
Work from home อย่างไรให้ Productive
สถานการณ์ COVID-19 ที่ดูเหมือนจะยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ในปัจจุบันทำให้หลาย ๆ องค์กรยังจำเป็นจะต้องใช้วิธีการทำงานแบบ Work from home อยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ลดความเสี่ยงในการคิดเชื่อ COVID-19 เชื่อว่าปัญหาที่หลาย ๆ คนอาจจะกำลังเจออยู่ก็คือ work from home แล้วไม่เกิด productivity หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พอต้องทำงานที่บ้านแล้วไม่ Productive เอาเสียเลย
ก่อนที่จะตั้งคำถามว่าทำงานอยู่ที่บ้านแล้วไม่ Productive เลย คุณอาจจะต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ทุกวันนี้ตัวคุณเอง Productive แล้วหรือยัง ? คุณสามารถสร้างผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจให้กับตัวคุณเองในแต่ละวันได้หรือยัง? ว่าแต่… คุณเข้าใจความหมายของคำว่า productive หรือยัง ?
เวลาที่มีการพูดถึงคนที่มี productivity ที่ดี หลาย ๆ คนมักจะคิดถึงนักธุรกิจตารางรัดตัว วิ่งวุ่นทำอะไรหลายอย่างตลอดทั้งวัน ตื่นตี 4 อ่านข่าวเตรียมตัวประชุม วิ่งออกจากบ้านไปหา supplier แต่เช้า กลับมาประชุมช่วงสาย เที่ยงก็วิ่งไปปิดดีลกับคู่ค้าทางธุรกิจ เย็นกลับมานั่งฟังรายงานประจำวันของบริษัท ตกดึกออกไป networking หา connection ใหม่ๆ กว่าจะถึงบ้านก็ 4-5 ทุ่ม ล้มตัวลงนอนเพื่อเตรียมตัวตื่นขึ้นมาลุยวันใหม่อีกครั้งในอีก 6 ชั่วโมงข้างหน้า นี่คือการมี productivity สูงใช่หรือไม่ ?
คำตอบคือ ใช่ ถ้าหากว่านักธุรกิจคนที่กล่าวถึงไปข้างต้นมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเขาวางแผนมาแล้วว่าในแต่ละวันเขาควรจะต้องทำอะไรบ้างให้ได้งานเยอะที่สุด ภายในเวลาที่น้อยที่สุด หรือก็คือเขาต้องการใช้เวลาอันจำกัดของเขาให้คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง คราวนี้ถ้าคุณอยากจะเป็นคนที่ productive หมายความว่าคุณจะต้องลุยกับชีวิตให้เหมือนนักธุรกิจคนนี้หรือไม่ ? แน่นอนว่าไม่จำเป็นอยู่แล้ว เพราะการเป็นคนที่ productive ก็คือการเป็นคนที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ตัวเองพอใจ ในระยะเวลาอันสั้นได้ เป้าหมายของคุณคืออะไร แล้วแค่ไหนคุณถึงจะพอใจ คำตอบอยู่ที่ตัวคุณล้วน ๆ
ดังนั้น จุดสำคัญของเรื่องนี้คือ “ความชัดเจน” ที่คุณมีต่อตัวคุณเอง คุณรู้แล้วหรือยังว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร ผลลัพธ์แบบไหนที่คุณอยากได้ แล้วคุณถึงจะตัดสินใจได้ว่าคุณ productive พอหรือยัง เช่น ถ้าคุณต้องการเป็นเจ้าสัวคนต่อไป คุณก็อาจจะต้องวิ่งสุดชีวิตเหมือนการยกตัวอย่างข้างต้น หรือถ้าคุณต้องการ work life balance ในชีวิต ความ productive ในแบบของคุณก็อ่ตตะเป็นการจัดการงานให้เสร็จภายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่คุณจะได้เอาเวลาที่เหลือมาเติมเต็มชีวิตส่วนอื่นของคุณ เป็นต้น ถ้าเป้าหมายของคุณคือการมีเวลาให้ครอบครัว แต่คุณไปเอาบรรทัดฐานของคนที่มีเป้าหมายอยากจะเป็นนักธุรกิจหลายหมื่นล้านมาตัดสินตัวคุณเองก็คงจะดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ ดังนั้นสุดท้ายแล้ว
“การมี productivity คือการสร้างผลลัพธ์เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ โดยที่ใช้เวลาลงมือทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
เมื่อความสำเร็จของทุกคนแตกต่างกันออกไป บทความนี้คงจะบอก How to แบบชัดเจน 100% ไม่ได้แน่นอน เพราะทุกคนให้ความหมายกับความสำเร็จต่างกันออกไป แต่สิ่งที่จะสามารถแนะนำได้ก็คือวิธีที่จะส่งผลให้ Behavior หรือพฤติกรรมของคุณเปลี่ยนไปจากเดิมนั่นเอง และถ้าพฤติกรรมของคุณเปลี่ยน แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่คุณจะได้ก็จะเปลี่ยนไปแน่นอน ต่อไปนี้คือ 6 เทคนิคที่จะทำให้คุณเพิ่ม Productivity ของตัวเองได้ ไม่ว่าคุณจะทำงานที่บ้าน หรือแม้ว่าคุณจะกลับไปทำงานที่บริษัทแล้วก็ตาม
1. จัดมุมทำงานที่ดี
สภาพแวดล้อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการลงมือทำอะไรสักอย่าง การจัดการสถานที่ทำงานให้เหมาะสม คือสิ่งที่จะทำให้คุณสามารถลุยกับความท้าทายต่างๆในแต่ละวันได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างหนึ่งที่เห็นว่าหลายๆคนพลาดมากที่สุดก็คือ เมื่อต้อง work from home หลายๆคนจะไม่มี working space ของตัวเองในบ้าน แต่จะนั่ง ๆ นอน ๆ ทำงานอยู่บนเตียง หรือนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้านก็ไมได้มีพื้นที่ที่จัดชึ้นเพื่อทำการเรียนให้เป็นสัดส่วนชัดเจน สุดท้ายก็จะจบด้วยการไหลตามความรู้สึกที่อยู่บนเตียงแล้วก็หลับไปในที่สุด หรือบางคนอาจจะไม่ได้ทำงานอยู่บนเตียง แต่นั่งทำงานอยู่ในพื้นที่ผ่อนคลายปกติ ก็มีส่วนทำให้คุณหลุดจากการทำงานออกไปทำกิจกรรมผ่อนคลายของคุณแทน

สภาพแวดล้อมมีส่วนกับการทำกิจกรรมแต่ละอย่างมากจริง ๆ หลายคนน่าจะเคยผ่านความรู้สึกที่ว่าก็ไม่ได้อยากทำกิจกรรมอะไรบางอย่างมากขนาดนั้น แต่ถ้าตัวเองหลุดไปอยู่ตรงนั้นเมื่อไหร่ก็จะมีความคิดที่ว่า “ไหน ๆ ก็มาแล้ว เอาหน่อยแล้วกัน” เช่น คุณอาจจะขี้เกียจออกกำลังกายเอามาก ๆ แต่ถ้าคุณพาตัวเองไปอยู่บนลู่วิ่งในยิมได้แล้ว คุณก็จะสามารถเดินหรือวิ่งได้แบบที่คุณตั้งใจไว้ หรือคุณผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งใจจะช๊อปปิ้ง แต่ถ้าไปเดินเข้าห้างแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเดินแวะดูตามร้านต่างๆ ถึงแม้ว่าจะตั้งใจจะมาทานข้าวเฉย ๆ เพราะว่า “ไหน ๆ ก็มาแล้ว” ดังนั้นการมีพื้นที่ทำงานที่ชัดเจนและเป็นสัดส่วนจะทำให้คุณจดจ่อกับการทำงานในแต่ละวันได้ดีขึ้น
นอกจากจะทำให้คุณจดจ่อกับงานได้ดีขึ้นแล้ว การจัดโต๊ะหรือการจัดสถานที่ทำงานก็ยังเป็นเหมือนการจัดระเบียบความคิดของคุณอีกด้วย เพราะการจัดสถานที่ทำงาน ไม่ได้เป็นแค่การจัดบนิเวณการทำงานของคุณให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้านเท่านั้น แต่เป็นการจัดการใช้งานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานของคุณอีกด้วย
2. ทบทวนทุกวันว่าทำไปเพื่ออะไร
คำถามง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนไม่ได้คิดคือ ทุกวันนี้ที่คุณตื่นขึ้นมาลุยกับชีวิตในแต่ละวัน คุณกำลังทำทุกอย่างนั่นอยู่ เพื่ออะไร ? เพราะอะไร ? เพราะคนอื่นคาดหวังให้คุณทำ หรือว่าคุณทำเพราะว่าคุณเห็นคนอื่นทำ ? ถ้าคุณตอบคำถามเหล่านี้ให้ตัวเองไม่ได้ มีโอกาสสูงมากที่คุณจะ “หมดไฟ” เพราะถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณทำไปเพื่ออะไร แล้วคุณจะทำไปทำไมล่ะ จริงไหม ?
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณมีแรงจูงใจที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็คือเหตุผลที่ชัดเจน ถ้าคุณชัดเจนกับตัวเองว่าคุณทำไปทำไม ผลลัพธ์ที่คุณได้ก็จะชัดเจนมากขึ้นด้วยเหมือนกัน คุณผู้หญิงหลายคนอาจจะประสบปัญหากับการรักษารูปร่างดูแลหุ่น แต่เมื่อตัวเองจะต้องใส่ชุดเจ้าสาว กลับสามารถทำให้ตัวเองสวยที่สุดในวันแต่งงานได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำได้มาก่อน หรือคนที่ไม่ชอบวิ่งแต่กลัวสุนัข ก็สามารถวิ่งหน้าตั้งได้ในตอนที่โดนสุนัขวิ่งไล่
ไม่ใช่ว่าคุณทำไม่ได้ แต่บางครั้งคุณไม่รู้ว่าคุณจะทำไปทำไมมากกว่า ดังนั้นการชัดเจนกับตัวเองในทุก ๆ วันว่าวันนี้ฉันตื่นมาลุยกับชีวิต เพื่ออะไร จะทำให้แต่ละวันของคุณ productive ขึ้นอย่างแน่นอน
3. หา Flow ของตัวเองให้เจอ
Flow การทำงานที่ดี คือรูปแบบในการทำงานแบบเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคนี้คุณจะต้องสังเกตตัวเองดี ๆ ว่าคุณสามารถทำงานได้ดีที่สุด ด้วยปัจจัยข้อใดบ้าง ข้อควรระวังคือ อย่าโดนความต้องการของตัวเองหลอกว่า “คุณทำแบบนี้จะต้องดีแน่ๆ” แต่ให้คุณสังเกตตัวเองจริง ๆ ว่าองค์ประกอบใดบ้างที่ทำให้คุณได้งานจริง ๆ ดังนั้นคำถามของคุณคือ “อะไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ฉันทำ …… ได้ดี” หรือคุณอาจจะลองนึกย้อนไปดูก็ได้ว่าที่ผ่านมา คุณเคยมีช่วงเวลาที่คุณพอใจกับผลลัพธ์ที่ตัวเองทำได้หรือไหม แล้วในตอนนั้น องค์ประกอบและปัจจัยรอบๆตัวของคุณมีอะไรบ้าง?
ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยต่าง ๆ ก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล องค์ประกอบเบื้องต้น 3 สิ่ง ที่คุณอาจจะสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ
- เวลา : บางคนทำงานเกี่ยวกับการใช้ความคิดได้ดีในช่วงเช้า หรือบางคนอาจจะชอบใช้ความคิดช่วงเย็น หรือหัวค่ำมากที่สุด
- สภาพแวดล้อม : สถานที่แบบไหนที่ทำให้คุณมีสมาธิมากที่สุดเวลาทำงาน extrovert หลาย ๆ คนอาจจะชอบไปนั่งทำงานในร้านกาแฟ หรือไปนั่งชิว ๆ ในร้านคาเฟ่ เพราะแค่อยู่ท่ามกลางผู้คนคุณก็รู้สึกมีพลังขึ้นมาแล้ว แต่ introvert หลาย ๆ คนอาจจะชอบทำงานอยู่ในที่ส่วนตัวมากกว่า เพราะอยู่คนเดียวนี่แหล่ะ เงียบสงบ ตั้งสมาธิได้ง่าย
- สถานที่ : คล้ายกับเทคนิคแรกในการจัดโต๊ะทำงาน หรือสถานที่ทำงาน สถานที่ที่ทำให้คุณสามารถจดจ่อกับงานได้ หรือทำให้คุณสามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น
ซึ่งถ้าคุณหา Flow ของตัวเองเจอแล้ว คุณจะรู้สึกเหมือนตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในโซนที่สามารถทำงานได้ลื่นไหลโดยที่คุณไม่ต้องฝืนตัวเอง และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่คุณคาดหวังไว้ในแต่ละวันได้ โดยที่ไม่เกิดความเครียดใด ๆ เลย

4. เรียงลำดับเนื้องานที่สำคัญ
Work smarter not harder การที่คุณทำงานเยอะ ไมได้หมายความว่าคุณจะได้ผลลัพธ์มากเสมอไป บ่อยครั้งคุณอาจจะอยู่ในวังวนที่คุณกำลังทำอะไรสักอย่างที่ไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่คุณอยากได้ หรือมีผลต่อผลลัพธ์ของคุณน้อยมา โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ดังนั้นเทคนิคนี้คือ การวางแผน ให้การ priority หรือการเรียงลำดับความสำคัญของงานที่คุณมีในแต่ละวัน ซึ่งการเรียงลำดับความสำคัญจะทำให้คุณโฟกัสไปที่กิจกรรมที่สำคัญกับคุณจริง ๆ และการจดจ่อกับกิจกรรมที่สำคัญ จะทำให้คุณได้ผลลัพธ์มากกว่าเดิมแบบไม่น่าเชื่อ อ้างอิงจากทฤษฎีของ Pareto ที่เกี่ยวกับกฏ 80/20 Pareto กล่าวไว้ว่า 80% ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการลงแรงในกิจกรรมที่สำคัญเพียง 20% เท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณควรจะต้องแยกให้ได้ว่า อะไรสำคัญ อะไรควรทำ
เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณสามารถใช้กำหนดความสำคัญของงานได้ก็คือ การให้คะแนน แค่คุณลอง List รายการของงานในแต่ละวันออกมา แล้วคุณให้คะแนนตามลำดับความสำคัญดู 10 คือสำคัญที่สุด ต้องทำ ต้องเสร็จ ไล่ลงมาที่ 0 คือ แทบจะไม่สำคัญจนไม่ต้องทำก็ยังได้ คราวนี้เทคนิคก็คือ การตัดเลข 7 ออกไป ถ้าคุณกำลังจะตัดสินใจให้งานบางชิ้นอยู่ที่เลข 7 คุณจะต้องเลือกทันทีว่า งานชิ้นนั้นจะอยู่ที่ 8 คะแนน หรือ 6 คะแนนกันแน่ เพราะเวลาเราให้คะแนนตั้งแต่ 0 – 10 นั้น เลข 7 จะเป็นเลขที่เหมือนเป็นค่ากลางที่สุด ประมาณว่าจะเยอะก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ได้น้อยขนาดนั้น ซึ่งการมีความหมายเชิงนี้ ไม่ได้ช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของคุณ เพราะคุณจะต้องชัดเจนให้ได้ว่า งานไหนสำคัญมากกว่า และงานไหนสามารถรอได้
5. วาง Check list ทั้งวันให้เรียบร้อย
หลังจากที่คุณเรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรมในแต่ละวันของคุณแล้ว ต่อมาคือการวางแผนว่าคุณจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง ข้อสำคัญก็คือ คุณควรจะจัดการงานที่สำคัญที่สุด 3 อย่างให้เรียบร้อยก่อนเที่ยงให้ได้ หรือถ้าคุณไม่ได้ทำงานในเวลาปกติ คุณก็จะต้องจัดการกิจกรรม 3 อย่างที่สำคัญที่คุณภายในเวลางานช่วงแรกก่อนพักของคุณ เพราะการตั้งเป้าหมายลักษณะนี้ ทำให้คุณจดจ่อกับกิจกรรมสำคัญได้ดีขึ้น และในกรณีที่คุณไม่สามารถจัดการให้เสร็จก่อนเวลาพักได้จริง ๆ คุณจะสามารถดึงเอาเวลาช่วงอื่นออกมาจัดการงานสำคัญเหล่านี้ให้เรียบร้อยในแต่ละวันได้
แน่นอนว่างานสำคัญมักจะเป็นงานยาก หรืองานที่คุณไม่ยอม นี่คือจุดที่คุณอาจจะต้องกัดฟันเดินเข้าไปลุยกับมันให้ได้ ตอนนี้คือจุดที่คุณต้องเลือกว่า คุณจะกัดฟันลุยกันมัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ หรือคุณจะวางงานยากแต่สำคัญไว้ทีหลัง แล้วอยู่กับผลลัพธ์แบบเดิม ตัวเลือกเป็นของคุณ ไม่มีอะไรผิดถูก ถ้าคุณพอใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่คุณจะต้องฝืนตัวเองให้เครียดเพิ่ม แต่ถ้าคุณต้องการผลลัพธ์ใหม่ในชีวิต มั่นใจได้เลยว่าการกัดฟันลุยกับกิจกรรมเหล่านั้นจะไม่ทำให้คุณผิดหวังแน่นอน
6. ทบทวนตัวเองทุกเย็น
การทบทวนตัวเองในช่วงเย็น หรือก่อนจะเลิกงาน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเลือกที่จะทำ หรืออาจจะมองข้ามไป แต่การทบทวนตัวเองเป็นชั้นตอนสำคัญในการพัฒนาตัวเอง เพราะ การทบทวนตัวเองเป็นเหมือนการมองตัวคุณเองในมุมมองที่สาม ที่จะให้มุมมองมากกว่าแค่การมองจากตัวของคุณออกมา สิ่งที่จะได้จากการทบทวนแบบนี้คือการ สะท้อนตัวเอง ที่จะทำให้คุณเห็นว่า ในวันที่ผ่านมาคุณทำอะไรบ้าง คุณได้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง คุณพอใจกับผลลัพธ์เหล่านั้นไหม แล้วคุณจะต้องทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ
การทบทวนเหล่านี้จะทำให้คุณวางแผนตัวเองในวันรุ่งขึ้นได้ดีขึ้น เพราะคุณได้บทเรียนในแต่ละวันอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้คุณเป็นคนที่หมั่นพัฒนาตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร

และนอกจากการพัฒนาตัวเองขึ้นแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสะท้อนตัวเองคือ การชื่นชมและขอบคุณตัวเองในแต่ละวัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เกิดขึ้นจากตัวคุณเองทั้งนั้น ไม่ว่ากิจกรรมที่คุณทำอาจจะดูเล็กน้อยในสายตาคนอื่น แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องดี ตัวคุณเองก็สมควรที่จะได้รับการชื่นชมเหมือนกัน การชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน ถึงแม้ว่าในวันนั้นคุณอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย แค่การขอบคุณที่ตัวเองสามารถตื่นมาลุยกับความท้าทายต่าง ๆ ในวันนี้ก็ทำให้คุณเพิ่มคุณค่าในตัวเอง ด้วยตัวคุณเองได้แล้ว
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ข้างต้นว่า บทความนี้ไม่สามารถบอก How to ให้กับทุกคนได้ 100% เพราะเราเชื่อว่า How to เกี่ยวกับการทำงานของทุกคนสามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป ซึ่งบ่อยครั้งคุณอาจจะรู้ how to เหล่านั้นอยู่แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นปัญหาไมได้อยู่ที่ว่าคุณไม่รู้ว่าคุณควรจะต้องทำอะไร แต่คุณไมได้เริ่มทำ บ่อยครั้งคำตอบอยู่ในใจคุณอยู่แล้ว ขาดแค่การเริ่มลงมือทำเท่านั้นเอง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคนิคเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับ Life style การใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเองเพื่อให้คุณเข้าใกล้กับความสำเร็จในชีวิตคุณไปอีกขั้น
“วันนี้คุณจะเลือกใช้เทคนิคใด ในการเพิ่ม Productivity ให้ตัวเอง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่คุณต้องการในแต่ละวัน”
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line : @LifeEnricher
Facebook: TheLifeEnricher
โทร: 02-017-2758, 094-686-6599