Coaching คืออะไร

             Coaching คำนี้คงจะเป็นคนที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินผ่านๆกันมาไม่มากก็น้อย บางคนอาจจะเคยเห็นในบริษัทที่พนักงานบางคนถูก “โค้ช” หรืออาจจะมีประสบการณ์เคยถูก “โค้ช” มาแล้ว บางคนอาจจะเห็นใน Social media ในรูปแบบของ “Life coach” หรือบางคนอาจจะคุ้นเคยกับคำๆนี้ในรูปแบบของ “โค้ชกีฬา” มากกว่า

              สำหรับหลายๆคนที่สนใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเอง อาจจะคุ้นเคยกันดีกับคำนี้ และเชื่อว่าถ้าถามว่า “โค้ชชิ่งคืออะไร?” คำตอบที่ได้มาอาจจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนบอกว่า “เคยเห็นพี่ที่บริษัทโดนโค้ช หัวหน้าเก่งมาก ชี้เป็นจุดๆเลยว่าพี่คนนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็บอกวิธีการเสร็จสรรพว่าต้องแก้อย่างไรบ้าง การโค้ชอาจจะเป็นการชี้ปัญหาในตัวเราที่เราต้องแก้ก็ได้นะ” บางคนบอกว่า “เคยเห็นคลิปตาม Social เป็นคนมาพูดว่า “ถ้าคุณอยากจะสำเร็จ! คุณต้องมองให้ได้แบบนี้ คุณต้องมี Mindset แบบนี้ และคุณจะต้องทำแบบนี้” การโค้ชน่าจะเป็นการบอกวิธีการใช้ชีวิตนะ”

             แล้วจริงๆ “Coaching” มันคืออะไร มันมีประโยชน์อย่างไร ทำไมคนบางกลุ่มจึงเห็นความสำคัญ จนสามารถจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อรับการโค้ชจากโค้ชมืออาชีพ ทำไมคนบางกลุ่มจึงเห็นความสำคัญของทักษะการโค้ช และฝึกฝนอย่างเข้มค้นเพื่อนำไปสร้างประโยชน์ต่อไป บทความนี้จะกล่าวถึงความหมายของคำว่า “โค้ช” ความสำคัญและประโยชน์ของทักษะการโค้ช รวมไปถึงสิ่งที่ผู้ที่เข้ารับการโค้ชควรจะได้รับ เมื่อเข้ารับการโค้ชจากโค้ชมืออาชีพ

           “ คำจำกัดความของ Coaching คือ กระบวนการสนับสนุนการพัฒนาตัวเอง ให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างใดอย่างหนึ่งของตัวบุคคล ด้วยการปลดล็อกศักยภาพในตัวบุคคลนั้นจากการใช้คำถามที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ช (Coachee) รับรู้ถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง ค้นหาคำตอบของปัญหา วิธีการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ด้วยตัวเอง ดังนั้นการโค้ชเปรียบเสมือนการช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ชได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง มากกว่าการถูกสอนจากโค้ช “

Coaching is unlicking a person’s potential to maximize their own performance. It is Helping them learn rather than teaching them. – John Whitmore, ผู้เขียนหนังสือ Coaching in Performance

Coaching แตกต่างอย่างไร

             ศาสตร์ต่างๆในการพัฒนาตัวเอง หรือพัฒนาบุคคล ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือ “เพื่อสนับสนุนในการเรียนรู้และพัฒนา” แน่นอนว่าในความหลากหลายย่อมต้องมีความแตกต่าง และในความแตกต่างเหล่านั้นมีจุดเด่นที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอด เพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการเรียนรู้ที่ต่างกัน ศาสตร์บางอย่างเลือกที่จะบอกวิธีการที่ถูกต้อง ศาสตร์บางอย่างเลือกที่จะชี้ปัญหา ศาสตร์บางอย่างเลือกที่จะทำให้ดู Step by step และ ศาสตร์บางอย่างเลือกที่จะให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเอง เลือกทางเดินที่ตัวเองเชื่อมั่น

            ดังนั้นการเลือกใช้วิธีการถ่ายทอดให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการ เนื้องาน และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล จะทำให้การเรียนรู้ หรือการพัฒนาเป็นไปได้ราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • Training คือ การถ่ายทอดผ่านการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญสู่ผู้เรียน โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่นั้นๆ ที่สูงกว่าผู้เรียน ระบบการสอนจะเป็นเหมือนการเรียนในห้องเรียน ที่ “ผู้สอนรู้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด” ดังนั้นการ Training จะเหมาะกับการนำเสนอสิ่งใหม่ๆที่ผู้เรียนสนใจ และไม่เคยมีความรุ้หรือประสบการณ์ในด้านนั้นๆมาก่อน เช่น คอร์สการเรียนต่างๆ การสัมนาเพื่ออบรม ฯลฯ
  • Mentoring คือ การถ่ายทอดโดยที่มีผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่ารับหน้าที่ดูแล โดย Mentor จะอธิบาย ทำให้ดู และชี้ให้เห็นในมุมมองต่างๆว่าอนาคตมีอะไรบ้าง ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ Mentoring เหมือนการจูงมือเดิน ไปในทางที่ Mentor เห็นว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและถูกต้องในการพัฒนาหรือเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นการถ่ายทอดในรูปแบบนี้จะเด่นในเรื่องความรวดเร็วในการเรียนรู้ จากเส้นทางที่ Mentor วางไว้ให้ จึงทำให้เหมาะสมกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือเพื่อทำให้คุ้นเคย และปรับตัวให้เข้ากับระบบต่างๆในองค์กร เช่น พนักงานรุ่นพี่ ที่กำลังสอนงานพนักงานทดลองงานให้เข้าใจวิธีการทำงานต่างๆ แบบ Step by Step “น้องต้องดูที่ A ก่อน แล้วมาจัดการตรง B ต่อจากนั้นเราก็จะได้ C มาเพื่อใช้ในการสรุป D
  • Consulting คือ การให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ชี้จุดบกพร่องที่ควรจะต้องแก้ไขและให้คำปรึกษา จุดเด่นของ Consulting จะเป็นเหมือนที่ปรึกษา มากกว่าคนที่ถ่ายทอดโดยตรงเหมือน 2 ประเภทที่ผ่านมา เมื่อใช้คำว่า “ปรึกษา” นั่นหมายความว่าผู้ที่อยากจะได้คำปรึกษา อยู่ในกระบวนการทำและพบปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวเอง เปรียบคือ Consulting จะไม่ใช่การสอนนับ 1 – 100 ทีละตัวเหมือน Training แต่จะเป็นการชี้ให้เห็นว่า “คุณนับเลข 30 ตกไปหนึ่งเลขนะ” เช่น ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ที่จะสอบถาม Lifestyle และชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาแต่ละอย่าง “ อาการปวดหลังนี้เกิดขึ้นจากท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง และคุณทำงานวันละ 8 ชม.ด้วยท่านั่งแบบนี้ ดังนั้นลองปรับเปลี่ยนด้วยการปรับเก้าอี้ให้รับกับสรีระ ปรับความสูงโต๊ะให้พอเหมาะ แล้วก็หาเวลายืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นพักระหว่างทำงานจะช่วยให้อาการนี้ดีขึ้น “
  • Counselling คือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอดีตเป็นหลัก Counselling จะดูคล้ายคลึงกับการบำบัด เพราะ Counselling โฟกัสไปที่อดีตที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ กำแพงที่เกิดชึ้นทางเหตุการณ์ในอดีตที่ส่งผลให้ขวางกั้นการพัฒนาในปัจจุบัน หรือเป็นสาเหตุให้ไม่กล้าลงมือทำอะไรบางอย่าง
  • Coaching คือ การใช้คำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ช ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ตัดสินใจว่าตอนนี้จะเริ่มลงมือทำอะไรเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นโค้ชจะมีความเชื่อว่า ผู้ที่เข้ารับการโค้ชทุกคน มีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน มีวิธีการเลือกเส้นทางเพื่อเป้าหมายของตัวเอง ในแบบที่ตัวเองตัดสินใจ มีวิธีในการแก้ปัญหาแต่ละอย่างในแบบของตัวเอง Coaching จะเปรียบเสมือนการสอนให้ตกปลามากกว่าหาปลามาให้กิน ดังนั้น Coaching จะเป็นหนึ่งศาสตร์ที่ทำให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ช เดินไปข้างหน้าด้วยตัวเอง และทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะคำตอบไม่ได้มาจากโค้ช แต่มาจากตัวของผู้ที่เข้ารับการโค้ช

         หน้าที่ของโค้ช

             จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างที่สุดของการโค้ช คือ ในขณะที่วิธีการอื่นที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางใช้วิธีการบอกแนวทาง การชี้ปัญหา หรือการทำให้ดู เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมาย แต่การโค้ชจะใช้คำถามเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ชหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยที่โค้ชจะไม่ให้คำแนะนำ นั่นทำให้สามารถใช้ทักษะการโค้ชกับผู้ที่มีความสามารถมากกว่าโค้ชได้ หรือใช้ทักษะการโค้ชในเรื่องที่โค้ชไม่มีประสบการณ์มาก่อนได้

             อาจจะสงสัยกันว่า ถ้างั้นโค้ชไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างงั้นหรือ? เพราะไม่ต้องเก่งกว่าเขาก็สามารถโค้ชได้ ไม่รู้เรื่องที่เขากำลังทำ ก็ใช้ทักษะโค้ชได้ คำตอบก็คือ โค้ชเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้คำถาม การฟัง การสะท้อน และการให้กำลังใจ ความเชี่ยวชาญเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เป็นทักษะที่สามารถใช้ได้กับคนที่ต้อกงารพัฒนาตัวเองทุกคน

             “แต่ว่าทักษะเหล่านี้ดูเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้นะ ใครจะเป็นโค้ชก็ได้อย่างงั้นหรือ เพราะทุกคนสามารถตั้งคำถามได้ ทุกคนฟังได้ ทุกคนสะท้อนมุมมองได้ และทุกคนให้กำลังใจได้” ถึงแม้ว่าทั้งหมดนี้จะดูเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ แต่โค้ชมืออาชีพที่ถูกฝึกมาอย่างเข้มข้น และมี Certificate รับรอง จะมีวิธีและจรรยาบรรณในการตั้งคำถามที่แตกต่าง มีความสามารถในการฟังในระดับลึก และสามารถสะท้อนที่สิ่งผู้ที่เข้ารับการโค้ชพูดออกมาได้อย่างเฉียบคม ดังนั้นหน้าที่ของโค้ชคือ

Questioning

             “การตั้งคำถาม” คือส่วนสำคัญของ Coaching เพราะคำถามเป็นสาเหตุให้ค้นหาคำตอบ และแต่ละคนย่อมมีคำตอบต่อทุกๆอย่างในรูปแบบของตัวเอง จุดสำคัญของคำถามที่ใช้คือ “ด้วยรูปแบบเฉพาะตัวของแต่ละคน” คำถามที่โค้ชใช้ จะเป็นคำถามปลายเปิดที่ทรงพลังเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ชหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะสามารถตั้งคำถามปลายเปิดได้ ตัวโค้ชจะต้องมีความเชื่อว่าแต่ละคน มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตัวเขาเองตั้งไว้ได้จริงๆ เพราะถ้าโค้ชไม่เชื่อในตัวผู้ที่เข้ารับการโค้ช สิง่ที่เกิดขึ้นคือโค้ชจะแสดงออกว่าโค้ชกำลังตัดสินบุคคลเหล่านั้นอยู่ และจะไม่เกิดการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้ไม่เกิดการค้นหาคำตอบของผู้เข้ารับการโค้ช หรือไม่กล้ายอมรับคำตอบที่ตัวเองคิดขึ้นมาได้

ตัวอย่างคำถามที่โค้ชใช้

  • เป้าหมายนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้างกับคุณ? คุณต้องการมันมากแค่ไหน?
  • เป้าหมายนี้ให้อะไรกับคุณบ้าง
  • ปัจจุบันคุณยืนอยู่ในจุดไหน คุณห่างจากเป้าหมายมากแค่ไหน
  • อะไรจะต้องเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้นได้
  • มีอะไรขวางกั้นระหว่างคุณกับเป้าหมายนั้นบ้าง
  • มีอะไรที่สามารถช่วยให้คุณถึงเป้าหมายนั้นได้อีกบ้าง
  • ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น มันจะทำให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นใช่หรือไม่
  • คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

             ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นคำถามปลายเปิด ที่ทำให้ผู้เข้ารับการโค้ชค้นหาคำตอบด้วยตัวเองทั้งสิ้น และโค้ชมืออาชีพจะสามารถเลือกใช้คำถามให้ถูกต้องตามเวลาและความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้ารับการโค้ชมองหาคำตอบจากตัวเอง และจะเห็นได้ว่า โค้ชจะ ไม่ใช้คำถามชี้นำ ( Leading Question ) เพื่อให้ผู้เข้ารับการโค้ชตอบในคำตอบที่ตัวโค้ชต้องการ เช่น ทำไมคุณไม่ทำแบบนี้? หรือ ทำแบบนี้แล้วมันดีหรือไม่ดี เพราะสุดท้าย การใช้คำถามเหล่านี้จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เช้ารับการโค้ชได้หาคำตอบจากตัวเอง และไม่ได้เลือกวิธีที่ตัวเองคิดขึ้นได้ แต่จะกลายเป็นวิธีที่โค้ชเลือกให้แทน เพราะโค้ชเห็นว่าดี นี่คือจรรยาบรรณในการตั้งคำถามของโค้ช เพราะฉะนั้นโค้ชมืออาชีพจะไม่พยายามคิดหาทางออกแทนผู้ที่เข้ารับการโค้ช โค้ชมืออาชีพจะไม่คุยโอ้อวดว่า “ฉันเป็นโค้ชที่เก่ง คนนี้มาโค้ชกับฉันแล้วทำตามเป้าหมายได้” แต่โค้ชมืออาชีพจะบอกว่า

“ เพราะเมื่อคุณทำได้ตามเป้าหมาย นั่นคือคุณเก่ง เพราะทั้งหมดที่คุณทำ มันเป็นคำตอบของตัวคุณเอง”

Listening

             เมื่อวิธีที่โค้ชใช้คือการตั้งคำถาม การฟังจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะในเมื่อคำถามนั้นเป็นคำถามปลายเปิด คำตอบก็ย่อมจะกว้างมากเช่นกัน อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่า โค้ชจะไม่ตั้งความคาดหวังว่าคำตอบควรจะออกมาเป็นอย่างไร ดังนั้นการตั้งสติและใช้ทักษะการฟังในระดับลึก โดยโฟกัสที่คำตอบของผู้ที่ถูกโค้ช จึงเป็นเรื่องสำคัญที่โค้ชมืออาชีพจำเป็นจะต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น

             มาถึงตรงนี้หลายๆคนอาจจะสะดุดกับคำว่า “การฟังระดับลึก” มันเป็นแบบไหน? แล้วมันแตกต่างกับการฟังปกติขนาดไหนถึงใช้คำว่า “จำเป็นจะต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น”

             อย่างแรกที่โค้ชมืออาชีพต้องมีคือ “สติ” เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อเรารับฟังคำตอบ หรือแม้กระทั่งคำพูดปกติของผู้อื่น หากเราขาดสติในการรับฟัง เราจะไม่สามารถรับรู้ถึงสารที่ผู้ถูกโค้ชกำลังพยายามจะสื่อออกมาอยู่ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องตั้งสติ และตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกทั้งหมด ร่วมทั้งเสียงรบกวนจากในหัวของเราด้วย ไม่ว่าจะได้ยินอะไรก็ตาม เราจะมีเสียงในหัวคอยคิดและตัดสินคำตอบเหล่านั้นทันที โดยที่เราไม่รู้ตัว หากสามารถตั้งสติรับฟังคำตอบของผู้ที่ถูกโค้ชแล้ว คุณอาจจะทึ่งไปกับเนื้อหาของคำตอบเหล่านั้นก็เป็นได้

             นอกจากการตั้งสติแล้ว การฟังยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ โดยจะแบ่งตามระดับของความ “ลึก” ในการฟัง “ความลึก” ที่ว่านี้คือ ความหมายแอบแฝงที่ออกมาจากการสื่อสารของผู้พูด ตั้งแต่อารมณ์ น้ำเสียง ภาษากาย หรือว่าเจตนาที่พูด ทำให้แบ่งออกมาเป็น 3 ประเภทอย่างง่ายคือ

  • General Context : คือการฟังโดยที่รับข้อมูลตามที่ผู้พูดสื่อสารตรงๆ ตามที่พูด โดยที่ไม่มีการตัดสิน หรือตีความใดๆ
  • Teller’s Feelings : คือการฟังที่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ที่ผู้พูดสื่อออกมาได้ เมื่อผู้พูดสื่อสารออกมา เขามีอารมณ์อะไรแฝงอยู่ในคำพูดเหล่านั้น “เขากังวล” “เขามั่นใจ” “เขากลัว” หรือ”เขากำลังตื่นเต้น”
  • Intention : คือการฟังที่รับรู้ได้ถึงเจตนาที่แอบแฝงอยู่ในคำพูดต่างๆของผู้พูด เมื่อมีการสื่อสารออกมา การสื่อสารนี้มีเจตนาอะไรอยู่ในนั้น “เขาตั้งใจประกาศตัวเองออกมาว่าเขาจะเริ่มทำแบบนี้ เขาทำเพื่อใคร”

 Reflecting & Empowering

             เมื่อโค้ชมืออาชีพได้รับสารที่ผู้ที่ถูกโค้ชสื่อออกมาแล้ว หน้าที่ต่อไปของโค้ชคือการ “สะท้อน ( Reflect )” ให้ผู้พูดเห็นในมุมมองที่ตัวเขาเองอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนคำพูดที่ว่า “เมื่อคุณอยู่ในขวดแก้ว คุณจะไม่สามารถเป็นฉลากที่แปะอยู่ด้านนอกได้เลย” มุมมองของบุคคลภายนอกนั้นแตกต่าง และมีผลเสมอ เมื่อโค้ชมืออาชีพที่ฝึกฝนการรับฟัง การสังเกต และการเก็บรายละเอียดอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ใช้ ภาษากายที่สื่อ เจตนาของคำตอบ หรือความเชื่อที่ผู้พูดมี ฯลฯ จะสามารถสะท้อนมุมต่างๆที่ผู้พูดเป็น แต่อาจจะไม่เคยเห็น หรือไม่เคยมีคนชี้ให้เห็นมาก่อน

             การสะท้อนที่ดี จะไม่ใช่การชมแบบไร้แก่นสาร ไม่ใช่การพูดบิดเบือนเพื่อให้รู้สึกดี แต่เป็นการนำ “ความจริง” ที่ผู้ที่ถูกโค้ชแสดงออกมา และสื่อสารอย่างมีคุณภาพกลับไปหาผู้ที่ถูกโค้ช หน้าที่”กระจกสะท้อน” นี้เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ผู้อื่นมองเห็น “จุดบอด ( Blindspot ) ของตัวเอง และสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้

             สุดท้ายคือการ “ให้กำลังใจ ( Empower ) เหมือนกับการสะท้อนคือโค้ชจะไม่ชมเรื่องที่ไม่เป็นจริง อธิบายกันแบบตรงตัวคือเราจะไม่ชมแบบหลอกลวง การให้กำลังใจ ไม่จำเป็นจะต้องรอให้เป้าหมายสำเร็จจึงจะเอ่ยคำชมออกมา เพียงแค่การกระทำที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในเป้าหมาย ก็เป็นสิ่งที่สามารถชมเชยได้ หรือพัฒนาการที่โค้ชสามารถสังเกตได้ ก็สามารถนำมา Empower ได้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

สิ่งที่ผู้ที่ถูกโค้ช ( Coachee ) จะได้รับ

             หลังจากที่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของโค้ชแล้ว คิดว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเข้าใจตรงกันหนึ่งอย่างแน่นอนคือ เมื่อถูกโค้ช จะไม่ถูกบอก หรือให้คำแนะนำอะไรทั้งสิ้น คำตอบของปัญหาทุกอย่าง การเดินทางทุกก้าวเพื่อเป้าหมาย ทั้งหมดล้วนมาจากตัวของคุณเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจน และต้องการมันมากพอ การโค้ชจะเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้คุณปลดล็อกศักยภาพในตัวเอง มองเห็นตัวตนของตัวคุณเองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และมั่นใจกับการก้าวต่อไป เพื่อเป้าหมายที่ต้องการ

             สรุปคือ การได้รับการโค้ช คือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการด้วยตัวเอง แก้ปัญหาระหว่างทางด้วยตัวเอง คุณจะมองเห็นและรับรู้ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง และภูมิใจในความสามารถและทรัพยากรที่ตัวเองมา ทั้งที่หมดกล่าวมาคือความหมายของคำว่า “โค้ชที่เก่งจะไม่บอกว่าฉันเก่ง แต่จะทำให้ผู้ที่ถูกโค้ชรู้สึกว่าตัวเองเก่ง”

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า