เรียนรู้อย่างไร? ให้จำติดตัวไปนานๆ

             ในยุคสมัยที่โลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี กระแสสังคม พฤติกรรมของผู้คน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุทำให้เงื่อนไขในการดำรงชีวิตและปัจจัยที่จำเป็น เพื่ออยู่รอดในสังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาในทุกพื้นที่ ทั้งเรื่องการทำธุรกิจ การสมัครหางาน การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การรับสื่อและข่าวสารต่างๆ ฯลฯ เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นหนึ่งสิ่งที่หลายๆคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “จำเป็น” ทำให้การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

             เมื่อมีการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่หลายๆคนอาจจะพบเจอก็คือ “จำไม่ได้” ลองนึกถึงช่วงก่อนสอบที่ไม่ว่าจะพยายามอ่านหนังสือเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัวสักที หรือตอนอ่านเข้าใจแต่ก็ไม่สามารถจำเข้าไปในห้องสอบได้ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องสอบเท่านั้น ในโลกสมัยใหม่นี้มีการใช้ทักษะแข่งขันกันสูงอย่างปฎิเสธไม่ได้ และบ่อยครั้งที่เราไม่สามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้มาแสดงศักยภาพได้เต็มที่ เพราะเรายังเจอปัญหา “จำไม่ได้” อยู่เหมือนเดิม ทำให้เราต้องวนกลับมาทบทวนซ้ำๆ บางคนอาจจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะจำและทำความเข้าใจได้ จนทำให้เรียนรู้เรื่องต่อไปได้ช้าลง หรือบางคนทำความเข้าใจและจำได้ไวมาก แต่พอเรียนรู้เรื่องต่อไป กลายเป็นลืมเรื่องเก่าๆราวกับว่าหน่วยความจำเต็มไปซะอย่างงั้น

              บทความนี้จะกล่าวถึงกระบวนการในการเรียนรู้ในแต่ละกระบวนการว่ามีผลอย่างไร และจะส่งผลให้ความจำกับความเข้าใจดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง 

จดบันทึก

             การจดบันทึก เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่ถูกฝึกหรือถูกบังคับ ให้ทำกันอย่างกว้างขวางในระบบการศึกษาไทย แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่แล้ววิธีนี้ให้ประโยชน์ที่แท้จริงของการจดบันทึกที่มีต่อผู้เรียนได้ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ เพราะการจดบันทึกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือการ“จดตามผู้สอน” คำต่อคำ ซึ่งการจดบันทึกในวิธีนี้ เป็นการปิดการเรียนรู้ขั้นแรกไปมากกว่า 70% เพราะแทนที่ผู้เรียนจะได้โฟกัสกับการทำความเข้าใจ และจดบันทึกส่วนสำคัญเพื่อใช้ทบทวนในภายหลัง กลายเป็นว่าผู้เรียนจะต้องจดจ่ออยู่กับการ ”เขียนตามให้ทัน” โดยที่ไม่ได้ประมวลสารที่รับใดๆเลยเพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าจดช้ากว่าผู้สอนเพียงเล็กน้อย ข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบออกจากกระดาน และต้องเสียเวลามานั่งลอกข้อมูลที่ขาดหายไปจากเพื่อนร่วมชั้น แทนที่จะได้ใช้เวลาในการทบทวนต่างๆต่อไป

     แต่ ถ้าหากว่าคุณมีในฐานะคนที่รักการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองสามารถจดบันทึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณก็จะได้ประโยชน์จากการจดบันทึกอย่างเต็มที่ เพราะการจดบันทึกที่ดีนั้นเป็นการตั้งสติและทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนกำลังถ่ายทอด จากนั้นเลือกส่วนสำคัญจดบันทึกไว้เพื่อทบทวนในภายหลัง

6 เทคนิคพื้นฐานง่ายๆที่จะทำให้จดบันทึกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • จดเฉพาะส่วนสำคัญ : ฟังดูเหมือนง่าย แต่หลายๆคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อะไรคือส่วนสำคัญของหัวข้อที่คุณกำลังเรียนรู้อยู่ เทคนิคในการเลือกส่วนสำคัญคือ การทำการบ้านล่วงหน้าว่า หัวข้อที่คุณกำลังจะเรียนรู้ในวันนี้คืออะไร จะเป็นประโยชน์กับคุณอย่างไร หรือมีข้อมูลใดที่คุณอยากจะเรียนรู้เป็นพิเศษในหัวข้อนั้นๆหรือไม่
  • อย่าจดมากเกินไป : อาจจะฟังดูเหมือนกับเทคนิคแรกที่ให้จดเฉพาะส่วนสำคัญ แต่การจดมากเกินไปจะทำให้เราเสียสมาธิในการฟัง และทำให้เราอาจจะพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างจากผู้สอนไปได้ ดังนั้นเทคนิคนี้เป็นคำเตือนที่ต้องเตือนตัวเองตลอดว่าการเรียนรู้ไม่ใช่การจดบันทึกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนกำลังถ่ายทอดอยู่
  • ถามเมื่อสงสัย : เมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจ แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องที่สงสัยหรือยังไม่เข้าใจเต็มที่อยู่แล้ว เพราะนี้เป็นข้อมูลใหม่ ดังนั้นการถามคือทางออกที่ง่ายที่สุด ซึ่งคุณสามารถยกมือขึ้นถามในระหว่างเรียนได้เลย หรือคุณจะโน๊ตเอาไว้ถามผู้สอนหลังจากจบคลาสแล้วก็ได้
  • เปรียบเทียบ : การเปรียบเทียบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมชั้น และการเปรียบเทียบกับแบบเรียนที่คุณได้รับ เพราะการเปรียบเทียบคือสิ่งที่จะทำให้คุณเห็นบางจุดที่คุณอาจจะมองข้าม หรือข้อสำคัญบางอย่างที่คุณจดมาไม่ครบถ้วน
  • ลอกซ้ำ : สำหรับหลายๆคนอาจจะเจอปัญหาว่า “อ่านไม่รู้เรื่อง” หลังจากที่จดข้อมูลทุกอย่างออกมา เพราะเราต้องจดให้ไวที่สุดเพื่อที่จะได้จดจ่อกับสิ่งที่ผู้สอนกำลังพูดอยู่ได้ ดังนั้นการลอกซ้ำจะทำให้คุณกลับมาอ่านซ้ำได้ง่ายขึ้น และยังเปิดโอกาสให้คุณจัดหน้ากระดาษให้อ่านง่ายขึ้นอีกด้วย
  •  จัดเรียงหน้ากระดาษ : เมื่อคุณลอกซ้ำ คุณจะเห็นได้ว่าโน๊ตที่คุณจดไว้แต่แรกไม่เพียงแค่อ่านไม่รู้เรื่อง แต่มันดูยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด การจัดหน้ากระดาษจะช่วยให้คุณจัดเรียงข้อมูลต่างๆให้อยู่เป็นสัดส่วนเหมาะสมยิ่งขึ้น และการฝึกจัดหน้ากระดาษบ่อยครั้ง จะทำให้คุณเคยชินและสามารถนำการจัดหน้ากระดาษนี้ไปใช้ขณะที่กำลังจดบันทึกในคลาสเรียนได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

อ่านซ้ำ

             การจดบันทึกของคุณจะไม่มีส่วนช่วยเลย หากไม่เกิดการอ่านซ้ำ ซึ่งเมื่อคุณสามารถจดบันทึกได้มีประสิทธิภาพแล้ว การอ่านซ้ำจะเป็นช่วงที่คุณสามารถจดจ่อกับการทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้มามากขึ้น บางคนมีความเชื่อว่าการจดบันทึกเป็นการอัดข้อมูลเข้าไปในสมองเราทางหนึ่ง หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “แค่จดก็จำได้แล้ว” ซึ่งก็ไม่ผิดซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะว่าการอ่านซ้ำเป็นช่วงที่คุณนำความเข้าใจจากในห้องเรียนมาตกผลึกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

             ข้อสำคัญอีกหนึ่งข้อที่คุณควรจะอ่านทบทวนซ้ำ เพราะว่าการอ่านซ้ำคือกระบวนการของการทำความเข้าใจในแบบของตัวคุณเอง เมื่อคุณฟัง คุณจด นั่นคือสารและข้อมูลที่คุณรับมาจากผู้สอนในคลาสเรียน แต่การอ่านซ้ำเป็นการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่คุณเข้าใจในแบบของคุณเอง เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเคยเจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่บอกว่า “วิธีจำของฉันคือ………” นั่นเพราะว่าพวกเขาเกิดการตกผลึกและประมวลข้อมูลแบบใหม่ในแบบที่ตัวเขาเองเข้าใจได้ง่ายขึ้นแล้วนั่นเอง

 

ฟัง & มีภาพประกอบ

             นอกจากการอ่านซ้ำแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งของการเรียนรู้ซ้ำก็คือ การฟัง และการดูภาพประกอบ การเรียนรู้ซ้ำในลักษณะนี้จะแตกต่างจากการฟังครั้งแรกในห้องเรียน ตรงที่เรากำลังรับข้อมูลโดยที่เรามีความเข้าใจในแบบของตัวเองผ่านการอ่านซ้ำมาแล้ว การเรียนรู้ซ้ำในครั้งนี้จะทำให้เราเห็นรายละเอียดของสิ่งที่เราเข้าใจอยู่แล้วผ่านสื่อกสารสอนที่ผู้สอนใช้ในคลาสเรียนมากขึ้น ต่างจากครั้งแรกที่เราโฟกัสเฉพาะจุดสำคัญเท่านั้น ซึ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันมีทั้งคลาสออนไลน์ที่เราดูและฟังซ้ำได้เรื่อยๆ หรือวีดีโอที่เป็นสื่อการสอนของสถาบันต่างๆ ทำให้การฟังซ้ำ และดูภาพประกอบเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิมมาก

             การเรียนรู้ซ้ำในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้สื่อการสอนจากสถาบันที่เราเรียนเท่านั้น คุณยังสามารถค้นหาสื่อจากแหล่งอื่นๆในหัวข้อเดียวกันได้อีกด้วย เพราะคุณมีความเข้าใจในหัวข้อที่คุณกำลังเรียนรู้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว การรับสื่ออื่นๆในหัวข้อเดียวกันจะทำให้คุณทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและคุณอาจจะได้เห็นมุมมองหรือหัวข้อสำคัญใหม่ๆก็เป็นได้

ดูตัวอย่าง

             หลังจากที่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น มีการทบทวน มีการเรียนรู้ซ้ำ ก้าวต่อมาของการเรียนรู้ที่ดีและจำได้นานก็คือการ “ดูตัวอย่าง” ซึ่งจะเริ่มเข้ามาในพื้นที่สำหรับการเตรียมตัวเพื่อลงมือทำเข้าไปทุกที เพราะการเรียนรู้สามข้อที่ผ่านมาคือการทำความเข้าใจ ประมวลผล และการเก็บรายละเอียดกับเรื่องที่เรียนมากขึ้น ขั้นตอนนี้จะทำให้คุณเห็นว่าทฤษฎีที่คุณเรียนรู้มาจะเกิดผลขึ้นอย่างไรได้บ้าง

             ยิ่งถ้าหากว่าหัวข้อที่คุณเรียนอยู่เป็นหัวข้อที่ต้องปฎิบัติจริง เช่น การเรียนรู้ภาษา คุณจะสังเกตได้ว่าบางคนคะแนนสอบเต็ม Grammar ยอดเยี่ยม แต่ไม่สามารถใช้สื่อสารได้ , การเรียนยิง ads ใช้โฆษณาเพื่อผลลัพธ์บางอย่างทางธุรกิจ ฯลฯ นี่คือการเตรียมตัวก่อนลงสนามจริงผ่านประสบการณ์ของคนอื่น ว่าทฤษฏีต่างๆในห้องเรียน จะเปลี่ยนออกมาเป็นการกระทำอย่างไร มีผลลัพธ์อะไรบ้าง มีข้อควรระวังอะไร และมีปัญหาอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด

             “มุมมอง” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนหนึ่งคน ตีความหมายของข้อมูลหนึ่งอย่างในแบบที่คนๆนั้นเห็นและเข้าใจ คุณคิดว่ามันจะดีกว่าไหมถ้าคุณไม่ได้มีมุมมองของเราคนเดียวเพียงแค่ 1 มุมมอง

             การถกกัน,พูดคุยกัน คือการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและประสบการณ์ของแต่ละคนที่กับหัวข้อนั้นๆ เพราะหัวข้อที่เรียน 1 หัวข้อ สามารถแปลงไปเป็นความรู้ที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ได้หลากหลายกว่าที่คุณคิด เช่น เมื่อคุณเรียนการบริหารจัดการ บางคนเอาหลักความรู้นี้ไปใช้บริหารองค์กรของตัวเอง บางเอาไปใช้บริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของตัวเอง หรือบางคนเอาความรู้ไปศีกษาต่อ และมีมุมมองการบริหารองค์กรในระดับที่ใหญ่กว่าเดิม ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละคนล้วนได้รับประโยชน์จากหัวข้อที่เรียนรู้ไปแตกต่างกัน ทั้งๆที่เรียนมาจากคลาสเดียวกัน อาจารย์คนเดียวกัน

             ข้อควรระวังของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดก็คือ “อย่าทะนงตน และอย่าตัดสินสิ่งที่คนตรงหน้าพูด” ไม่ได้หมายความว่าคนที่เก่งกว่าจะต้องเป็นผู้ถ่ายทอดเพียงคนเดียว บางครั้งคนที่อาจจะเก่งไม่เท่า อาจจะมีมุมมองที่คนเก่งกว่าคาดไม่ถึงก็เป็นได้ เช่น มีการสนทนาระหว่างผู้บริหารมือใหม่ ที่เพิ่งจะทำหน้าที่มาได้ไม่ถึงปี กับผู้บริหารเก่าแก่ที่อยู่ในตำแหน่งมาเป็นสิบๆปี ทั้งสองคนมีโอกาสได้ประโยชน์เท่าๆกัน แน่นอนว่าผู้บริหารที่อายุงานมากกว่าหลายสิบเก่ามีประสบการณ์มากกว่า และมีความคิดเห็น,มุมมองหลายรูปแบบมากกว่าผู้บริหารที่อายุงานน้อยเป็นธรรมดา แต่ผู้บริหารหน้าใหม่ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปก็ได้ เพราะยุคสมัยที่ต่างกัน และเงื่อนไขรอบๆตัวที่ต่างกันทำให้เส้นทางของผู้บริหารทั้งสองคนนี้แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารยุคใหม่อาจจะเลือกนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้ดี และมีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่ผู้บริหารที่มีประสบการณ์จะเตรียมตัวรับมือและจัดการกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดีกว่า

             ลองจินตนาการดูว่า หากคนของคนนี้มีความทะนงตน และตัดสินคนตรงหน้า ผู้บริหารที่มีประสบการณ์นานก็จะคิดว่า “เด็กไร้ประสบการณ์ จะไปรู้เรื่องอะไร?” ผู้บริหารหนุ่มหน้าใหม่ อาจจะตัดสินไปว่า “ยุดสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณตามผมไม่ทันหรอก” คุณคิดว่าสองคนนี้จะได้ประโยชน์จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนนี้หรือไม่? แต่ถ้าทั้งสองคนเปิดใจ ผู้บริหารหน้าใหม่จะได้มุมมองของการแก้ปัญหา สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และการเตรียมตัวรับมือจากอีกฝ่ายที่มีประสบการณ์เป็นสิบๆไป และในขณะเดียวกัน ผู้บริหารที่ไม่เคยชินกับการใช้เทคโนโลยี จะได้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่ทำให้ได้เนื้องานมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงแรงหรือใช้เวลาเท่าเดิม

             ดังนั้นถ้าคุณอยากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับใคร ให้คุณคิดไว้เสมอว่า คุณตั้งใจจะมารับมุมมองใหม่ๆจากคนตรงหน้า คุณไม่ได้จะมาตัดสินว่าใครถูกใครผิด หรือใครเก่งกว่าใคร

            

ฝึกฝน/ทำซ้ำไปซ้ำมา

             การปฏิบัติจริงคือพื้นที่ที่สำคัญที่สุดหนึ่งอย่างของผู้ที่รักการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง หลังจากที่คุณเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ทบทวน เห็นตัวอย่าง และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นแล้ว ถ้าคุณไม่ลงมือทำเสียเอง การันตีได้แน่นอนเลยว่าคุณจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนได้อย่างเต็มที่ เพราะการเข้าใจทฤษฎีอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้คุณสามารถทำให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นได้ในทันที โค้ชกีฬาของผมเคยพูดเอาไว้ว่า “ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นเหมือนที่เราคุยกันใน White board พวกคุณจะมีอัตราการชนะ 100% แน่นอน แต่เพราะทุกอย่างมันไม่เกิดขึ้นเหมือนที่เขียนไว้บนกระดาน คุณจึงต้องฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อที่คุณจะแก้ปัญหาในสนามสำคัญของคุณได้”

             ทุกคนเข้าใจดีว่าทางเดินทุกเส้นมันไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ คุณไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายโดยที่ไม่สะดุดได้ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ ถ้าคุณไม่ลงมือทำ คุณจะไม่เห็นปัญหา คุณจะไม่รู้อุปสรรค ถ้าคุณไม่ลงมือทำ คุณจะไม่เห็นความยากลำบากในการลงแรงทำอะไรบางอย่าง เมื่อคุณลงมือทำ คุณจะผ่านการแก้ปัญหามาด้วยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณจะเจอปัญหาใหม่ๆทุกครั้งที่คุณลงมือ ครั้งแรกคุณเจอปัญหา A คุณแก้มันได้ ครั้งต่อไปคุณรับมือกับปัญหา A ได้ แต่คุณเจอปัญหา B ครั้งต่อมาคุณรับมือกับ A และ B ได้อย่างดีเยี่ยม แต่แล้วคุณก็เจอปัญหา C กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้คุณเป็นผู้มีประสบการณ์ และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆรอบตัว เพื่อเป้าหมายที่ทำให้คุณตัดสินใจเรียนรู้หัวข้อนั้นๆได้ตั้งแต่แรก

ถ่ายทอดความรู้

             หัวข้อนี้คือหัวข้อที่เรียกได้ว่า ถ้าคุณฝึกมาถึงจุดนี้แล้ว คุณจะจำเรื่องบางเรื่องไปจนตายเลยก็ยังได้ เพราะการถ่ายทอด คือการนำเอาความรู้ที่เรียนรู้มา ผ่านการอ่านซ้ำ เรียนซ้ำ การเห็นตัวอย่าง การพูดคุยแลกเปลี่ยน และการทำซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน การถ่ายทอดคือการแปลงข้อมูลและประสบการณ์ทุกอย่างออกมาเป็นคำพูด และสื่อการสอน เพื่อให้ผู้ที่รักการเรียนรู้คนอื่นถ้าซึมซับและนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป

             คุณอาจจะพอนึกภาพออก ถึงอาจารย์ที่เอาหัวข้อบางอย่างมาพูดหน้าขั้นเรียนเฉยๆ คุณฟัง คุณเข้าใจระดับที่อาจารย์พูดตามเนื้อหา คุณอาจจะเข้าใจว่า A+B = C แต่ถ้าเปรียบเทียบกันกับอาจารย์ที่มากประสบการณ์มาถ่ายทอดหน้าชั้นเรียน คุณจะสัมผัสได้ว่าคุณเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย และลึกกว่ามาก คุณจะไม่ได้แค่รู้ว่า A+B = C แต่คุณจะรู้ด้วยว่า A คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และ B มีผลอะไรถึงทำให้เมื่อเอามารวมกันแล้วผลลัพธ์ออกมากลายเป็น C ยังไม่พอ คุณอาจจะเห็นอุปสรรคหรือกับดักต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ออกมาเป็น C แบบที่อาจารย์สอนก็เป็นได้

             ดังนั้น การสอน การถ่ายทอดคือ ขั้นสุดของการเรียนรู้ที่จะทำให้คุณจำเรื่องบางเรื่องไปจนวันสุดท้ายของชีวิตได้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะแบ่งปัน อย่ากลัวที่จะถ่ายทอด และอย่ากลัวที่จะถูกตำหนิ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณวางตำแหน่งตัวเองอยู่ในตำแหน่งของ “ผู้เรียนรู้” การถ่ายทอดก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง และการถูกตำหนิก็เป็นเพียงมุมมองที่แตกต่างของคนอีกคนหนึ่ง ที่จะทำให้การเรียนรู้ของคุณกว้างขึ้น และเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบนั่นเอง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line : @LifeEnricher

Facebook: TheLifeEnricher

โทร: 02-017-2758, 094-686-6599

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า