่าควมสำเร็จคือการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ บางคนบอกว่าความสำเร็จคือการมีความสุขในทุก ๆ วัน ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าภาพความสำเร็จของคุณจะเป็นแบบใดก็ตาม แนวคิดหรือการว่าแผนในการสร้างความสำเร็จเหล่านั้นจะคล้าย ๆ กัน คุณจะต้องรู้ว่าเผื่อความสำเร็จของคุณ คุณจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ? เช่น คุณจะต้องมีความสามารถแบบไหน ? คุณจะต้องมีทรัพยากรแบบไหน ? คุณจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ? ฯลฯ

             เชื่อว่าด้วยศักยภาพในตัวของพวกเราทุกคน พวกเราจะสามารถหาคำตอบเหล่านั้นให้ตัวเองได้แน่นอนอยู่แล้ว “ฉันจะต้องออกกำลังกายรักษาสุขภาพ” “ฉันจะต้องพัฒนาทักษะ….” “ฉันจะต้องเรียนรู้เรื่อง…..” ฯลฯ แต่ปัญหาใหญ่ที่หลาย ๆ คนอาจจะกำลังเจออยู่ในตอนนี้ก็คือ กิจกรรมเหล่านั้น ไม่เกิดขึ้นสักที เพราะว่าคุณยังไม่มี “วินัย”

             ลองมาทำความเข้าใจนิยามของคำว่า “วินัย” กันสักเล็กน้อยว่า “วินัย” ที่หลาย ๆ คนพยายามจะสร้างขึ้นมา มันมีความหมายอย่างไร ? หลาย ๆ คนอาจจะให้ความหมายของคำว่าวินัย ว่าเป็นความสามารถในการอยู่ในกฏระเบียบ ข้อบังคับ หรือการทำตามข้อตกลงที่ว่าเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการลงมือทำอะไรบางอย่าง อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นี่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแต่อาจจะยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียว ลองคิดดูว่า นาย A เป็นคนชอบดื่มแอลกอฮอล์ ปาร์ตี้สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน นาย A ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน คุณจะเรียกนาย A ว่าเป็นคนที่มีวินัย ในการดื่มแอลกอฮอล์ไหม ? แล้วถ้าหากว่าลองหันมามองอีกคนหนึ่ง นาย B เป็นคนที่ไม่ชอบให้เหงื่อออก ไม่ชอบความเหนียวเนื้อเหนียวตัว และไม่ชอบตื่นเช้า แต่นาย B สามารถตื่นเช้ามาวิ่งออกกำลังกายได้ทุกวัน คุณจะมองว่านาย B เป็นคนที่มีวินัยไหม ? นิยามของคำว่าวินัย สั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ

“การทำสิ่งที่ต้องทำ ในเวลาที่ต้องทำ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่อยากทำ”

             Keyword ของคำว่า “วินัย” คือการทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการได้ ลองหันกลับไปดูตัวอย่าง นาย A และนาย B ที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นว่าสิ่งที่นาย A ทำเป็นสิ่งที่นาย A ชอบ และต้องการจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่นาย B แตกต่างจากนาย A ตรงที่ นาย B กำลังผลักดันให้ตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเขาเองไม่ชอบอย่างต่อเนื่อง เผื่อผลลัพธ์ที่ตัวเขาต้องการ

             เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “วินัย” แล้ว ต่อไปคือเทคนิคง่าย ๆ ที่จะสามารถใช้สร้างวินัยได้ดี เผื่อที่คุณจะได้ออกมาลงมือสร้างผลลัพธ์อย่างที่คุณหวังเอาไว้

 

1.ตัวเองให้ชัด ว่าทำไปเพื่ออะไร

             “ความชัดเจน” เป็นเรื่องพื้นฐานที่ง่าย สำคัญ และถูกมองข้าม เพราะหลาย ๆ คนยังไม่มีความชัดเจนมากพอโดยที่ตัวเองอาจจะยังไม่รู้ตัว ความชัดเจนที่ว่านี้คือ คุณจะลงมือทำอะไรบางอย่างไปเพื่ออะไร ?

             ลองสังเกตตัวอย่างง่าย ๆ ว่า น.ส. A และ น.ส. B เป็นคนที่มีเป้าหมายอยากจะออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน แต่มีความชัดเจนที่ต่างกันดู

น.ส. A มีเป้าหมายอยากจะออกกำลังกาย เพราะการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่ดี และตัวเธอเองก็อยากจะหุ่นดีด้วย

น.ส. B มีเป้าหมายอยากจะออกกำลังกาย เพราะเธออยากจะเป็น Personal trainer ดังนั้นเธอจึงต้องเริ่มด้วยการดูแลตัวเอง รับรู้ถึงวิธีการและอุปสรรคในการสร้างและรักษารูปร่างที่ดี รวมไปถึงความท้าทายในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง เพราะการเป็น Personal trainer จะทำให้เธอมีรายได้ xxx,xxx บาท ซึ่งนั่นมากพอที่จะดูแลครอบครัวของเธอได้

             แน่นอนอว่าทั้งสองคนอาจจะมีวินัยเท่า ๆ กันก็ได้ แต่ถ้าตัดสินแค่สิ่งที่ได้อ่านในตัวอย่างเบื้องต้น ค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้วว่าใครมีแนวโน้มว่าจะมีแรงผลักดันในการออกกำลังกายมากกว่ากัน เพราะ น.ส. A รู้ว่า “ดี” แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าความ “ดี” นั้นจะมีประโยชน์กับตัวเธอเองอย่างไร แล้วความ “ดี” เหล่านั้น สำคัญกับตัวเธอจริงไหม ?

แตกต่างกับ น.ส. B ที่มีเหตุผลรองรับชัดเจนว่าการออกกำลังายจะสร้างโอกาสในการทำงานที่ดีให้กับเธอ และการทำงานที่ดีของเธอจะทำให้เธอสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวของเธอได้

ความชัดเจนจะสร้างความแตกต่างในการกระตุ้น และผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นมาสร้างผลลัพธ์อย่างไม่น่าเชื่อ

น.ส. A : “การออกกำลังกายครั้งนี้จะดีกับตัวฉัน”

น.ส. B : “การออกกำลังกายครั้งนี้จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับฉันและครอบครัว”

            แน่นอนว่า น.ส. B มีแนวโน้มที่จะสร้างวินัยในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้มากกว่า น.ส. A อย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อคุณตัดสินใจว่าจะทำอะไรบางอย่าง ความชัดเจนเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ คุณจะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร ผลลัพธ์เหล่านั้นจะมีผลดีกับเป้าหมายใหญ่ของคุณมากแค่ไหน

 

2.ทุกเช้า ลองจินตนาการผลลัพธ์ที่จะได้

             หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับประโยคล้อเล่นอย่างเช่น “ถ้าใจเราวิ่ง เราก็ผอมได้” หรือ “เงินในบัญชีไม่พอใจ แต่ใจฉันรวย” แต่เชื่อไหมว่าประโยคมโนล้อเล่นเหล่านั้น มีผลกับจินตนาการของคุณ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จินตนาการ มีผลกับผลลัพธ์ที่คุณจะได้ มากกว่าที่คุณคิด

             การสร้างภาพผลลัพธ์ที่คุณต้องการในหัวขึ้นมา คือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้คุณลุกขึ้นมาลงทำลุยกับ Task ต่าง ๆ ในแต่ละวัน เพราะการจินตนาการผลลัพธ์ก็เหมือนกับการสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของคุณเองนั่นแหละ หลาย ๆ คนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ที่ตัวเอง “คิด” ว่าอยากจะได้ผลลัพธ์แบบนั้น อยากได้ผลลัพธ์แบบนี้ แล้วคุณก็จะรู้สึกตื่นเต้น คันไม้คันมืออยากจะลงมือทำอะไรบางอย่างในตอนนั้น เดี๋ยวนั้นเลย นั่นแหละคือพลังของจินตนาการ

             อีกหนึ่งข้อที่การใช้จินตนาการจะมีผลช่วยในการสร้างวินัยก็คือ การ “เริ่ม” ลงมือทำอะไรบางอย่าง เพราะบ่อยครั้ง สิ่งที่อยากที่สุดอย่างหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์อาจจะไม่ใช่ระหว่างทาง แต่เป็นการเริ่มต้น หลายคนอาจจะเคยสังเกตตัวเองว่าก่อนจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันยากเหลือเกิน แต่พอได้เริ่มทำดูแล้วก็เหมือนจะทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งการจินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ และผลลัพธ์ที่ตัวเองอยากจะได้ ก็เท่ากับคุณได้เริ่มลงมือทำไปแล้วสำหรับจิตใต้สำนึกของคุณ

             วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย แค่คุณหลับตาลง และจินตนาการว่าตัวคุณเองกำลังทำในสิ่งที่คุณตั้งใจเอาไว้ เช่น “คุณตื่นมาตอนเช้า และเริ่มหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน” , “คุณกำลังนั่งใส่รองเท้าเพื่อเตรียมตัวจะไปออกกำลังกาย” เป็นต้น

3.จัดตารางเวลาตัวเองให้ดี

             ข้ออ้างที่หลาย ๆ คนได้ยินจนอาจจะเอือมไปตาม ๆ กันก็คือ “ไม่มีเวลา” ซึ่งคุณก็อาจจะเคยเจอปัญหานี้เหมือนกัน คุณรู้แล้วว่าเป้าหมายคุณคืออะไร คุณรู้ว่าคุณต้องลงมือทำอะไร แต่คุณ “ไม่มีเวลา” ที่จะลงมือทำสักที

             เทคนิคง่าย ๆ อย่างหนึ่งในการจัดการกับเวลาก็คือ การวางตารางไว้ให้ตัวเอง เหมือนกับตอนที่กำลังเรียนอยู่นั่นแหละ เพราะการจัดตารางเวลา ก็คือการชัดเจนกับตัวคุณเองในทางหนึ่ง เพราะคุณชัดเจนกับตัวเองว่า เวลาช่วงนี้ถึงช่วงนี้ คุณจะให้ความสำคัญกับอะไรเป็นอันดับแรก เพราะบ่อยครั้งคุณจะถูกสภาพแวดล้อมรอบตัวรบกวนคุณทันทีในตอนที่คุณไม่มีแผน คุณเอาแต่คิดว่า “ว่างเมื่อไหร่ฉันจะ….” แต่คุณก็มักจะพบว่าตัวคุณเอง ”ไม่ว่าง” สักที ดังนั้นคำแนะนำสำคัญของการจัดการตารางเวลาก็คือ

“อย่ารอให้ตัวเองว่าง แต่บอกตัวเองว่าจะว่างตอนไหน”

             ตั้งเวลาให้ตัวเองเลยว่า 07.00am – 07.30am คุณจะอ่านหนังสือ และในช่วงเวลานั้นหากไม่ใช่เรื่องสำคัญฉุกเฉินแล้ว จะไม่มีอะไรสำคัญสำหรับคุณไปมากกว่าการอ่านหนังสือเลย เหมือนกับเวลาทำงานของคุณ ที่คุณให้ความสำคัญกับการทำงานว่า คุณจะไม่สามารถทำอย่างอื่นนอกจากงานได้เลย เพราะถ้าคุณอยากจะสร้างรายได้ให้ตัวเอง การทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เป็นต้น

             ประโยชน์อีกข้อของการจัดตารางเวลาก็คือ คุณจะได้สังเกตตัวคุณเองมากขึ้นว่า ในแต่ละวันคุณมีกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อคุณสังเกตตัวเองแล้วคุณอาจจะรับรู้ได้เองว่า กิจกรรมไหนที่คุณควรจะเริ่มทำ / ทำมากขึ้น / ทำน้อยลง / หยุดทำ

 

4.หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่จะทำให้คุณ “หลุด” จากตารางของคุณ

             แน่นอนว่าทุกเส้นทางย่อมจะมี “มารผจญ” เป็นของตัวเอง เมื่อคุณเริ่มที่จะทำอะไรสักอย่าง ก็ย่อมจะทำอุปสรรคมาล่อลวงคุณให้หลุดออกจากความตั้งใจไปเสียทุกที และวิธีที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การหลีกเลี่ยง

             ก่อนที่คุณจะหลีกเลี่ยง คุณจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า อะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้คุณออกนอกลู่นอกทางที่คุณตั้งใจเอาไว้ ถ้าคุณจัดการตารางเวลาของตัวเองและสังเกตกิจกรรมของตัวเองตามเทคนิคข้อที่ 3 ได้แล้ว คุณจะมองเห็นสิ่งแปลกปลอมบางอย่างที่ไม่ควรจะอยู่ในตารางชีวิตคุณ ที่กำลังทำให้ตารางของคุณปั่นป่วนอยู่

            ตัวอย่างเช่น บางคนชอบที่จะนอนกลางวัน ยิ่ง Work from home ด้วยแล้ว พอมองเห็นเตียงก็อดไม่ได้ที่จะพับงานแล้วกระโดดขึ้นไปนอน หรือบางคนเอางานขึ้นไปนอนทำบนเตียง แต่ก็จบที่การหลับคางานไปเสียอย่างงั้น วิธีแก้ก็คือ การจัดพื้นที่ทำงานในส่วนอื่น ๆ ในส่วนที่ไม่ใช่ห้องนอนของคุณ เป็นต้น

5.หา Partner ที่จะร่วมเดินทางไปกับคุณ

             จะมีอะไรดีกว่าการมีเพื่อนร่วมทางที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันไปพร้อม ๆ กันกับคุณ การมีเพื่อนร่วมทางก็คือการกระตุ้นให้ตัวคุณเองทำในสิ่งที่คุณตั้งใจไว้ว่าจะทำที่มีประสิทธิภาพด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

  • ไม่เบื่ออย่างทิ่คิด : เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจจะเป็นอะไรที่ซ้ำซาก เมื่อคุณเริ่มทำไปเรื่อย ๆ คุณอาจจะพบว่าคุณกำลัง “เบื่อ” กับสิ่งนั้น ๆ อยู่ การมีเพื่อนร่วมทางด้วยจะทำให้ความเบื่อนั้นหายไปได้มากพอสมควร
  • แบ่งปันประสบการณ์กัน : แน่นอนว่าคนเราแต่ละคน มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันหลาย ๆ อย่าง และเมื่อเราเริ่มทำอะไรบางอย่าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่แต่ละคนอาจจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไม่มากก็น้อย ซึ่งความแตกต่างนี้จะทำให้คุณเห็นมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่แตกต่างและน่าสนใจ
  • รักษาความสม่ำเสมอ : การมีเพื่อนจะทำให้คุณต้อง “รักษาหน้าตา” ของตัวเองมากขึ้น เพราะถ้าคุณทำเองคนเดียว สมมติว่าคุณออกกำลังกายคนเดียว ถ้าคุณจะหยุดทำก็ไม่ได้มีคนมารับรู้อะไรกับคุณ แต่ถ้าคุณนัดเพื่อนเอาไว้ว่า “ทุกวัน…. ตอนเวลา….. เราจะออกไปวิ่งกันนะ” แล้วคุณเกิด “ขี้เกียจ” ขึ้นมา เพื่อนคุณจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณขี้เกียจไม่ได้ในทันที เพราะคุณนัดกัน สัญญากันเอาไว้แล้ว คุณจะเลือกผิดคำพูดของตัวเองเพราะความขี้เกียจของตัวเองหรือ ? คุณจะยอมให้คำพูดของคุณไร้ความน่าเชื่อถือแค่เพราะวันนี้คุณขี้เกียจจริงหรือ ? คำตอบคือ ไม่ คุณไม่เป็นอย่างนั้น แน่นอนว่าจะต้องมีวันที่ใครสักคนรู้สึกเหนื่อย รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นมา อีกคนหนึ่งก็จะคอยฉุดคอยยลากกันออกมาเอง

 

             สุดท้ายนี้มีหนังสือแนะนำ 1 เล่ม สำหรับคนที่อยากจะผลักดันตัวเองให้มีวินัยมากขึ้น “Eat that frog” ที่เขียนโดย Brian tracy เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มอยากจะให้ลองอ่านกันดู ซึ่ง Brian ได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าทุก ๆ วันคุณจะต้องกินกบ 1 ตัว แล้วคุณสามารถฝืนใจกินกบตัวนั้นได้ คุณจะรู้สึกสบายใจไปทั้งวัน แต่ถ้าคุณเลือกที่จะไม่กินกบตั้งแต่ตอนเช้า คุณจะต้องอยู่กับความรู้สึกว่า “ฉันจะต้องกินกบ” ไปอีกทั้งวัน และคุณก็จะคอยวนเวียนมาคิดถึงเรื่อย ๆ ว่าจะต้องกิน จะต้องกิน

             การเปรียบเทียบด้วยการกินกบอาจจะใช้ไม่ได้ผลเท่าไหร่กับบ้านเรา เพราะในบางจังหวัด กบก็ถือว่าเป็นอาหารรสชาติดีอย่างหนึ่ง แต่คุณ Brian พยายามจะสื่อว่า ถ้าเราจะต้องทำอะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบ การจัดการสิ่งนั้นเสียในตอนเช้าจะทำให้คุณสบายใจไปทั้งวัน ก็เพราะว่าคุณได้จัดการกับเรื่องที่ท้าทายที่สุดของวันไปเรียบร้อยแล้ว วันทั้งวันก็จะเหลือแต่สิ่งที่คุณจัดการได้ง่าย ๆ ทำให้คุณสดชื่นไปทั้งวัน แต่ถ้าคุณเลือกที่จะ “เลื่อน” หรือ “หนี” กิจกรรมเหล่านั้น คุณก็จะเอาแต่คิดถึงว่าคุณจะต้องมาจัดการกับมันอยู่ทั้งวัน และยิ่งคุณคิดมาก คุณจะเริ่มเครียดกับกิจกรรมนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้ายังไงคุณก็จะต้องทำกิจกรรมนั้นอยู่แล้ว ก็ลุยให้เสร็จในสอนเช้า แล้วก็มีความสุขไปทั้งวัน ดีกว่ามานั่งเหี่ยว ๆ ทั้งวันแล้วค่อยทำเป็นอย่างสุดท้าย

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า