สร้างสูตรสำเร็จใหม่เฉพาะตัว เพื่อปีใหม่จะได้เป็นคนใหม่

             ในช่วงปีที่ผ่านมาคงจะนับได้ว่า เป็นปีที่ท้าทายสำหรับใครหลายๆคน ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับตัวที่เกิดขึ้น ฯลฯ หลายๆท่านอาจจะตั้งความหวังเอาไว้กับปีถัดปีว่า “ขอให้เป็นปีที่ดีด้วยเถอะ” “ปีต่อไปนี้จะต้องเป็นปีของฉัน” หรือต่อให้ปีนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเท่าที่เกิดขึ้น หลายๆท่านก็อาจจะกำหนด New year’s resolution เอาไว้เป็นปกติอยู่แล้ว “ปีนี้ฉันจะ….” “ปีนี้จะต้อง……ให้ได้!!

             สำหรับผู้ที่รักการพัฒนาตัวเอง การตั้งเป้าหมาย น่าจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ความพิเศษของช่วงปีใหม่ก็คือ เราจะเห็นหลายๆคนที่อาจจะยังไม่เคยตั้งเป้าหมายจริงๆจังๆมาก่อน เริ่มตั้งเป้าหมายบางอย่างให้กับตัวเอง และออกมา Commit ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ กับคนใกล้ตัว หรือบางคน Commit กับตัวเองอย่างหนักแน่น “ฉันจะต้องเก่งขึ้น” “ฉันจะต้องได้ผลลัพธ์นี้” “ฉันจะต้องพัฒนาเรื่องนี้” ฯลฯ ซึ่งภาพที่เห็นว่าผู้คนกำลังออกมาประกาศว่าฉันจะพัฒนาตัวเองอย่างไร นับว่าเป็นภาพที่สวยงามมากๆภาพหนึ่งเลยทีเดียว

             แต่อย่างไรก็ตามหลายๆท่านก็อาจจะเคยเจอประสบการณ์ Resolution ของปีนี้ซ้ำกับของปีที่แล้ว ประมาณว่าปีที่แล้วตั้งไว้แบบไหน ขึ้นปีใหม่อีกทีคิดขึ้นมาได้ว่า ทำไมถึงยังตั้งเป้าหมายเดิม? มันมีอะไรผิดพลาดตรงไหน? เพราะฉะนั้น บทความนี้จะมีเทคนิคในการตั้งคำถาม เพื่อหาสูตรสำเร็จเฉพาะตัวของคุณเอง เพื่อที่ปีใหม่คุณจะได้ผลลัพธ์ใหม่ ในแบบที่คุณต้องการ

            

  • คุณพอใจกับปีนี้ของตัวคุณเองไหม?

             ก่อนที่คุณจะตั้งเป้าหมาย คุณลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่า ปีที่ผ่านมาคุณพอใจกับตัวเองหรือไม่? แน่นอนว่าใน 365 วันย่อมมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย มีผลลัพธ์เกิดขึ้นมากมาย คำถามที่คุณต้องตอบคือ คุณพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไหม? มีอะไรที่คุณพอใจบ้าง? มีอะไรที่คุณยังไม่พอใจ และอยากให้สิ่งนั้นพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงบ้าง? หรือมีอะไรที่คุณอยากจะให้เกิดขึ้น แต่มันยังไม่เกิดบ้าง? ลอง List ออกมาดู คุณอาจจะเห็นอะไรบางอย่าง หรือคึวามรู้สึกบางอย่างในตัวเองที่คุณมองข้ามไปก่อนก็ได้

             อีกหนึ่งประโยชน์ของการ List แบบนี้คือ ในช่วงที่หลายๆคนออกมาประกาศ Resolution ของตัวเองกัน ถ้าคุณไม่ได้ชัดเจนกับตัวเองมากพอว่าคุณอยากจะทำอะไร คุณอาจจะหลงเข้าไปใน Resolution คนอื่นโดยที่มันไม่ใช่ความต้องการของตัวเองจริงๆก็เป็นได้ “คนนี้อยากหุ่นดี ถ้าฉันหุ่นดีบ้างก็คงจะดีเหมือนกันนะ”

“คนนี้อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าฉันมีรายได้มากกว่านี้ก็คงจะดีไม่น้อย” แน่นอนว่าทุกอย่างมีข้อดีและประโยชน์ในแบบของตัวมันเองอยู่แล้ว แต่บ่อยครั้งถ้าหากว่านั่นไม่ใช่ความต้องการของคุณจริงๆ คุณมักจะพบว่าตัวเอง ”หมดไฟ” ในการทำเป้าหมายนั้นให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหนึ่งสิ่งที่จะทำให้คุณมีพลังขับเคลื่อนในการลงมือทำคือ สิ่งๆนั้นเป็นความต้องการของตัวคุณเอง

 

  • ถ้าต้องให้คะแนนความสุขของตัวเองตั้งแต่ 0 – 100 คุณจะได้คะแนนเท่าไหร่

             เมื่อคุณได้รายการของสิ่งที่คุณพอใจและไม่พอใจแล้ว คุณอาจจะเห็นคร่าวๆแล้วว่าปีที่ผ่านมาคุณพอใจตัวเองมากน้อยแค่ไหน ต่อมาคือการทำให้ข้อมูลนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยระบบการ “ให้คะแนนตัวเอง” ตั้งแต่ 0 – 100 โดยเริ่มที่ 0 คือคุณไม่มีความสุขเลย และ 100 คือนั่นคือจุดที่คุณมีความสุขมากที่สุดในชีวิตของคุณแล้ว

             ระบบการให้คะแนนตัวเองนี้ไม่ได้มีมาตรฐานอะไรเป็นหลักสากลว่า ความสุขเท่านี้ต้องให้คะแนนเท่านี้นะ หรือถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นี้คุณจะถูกหักคะแนนเท่านี้ แต่คนที่ตั้งมาตรฐานทั้งหมดก็คือตัวคุณเอง เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่าง : เพื่อนสนิทสองคนตั้งเป้าหมายเหมือนกันคือ “ปีนี้ฉันจะต้องหุ่นดีกว่านี้” เมื่อได้เป้าหมายแล้วทั้งสองคนก็เริ่มให้คะแนนตัวเอง

– คุณ A เพื่อนคนแรกบอกว่า ตอนนี้ไม่ค่อยพอใจเพราะต้องใส่เสื้อไซส์ใหญ่กว่าเดิม ให้คะแนนตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ 80/100 ถ้ากลับไปใส่เสื้อตัวเดิมได้ คุณ A จะพอใจแล้ว

คุณ B บอกว่าเขาจะต้องหุ่นดี ใส่ชุดว่ายน้ำแล้วดูดีที่สุดในชีวิตในแบบที่เขาไม่เคยเป็นมาก่อน คุณ B ให้คะแนนตัวเองตอนนี้ 40/100 เพราะคุณ B มองว่าเขาต้องพัฒนาอีกมาก

             ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณ B รูปร่างดูดีกว่าคุณ A มาก แต่กลับให้คะแนนตัวเองน้อยกว่า เพราะทั้งสองคนมองเห็นชัดเจนว่า ณ ตอนนี้ตัวเองยืนอยู่จุดไหน และเป้าหมายของเขาอยู่ไกลแค่ไหน คุณ A ไม่ได้มีเป้าหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพียงแค่ใส่เสื่อตัวเดิมได้ก็พอใจแล้ว แต่คุณ B มองเห็นชัดเจนว่าเขาต้องพัฒนาอีกมากเพื่อที่จะได้เป้าหมายของเขา รูปคะแนนเลยออกมาเป็นอย่างที่เห็นในตัวอย่าง

             ดังนั้น 1 คำเตือนที่อยากจะเตือนให้ทุกท่านที่กำลังตั้งเป้าหมายว่า “อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น” เพราะเมื่อคุณเห็นว่าเป้าหมายของตัวเองกับคนอื่นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนอื่นกลับมาเพดานสูงกว่าคุณและดูยิ่งใหญ่กว่าคุณมาก ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกว่าฉันก็ต้องได้เท่าเขาเหมือนกัน เพราะนี่คือความพอใจของตัวคุณเอง คุณไม่จำเป็นจะต้องแข่งขันกับใคร หรือพยายามทำให้ใครพอใจ เหมือนกันในตัวอย่างข้างต้น เพราะเป้าหมายของทั้งสองคนเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ต้องการให้ตัวเอง และทั้งคู่ยอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้น ทำให้เป้าหมายของทั้งคู่ดูดีและสวยงามไม่แพ้กันเลย 

  •  ทำอย่างไรจึงจะได้คะแนนเต็ม 100

             คำถามสุดท้ายที่จะทำให้คุณเห็นเส้นทางของตัวเองชัดเจนขึ้นคือ หลังจากที่คุณให้คะแนนตัวเองแล้ว “คุณจะต้องทำอย่างไร คุณถึงจะได้ 100 คะแนนเต็ม?” อย่างที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้ว คุณคือคนที่กำหนดมาตรฐานเองว่าคุณควรต้องได้คะแนนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นคุณก็ควรจะต้องตอบได้ว่า ต้องเกิดอะไรขึ้นบ้างคุณถึงจะได้คะแนน 100 เต็ม ลองกลับไปมองที่ตัวอย่างข้างต้นว่า คุณ A กับคุณ B อยากจะหุ่นดีขึ้นในปีใหม่เหมือนกัน

– คุณ A : เพื่อที่ฉันจะสามารถกลับไปใส่เสื้อไซส์เดิมได้ ฉันต้องลดไขมัน ดังนั้นปีนี้ Fat% จะต้องลดลง 15% ถ้า Fat ฉันลดลงได้ 15% ฉันได้คะแนนเต็มแน่นอน

– คุณ B : เพื่อที่ฉันจะสามารถใส่ชุดว่ายน้ำแล้วดูดีที่สุดในชีวิตได้ ฉันจะต้องทั้งลดไขมัน ต้องทำให้สัดส่วนดีขึ้น ดังนั้น Fat% จะต้องลดลงไปอีก 5% หน้าท้องฉันถึงจะเห็นชัดสวยงาม ยังไม่พอ ต้นแขนจะต้องกระชับกว่านี้ รอบขนต้องลดลงสัก 5cm ถ้าสองอย่างนี้เกิดขึ้นได้ ฉันได้ 100 คะแนนแน่นอน

             ความชัดเจนนี้จะทำให้ทั้งคุณ A และคุณ B เห็นเส้นทางของตัวเองถ้าอย่างชัดเจนว่า ในปีนี้พวกเขาจะต้องทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง ลองคิดดูว่าถ้าคุณ A บอกว่าอยากหุ่นดีเฉยๆ แต่ดันไปเพิ่มกล้ามเนื้อ อาจจะทำให้คุณ A ไม่สามารถใส่เสื้อได้อย่างที่ตั้งใจ หรือถ้าคุณ B ที่อยากจะดูดีแต่ไม่รู้ว่าจะต้องแก้ที่ตรงไหน คุณ B อาจจะโฟกัสที่หน้าท้องที่ดีอยู่แล้วมากเกินไป ทำให้รูปที่ออกมาต้นแขนอาจจะไม่ได้น่าพอใจอย่างที่คุณ B หวัง ดังนั้นความชัดเจนจะทำให้คุณไม่หลงทาง และไม่เสียเวลากับกิจกรรมที่ไม่ได้มีผลกับเป้าหมายของคุณ

             จะเห็นได้ว่าทุกคำถามถูกออกแบบมาเพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนในเป้าหมาย หรือใน Resolution ของคุณ ตั้งแต่เรื่องความพอใจว่าคุณพอใจหรือไม่พอใจเรื่องอะไร เต็ม 100 คุณได้คะแนนเท่าไหร่ และต้องเกิดอะไรขึ้นบ้างคุณถึงจะได้คะแนนเต็ม 100 เพราะเป้าหมายทิ่ยิ่งใหญ่ของคุณจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีความชัดเจน

             อีกหนึ่งองค์ประกอบที่จะขาดไม่ได้เช่นกันก็คือ “การวัดผล” เพราะการวัดผลจะทำให้คุณเห็นตัวเองตลอดเวลาทั้งในตอนเริ่มต้น ระหว่างทางเดิน และตอนที่ถึงเส้นชัย ว่าแต่ละช่วงคุณทำอะไรบ้าง เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง คุณควรจะทำอะไรมากขึ้น ควรจะทำอะไรน้อยลง ควรจะเริ่มทำอะไร และคุณควรจะหยุดทำอะไร ดังนั้นต่อไปนี้คือเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายและวัดผลได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

1.เลือกมิติของชีวิตที่คุณอยากจะเปลี่ยนแปลง

             แน่นนอนว่าชีวิตของคนเรามีหลายมิติ ทั้งสุขภาพ การเงิน สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ ฯลฯ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าหากว่าคุณอยากจะพัฒนาในหลายๆมิติ ถ้าย้อนกลับไปดู List รายการที่คุณเขียนเอาไว้ในหัวข้อแรกที่คุณเขียนว่าคุณพอใจหรือไม่พอใจอะไรบ้าง คุณอาจจะเห็นหลายข้อที่คุณสามารถพัฒนาได้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องหยิบทุกหัวข้อขึ้นมาแล้วลุยกับมันพร้อมๆกันทั้งหมด เพราะถ้าคุณทำหลายอย่างมากเกินไป คุณจะไม่สามารถตั้งสมาธิกับกิจกรรมของคุณได้มากพอ และอาจจะทำให้คุณไม่ได้ผลลัพธ์ที่คุณต้องการได้

             เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีสิ่งที่อยากพัฒนามากกว่า 2-3 เรื่องขึ้นไป ให้ลองเลือกเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณ หรือจะเป็นเรื่องที่คุณอยากได้ที่สุดมาไม่เกิน 3 หัวข้อ เพื่อที่คุณจะได้ทุ่มเททรัพยากรเวลา การเงิน การลงแรง ได้อย่างเต็มที่ และถ้าคุณมีเวลาเหลือหลังจากที่จัดการกับ 3 ข้อนี้ได้ คุณค่อยขยับออกมาดูหัวช้ออื่นๆว่าคุณอยากจะทำอะไรบ้าง หรือคุณสามารถทำอะไรเพิ่มได้บ้างก็ยังไม่สาย

2 เริ่มวัดผล

             อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการวัดผลคือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ ดังนั้นการวัดผลที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการวัดผลนี้จะแตกต่างกับการให้คะแนนข้างต้นในด้านของความละเอียด เพราะการวัดคะแนนจะทำให้คุณเห็นจุดเริ่มต้น หรือจุดที่คุณยืนอยู่ในปัจจุบันว่า คุณอยู่ห่างกับเป้าหมายคุณแค่ไหน แต่การวัดผลจะทำให้คุณเลือกลงมือทำกิจกรรมที่สร้างผลลัพธ์สูงสุดให้คุณได้

ลองจินตนาการดูว่า มีพ่อค้าสองคน ขายสินค้าชิ้นเดียวกัน

พ่อค้าคนแรก : ที่ผ่านมาก็ขายดีนะ ได้กำไรเรื่อยๆไม่ขาดทุน ตั้งร้านตั้งแต่เช้ายันเย็น ปิดร้านของก็ขายหมดตลอดไม่มีเหลือ แต่ถ้าหาเงินได้เยอะขึ้นก็ดีเหมือนกันนะ

พ่อค้าคนที่สอง : ต้นทุนในการขายแต่ละวันจะอยู่ที่ 2,000 บาท จบวันจะขายได้ทั้งหมด 5,000 บาท เขาจะได้กำไรทั้งหมดต่อวัน 3,000 บาท และเขาเห็นว่าช่วงเย็นจะเป็นช่วงที่ลูกค้าซื้อมากที่สุด เมื่อลองดูข้อมูลที่เขาเก็บมาได้ เขาเปิดร้าน 11.00 – 20.00 ในช่วงตั้งแต่ 11.00 – 17.00 สินค้าถูกขายไปแค่ไม่ถึง 10% ในขณะที่ตั้งแต่เวลา 17.01 – 20.00 เขาขายสินค้าที่เหลือกว่า 90% ทั้งหมดได้ และยังไม่พอ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และในวันหยุดเขาเห็นว่า สินค้าของเขาขายหมดตั้งแต่เวลา 18.30 ยังไม่ถึงเวลาปิดร้านเขาก็ขายหมดแล้ว

             คุณคิดว่าถ้าสองคนนี้มีเป้าหมายว่าอยากจะเพิ่มรายได้ต่อวันมากขึ้นกว่าเดิม คนไหนจะหาวิธีในการเพิ่มรายได้ ได้ง่ายกว่ากัน แน่นอนอยู่แล้วว่าก็ต้องเป็นพ่อค้าคนที่สองแน่นอน เพราะเขาวัดผล และมีข้อมูลของทุกการกระทำว่า เขาลงมือทำอะไร และผลลัพธืที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำของเขาคืออะไรบ้าง จากตัวอย่างก็คือเขาเห็นว่าสินค้าเกือบทั้งหมดขายได้ในช่วงเย็น เขาอาจจะเลือกเปิดร้านแค่ช่วงเย็น แล้วเอาเวลาไปพัฒนาสินค้าในช่วงเวลาอื่นได้  หรือถ้าคิดง่ายๆว่าอยากได้กำไรเพิ่มขึ้น เขาก็ต้องขายสินค้าให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเขาลองลงทุนซื้อสินค้ามาเพิ่ม ปรากฏว่าเขาขายไม่หมดภายในหนึ่งวัน เขาตัดสินใจจะขยายสาขาเพิ่ม เอาสินค้าไปขายในจุดอื่นที่เขาต้องการซื้อในช่วงเวลาเลิกงานเหมือนกันก็จะสามารถขายทั้งหมดตามเป้าได้ และในเมื่อเขารู้ว่าช่วงขายดีคือตอนเย็น เขาก็จะจัดการคนได้ง่ายขึ้น เขาอาจจะเลือกจ้างพนักงาน Part  time เข้ามาทำงานที่ร้านแค่ช่วง 17.00 – 20.00 วันละ 3 ชม. เขาไม่จำเป็นจะต้องจ้างพนักงานเต็มวันมานั่งเฉยๆโดยที่ไม่เกิดผลลัพธ์อะไรขึ้น อีกทั้งในวันหยุด เขาอาจจะเลือกลงทุนซื้อสินค้ามาขายในปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่พ่อค้าคนแรกอาจจะยังทำอะไรไม่ถูก หรืออาจจะแค่สั่งสินค้ามาวางหน้าร้านเพิ่มขึ้น แต่ผลที่ออกมาก็คือกลายเป็นสั่งมาแล้วขายไม่หมด เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไรบ้าง แล้วเขาจะต้องลงมือทำอะไรถึงจะพัฒนาขึ้นได้

             นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเป้าหมายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ใมนเชิงธุรกิจแบบนี้ และต่อให้เป็นเรื่องธุรกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้เห็น คำนวณ และวัดได้ง่ายๆอย่างที่ยกตัวเอง เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องวัดผลให้ได้ว่ากิจกรรมที่คุณทำ ก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไร คุณจะได้ไม่ติดกับดักการลงมือทำบางอย่าง ที่ไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่คุณหวังไว้

 

3.ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และสามารถวัดผลได้

             อย่างสุดท้ายที่จะต้องมีคือ เป้าหมายที่ชัดเจนว่าผลลัพธ์ที่คุณต้องการคืออะไร ในเมื่อคุณเลือกแล้วว่าจะลงไปพัฒนาในมิติไหนของชีวิตคุณ คุณวัดผลได้แล้วว่าคุณต้องทำอย่างไรบ้าง สุดท้ายนี้คือคุณต้องรู้ว่าเส้นชัยของคุณอยู่ตรงไหน

             ถ้าลองกลับไปมองที่ พ่อค้าคนที่ 2 ดู เขาดูจะเห็นเส้นทางการเติบโตในธุรกิจอย่างชัดเจน เขารู้ว่าเขาจะต้องทำอะไร แต่สิ่งที่ยังขาดไปอยู่คือ เป้าหมายที่ชัดเจนว่าเขาต้องการรายได้เพิ่มขึ้น เท่าไหร่เขาถึงจะพอใจ เพราะถ้าเขาคิดแต่ว่าเขาอยากจะหารายได้เพิ่ม เขาขยายสาขา เขาหาสินค้าตัวใหม่มาขายมากขึ้น เขามารายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเขาอาจจะทำไปเรื่อยๆโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่า จุดมุ่งหมายของเขาคืออะไร และสุดท้ายเขาอาจจะกลับมาคิดกับตัวเองว่า “ทำไมเขาไม่มีความสุขเลย” แต่ถ้าพ่อค้าคนนี้ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า เขาเคยมีกำไร 3,000 บาท ต่อวัน เขาอยากจะได้เป็น 6,000 บาท ต่อวัน เขาอาจจะเลือกเปิดสาขาเพิ่มเพียงแค่ 1 สาขาก็ได้ และเขาก็จะได้เอาเวลาที่เหลือไปใช้กับสิ่งที่เขามีความสุข อาจจะเป็นเรื่องครอบครัว หรืองานอดิเรกบางอย่างที่เติมเต็มชีวิตเขา

             ดังนั้นอย่าลืมว่าเป้าหมายทุกอย่างถูกตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะ ทำให้คุณ “มีความสุข” มากขึ้น อย่ามัวหลงไปในความสำเร็จปลอมๆที่คนอื่นตั้งขึ้น ตัวคุณเองไม่ได้อยากได้ เพราะความสำเร็จที่แท้จริง “คุณ” เป็นคนกำหนดเองตั้งแต่แรก คุณเป็นคนกำหนดว่าสำหรับตัวคุณเองแล้ว นี่คือหุ่นดี นี่คือรวย นี่คือความสัมพันธ์ที่คุณอยากได้ สุดท้ายนี้ขอทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า

                                                       

                                      “ปีใหม่นี้ คุณตั้งเป้าหมายอะไรให้ตัวเอง เพื่อที่คุณจะเป็นคนใหม่ที่มีความสุขมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว”

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า