5 tips สำหรับผู้นำยุค COVID-19

            ในช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนต้องสู้กับวิกฤต ต้องปรับตัว ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกคนสัมผัสกับความ “ไม่มั่นคง” ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในชีวิตตัวเอง เมื่อไม่มั่นคงแล้วสัญชาตญาณจะบอกให้เรามองหาที่ยึดเกาะเอาไว้ เหมือนกับตอนที่เราจะล้ม เราจะยื่นมือออกไปพยายามคว้าอะไรสักอย่างเพื่อรั้งตัวเองเอาไว้ไม่ให้ล้มลง และไม่ว่าเราจะเกาะอะไรก็ตาม สิ่งที่เราคว้าไว้จะมีเงื่อนไขเดียวคือ ต้องดู”มั่นคง” ถ้าจะล้มเราก็จะหาเสา หาราวเพื่อเกาะเอาไว้ แต่ถ้าอยู่ในวิกฤตแล้ว สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะเลือกที่จะใช้เป็นที่ยึดตัวเองเอาไว้ก็คือ “ผู้นำที่มั่นคง”

             คุณเคยได้ยินวลีเปรียบเทียบผู้นำที่ดีหรือไม่ว่า เป็นผู้นำที่ดีควรเหมือน “เสาเกาะหอย” ซึ่งไอ้เจ้าเสาเกาะหอยที่ว่านี้ คือ เสาหรือโขดหินที่หอยเชอรี่เลือก เป็นสถานที่วางไข่ของตัวเอง ถ้าใครนึกภาพไข่หอยเชอรี่ไม่ออก ให้ลองนึกรวงไข่เท่าเม็ดสาคู สีชมพู ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำขัง หนองบึง

             แล้วเสาปักหอยเนี่ย เกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร ? เพราะเมื่อหอยเชอรี่เลือกที่จะวางไข่ มันจะเลือกจุดที่มั่นคง จุดที่จะไม่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป หรือจุดที่จะไม่โค่นและจมน้ำลงไปง่าย ๆ เพราะนั่นคือความมั่นคงที่แม่หอยมั่นใจว่าเธอสามารถฝากลูก ๆ นับร้อยที่รอฟักออกมาจากไข่ของเธอเอาไว้ได้

             ดังนั้นถ้าเปรียบผู้นำว่าเป็นเสาเกาะหอยด้วยบริบทนี้ ก็จะเหมือนกับผู้นำที่มั่นคง และเป็นที่พึ่งให้กับทีมของคุณ ครอบครัวคุณ คนรักของคุณ หรือแม้กระทั่งตัวคุณเอง ถ้าแม่หอยฝากลูกของเธอเอาไว้ ทีมของคุณก็กำลังฝากชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา รวมไปถึงครอบครัวและความรับผิดชอบของพวกเขาไว้กับองค์กรของคุณ และคุณที่เป็นผู้นำด้วย แน่นอนว่าการเป็นคนที่มั่นคงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายเกินไปอย่างแน่นอน ซึ่งแต่ละคน แต่ละธุรกิจ แต่ละองค์กรก็ย่อมจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำทุกคนสามารถทำได้เหมือนกันคือการจัดการตัวเอง เปลี่ยนมุมมองของตัวเอง เตือนสติตัวเอง ด้วยเทคนิคง่าย ๆ

5 เทคนิคที่สามารถนำไปฝึกทำได้ทันที 

1 . จัดการกับตัวเอง เคลียกับตัวเองให้เรียบร้อย ช่วยเหลือตัวเองก่อน

             “เธอทานก่อนเถอะ เธอเอาไปก่อนเถอะ ไม่ต้องห่วงฉัน” วลีสุดเท่ที่พระเอกหลาย ๆ คน หรือตัวละครเอกในนิยายหรือนิทานชอบพูดกัน การเสียสละให้ผู้อื่นก่อนตัวเองเสมอ ถึงขนาดที่ว่าตัวเองยอมเสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อให้ผู้คนรอบข้างมีความนุข การเสียสละในลักษณะนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับผู้นำในยุคปัจจุบัน

             การเสียสละลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ในเมื่อคุณยังจัดการตัวเองไม่ได้ เมื่อคุณยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คุณจะยืนมือออกไปหาคนอื่นได้อย่างไร ถ้าน้ำในแก้วของคุณยังไม่เต็ม คุณจะมีน้ำล้นไปหาคนรอบตัวคุณได้อย่างไร ? เวลาที่คุณนั่งเครื่องบินถ้ายังจำกันได้จะมีเสียงระบบแนะนำเรื่องความปลอดภัย “กรุณาสวมหน้ากากให้ตัวเองก่อนบุตรหลานเสมอ” ซึ่งคำแนะนำเหล่านั้นล้วนแนะนำให้คุณจัดการกับตัวเองก่อนคนรอบข้างทั้งสิ้น เพราะถ้าคุณเลือกดูแลคนอื่นก่อนที่จะดูแลตัวเอง แล้วเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดคือคุณเป็นอะไรไป คนที่คุณจะต้องดูแลจะอยู่รอดได้อย่างไร จริงไหม ?

             เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากจะเป็นผู้นำที่มั่นคง คุณจะต้องจัดการปัญหาของตัวเองทุกอย่างทั้งหมดให้ได้ ก่อนที่จะตั้งตัวเองให้เป็นเสายึดให้กับคนรอบข้างได้ Feed yourself before others  ซึ่งแน่นอนว่าในจานข้าวของคุณเองก็คงจะไม่จำเป็นจะต้องเป็นมื้ออาหารสุดหรูเสมอไป เชื่อว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนไขของตัวเองแตกต่างกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ คุณอิ่มท้องก่อนที่จะออกมาช่วยคนอื่น จัดการตัวเองให้เรียบร้อย อย่าให้ตัวเองเป็นคนที่เดินหิวโซเสิร์ฟอาหารให้คนอื่น เพราะถ้าคุณไม่ทานเอง คุณก็เหมือนมีนาฬิกานับถอยหลังรอเวลาล้มลงไปเท่านั้น แต่ถ้าคุณอิ่มท้อง คุณจะมีแรงเดินไปช่วยเหลือคนอื่นได้มากกว่าที่คุณคิด

 2 . จัดการความเครียดของตัวเอง

             นอกจากจะจัดการปัจจัยภายนอกของตัวเองแล้ว ปัจจัยภายในก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้นำที่มั่นคง ซึ่งเมื่อพูดถึงอุปสรรคในการจัดการปัญหาภายใน เชื่อว่าสิ่งที่หลาย ๆ คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ “ความเครียด”

             อ้างอิงข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ความหมายของความเครียดคือ “ การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย นั่นเอง ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆไป มีการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่ง ในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ ”

และอีก 1 ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า “ ความเครียดเป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ และทำให้รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น เมื่อบุคคลรับรู้หรือประเมินว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุกคามจิตใจ หรืออาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จะส่งผลให้สภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจเสียไป

             ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความเครียดจะเกิดขึ้นภายในจิตใต้สำนึก โดยที่หลาย ๆ คนไม่รู้ตัว บ่อยครั้งที่หลาย ๆ คนมั่นใจว่าตวเองไม่ได้เครียด แต่จิตใต้สำนึกของมีภาวะความเครียดอายู่ อาจจะทำให้เกิดอาการหลัก ๆ 3 ข้อต่อไปนี้ได้

  • Fight : เมื่อเกิดอาการเครียด หากอยู่ในอาการกลุ่มนี้จะมีอาการโวยวาย จิกกัดกระทบกระทั่งคนอื่น ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร
  •  Flight : กลุ่มนี้ถ้ามีอาการเครียด จะพยายามหลีกหนีออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าวทันทีไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์อะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย โต้เถียงกัน หรือจะเป็นสถานการณ์การทำงานที่ตึงเครียด กลุ่มนี้จะเลือกเดินออกจากบทสนทนา หรือพยายามหากิจกรรมอื่นทำที่ไม่ใช่การทำงานหรือกิจกรรมต้นเหตุที่ทำให้เครียดได้ หรือถ้าหากว่าเครียดกบัความสัมพันธ์ ก็อาจจะเป็นมาเหตุที่ทำให้ต้องเลิกรากันไปก็ได้
  • Freeze : เครียดแล้วนิ่ง เครียดแล้วตีมึน ดูเหมือนทำเป็นไม่รู้เรื่อง แต่อาการของกลุ่มนี้คือพอเครียดแล้วจะคิดอะไรไม่ออก เรียกได้ว่าสมองว่างเปล่าเลยทีเดียว ทำให้อาการที่แสดงออกมาอยู่ในลักษณะของคนมึน ๆ นิ่ง ๆ เหมือนไม่รับรู้อะไร แต่จริง ๆ แล้วนั่นคือกาการของความเครียดที่ทำให้พวกเขาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ไม่ทันนั่นเอง

             จะเห็นได้ว่าความเครียดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบโดยตรงกับทั้งร่างกายและจิตใจ อาการเบื้องต้นที่กล่าวมาคุณก็อาจจะสังเกตได้กับตัวเองหรือคนใกล้ตัวคุณ ดังนั้นสำหรับผู้นำที่ดีแล้ว การจัดการความเครียดถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในทุก ๆ สถานการณ์ ถึงแม้ว่าการจัดการความเครียดอาจจะเป็นความท้าทายของใครหลาย ๆ คน แต่ข่าวดีก็คือวิธีจัดการกับความเครียดนั้นมีหลายรูปแบบมาก สำหรับใครที่สนใจกับวิธีจัดการความเครียดสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ได้ หรือจะเลือกเข้าไปฟัง podcast ก็ได้

3 . ไม่เพิกเฉยและตัดสินทีมของคุณ

             แน่นอนว่าในเศรษฐกิจแบบนี้ สถานการณ์แบบนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรูปแบบนี้ ผู้นำหลาย ๆ ท่าน เจ้าขององค์กรทั้งหลายย่อมจะให้ความสำคัญกับผลกำไรและยอดขายเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ เพราะยอดขายและผลกำไรคือปัจจัยสำคัญที่จทำให้องค์กรของคุณอยู่รอดได้

             แต่ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับผลกำไรและรายได้เลยก็คือ ทีมของคุณ เพราะถ้าทีมของคุณไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรของคุณก็จะลดลงเช่นกัน และความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุดก็คือ เมื่อยอดไม่ถึงความกดดันจะเกิดขึ้นกับทีมงานแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้นำเพิกเฉยต่อสภาวะของทีม ความเพิกเฉยนี้คือการให้กดดันโดยที่ไม่สนใจสภาวะอารมณ์ของทีม การปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อผลกำไรโดยที่ไม่คำนึงถึง Flow การทำงานของทีม ฯลฯ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสินคนในทีม กาตัดสินส่วนใหญ่ที่มักจะเจอกันมากที่สุดคือ ตัดสินเมื่อไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ โดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ทำให้ผลลัพธ์ไม่เกิด ตัดสินเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ตัดสินเมื่อมีการไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น

             ซึ่งการเพิกเฉยและการตัดสินเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นโดยที่ท่านผู้นำทั้งหลายไม่รู้ตัว เพราะกำลังโฟกัสไปที่ยอดขายและผลกำไรเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าการโฟกัสลักษณะนี้จะเกิดจากเจตนาดีที่อยากจะให้องค์กรมีผลกำไรและสามารถเป็นที่พึ่งให้ทีมของคุณได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทีมเพราะการเพิกเฉยและตัดสินอาจจะทำให้องค์กรเสียหายมากกว่าได้ประโยชน์ ดังนั้นการตั้งความสำคัญให้ทีมของคุณเท่ากับยอดการและผลกำไร จะทำให้คุณมีสติมากพอที่จะไม่แสดงอาการเหล่านี้จนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คุณไม่ต้องการ

 

4 . ใส่ใจผู้ตาม และให้ความสำคัญกับความรู้สึกคน

             เมื่อคุณให้ความสำคัญกับทีมของคุณแล้ว สิ่งที่คุณควรจะใส่ใจมากเป็นพิเศษ ยิ่งในสภาวะวิกฤตแล้วด้วย ก็คือความรู้สึกของคนในทีม

             ความใส่ใจที่ดีคือการเข้าใจ being หรือความเป็นตัวของตัวเองในทีมแต่ละคน เพราะแต่ละคนมีแรงผลักดันไม่เหมือนกัน มีมุมมองไม่เหมือนกัน มีความรู้สึกต่อสิ่งรอบตัวแตกต่างกันออกไป ทีมของคุณบางคนอาจจะมีพลังจากการกระตุ้นตรง ๆ “พี่รู้ว่าเราทำได้ ลุยมันเลย!” หรือบางคนอาจจะต้องการให้ Acknowledge ความสำเร็จบางอย่าง ต้องการคำชม คุณก็ควรจะต้องให้กำลังกันบ่อย ๆ เป็นต้น

             แน่นอนว่าการสื่อสารและการให้ความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำหลายท่านเลือกที่จะลงทุนเวลาของตัวเองเมื่อพัฒนาและดูแลทีม คำแนะนำที่ดีมาก ๆ และมั่นใจว่าจะทำให้สื่อสารกับทีมของคุณได้ดีขึ้นก็คือ “ Connect before content “ ความหมายของมันก็คือ เข้าถึงเขาให้ได้ เข้าใจเขาให้ได้ ก่อนที่จะให้ข้อมูลกับพวกเขา เข้าใจว่า being เขาเป็นอย่างไร ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกวิธีสื่อสารกับเขา ซึ่งวิธีการสังเกตคนก็มีหลากหลายศาสตร์หลายรูปแบบ ทั้งประเภท MBTI / DISC / Enneagram / The 4 elements ฯลฯ ซึ่งเมื่อคุณสามารถเข้าใจทีมของคุณได้แล้ว การันตีเลยว่าการสื่อสารระหว่างคุณกับทีมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนน่าตกใจ

 5 . Empower

             การให้กำลังใจกันเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้ เพราะการชื่นชมก็เหมือนเป็นการสะท้อนอย่างหนึ่ง เหมือนการมองเห็นคุณค่าในตัวบุคคล ยอมรับสิ่งนั้น และขอบคุณกับสิ่งที่ตัวตนนั้นสร้างให้ผู้อื่น ซึ่งอาจจะดูเป็นสิ่งเล็ก ๆ หรือบางคนอาจจะมองว่าการชื่นชมบ่อย ๆ จะทำให้เหลิง ทำให้ไม่พัฒนา ถ้างั้นลองคิดกลับกันดู ว่าการพัฒนาจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน เครียด อยู่ตลอดเวลาจริงหรือ ?

             ซึ่งการชื่นชมก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการเรียกมาชมกันเหมือนเวลาคุณจะให้ Feedback ประจำเดือน หรือตามรอบขององค์การคุณก็ได้ การชื่นชมที่ดีเกิดจากการสังเกต สังเกตหลาย ๆ มิติที่มากกว่าผลลัพธ์ผิวเพิน เช่น ทีมของคุณเจอปัญหาอะไร และแต่ละคนจัดการปัญหาอย่างไร , ทีมของคุณแต่ละคนมีส่วนช่วยให้เกิดผลลัพธ์และความสำเร็จอย่างไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งการชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ อาจจะมีผลมากกว่าที่คุณคิดก็ได้ สิ่งที่คุณพูดอาจจะเป็นแค่คำขอบคุณสั้น ๆ แต่การถูกเห็นคุณค่า ความรู้สึกที่ไม่ได้เป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีความหมายอะไร อาจจะทำให้วันทั้งวันของคนบางคนสดใสขึ้นมากกว่าที่คุณคิด

แน่นอนว่าอยู่ด้วยกันทำงานด้วยกันก็คงจะไม่ได้มีแต่การชื่นชมกันอย่างเดียว การให้ความคิดเห็น การให้ Feedback ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกัน พอพูดว่าให้ความเห็นหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องเจอบ่อย ๆ แต่ถ้าพูดว่าถูกตำหนิ หรือถูกว่าก็อาจจะคำที่คุ้นเคยกันมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองอย่างนี้มีความหมายเหมือนกัน คือต้องการให้ผู้ฟังตรงหน้าพัฒนาอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากการถูกเรียกเข้าห้องมืดมาตำหนิกันเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณอยากให้เขาพัฒนา คุณก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องรับบทหัวหน้าสุดโหดที่แค่เปิดปากพูดทีมงานของคุณก็เสียวสันหลังไปหมดแล้ว จริงไหม ?

             การให้ข้อคิดเห็นที่ดีจะต้องไม่ใช้การตำหนิ แล้วพูดต่อท้ายว่า “ที่พูดนี่เพราะว่าอยากให้คิดได้นะ รู้ไหม?” เช่น “ เอกสารนี้คุณจัดหน้ากระดาษไม่เรียบร้อยเลย คุณต้องปรับตัวนะ เข้าใจไหม ที่ผมพูดเพราะผมอยากเห็นคุณพัฒนานะ “ คุณลองถามตัวเองดูว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับคำพูดเหล่านี้

เทคนิคแรก คือ ชมก่อนที่จะติ ซึ่งนั่นจะทำให้คุณมองหาข้อดีบางอย่างของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม และเลือกที่จะชื่นชมสิ่งที่ทีมของคุณทำได้ดี ก่อนที่จะให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำกับทีมของคุณ

เทคนิคที่สอง คือ งดการใช้คำว่า “แต่” ในทุกกรณี เพราะการใช้คำว่า “แต่” เป็นเหมือนการบอกว่า “ต่อไปคุณกำลังจะโดนตำหนิแล้วนะ” ดี ๆ นี่เอง และประโยคที่ตามคำว่า “แต่” ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นประโยคที่เป็นประโยคเชิงลบทั้งนั้น ดังนั้นคุณควรจะต้องใช้คำว่า “และ” มากกว่าคำว่า “แต่” เพราะคำว่าและจะทำให้ประโยคต่อท้ายเป็นประโยคแนะนำเชิงบวก และส่วนใหญ่แล้วคนฟังก็จะได้ประโยคจากคำแนะนำเหล่านี้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น .” เอกสารรอบนี้คุณทำได้ดีมาก ข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน ตรวจสอบเรียบร้อยดีไม่มีคำผิด และมันจะเป็นเอกสารที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถ้าคุณจัดขยับหัวข้อส่วนนี้มาอยู่ตรงนี้แทน แล้วหน้ากระดาษของคุณก็จะสวยงามดูน่าอ่าน “

            จะเห็นได้ว่าประโยคตัวอย่างข้างต้นมีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนทั้งหมด โดยที่ไมได้ทำให้คนฟังรู้สึกว่ากำลังถูกตำหนิอยู่เลย งานของเราดีมาก ดีอย่างไร และเขาสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง พร้อมทั้งอธิบายความคิดเห็นของคุณว่าควรจะต้องแก้ไขจุดใดบ้าง ดังนั้นการบ้านของคุณก็คือ หัดเปลี่ยนคำว่า “แต่” มาใช้คำว่า “และ” แทน เพราะการให้ Feedback ที่ดีนอกจากทีมคุณจะมีความสุขแล้ว ยังทำให้ในอนาคตทีมของคุณจะกล้าและอยากจะมาขอคำปรึกษากับคุณโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า